22 ม.ค. 2021 เวลา 10:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เปิดแผน OR 5 ปี ลงทุน 7.4 หมื่นล้าน หารือ CP ต่อสัญญา 'เซเว่น-อีเลฟเว่น'
“จิราพร” เผยแผน "โออาร์" 5 ปี ลงทุน 7.4 หมื่นล้าน เล็งต่อสัญญา“เซเว่น-อีเลฟเว่น” ยืนยันเป็นพันธมิตรที่ดี พร้อมรุกธุรกิจปั๊มชาร์จ“อีวี”
1
เปิดแผน OR 5 ปี ลงทุน 7.4 หมื่นล้าน หารือ CP ต่อสัญญา 'เซเว่น-อีเลฟเว่น'
นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เปิดเผยว่า บริษัทตั้งงบลงทุน 5 ปี (2564-2568) มูลค่า 74,600 ล้านบาท สำหรับขยายลงทุน 3 ธุรกิจหลัก แบ่งเป็นลงทุนธุรกิจน้ำมัน 34.6% ธุรกิจ Non-Oil 28.6% ธุรกิจต่างประเทศ 21.8% และธุรกิจอื่น 15% ที่เป็นโอกาสธุรกิจใหม่
1
โดย 1.ธุรกิจน้ำมัน วางเป้าในปี 2568 สถานีบริการน้ำมัน PTT เป็น 3,100 แห่ง จากปัจจุบัน 1,968 แห่ง โดยใช้กลยุทธ์ลงทุนต่ำด้วยการให้ดีลเลอร์ที่ต้องการขยายสถานีบริการเป็นผู้ลงทุนหลักสัดส่วน 80% และบริษัทลงทุน 20%
2.ธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่น (Non-Oil) วางเป้าปี 2568 มีร้านกาแฟแบรนด์ คาเฟ่ อเมซ่อน (Cafe Amazon) เพิ่มเป็น 5,800 สาขา จากปัจจุบันมี 3,168 สาขา รวมทั้งขยายฐานรายได้และขีดความสามารถการทำกำไรจากธุรกิจ Non oil ด้วยการเพิ่มความหลากหลายของบริการอาหารและเครื่องดื่มในปั๊ม โดยเฉพาะการซื้อแบรนด์ใหม่มาเพิ่มพร้อมกับขยายร้านเดิมที่มีอยู่
รวมถึงสร้างโรงงานเบเกอรี่ ,โรงงานผงผสมเครื่องดื่ม และศูนย์กระจายสินค้าอัตโนมัติ และขยายร้าน Texas Chicken อีก 20 สาขาต่อปี
3.ธุรกิจต่างประเทศ เน้นขยายลงทุนกลุ่มอาเซียน อาทิ CLMV, ฟิลิปปินส์ ทั้งสถานีบริการน้ำมันอีก 350 แห่ง และร้านกาแฟแบรนด์คาเฟ่ อเมซ่อน อีก 310 แห่ง ซึ่งหลังจากเปลี่ยนรูปแบบลงทุนมาเป็นแฟรนไชส์ทำให้การขยายสาขาได้เร็ว โดยในเวียดนามร่วมทุนกับกลุ่มเซ็นทรัลขยายสาขาร้านคาเฟ่ อะเมซอน ในทำเลหลัก ทำให้ปัจจุบันขยายธุรกิจไปต่างประเทศ 10 ประเทศแล้ว และปัจจุบันคาเฟ่ อเมซ่อน เป็นแบรนด์ร้านกาแฟที่ใหญ่ระดับโลก โดยในแง่จำนวนสาขาอยู่อันดับ 6 ของโลก และแง่รายได้เป็นอันดับ 12 ของโลก
1
ขณะที่ในจีนจะขยายร้านคาเฟ่ อะเมซอน และขยายธุรกิจผลิตภัณฑ์หล่อลื่นในโอมาน และจะมอบสิทธิมาสเตอร์ แฟรนไชส์ ของร้านคาเฟ่ อะเมซอนให้บริษัทน้ำมันแห่งชาติของโอมาน โดยปัจจุบันมีปั๊มในต่างประเทศ 329 แห่ง และมีร้านคาเฟ่ อเมซ่อน 272 แห่ง และศูนย์บริการยานยนต์ “FIT Auto” 56 แห่งในไทย และ 4 แห่งในต่างประเทศ
ขณะที่เงินลงทุนอีก 15% ลงทุนธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่ 3 ธุรกิจหลักข้างต้น เพื่อมองหาโอกาสใหม่และต่อยอดธุรกิจเดิมในรูปแบบของพันธมิตร จากการทำดีลร่วมทุน (JV) หรือซื้อกิจการ (M&A)
1
เล็งต่อสัญญา“เซเว่น-อีเลฟเว่น”
ขณะที่ปัจจุบันสัญญาการให้สิทธิแบรนด์ร้านสะดวกซื้อ เซเว่นอีเลฟเว่น (7-11) ของ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ในปั๊มน้ำมัน PTT Station ใกล้หมดสัญญาในอีกกว่า 2 ปีข้างหน้า โดยอายุสัญญาทั้งหมด 10 ปี และกำลังพิจารณาการต่อสัญญาระหว่างโออาร์และซีพีออลล์ เพราะทั้ง 2 ฝ่าย เป็นคู่พันธมิตรธุรกิจที่ดีต่อกันตลอด โดยร้านสะดวกซื้อมีรายได้สูงขึ้น ขณะที่ปั๊มมีผู้ใช้บริการมากขึ้นด้วย
1
รวมทั้งมีแผนขยายการให้บริการแท่นชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เส้นทางหลักทั่วประเทศ จากปัจจุบันเริ่มเปิดทดลองในปั๊ม 25 แห่ง หลังมองว่าเทรนด์รถยนต์ EV จะต่อยอดธุรกิจและเป็นโอกาสที่จะเสริมความแข็งแกร่งให้ปั๊มในอนาคต โดยนอกจากสถานีชาร์จ EV แล้วยังสนใจร่วมทุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับ EV ทั้งธุรกิจแบตเตอรี่และผลิตรถยนต์ไฟฟ้า
ทั้งนี้ บริษัทวาง 6 กลยุทธ์สำคัญการดำเนินงานเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งและขยายธุรกิจ ประกอบด้วย
1.รักษาความเป็นผู้นำทั้งตลาดค้าปลีกและตลาดพาณิชย์ในประเทศไทย
2.มุ่งส่งเสริมการเติบโตของกลุ่มธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่น ๆ (Non-Oil) สร้างฐานรายได้และเพิ่มขีดความสามารถในการทำกำไร
3.ต่อยอดความสำเร็จ ความชำนาญ เพื่อการขยายตัวสู่ระดับภูมิภาค และระดับโลก
4. เสริมสร้างศักยภาพ ขยายโอกาสการเติบโตด้วยเทคโนโลยี และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก 5.ลงทุนครอบคลุมตลอดห่วงโซ่อุปทาน บริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยี และ 6.มุ่งสร้างคุณค่าและการมีส่วนร่วมต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม ทั้งประเทศชาติ สังคมชุมชน ผู้ถือหุ้น ลูกค้า คู่ค้า และพนักงานอย่างสมดุล
ส่วนกรณีที่มีข่าวเรื่องความโปร่งใสในการปรับโครงสร้างและการโอนสินทรัพย์นั้น บริษัทขอให้ผู้ลงทุนมั่นใจว่าการปรับโครงสร้างของกลุ่ม ปตท.และการโอนทรัพย์สินเข้ามายังโออาร์ดำเนินการอย่างโปร่งใส โดยขั้นตอนการ IPO ได้เตรียมการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2559 และแยกกิจการจาก ปตท.แล้วเสร็จในปี 2561
ทั้งนี้ ยืนยันว่าการแยกธุรกิจ OR ออกมาจาก ปตท.ทำธุรกรรมอย่างรอบคอบและไม่โอนทรัพย์สินที่เป็นส่วนของสมบัติแผ่นดินเข้ามายัง OR รวมถึงทรัพย์สินที่โอนเข้ามามีการประเมินตามมูลค่ายุติธรรมของราคาตลาด นอกจากนี้ ปตท.ได้นำเงินจากการโอนทรัพย์สินไปจ่ายภาษีให้กระทรวงการคลัง 16,000 ล้านบาท และงบการเงินหลังการแยกธุรกิจได้รับการตรวจสอบรับรองจากคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) แบบไม่มีเงื่อนไข
อย่างไรก็ตาม บริษัทคาดว่าจะนำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ภายในเดือน ก.พ.นี้
โฆษณา