20 ม.ค. 2021 เวลา 15:43 • หุ้น & เศรษฐกิจ
🛢 10 เรื่องน่ารู้หุ้น OR … ที่ไม่มีใครบอกคุณ ☕
..
หุ้นน้องใหม่สุดฮ็อตที่นักลงทุน และแม้แต่คนที่ยังไม่เคยลงทุนต่างก็พูดถึงกันว่าอยากจับจองเป็นเจ้าของ
..
บ้างก็บอกว่า ไหนๆ ก็กินกาแฟ Amazon อยู่แล้วทุกวัน
บ้างก็บอกว่า ปตท คือ ปั๊มน้ำมันที่เข้าประจำ ขับรถทางไกลก็จอดแวะพักเข้าห้องน้ำ แวะ 7-11 ซื้อของกินที่นี่ตลอด
..
จริงๆ แล้ว หุ้น OR น่าสนใจแค่ไหน วันนี้วิตามินหุ้นจะมานำเสนอข้อมูลที่หลายๆ คนยังไม่ได้เล่าให้ฟังกันบ้างครับ
..
1. OR มาจาก Oil & Retail ไม่ใช่แค่ร้านกาแฟ
.
หลายคนเข้าใจผิดคิดว่า PTT spin off ส่วนที่เป็นร้านอาหารและเครื่องดื่มที่กำไรดีมาเข้าตลาด แต่จริงๆ ไม่ใช่ OR ครอบคลุมตั้งแต่ขายน้ำมัน กาแฟ ชานมไข่มุก ไก่ทอด ซ่อมรถ และไม่ใช่แค่ในปั๊ม แต่ยังมีการขายน้ำมันเครื่องบิน เรือขนส่ง และต่อยอดไปทำธุรกิจอีก 10 ประเทศ หลักๆ คือ กัมพูชากับฟิลิปปินส์
.
สรุปง่ายๆ ว่า OR ขายของ 100 บาท 91 บาทเป็นน้ำมัน 4 บาทเป็นอาหารและเครื่องดื่ม และ 5 บาท เป็นธุรกิจในต่างประเทศ
..
แปลว่า ขายน้ำมันมากกว่าขายกาแฟ ถ้าราคาน้ำมันผันผวน (ที่เราเห็นประกาศปรับราคาขึ้นลงอยู่บ่อยๆ) และปริมาณน้ำมันเพิ่มหรือลดลง (ช่วง COVID การเดินทางลดลงทั้งรถ และเครื่องบิน) ก็จะส่งผลต่อรายได้อย่างมาก เหมือนที่เราเห็นว่าทำไมรายได้แต่ละปีขึ้นๆ ลงๆ และปีนี้ลงแรง
..
2. ขายน้ำมันกำไรน้อย ขายกาแฟกำไรดี
.
🔹 สัดส่วนรายได้มาจาก Oil, Non-Oil, ต่างประเทศ คือ 91%, 4%, 5%
🔹 สัดส่วนกำไรขั้นต้นคือ 69%, 26%, 5%
🔹 สัดส่วน EBITDA คือ 69%, 25%, 6%
..
แปลว่า น้ำมันขายเยอะ แต่ได้กำไรน้อย ส่วนกาแฟขายน้อยกว่า แต่กำไรดีกว่ามาก ส่วนต่างประเทศรายได้และกำไรสัดส่วนพอๆ กัน ทีนี้ถ้าอยากให้เห็นภาพชัด เรามาดู GPM ของแต่ละธุรกิจกันครับ
..
🔸 OIL 5.8% >> ขึ้นอยู่กับค่าการตลาดด้วย อาจไม่ได้ดีตลอด ที่ผ่านมา GPM อยู่ในช่วง 4.5-5%
🔸 Non-Oil 52.7% >> GPM สูงมาก ที่ผ่านมาก็อยู่เกิน 50%
🔸 ต่างประเทศ 7.6% >> ปกติ อยู่ประมาณ 5% ต้องดูว่าจะขยับเพิ่มได้มากเท่านี้ตลอดมั้ย เพราะเป็นส่วนผสมทั้งปั้มและร้านกาแฟ
..
3. เน้นเปิดปั๊มเพิ่ม ด้วยโมเดล DODO
.
ปั๊มน้ำมันปัจจุบันมี 2297 แห่ง แบ่งเป็นในประเทศ 1968 และต่างประเทศ 329 แห่ง โมเดลมี 2 แบบ คือ
.
เป็นของตัวเองเรียกว่า COCO (Company Own Company Operate) ทำทุกอย่างเองหมด
.
กับอีกโมเดล เรียกว่า DODO (Dealer Own Dealer Operate) พูดง่ายๆ ก็คือ คล้ายๆ กับขายแฟรนไชส์ให้คนอื่นมาบริหารจัดการ
..
สัดส่วนหลักคือ DODO ถ้าปั๊มในไทยเป็น DODO 82% ถ้าในต่างประเทศ เป็น DODO 75% โมเดลนี้ดีเพราะว่า ขยายสาขาได้เร็ว ไม่ต้องยุ่งยากเรื่องการจัดการ สถานที่ พนักงานต่างๆ แต่เรื่องค่าการตลาดน้ำมันสำคัญ ถ้าน้อย เจ้าของปั๊มก็อาจจะอยู่ไม่ได้
.
🧲 สำหรับแผนการเปิดปั๊มเพิ่มโดยประมาณ ในไทยปีละ 106 ปั๊ม และในต่างประเทศปีละ 70 ปั๊ม
.
ดูตัวเลขเหมือนจะเยอะ แต่ที่ผ่านมา ถ้าไม่นับปีนี้ที่เปิดปั๊มน้อยเพราะติด COVID การเปิดปั๊มในไทยประมาณ 140-150 แห่งต่อปี และต่างประเทศ 30-40 แห่งต่อปี แปลว่า คงเปิดที่ต่างประเทศเยอะกว่าเนื่องจากฐานยังต่ำ
..
4. ค่าการตลาดอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น
.
ค่าการตลาด คือ ส่วนต่างระหว่างราคาขายปลีกและราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น แต่ระหว่างทางก็จะมีโดนหักหลายภาษี หักเข้ากองทุนน้ำมันด้วย ถ้าพูดง่ายๆ ค่าการตลาดเหมือน Gross Profit Margin ของปั๊ม ถ้าเยอะแล้วมีคนเติมน้ำมันเยอะ ก็จะกำไรมาก
..
ถ้าปั๊มแบบ COCO บริษัทเช่น OR ก็จะได้ไปหมด แต่ถ้าเป็น DODO ก็จะแบ่งกันระหว่าง OR กับ Dealer เจ้าของปั๊ม
.
ทีนี้ค่าการตลาดย้อนหลัง 5 ปี ของน้ำมันดีเซลคือ
..
📈 ปี 2559 = 1.87 บาทต่อลิตร
📈 ปี 2560 = 1.57 บาทต่อลิตร
📈 ปี 2561 = 1.76 บาทต่อลิตร
📈 ปี 2562 = 1.86 บาทต่อลิตร
📈 ปี 2563 = 2.05 บาทต่อลิตร
..
เราจะเห็นว่าแนวโน้มเพิ่มขึ้นตลอด ซึ่งแปลว่าดี มาร์จิ้นจะสูงขึ้น แต่ก็ต้องดูด้วยว่า สต็อคน้ำมันที่เก็บไว้ที่ปั๊มมี่กี่วัน แล้วราคาหน้าปั๊มปรับขึ้นลงบ่อยแค่ไหนประกอบด้วย บางทีค่าการตลาดดี แต่ราคาปรับขึ้นลงถี่ไปแล้วไม่สัมพันธ์กับสต็อคที่มีอยู่ก็จะกระทบได้เช่นกัน
..
5. เน้นเปิดร้านกาแฟเพิ่ม ด้วยโมเดลแฟรนไชส์
.
ร้านกาแฟ Amazon มี 3,440 สาขา แบ่งเป็นในไทย 3168 สาขา และ ต่างประเทศ 272 สาขา
..
เราจะเห็นว่า จำนวนร้านกาแฟมีมากกว่าจำนวนปั๊มค่อนข้างเยอะ เพราะว่าไปเปิดตามตึกแถว ออฟฟิศ ห้างสรรพสินค้าทั่วไปด้วย โดยที่สัดส่วนร้านนอกปั๊มคิดเป็น 40%
.
ในแง่ของการเป็นแฟรนไชส์ สัดส่วนคือ 80% และเป็น COCO 20%
.
ร้านกาแฟในต่างประเทศ 60% ขายในกัมพูชา 25% ขายในลาว ที่เหลือกระจายกันไปฟิลิปปินส์ พม่า สิงคโปร์ มาเลเซีย โอมาน จีน ญี่ปุ่น
..
🧲 แผนการเปิดสาขา คือ ในไทยปีละ 420 แห่ง และในต่างประเทศปีละ 62 แห่ง
.
ที่ผ่านมา ในไทยเปิดปีละ 450-460 แห่ง ต่างประเทศเปิดปีละ 50-60 แห่ง
.
6. ถ้าไม่เปิดร้านกาแฟเพิ่ม รายได้อาจไม่เพิ่มมาก
.
ร้านกาแฟ 3 พันกว่าสาขา ขายได้ปีละ 264 ล้านแก้ว การเติบโตของจำนวนสาขาและจำนวนแก้วอยู่ที่ประมาณ 20% แต่ถ้ามาดูเฉพาะ 9 เดือนแรกเทียบกัน การเปิดสาขายังเยอะอยู่ +15% แต่ว่า จำนวนแก้วที่ขายได้คือ 200 ล้านแก้ว +3.4%
..
มุมหนึ่งเราอาจจะมองได้ว่า เพราะ COVID การเดินทางน้อยลง คนก็จะไปซื้อกาแฟน้อยลง ประเด็นนี้ต้องติดตาม เพราะว่ายิ่งขยายสาขาเยอะระดับปีละมากกว่า 400 แห่ง จะมีต้นทุนตามมา ถ้าเปิดร้านเยอะ แต่ยอดขายต่อร้านลดลงก็จะไม่ดี
..
ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะแบบนี้หรือเปล่า ทำให้ OR ถึงไปลงทุนเพิ่มเติมในพีเบอร์รี่ ที่จะช่วยลดต้นทุนเรื่องอุปกรณ์กาแฟ และได้ร้าน Pacamara เข้ามาด้วย นอกจากนี้ก็มีแผนสร้างโรงงานเบเกอรี่ โรงงานผงผสมเครื่องดื่ม เรียกได้ว่า พยายามขยายธุรกิจไปทั้งแนวลึกและกว้างมากขึ้น
..
7. ผลประกอบการผันผวนตามน้ำมัน
..
📈 ปี 2560 ยอดขาย 543,276 ล้านบาท กำไรสุทธิ 9,769 ล้านบาท
📈 ปี 2561 ยอดขาย 592,073 ล้านบาท กำไรสุทธิ 7,851 ล้านบาท
📈 ปี 2562 ยอดขาย 577,134 ล้านบาท กำไรสุทธิ 10,896 ล้านบาท
.
📉 9M62 ยอดขาย 430,341 ล้านบาท กำไรสุทธิ 8,948 ล้านบาท
📉 9M63 ยอดขาย 319,308 ล้านบาท กำไรสุทธิ 5,869 ล้านบาท
.
ยอดขายขึ้นลงเพราะสัดส่วนรายได้ตามน้ำมันเป็นหลัก กำไรก็จะคล้ายกัน แต่ว่าจะมีเรื่องของค่าการตลาดเข้ามาเกี่ยวข้อง และก็สัดส่วนของ Non-Oil ที่มาช่วยเพิ่มกำไร 9 เดือนปีนี้ไม่ดีเพราะว่า ได้รับผลกระทบจาก COVID แต่ถ้าดูเฉพาะ Q3 จะเริ่มเห็นการฟื้นตัวของกำไร แต่รายได้ยังไม่มา แบบนี้
..
📈 Q3’62 ยอดขาย 136,652 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,594 ล้านบาท
📈 Q3’63 ยอดขาย 104,854 ล้านบาท กำไรสุทธิ 3,450 ล้านบาท
..
8. ราคา IPO 16-18 บาท P/E 24-27 เท่า
.
ถ้าดูตาม Filing คำนวณจาก EPS 4 ไตรมาสย้อนหลัง ที่รวมกำไรไม่ค่อยดีเอาไว้ด้วย ได้ P/E 24-27 เท่า และที่บอกว่า P/E เฉลี่ยของแบรนด์อื่น 31.7 เท่า อันนี้ต้องระวังในการใช้นิดนึงเพราะว่านำ P/E ของ Petronas ที่ 62 เท่า Viva ที่ 57 เท่า PTG 21 เท่า SUSCO 16 เท่า Abu Dhabi 21 เท่า เป็นต้นมาคำนวณ ทำให้ P/E เหวี่ยง
.
วิธีการที่อาจจะเหมาะสมกว่า คือ ดูคู่แข่งที่ใกล้เคียงกันมากที่สุด แล้วประเมินว่า P/E ที่ OR ควรได้เป็นเท่าไหร่ หรือคำนวณจาก Market Cap ก็อาจจะได้เช่นกัน แต่ที่สำคัญ ต้องคำนวณ EPS ที่ควรจะเป็นหลัง COVID ให้ออกด้วย
.
9. มีคดีความที่ฟิลิปปินส์ยังไม่ได้ตั้งสำรอง
.
เรื่องนี้ไม่ค่อยมีคนพูดถึงกัน เรื่องนี้เกิดนานแล้วตั้งแต่ปี 2547-2550 เป็นเรื่องของบริษัทลูกชื่อว่า PTTTC กับ BOC (หน่วยงานด้านศุลกากร) บอกว่า PTTTC สำแดงพิกัดภาษีศุลกากรไม่ถูกต้อง ชำระภาษีขาดไป 308 ล้านบาท จริงๆ ก็ไม่เยอะ แต่ที่โหดคือ เรียกเบี้ยปรับ 800% หรือ 2464 ล้านบาท
.
PTTTC จ่ายเงิน 308 ล้านบาทไปแล้ว แต่ไม่ได้จ่ายเบี้ยปรับ ตอนนี้เรื่องอยู่ในชั้นศาล ยังไม่ได้กำหนดว่าจะตัดสินเมื่อไหร่ แต่แค่ต้องระวังไว้ว่า ถ้าวันใดวันนึงศาลตัดสินขึ้นมาจะกระทบกับกำไรได้เพราะไม่ได้ตั้งสำรองไว้ แต่กระทบเป็นได้ทั้งบวกและลบ ถ้าชนะคดีก็ไม่ต้องเสียค่าปรับและอาจได้เงินภาษีที่จ่ายไปคืน แต่ถ้าแพ้ก็จะกระทบทางตรงกันข้าม
.
10. โอกาสและความเสี่ยง คือ EV Car และ 7-11
.
EV Car คาดว่าจะมาแน่ อยู่ที่ว่าจะช้าหรือเร็ว OR เองก็รู้ว่าจะกระทบ ตอนนี้ก็มีการติดตั้ง EV Charger 25 แห่ง และทำ Application ไว้เก็บข้อมูล เพื่อดูว่าถ้าวันไหน EV มาเต็มที่ ก็จะได้รู้ว่าต้องทำใหญ่แค่ไหน จะเป็นสถานีให้ชาร์จไฟ หรือทำแบตเตอรี่ ทำรถ EV ก็ต้องดูต่อไป แต่ผมมองว่า EV น่าจะทำให้เกิดคู่แข่งที่มากกว่านั้น คือ การชาร์จไฟที่บ้านก็ได้ ที่ห้างก็ได้หรืออาจจได้ที่ 7-11 ต้องรอติดตามต่อไป
ส่วนเรื่องการต่อสัญญา 7-11 หรือ Jiffy ดูแนวโน้มแล้ว พึ่งพากันมากกว่า คือ คนเข้าปั๊มก็เพราะมี 7-11 หรือคนเติมน้ำมันก็แวะซื้อของ มองได้ว่าเป็นประโยชน์ทั้งสองฝ่าย และที่สำคัญ CPALL เองก็มีระบบ logistics และ supply chain ที่แข็งแรง ถ้า OR จะทำเองก็คงต้องลงทุนให้พร้อมทางด้านนั้นด้วย
.
..
...
📌 โดยสรุป OR มีความน่าสนใจ แต่ก็มีความเสี่ยง เพราะสัดส่วนรายได้มาจากน้ำมันเป็นหลักที่มีความผันผวนอยู่มาก แต่ค่าการตลาดแนวโน้มระยะสั้นยังเพิ่มขึ้น ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มแนวโน้มดูดี แต่ต้องดูให้ลึกว่าการเติบโตในแต่ละสาขานั้นดีจริงหรือเปล่า ถ้าไม่ขยายสาขาจะโตได้แบบแข็งแรงหรือไม่
.
..
📌 ผมหวังว่า บทความนี้จะทำให้คนที่อยากจองหุ้น OR ได้เห็นโอกาสและความเสี่ยงเพิ่มขึ้น และพิจารณาได้อย่างละเอียดถี่ถ้วนว่า จริงๆ แล้วเรารู้จัก OR ดีแค่ไหน เหมาะกับการลงทุนของเราหรือไม่
..
#OR #IPO #วิตามินหุ้น
26
โฆษณา