25 ม.ค. 2021 เวลา 13:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เจาะ SAK ผู้ปล่อยสินเชื่อทะเบียนรถหน้าใหม่ที่กำลังมาแรง
ในสถานะการณ์ที่ Covid-19 ระบาดและสร้างความเสียหายให้กับระบบเศรษฐกิจไปมากเช่นนี้ แน่นอนว่าหุ้นหลายตัวก็ได้มีการปรับตัวลงมาจนมีราคาต่ำ และในขณะเดียวกันก็มีหุ้นผู้ชนะที่ราคากำลังมาแรงอีกด้วย
2
ซึ่งกลุ่มหุ้นที่ได้รับผลบวกจากสภาพเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองแบบนี้ก็คงจะหนีไม่พ้นกลุ่มผู้ให้บริการสินเชื่อ นั่นเอง แต่กว่าจะปรับตัวอย่างร้อนแรงก็ถูกกดดันมานานพอสมควรเหมือนกันจากความกังวลของ NPLs ในตอนแรก
แต่หลังจากที่หุ้นอย่าง SAK หรือบมจ. ศักดิ์สยามลิสซิ่ง ได้เข้าตลาดด้วยราคา IPO เพียง 3.70 บาท เราก็ไม่ได้เห็นราคาแถวๆนั้นกันอีกเลย เพราะ SAK มีการปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรงอย่างต่อเนื่อง
ถึงแม้ว่า SAK จะไม่สามารถวิ่งทะลุราคา 10.40 บาทและเกิดการลงมาพักตัวที่บริเวณ 8.45 บาทตามราคาปิดตลาดวันที่ 20 มกราคม 64 แต่ถ้าหากมองย้อนกลับไปจากตรงนี้ก็จะถือว่า SAK สามารถปรับตัวขึ้นมาจากราคา IPO ได้มากถึง128% แล้ว
และเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เราไปรู้จักกับหุ้นตัวนี้กันเลยดีกว่าครับ
โดยธุรกิจของทางบริษัทก็คือการปล่อยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์, มอเตอร์ไซค์, รถไถ และเครื่องจักรการเกษตรผ่านแบรนด์ “สินเชื่อศักดิ์สยาม” ที่ปัจจุบันมีอยู่ทั้งหมด 519 สาขา ใน 38 จังหวัดทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสานและภาคตะวันตก ด้วยพอร์ทสินเชื่อรวมที่ 6,247 ล้านบาท
SAK ถูกก่อตั้งขึ้นมาโดย “ผศ.ดร.พูนศักดิ์” และ “อ.จินตนา บุญสาลี” ในปีพ.ศ. 2529 ด้วยชื่อ "สำนักงานเครดิตอุตรดิตถ์" กับการทำธุรกิจขายตรง แต่หลังจากที่ธุรกิจขายตรงเกิดความซบเซา SAK ก็ได้ผันตัวไปเรียนรู้การทำธุรกิจลิสซิ่งและได้เปลื่ยนชื่อเป็นบจ. ศักดิ์สยามพาณิชลิสซิ่ง
หลังจากนั้น SAK ก็ได้เติบโตขึ้นมาอย่างมั่นคงจนทำให้ทางบริษัทตัดสินใจจดทะเบียนด้วยชื่อ ศักดิ์สยามลิสซิ่ง หรือชื่อปัจจุบันในปีพ.ศ. 2559 นั่นเอง
💰งบการเงินของ SAK
ปี 2560 รายได้ 928 ล้านบาท
กำไร 290 ล้านบาท
ปี 2561
รายได้ 1,256 ล้านบาท
กำไร 398 ล้านบาท
ปี 2562
รายได้ 1,604 ล้านบาท
กำไร 345 ล้านบาท
(ล่าสุด)งวด 9เดือน/2563
รายได้ 1,216 ล้านบาท
กำไร 408 ล้านบาท
ปัจจุบัน SAK มีรายได้หลักมาจากสินเชื่อทะเบียนรถในสัดส่วน 84.5% รองลงมาเป็นสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ 10.5% และรายได้ที่มาจากสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่ใช้ทะเบียนเป็นหลักประกันอีก 3.8%
ซึ่งกลุ่มลูกค้าของ SAK ก็คือกลุ่มลูกค้ารายย่อยเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจาก SAK มองว่าลูกค้ากลุ่มนี้ยังขาดแคลนโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินจากหลักทรัพย์ที่ยังไม่มากพอ
ดังนั้น SAK เชื่อว่าถ้าตัวพวกเขาเองสามารถเป็นแหล่งเงินทุนที่เข้าถึงได้สะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรมได้เช่นนี้แล้วล่ะก็ โอกาสเติบโตกับตลาดสินเชื่อรายย่อยของ SAK ก็น่าจะยังเหลืออีกมาก
โดยเป้าหมายในอีก 2 ปีข้างหน้าหรือพ.ศ. 2566 ของ SAK ก็คือการขยายพอร์ทสินเชื่อรวมให้ขึ้นไปเป็น 12,000 ล้านบาท และเพิ่มจำนวนสาขาให้ขึ้นไปเป็น 1,119 แห่งเพื่อครอบคลุมพื้นที่มากขึ้นซึ่งในอนาคตอาจจะมีการลงไปเปิดสาขาในสเกลเล็กๆขนาดหมู่บ้านไปด้วยเลยก็เป็นได้
และสำหรับผลงานล่าสุดหรือรอบไตรมาส 3/2563 ของ SAK ก็ได้พบว่าบริษัทมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 156 ล้านบาทหรือคิดเป็นการเติบโตขึ้นมาจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 74% ถึงแม้ว่ารายได้จะลดลงมา 7.9% ก็ตาม
นอกจากนี้ระดับ NPL ของ SAK ที่ 2.6% ก็จะถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอุตสาหกรรม (3.8%) พอสมควรเลยครับ ถ้าเป็นเรื่อง NPL ก็คงจะไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง
ก็จะถือว่า SAK เป็นบริษัทที่ค่อนข้างน่าสนใจอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียวนะครับ ซึ่งเราก็ยังไปพบข้อมูลอีกว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาพอร์ทสินเชื่อรวมของ SAK มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) อยู่สูงถึง 33.5% แถมยังรักษา NPM ได้ในระดับ 31% - 33% ได้อีกด้วย
และทั้งหมดที่เราได้เล่ามาก็คงจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ราคาหุ้นของ SAK มีความร้อนแรงเป็นพิเศษ สำหรับเพื่อนๆคนไหนที่สนใจหรืออยากจะติดตามหุ้นตัวนี้ก็สามารถนำเอาชื่อหุ้นไปศึกษาและเจาะหาข้อมูลกันต่อได้ตามสะดวก
SAK จะสามารถเติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ได้หรือไม่ ? เรื่องนี้ต้องมาติดตามต่อไปพร้อมๆกัน
สำหรับวันนี้ สวัสดีครับ...
ผู้สนับสนุน
สนใจเปิดบัญชี ค่าคอมหุ้น 0.05 %
TFEX สัญญาละ 25
กรอกข้อมูลได้ที่
โฆษณา