24 ม.ค. 2021 เวลา 04:30 • ไลฟ์สไตล์
ญี่ปุ่นห้ามเล่นพนัน แต่ทำไมร้านอย่าง "ปาจิงโกะ" จึงอยู่ได้ แถมได้รับความนิยม | MAIN STAND
การพนัน ถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายในหลายประเทศ เช่นเดียวกับ ญี่ปุ่น ที่มีกฏหมายห้ามเล่นการพนันมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1900S
อย่างไรก็ดี กลับมีธุรกิจประเภทหนึ่งที่ชื่อว่า "ปาจิงโกะ" ซึ่งดูไม่ต่างจากการพนัน จากรูปแบบการเล่นที่คาดเดาอะไรไม่ได้ แต่สามารถดำเนินกิจการได้อย่างถูกกฎหมาย แถมยังได้รับความนิยมจากคนทั้งประเทศ
เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ? ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับ Main Stand
ปาจิงโกะคือ ?
ในประเทศที่พัฒนาแล้ว การพนันถือเป็นหนึ่งในความบันเทิง ที่ผู้คนสามารถเล่นได้ภายใต้กฎหมายควบคุม ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ที่มีการเปิดคาสิโน ในเมือง ลาส เวกัส มาตั้งแต่ปี 1931 หรืออังกฤษที่อนุญาตให้เล่นการพนันอย่างถูกกฎหมายตั้งแต่ปี 1960
แต่อาจไม่ใช่สำหรับญี่ปุ่น เมื่อการพนันเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายมาตั้งแต่ปี 1907 (อนุญาตให้เพียงม้าแข่ง รถแข่งบางประเภท หรือล็อตเตอรี่ เท่านั้น) โดยตามมาตรา 23 ของประมวลกฎหมายอาญาแดนอาทิตย์อุทัยระบุว่า ผู้ใดเล่นการพนัน จะได้รับโทษปรับไม่เกิน 500,000 เยน (ราว 43,000 บาท) และถ้าหากทำผิดซ้ำ อาจถูกจำคุกสูงสุด 3 ปี
อย่างไรก็ดี กลับมีธุรกิจประเภทหนึ่งที่ไม่ว่าจะมองมุมไหน ก็ดูเป็นการพนันชัดเจน แต่กลับเป็นสิ่งถูกกฎหมายในญี่ปุ่น นั่นก็คือ "ปาจิงโกะ"
มันคือหนึ่งในธุรกิจที่เฟื่องฟูของญี่ปุ่น และมีเงินสะพัดที่สูงมาก โดยผู้เล่นใช้เงินไปถึง 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี (ราว 6 ล้านล้านบาท) มากกว่ารายได้รวมของ ลาส เวกัส ถึง 30 เท่า และผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP) ของนิวซีแลนด์ทั้งปี
1
อันที่จริง ปาจิงโกะ เป็นเกมง่าย ๆ ที่มีลักษณะคล้ายกับพินบอลของตะวันตก วิธีเล่นก็คือเพียงแค่ใส่ลูกเหล็กลงไปในช่องที่เชื่อมกับแท่นยิง จากนั้นให้ใช้มือดีดลูกให้ขึ้นไปด้านบน แล้วให้ตกลงมาในช่องโบนัส โดยระหว่างทางจะมีสิ่งกีดขวางเป็นอุปสรรค
ในขณะที่รางวัล จะขึ้นอยู่กับลูกเหล็กทั้งหมดที่ผู้เล่นได้ เพราะถ้าหากลูกเหล็กตกไปยังช่องโบนัสพิเศษ ผู้เล่นก็จะได้ลูกเหล็กกลับมาแบบทวีคูณ และเอาลูกเหล็กนี้ไปแลกเป็นของรางวัล
อย่างไรก็ดี แม้ว่าผู้เล่นจะมีตัวช่วยเป็นก้านยาว ๆ ที่ดูเหมือนครีบคล้ายกับพินบอล แต่ครีบของปาจิงโกะ จะเป็นระบบอัตโนมัติ ที่ผู้เล่นไม่สามารถบังคับได้ ทำให้เมื่อลูกเหล็กถูกดีดออกไปแล้ว เราจึงทำได้เพียงรอลุ้นเท่านั้น
นอกจากนี้ ตัวแท่นที่เป็นอุปสรรคคอยกีดขวาง ไม่ให้ลูกเหล็กตกลงไปในช่องพิเศษ ยังถูกร้านปรับเปลี่ยนทุกวัน เพื่อไม่ให้เครื่องไหน ให้รางวัลกับผู้เล่นเป็นพิเศษซ้ำ ๆ อีกด้วย
ทำให้มันเป็นเกมที่ใช้การสุ่ม แม้ว่าผู้เล่นเก๋า ๆ จะมีเทคนิค หรือความเชื่อส่วนตัว เช่นการดีดลูกบอลเป็นจังหวะเท่ากันทุกครั้ง แต่สุดท้ายมันก็เป็นการพึ่งโชคชะตาเป็นส่วนใหญ่ และถูกมองว่าไม่ต่างจากการพนัน
อย่างไรก็ดี มันกลับไม่ผิดกฎหมาย เพราะอะไร ?
ของแลกเงิน
อันที่จริง ปาจิงโกะ เป็นความบันเทิงที่มีประวัติศาสตร์มายาวนาน โดยจุดเริ่มต้นของมันต้องย้อนกลับไปในปี 1924 เมื่อชาวญี่ปุ่นได้นำเข้าเครื่องเล่นที่ชื่อว่า Corinthian Bagatelle มาจาก ชิคาโก สหรัฐอเมริกา
Photo : www.easyliveauction.com
มันเป็นเกมกระดานขนาดไม่ใหญ่มาก ที่วางราบไปกับพื้น วิธีเล่นคือให้ดีดลูกเหล็กไปลงในช่องที่กำหนดไว้ โดยแต่ละช่องจะมีขนาดเล็กใหญ่แตกต่างกันไป
เครื่องดังกล่าวได้รับความนิยมมากในญี่ปุ่น โดยเฉพาะในร้านลูกอม ที่เอาไว้ให้เด็ก ๆ เล่นลุ้นของรางวัล ซึ่งก็คือลูกอมในร้าน ก่อนที่มันจะกลายเครื่องประจำร้านลูกอม และได้ชื่อเล่นใหม่ว่า "ปาจิ ปาจิ" ที่มาจากเสียงตอนที่เล่น
จนกระทั่งในเวลาต่อมา Corinthian Bagatelle ได้ถูกนำมาดัดแปลงให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เปลี่ยนการวางเป็นแนวตั้ง และให้บริการสำหรับผู้ใหญ่ พร้อมได้ชื่อใหม่ว่า "ปาจิงโกะ" ซึ่งร้านปาจิงโกะ ร้านแรกในญี่ปุ่น อยู่ที่นาโงยา และเปิดทำการในปี 1930 ก่อนเติบโตอย่างต่อเนื่องหลังจากนั้น
แม้ว่าธุรกิจปาจิงโกะ จะหยุดชะงักไปในปี 1938-1946 จากผลพวงของสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่หลังสงครามสงบ มันก็กลับมาคึกคักอีกครั้ง และแพร่หลายไปทั่วประเทศ โดยในปี 1953 มีร้านปาจิงโกะที่ลงทะเบียนไว้สูงถึง 387,664 ร้าน หรือทุกหนึ่งตารางกิโลเมตรจะมีร้านปาจิงโกะ 3 ร้าน และในปัจจุบันมีร้านปาจิงโกะที่เปิดให้บริการมากถึง 10,600 ร้าน (จากผลสำรวจในปี 2018)
เหตุผลสำคัญที่ทำให้ ปาจิงโกะ ได้รับความนิยม คือความง่ายของมัน เพราะแค่เพียงดีดลูกเหล็ก แล้วรอให้ลงไปในช่องโบนัส ถ้าไม่ลงก็ดีดต่อไปเรื่อย ๆ และคอยลุ้นให้โชคเข้าข้าง ทำให้มันไม่ต่างจากการเสี่ยงดวง และดูเข้าข่ายเป็นการพนัน
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ทำให้มันรอดพ้นจากการเป็นธุรกิจผิดกฎหมายก็คือ วิธีการให้ของรางวัลแบบ "เลี่ยงบาลี"
ตามกฎหมายญี่ปุ่น เกมที่มีรางวัลเป็นเงินสด ถือเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ปาจิงโกะ จึงใช้ช่องโหว่ในเรื่องนี้ด้วยการให้ของรางวัลเป็นสิ่งของแทน ที่มีตั้งแต่สบู่ ถ้วย จาน ช้อน เหล้า ไปจนถึงกระเป๋าแอร์เมส
1
แต่ถ้าผู้เล่น เลือกที่จะไม่เอาเป็นสิ่งของ ก็สามารถนำของรางวัลดังกล่าวไปแลกเป็นเงินสดได้ที่ร้านลับ ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในซอยลึกห่างจากร้านปาจิงโกะ ซึ่งแน่นอนว่าทั้งสองร้านนี้ ต่างมีเจ้าของเป็นคนเดียวกัน
1
Photo : jpachinko.wordpress.com
"ลูกเหล็กทุกลูกจะเท่ากับแต้ม และแต้มเหล่านั้นก็เอาไปแลกรางวัลที่เคาท์เตอร์ คุณอาจจะได้แค่สบู่ หรืออาจจะได้กระเป๋าแอร์เมส ขึ้นอยู่ว่าคุณได้ลูกเหล็กมาเท่าไร" อี มิน จิน ผู้เขียนเรื่อง Pachinko ที่เป็นเรื่องราวของคนเกาหลีในญี่ปุ่นยุคหลังสงครามโลกกล่าวกับ Business Insider
"แต่บางทีคุณอาจจะไม่อยากได้กระเป๋า แอร์เมสหรือสบู่เป็นร้อยก้อน คุณก็สามารถเอามันไปเปลี่ยนมันเป็นเงินสดในซอยลึก ๆ ที่อยู่ห่างออกไป"
โดยร้านแลกเงินส่วนใหญ่ จะมียากูซ่า เป็นผู้ดูแล ทำให้มันถูกเรียกว่าธุรกิจถูกกฎหมายได้ไม่เต็มปากนัก และถูกมองว่าเป็นพื้นที่สีเทาในการฟอกเงิน แต่ปัจจุบัน มันได้เปลี่ยนแปลงไปพอสมควร เมื่อหลายร้านได้สร้างห้องกระจกลับอยู่ระหว่างชั้นวางรางวัลและแคชเชียร์ เพื่อเอาไว้แลกเงินโดยเฉพาะ
"คุณสามารถเอาลูกเหล็กไปแลกตรงนั้น มันเป็นแผ่นพลาสติก แผ่นทองหรือแผ่นเงิน แต่มันจะมีราคาตลาดของมัน และสิ่งนั้นอาจจะเป็นชิพหรือแผ่นดิสก์ แล้วค่อยเอาไปเปลี่ยนเป็นเงินสดที่แคชเชียร์" อี อธิบายต่อ
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ ปาจิงโกะ สามารถดำเนินกิจการได้ในสังคมญี่ปุ่น แม้ว่าเบื้องหลังมันจะเต็มไปด้วยความดำมืดก็ตาม
ธุรกิจที่ดำเนินกิจการโดยพลเมืองชั้นสอง
ปาจิงโกะ ถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมยอดฮิตของชาวอาทิตย์อุทัย โดยจากผลสำรวจในปี 2016 ระบุว่า เกือบครึ่งหนึ่งของการใช้เวลาพักผ่อนของชาวญี่ปุ่น ใช้มันไปกับการเล่นปาจิงโกะ
เช่นเดียวกันกับเม็ดเงินที่หมุนเวียนอยู่ในธุรกิจนี้ โดยในปี 1999 ซึ่งเป็นปีที่เติบโตสูงสุด ธุรกิจปาจิงโกะ มีรายได้คิดเป็น 5.6 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือในปัจจุบันก็มีอัตราการจ้างงานที่สูงกว่าบริษัทรถยนต์ชั้นนำของประเทศ
หนึ่งในผู้นำของธุรกิจนี้ก็คือ Dynam พวกเขามีร้านปาจิงโกะให้บริการ มากกว่า 400 ร้านทั่วประเทศ และมีจุดขายอยู่ที่ความสะอาด และเงียบกว่าร้านปาจิงโกะทั่วไป
ทว่าทั้งที่มันเป็นกิจกรรมยอดฮิตของชาวญี่ปุ่น แต่ความตลกร้ายก็คือธุรกิจนี้ ส่วนใหญ่กลับดำเนินการด้วยคนญี่ปุ่นเชื้อสายเกาหลี ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่คนญี่ปุ่น เลือกปฏิบัติ และมองว่าเป็นพลเมืองชั้นสอง
3
เหตุผลสำคัญก็เพราะว่า ในช่วงญี่ปุ่นถูกยึดครองจากฝ่ายสัมพันธมิตร หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวเกาหลีที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นจำนวนมากเผชิญกับภาวะตกงาน หรือทำได้เพียงแค่เป็นแรงงาน เนื่องจากโดนเหยียดหรือเลือกปฏิบัติ ทำให้พวกเขาต้องหันเหสู่วงการนี้
1
"เหตุผลที่สุดท้ายคนเกาหลีต้องทำงานในร้านปาจิงโกะ เพราะว่าพวกเขาไม่สามารถหางานที่อื่นได้ ร้านกลายเป็นสถานที่จ้างงาน เป็นที่หลบภัยสำหรับคนที่ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายตามปกติ อย่างพนักงานไปรษณีย์ คนขับรถบรรทุก หรือครู" ผู้แต่งเรื่อง Pachinko อธิบาย
2
"ผู้หญิงเข้าไปอยู่ในงานบริการเกี่ยวกับอาหาร ส่วนผู้ชายไปอยู่กับวงการพนัน และหลังจากนั้นก็เป็นไปตามวัย พวกเขากลายเป็นคนสำคัญมาก ๆ ในวงการนี้"
อี ซุงยุน ศาสตราจารย์สาขาเกาหลีแห่งมหาวิทยาลัย Fletcher School มหาวิทยาลัยทัฟส์ สหรัฐอเมริกา ประมาณการว่าในช่วงที่ธุรกิจนี้เติบโตสูงสุดในช่วงทศวรรษที่ 1990s น่าจะมีเงินราว 100 ล้านดอลลาร์ (3,000 ล้านบาท) ที่เจ้าของร้านปาจิงโกะส่งไปยังเกาหลีเหนือ
1
ในขณะที่ อี มิน จิน เองก็ยอมรับว่าเธอก็เพิ่งรู้เรื่องนี้ หลังจากใช้เวลากว่า 5 ปีฝังตัวอยู่ในแดนอาทิตย์อุทัย ไปพร้อมกับการสัมภาษณ์คนญี่ปุ่นเชื้อสายเกาหลี และคนเกาหลีที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นที่เรียกว่า Zainichi
"ฉันไม่รู้เลยจนกระทั่งมาอาศัยอยู่ในญี่ปุ่น ว่าธุรกิจนี้ถูกครอบงำโดยคนญี่ปุ่นเชื้อสายเกาหลี มันถูกมองว่าเป็นธุรกิจชั้นสอง เป็นพวกธุรกิจเถื่อน สกปรก และอันตราย"
ในขณะที่มุมมองดังกล่าวยังคงไม่เปลี่ยนไป แม้กระทั่งในปัจจุบัน หากรู้ว่าเป็นคนเกาหลี พวกเขาก็จะโดนเหยียด ถูกเลือกปฏิบัติ แม้ว่าจะใช้ชีวิตในญี่ปุ่นมานานหลายปี ทำให้คนเกาหลีในญี่ปุ่นจำนวนมาก เลือกจะปิดบังตัวเองด้วยการใช้ชื่อญี่ปุ่นแทน
อย่างไรก็ดี ในตอนนี้มันกำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหม่
อนาคตที่ไม่แน่นอน
แม้ว่า ปาจิงโกะ จะเป็นธุรกิจที่ได้รับความนิยม และมีเม็ดเงินหมุนเวียนเป็นจำนวนมาก แต่ในช่วงหลังก็เริ่มหดตัวอย่างเห็นได้ชัด โดยในปี 2018 จำนวนร้านปาจิงโกะ ลดลงจากปี 2005 ถึง 2 ใน 3
แน่นอนว่ารายได้ต่อปีของอุตสาหกรรมนี้ก็ลดลง จากรายงานของ Financial Times ระบุว่าจากเดิมที่พวกเขามีรายได้รวมกันสูงถึง 27 ล้านล้านเยน (ราว 7 ล้านล้านบาท) ในปี 2006 ได้ตกลงมาเหลือ 21 ล้านล้านเยน (ราว 6 ล้านล้านบาท) ในปี 2016
นอกจากนี้แม้ว่าผู้ประกอบการ จะพยายามแก้ปัญหาด้วยเชิญชวนลูกค้าที่มีอายุน้อยลงให้มาเล่นมากขึ้น (แต่เดิมเป็นวัยกลางคนและผู้สูงอายุ) แต่ต้องเจออุปสรรคจากกฎหมายฉบับใหม่ ที่จำกัดเงินรางวัลสูงสุดในแต่ละเครื่องให้เหลือเพียง 1 ใน 3 (ไม่เกิน 13,500 บาทต่อ 4 ชั่วโมง)
ในขณะเดียวกัน พวกเขายังต้องเผชิญกับความท้าทายครั้งใหม่ เมื่อในปี 2016 รัฐบาลญี่ปุ่นภายใต้การนำของ ชินโสะ อาเบะ ได้ผ่านกฎหมายที่อนุญาตให้ตั้งคาสิโนได้ แต่จะเป็นในรูปแบบรีสอร์ท และจำกัดวันเข้า
2
อย่างไรก็ดี อี มิน จิน ผู้เขียนเรื่อง Pachinko ก็เชื่อว่าแม้คาสิโนจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจของปาจิงโกะ
แต่ก็ไม่สามารถทำให้ธุรกิจนี้ล้มหายตายจากได้ ซึ่งยืนยันได้จากเครื่องเล่นปาจิงโกะ ที่ยังมียอดขายสูงถึง 1.5 ล้านเครื่องทุกปี
ในขณะเดียวกัน จากการรายงานของ Yano Research Institute ในปี 2020 ระบุว่าจากจำนวนประชากร 125 ล้านคนของญี่ปุ่น มีคนที่เล่นปาจิงโกะ เป็นจำนวนสูงถึง 7.8 ล้านคน (แบ่งเป็นผู้ชาย 5.88 ล้านคน และผู้หญิง 1.91 ล้านคน) หรือคิดเป็น 6.2 เปอร์เซ็นต์ของคนทั้งประเทศ หรือให้เห็นภาพคือจากคนญี่ปุ่น 16 คน จะมีคนที่เล่นปาจิงโกะ 1 คน
 
"1 ใน 11 ของคนญี่ปุ่น เล่นมันอย่างน้อยหนึ่งครั้งต่อสัปดาห์ สัปดาห์ละครั้ง" อีอธิบาย
"มันจึงไม่เหมือนกับการไปสถานที่อโคจร มันไม่เหมือนกับเวกัส ที่คุณไปปีละครั้ง หรือครั้งเดียวในรอบ 10 ปีและพูดว่า 'ฉันกำลังจะเป็นเจ้าสาว งั้นวันนี้มาสนุกเต็มที่' มันไม่ใช่แบบนั้นเลย"
ปาจิงโกะ จึงไม่ใช่แค่เกม ไม่ใช่แค่การพนัน เพราะมันได้ฝังรากลึกอยู่ในจิตสำนึกของชาวซามูไร มันได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมญี่ปุ่น เป็นน้ำหล่อเลี้ยงใจของคนที่เล่น ที่จะทำให้มันจะอยู่คู่กับสังคมญี่ปุ่น ไปอีกนานเท่านาน
"คนญี่ปุ่นชอบความรู้สึกของการชิงโชค ทั้งจากใบเสี่ยงเซียมซี หรือล็อตเตอรี่ นอกจากนี้ ที่ร้านสะดวกซื้อเรายังมีเครื่องกาชาปอง" นัตสึกิ อดีตผู้เล่นปาจิงโกะ อธิบายในสารคดี Japan's Biggest Gaming Obsession Explained | Pachinko
"คุณไม่มีทางรู้ว่ามันกำลังจะไปตรงไหน ปาจิงโกะ มันเป็นอะไรแบบนั้น มันมีความรู้สึกของความตื่นเต้น ได้ลุ้นไม่ว่าบอลจะมามั้ยในแต่ละวัน"
"มันเป็นเหมือนการมองหาความสุขเล็ก ๆ จากความตื่นเต้นนั้น"
บทความโดย มฤคย์ ตันนิยม
แหล่งอ้างอิง
โฆษณา