26 ม.ค. 2021 เวลา 02:13 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
โลกที่ไม่จำเป็นต้องมีเพศชาย
(เรียบเรียง โดย ยิ่งยศ ลาภวงศ์)
2
ช่วงปลายปี ค.ศ. 2006 มีรายงานเกี่ยวกับการวางไข่ของมังกรโคโมโดเพศเมียตัวหนึ่ง ในสวนสัตว์ของประเทศอังกฤษ เรื่องนี้จะไม่เป็นที่ฮือฮาเลย ถ้ามังกรตัวนั้นได้รับการผสมพันธุ์กับมังกรเพศผู้ตามปกติ แต่มังกรโคโมโดสาวชื่อ ฟลอร่า (Flora) ตัวนี้ ยังเวอร์จิ้น หรือยังบริสุทธิ์อยู่! มันถูกเลี้ยงเดี่ยวมาโดยตลอด และไม่เคยผ่านชายใดมาก่อน แล้วมันไปตั้งท้องมาได้อย่างไร?
1
หลายคนอาจจะเคยได้ยินตำนานเล่าขานถึงหมู่บ้าน หรืออาณาจักรที่ประกอบไปด้วยผู้หญิงล้วน หญิงสาวเหล่านั้นสามารถตั้งครรภ์ได้เองโดยไม่ต้องมีสามี เพียงดื่มน้ำจากบ่อวิเศษ แม้ว่าตำนานนี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริงในโลกของมนุษย์ แต่เชื่อไหมว่าในโลกธรรมชาติ มีสิ่งมีชีวิตหลายชนิด ที่เพศเมียสามารถสืบพันธุ์ให้กำเนิดลูกได้เอง โดยไม่ต้องพึ่งพาการผสมพันธุ์กับเพศผู้
ความเหมือนและความต่างของการสืบพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตแบบอาศัยเพศ และแบบไม่อาศัยเพศ ที่มา : http://www.youtube.com/watch?v=jk2RJm5RBEk
การสืบพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตนั้น แบ่งได้เป็น 2 แบบหลัก ๆ คือ การสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ และแบบไม่อาศัยเพศ ซึ่งการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศนั้น เป็นการสืบพันธุ์ที่เรียบง่ายที่สุด เพราะมันคือการก็อปปี้ตัวเอง การสืบพันธุ์แบบนี้ ง่าย เร็ว และใช้พลังงานน้อย แต่ข้อเสียของมันก็คือ การก็อปปี้ตัวเองไม่สามารถทำให้เกิดความหลากหลายได้ สิ่งมีชีวิตที่ถือกำเนิดมาก็จะเหมือนกันหมด หากเกิดภัยพิบัติ หรือโรคระบาด พวกมันอาจจะตายกันหมดเพราะมีความหลากหลายทางพันธุกรรมต่ำ
2
ส่วนการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศนั้นยุ่งยากกว่า เพราะมีกระบวนการแลกเปลี่ยนพันธุกรรม ซึ่งจะส่งผลให้ลูกหลานมีลักษณะที่แตกต่างหลากหลาย ประชากรสามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงได้ง่าย การสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศจึงเป็นกุญแจดอกสำคัญที่เร่งกระบวนการวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต
3
จากเหตุผลเบื้องต้น สิ่งมีชีวิตที่มีความซับซ้อน หรือสิ่งมีชีวิตชั้นสูง ไม่ว่าจะเป็นพืช หรือสัตว์ จึงมักจะพึ่งพาการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศเป็นหลัก โดยในกระบวนสืบพันธุ์นั้น เพศเมียจะเป็นผู้ผลิตไข่ ซึ่งเป็นเหมือนสารตั้งต้นที่จะทำให้ตัวอ่อนพัฒนาขึ้นมาได้ ส่วนตัวผู้จะผลิตอสุจิ ที่ทำหน้าที่เติมเต็มพันธุกรรม กระตุ้นให้ไข่เกิดการพัฒนาแบ่งเซลล์ หรือที่เรียกว่า การปฏิสนธิ นั่นเอง (ถ้าเทียบกันแล้ว ก็ต้องบอกว่า เพศเมียนั้นมีความสำคัญมากกว่าเพศผู้ นี่เป็นเหตุให้เพศผู้ มักจะต้องโอ้อวด หรือแข่งขันกัน เพื่อแย่งชิงให้ได้เพศเมียมาผสมพันธุ์)
5
การสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศกับ Parthenogenesis ที่มา : Encyclopædia Britannica, Inc.
แต่ก็นั่นแหละ การสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศก็มีข้อเสียเช่นกัน ข้อเสียหลัก ๆ ของการสืบพันธุ์แบบนี้ก็คือการ หาคู่ (นี่ไม่ได้จะพาดพิงใครที่ยังโสดอยู่แต่อย่างใด) เพราะกระบวนการหาคู่นั้นต้องใช้พลังงาน เวลา และความพยายามอย่างสูง สิ่งมีชีวิตชั้นสูงหลายชนิดจึงหันกลับไปหาการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ พวกสัตว์เลื้อยคลานหลายชนิด เช่น งูดิน แย้ใต้ และจิ้งจกบางชนิด สามารถวางไข่ที่ฟักเป็นตัวได้เอง โดยไม่ต้องมีการปฏิสนธิ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือไม่ต้องง้อผู้ชายนั่นเองโดยลูกที่ฟักออกมานั้นจะเป็นเพศเมียทั้งหมด เมื่อเป็นเช่นนั้น ตัวผู้ก็ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป
5
นี่เป็นสาเหตุที่ทำให้ทุกวันนี้เราไม่สามารถพบสัตว์พวกนี้ที่เป็นตัวผู้เลย กระบวนการที่สัตว์ตัวเมียสามารถออกลูกได้เองโดยไม่ต้องผสมพันธุ์กับตัวผู้ มีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษว่า Parthenogenesis
2
ในกรณีของมังกรโคโมโดนั้นมีความแตกต่างออกไปเล็กน้อย แม้ว่าพวกมันจะสามารถออกไข่ได้เอง แต่มันก็ยังสามารถผสมพันธุ์กับตัวผู้ได้อยู่เช่นกันซึ่งก็หมายความว่ามันสามารถสืบพันธุ์ได้ทั้ง 2 แบบ และที่สำคัญไปกว่านั้น ลูกมังกรที่ฟักออกมาจากไข่ที่ไม่ได้รับการปฏิสนธินี้จะเป็นตัวผู้ทั้งหมด ทำให้กระบวนการ Parthenogenesis ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในรุ่นถัดไป มังกรโคโมโดจึงยังต้องพึ่งพาการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศอยู่ จะมีการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศก็ต่อเมื่อขาดแคลนตัวผู้เท่านั้น พูดง่าย ๆ ก็คือ สำหรับมังกรโคโมโดแล้ว ตัวผู้ยังมีความจำเป็นอยู่ แต่ก็ไม่ตลอดเวล
3
การสืบพันธุ์ลักษณะนี้ไม่ได้มีแค่ในสัตว์เท่านั้น พืชชั้นสูงก็มีกระบวนการคล้าย ๆ กัน หรือที่เรียกว่า Apomixis โดยพืชบางนิดจะมีดอกเพศเมีย ที่สามารถเจริญไปเป็นผลและเมล็ดได้เลย โดยไม่ต้องได้รับการผสมจากเกสรตัวผู้
การสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศกับ Apomixis ที่มา: https://plantae.org/
สำหรับมนุษย์อย่างเราแล้ว การที่พืชพวกนี้ไม่มีการผสมพันธุ์ ทำให้การคัดเลือกสายพันธุ์นั้นเป็นเรื่องยากจึงไม่ค่อยจะเหมาะสมที่จะเอามาเพาะปลูก แต่จริง ๆ แล้วมีผลไม้ชนิดหนึ่ง ที่เราคุ้นเคยกันดี ที่มีการสืบพันธุ์แบบนี้ ลองทายดูว่ามันคือผลไม้ชนิดไหน ใบ้ให้นิดนึงว่า เป็นผลไม้ที่เราไม่เคยได้ยินเลยว่ามันมีพันธุ์อะไรบ้าง
1
ในขณะที่ ทุเรียนนั้นมีหลากหลาย ทั้ง หมอนทอง หรือก้านยาว ส่วนมะม่วง มี อกร่อง หรือเขียวเสวย , แอปเปิ้ล มีกาล่า หรือฟูจิ แต่เราไม่เคยได้ยินเลยว่า มังคุด มีพันธุ์อะไรบ้าง ทั้ง ๆ ที่มังคุดเป็นผลไม้ที่ถูกนำมาปลูกตั้งแต่สมัยโบราณ นั่นก็เป็นเพราะเราไม่สามารถคัดเลือกลักษณะที่ต้องการ เพื่อพัฒนาเป็นพันธุ์ต่าง ๆ ได้
ปัจจุบันเราไม่พบต้นมังคุดตัวผู้ที่ใดในโลกเลย อย่างไรก็ตาม งานวิจัยด้านพันธุศาสตร์ของมังคุดได้เปิดเผยว่า แม้มังคุดจะมีความหลากหลายทางพันธุกรรมต่ำ และไม่สามารถถูกคัดเลือกออกเป็นพันธุ์ต่าง ๆ ได้ แต่มันก็ไม่ได้เหมือนกันไปหมดทุกต้น โดยมังคุดในบ้างพื้นที่อาจมีการผสมข้ามชนิดกับญาติของมันในป่า แต่นั่นก็ไม่บ่อยพอที่จะทำให้มันเกิดลักษณะที่แปลกออกไปจากมังคุดปกติ
5
แต่ไม่ต้องเศร้าไป แม้ว่าเราจะไม่มีมังคุดหลากหลายพันธุ์ให้กิน ข้อดีของมันก็คือเราจะมั่นใจได้เสมอว่า ไม่ว่าเราจะซื่อมังคุดมาจากที่ไหน สวนไหน มันก็จะมีรสชาติเหมือน ๆ กันหมดนั่นเอง
2
มังคุด ที่มา: Wikipedia
อ้างอิง
Watts, P., Buley, K., Sanderson, S. et al. Parthenogenesis in Komodo dragons. Nature 444, 1021–1022 (2006). https://doi.org/10.1038/4441021a
Ramage, C.M., Sando, L., Peace, C.P. et al. Genetic diversity revealed in the apomictic fruit species Garcinia mangostana L. (mangosteen). Euphytica136, 1–10 (2004). https://doi.org/10.1023/B:EUPH.0000019456.06040.eb
โฆษณา