25 ม.ค. 2021 เวลา 07:01 • หุ้น & เศรษฐกิจ
กว่า​ เรา(จะ)ชนะ
วิเคราะห์เบื้องลึก "เราชนะ" กางเงินกู้ 1 ล้านล้าน ตอบคำถามเหตุใดการช่วยเหลือของรัฐบาลครั้งนี้ จึงเป็นไปแบบจำกัด พร้อมฟันธงรัฐบาลต้องทลายข้อจำกัดทางการคลัง กู้เงิน ฟื้นฟูเศรษฐกิจอีกรอบ
ตั้งแต่ต้นปี 2564 ผู้เขียนพยายามชี้ให้เห็นถึงข้อจำกัดในการใช้นโยบายการคลังของรัฐบาล มาแก้ปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด ระลอกใหม่ ไม่ว่าจะเป็น การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลที่หดตัวลงอย่างมาก โดยเฉพาะรายได้หลักๆ ไม่ว่าจะเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้นิติบุคคล
ขณะที่เงินกู้จากพระราชกำหนดกู้เงินฯ 1 ล้านล้านบาท ที่มีอยู่ก็เริ่มร่อยหรอลงไปทุกที การใช้นโยบายอัดฉีดเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจ เพื่อฟื้นฟูเยียวยา ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด ในแบบที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า “เฮลิคอปเตอร์ มันนี่” ย่อมมีข้อจำกัดมากขึ้น
สะท้อนจากโครงการ “เราชนะ” ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้จ่ายเงินเยียวยาประชาชนจํานวน 31.1 ล้านคน คนละไม่เกิน 3,500 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 2 เดือน รวม 7,000 บาท ใช้เงินรวม 2.1 แสนล้านบาท
ภาพที่เห็นชัดคือ กรอบการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ที่กระทรวงการคลังนำมากำหนดเป็นเงื่อนไขในการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ 7 ข้อนั้นเป็นการช่วยเหลือแบบจำกัด จำเขี่ย ด้วยการกำหนดคุณสมบัติต้องห้ามของผู้เข้าร่วมโครงการอย่างชัดเจน ไม่เปิดกว้างเหมือนการเยียวยาหลายครั้งที่ผ่านมา ดังนี้
1. เป็นผู้มีสัญชาติไทย อายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ณ วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการฯ
2. ไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม ทั้งที่มีคุณสมบัติครบและไม่ครบตามเงื่อนไขการได้รับประโยชน์ทดแทน กรณีว่างงานจากสำนักงานประกันสังคม ณ วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการฯ
3. ไม่เป็นข้าราชการ พนักงานราชการ พนักงาน ลูกจ้าง เจ้าหน้าที่ หรือผู้ปฏิบัติงานอื่นใดในหน่วยงานของรัฐที่ได้รับค่าตอบแทนจากหน่วยงานของรัฐโดยตรง ณ วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการฯ
4. ไม่เป็นข้าราชการการเมืองตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ณ วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการฯ
5. ไม่เป็นผู้รับบำนาญปกติ หรือเบี้ยหวัดจากส่วนราชการ
6. ไม่เป็นผู้มีเงินได้พึงประเมินเกิน 300,000 บาท ตามฐานข้อมูลที่มีล่าสุด
7. ไม่มีเงินฝากรวมกันทุกบัญชีเกิน 500,000 บาท ตามฐานข้อมูลที่มีล่าสุด
จากเงื่อนไขนี้เท่ากับว่า ผู้มีอาชีพอิสระ เกษตรกร ลูกจ้างทั่วไป ถ้าใครมีรายได้เกินปีละ 300,000 บาท หรือ เฉลี่ยเดือนละ 25,000 บาท จะหมดสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยา “เราชนะ” ทันที และที่สำคัญแม้ว่าคนเหล่านี้จะมีรายได้ไม่เกิน 300,000 บาท แต่หากใครมีเงินฝากในทุกบัญชีรวมกันเกินกว่า 500,000 บาท ก็หมดสิทธิ์รับเงินเยียวยาเช่นกัน
แม้ว่าการกำหนดหลักเกณฑ์ของกลุ่มประชาชนที่เดือดร้อนได้รับสิทธิช่วยเหลือจากรัฐบาลอย่างชัดเจนในโครงการ “เราชนะ” เป็นเรื่องที่ดี ต่างจากโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน-เยียวยาเกษตรกร-คนละครึ่ง” ที่ต้องยอมรับว่ามีประชาชนบางส่วนที่ไม่ได้รับความเดือดร้อน ได้รับสิทธิช่วยเหลือรับเงินเยียวยาจากรัฐบาล
แต่รัฐบาลต้องไม่ลืมว่ายังมีผู้ที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือกลุ่มตกหล่น จากการระบาดของโควิดในช่วงที่ผ่านมาอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งต้องหาวิธีการแก้ปัญหาให้ได้เพื่อให้บุคคลเหล่านั้นได้มีสิทธิ์เข้าถึงความช่วยเหลือต่อไป
ที่มา: คอลัมน์ถอดสูตรคุย โดย บรรทัดเหล็ก หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
อ่านเพิ่มเติมได้ที่...
โฆษณา