22 ม.ค. 2021 เวลา 12:22 • หุ้น & เศรษฐกิจ
สรุปวิธียื่นภาษีปี 2563 สำหรับ
เงินปันผลหุ้น และ กองทุนรวม
1
ทางเลือกในการจัดการภาษี
สำหรับเงินได้ที่เป็นเงินปันผลนั้น
จะมีอยู่ 2 ทาง คือ
1. เลือกใช้สิทธิ Final TAX
ถูกหัก 10% ไว้แล้วจบไม่ยื่นภาษี
2. ไม่ใช้สิทธิ์ Final TAX
แต่เอาเงินปันผลมายื่นภาษี
แล้วเอาภาษีที่ถูกหักไว้ 10% นั้น
มาใช้หักออกจากภาษีที่คำนวณได้อีกที
2
โดยเงินปันผลที่ได้รับจากหุ้นและกองทุน
ณ ตอนนี้ ถือว่าเป็นเงินได้ประเภทเดียวกันแล้ว
คือ เงินได้ประเภทที่ 4 (มาตรา 40(4)(ข))
ดังนั้นแปลว่า
ถ้าเราจะเอามายื่นภาษี
จะสามารถเลือกได้แค่ 2 ทาง คือ
ยื่นทั้งเงินปันผลหุ้นและกองทุนทั้งคู่
หรือไม่ยื่น-ปล่อยให้ Final TAX ทั้งคู่
สรุปภาษีเงินปันผลหุ้น กับ เงินปันผลกองทุน
3
ข้อควรระวังของเรื่องนี้คือ
เงินปันผลจากหุ้น มีสิทธิ์ที่เรียกว่า
"เครดิตภาษีเงินปันผล"
ซึ่งอาจจะช่วยให้ใครหลายคน
ได้คืนภาษีมากขึ้นหรือเสียภาษีน้อยลง
ในขณะที่เงินปันผลจากกองทุน
ไม่มีสิทธิเครดิตภาษีเงินปันผลแบบหุ้น
ดังนั้นการเอามายื่นทั้งคู่สำหรับบางคน
อาจจะเป็นเรื่องที่ไม่คุ้มค่าสักเท่าไรนัก
ดังนั้น คิดให้ดีว่าจะยื่นแบบไหน
ถึงจะคุ้มค่าต่อเงินภาษีของเรามากที่สุด
4
เวลากรอกข้อมูลยื่นภาษี
จะมีช่องให้เลือกอยู่ 3 ช่อง คือ
1. กรณีที่เป็นเงินปันผลจากหุ้น
ที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเรียบร้อย
ตรงนี้ต้องเลือกอัตราภาษีให้ถูกต้อง
เพราะมีผลต่อการใช้สิทธิเครดิตภาษี
2. กรณีที่เป็นเงินปันผลจากหุ้น (บางตัว)
ที่ไม่ได้รับสิทธิเครดิตภาษีเงินปันผล
รวมถึงเงินปันผลจากกองทุนรวม
จะต้องเลือกช่อง "ไม่ได้รับเครดิตภาษี"
โดยทั้ง 1-2 จะมีข้อสังเกตเหมือนกันคือ
เป็นเงินได้ที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% ไว้
3. กรณีที่เป็นเงินได้ยกเว้นภาษี
อันนี้จะมีสำหรับเงินปันผลหุ้นบางตัว
หรือเงินปันผลกองทุนบางประเภท
เช่น กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน
ตรงนี้เราสามารถกรอกข้อมูลเข้าไป
เพื่อแจ้งสิทธิ์การได้รับเงินปันผลเฉยๆ
โดยที่จะไม่ถูกนำไปคิดและคำนวณภาษี
เป็นเหมือนการชี้แจงให้ถูกต้องเท่านั้น
ซึ่งเงินได้ในกลุ่มนี้ มีข้อสังเกตว่า
จะไม่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% ไว้
ดังนั้น เช็คให้ดีด้วยว่า
เงินปันผลที่ได้รับในปี 2563 นั้น
มันเป็นประเภทไหนยังไงบ้าง
และเราควรเลือกกรอกแบบไหนให้คุ้มค่า
5
สุดท้าย ขอสรุปสั้นๆว่า
ถ้าใครที่เสียภาษีฐานสูงมากกกก
เช่น 30% ขึ้นไป ยังไงก็ไม่คุ้มที่จะเอามารวม
ปล่อยให้หัก 10% ไปแล้วจบจะคุ้มกว่า
แต่ถ้าหากใครเสียในฐานที่ต่ำกว่านี้
ลองเอามาคำนวณดูสักทีว่ามีประโยชน์ไหม
แล้วเลือกให้คุ้มกับสิ่งที่เราต้องการครับพ้ม
#TAXBugnoms
โฆษณา