26 ม.ค. 2021 เวลา 08:57
“เกาะเพชร” ปารีส (จำลอง) แห่งกัมพูชา ความสวยงามที่ต้องแลกมากับ...?
ช่วงนี้ผู้เขียนเห็นมีการแชร์โพสต์ชุดภาพถ่ายสิ่งปลูกสร้างที่เป็นลักษณะสถาปัตยกรรมแบบฝรั่งเศส ทั้งอาคารที่สวยงาม และประตูชัยจำลอง ที่ถอดแบบมาจากบรรยากาศในย่านช้อปปิ้งหรูหราอย่างถนน “ฌ็อง เซลิเซ่” (Champs Elysees) และ “อาร์กเดอทรียงฟ์ เดอเลตวล” (Arc de triomphe de l'Étoile) ประตูชัยแห่งกรุงปารีส ซึ่งชุดภาพดังกล่าวมีผู้นำไปโพสต์ต่อๆ กันมากมาย รวมทั้งหลายเพจไทย แล้วเขียนข้อความประกอบโพสต์ว่า กัมพูชาพัฒนาไปไกลมาก ดูดีมาก หรือวลีคลาสสิคคือ “แซงไทยไปแล้ว” แต่ไม่มีใครให้รายละเอียดชัดเจนสักแห่งว่า โครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์นี้ มีที่มาที่ไปอย่างไร ใครเป็นเจ้าของ แล้วกว่าจะเกิดสิ่งปลูกสร้างสวยงามแบบนี้มาได้ มันต้องแลกกับอะไรบ้าง (ไม่แปลกหรอก เพราะยอดไลค์ยอดแชร์สำคัญกว่าข้อมูลนี่เนอะ)
Reporter Journey จะเขียนให้อ่านกันจากทั้งข้อมูลที่รวบรวมมาได้ และประสบการณ์ลงไปยังพื้นที่จริงด้วยตัวเองกับหน่วยงานด้านการลงทุนของไทยและกัมพูชาเมื่อปี พ.ศ.2559
ย่าน “Elysée” ตั้งอยู่บนเกาะเพชร”
ย่านที่อยู่ในภาพมีชื่อว่า “Elysée” ตั้งอยู่บนเกาะเพชร” (Koh Pich) เกาะกลางแม่น้ำแม่น้ำโขงในกรุงพนมเปญ เมืองหลวงของกัมพูชา มีขนาดพื้นที่ 68 เฮกตาร์ หรือ 425 ไร่ ก็ประมาณ 0.68 ตารางกิโลเมตร เทียบเท่าได้กับพื้นที่พัฒนาโครงการบ้านจัดสรรใหญ่ๆ ในแถบชานกรุงเทพฯ และปริมณฑล
แต่เล็กกว่าพื้นที่ของอาณาจักรเมืองทองธานีที่มีพื้นที่ราวๆ 6.4 ตารางกิโลเมตร ถึง 6 เท่า
และใกล้เคียงกับที่ดินของโครงการเมกาบางนา ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ชานเมืองกรุง ที่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ที่มีพื้นที่ราว 400 กว่าไร่
คงจะเห็นภาพขนาดของเกาะเพชรได้ชัดเจนมากขึ้นว่ามีขนาดไม่ได้ใหญ่ไปกว่าที่ดินของห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ ของประเทศไทย
เปรียบเทียบขนาดของเกาะเพชร และโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ของไทย
เดิมทีเกาะเพชรเกิดขึ้นจากการพัดพาของตะกอนและดินโคลนที่แม่น้ำโขงพัดมาจนค่อยๆ ก่อตัวขึ้นเป็นสันดอนกลางแม่น้ำ แล้วค่อยๆ ขยายใหญ่ขึ้นตามกาลเวลา เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของชาวบ้านที่ประกอบอาชีพหาปูหาปลาเล็กๆ น้อยๆ รวมทั้งเป็นพื้นที่รองรับชาวแกวหรือญวน ชาติพันธุ์หนึ่งของเวียดนาม ที่อพยพหนีสงครามเข้ามา ซึ่งจะไม่อยู่ปะปนกับคนขแมร์บนฝั่ง
ดังนั้นเกาะเพรชแต่เดิมเป็นพื้นที่ของกลุ่มคนจนที่ไม่มีที่ดินเป็นหลักแหล่งบนฝั่งตัวเมือง เพราะส่วนใหญ่จะอาศัยกันอยู่ในเรือหรือแพที่ออกแบบเหมือนบ้านที่มีหลังคา แล้ววนเวียนกับการหากุ้ง หอย ปูปลา แล้วรับจ้างเล็กๆ น้อยๆ เพื่อประทังชีพเท่านั้น
รัฐบาลกัมพูชานำโดยสมเด็จ ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีที่ครองอำนาจมายาวนานถึง 30 ปี ได้ริเริ่มที่จะดึงการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในกรุงพนมเปญ ซึ่งในช่วงสิบปีที่ผ่านมานี้ ประเทศที่เข้าไปลงทุนในกัมพูชามากที่สุดก็คือ จีน ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน การค้า การลงทุน และอสังหาริมทรัพย์ และด้วยทำเลของเกาะเพชรที่อยู่ใจกลางเมือง มีความโดดเด่นด้านภูมิทัศน์ และห่างจากฝั่งเพียงแค่แขนงคลองน้ำที่แตกออกมาจากแม่น้ำโชงสายเล็กๆ กันอยู่ มันจึงเป็นที่หมายตาของทุนจีนที่อยากจะเข้าไปครอบครอง
นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 บริษัท Overseas Cambodia Investment Corporation (OCIC) ซึ่งเป็นบริษัทด้านการลงทุนของธนาคารกานาดียา ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชา ได้ตกลงกับเทศบาลกรุงพนมเปญในการกว้านซื้อที่ดินทั้งเกาะเพื่อนำมาพัฒนาเป็นอาณาจักรด้านอสังหาริมทรัพย์ ด้วยงบลงทุนกว่า 200 ล้านดอลลาร์ รัฐบาลพนมเปญได้เงินก้อนนี้ไปเต็มๆ ก็จริงแต่ไม่ได้มีการจัดสรรเพื่อจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้ที่อยู่อาศัยบนเกาะ
1
Canadia Tower สำนักงานใหญ่ของธนาคาร Canadia และ บริษัท Overseas Cambodia Investment Corporation (OCIC)
เมื่อบริษัทเข้ารื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดออกไป จึงกลายเป็นข่าวใหญ่ในช่วงนั้นที่ประชาชนกว่า 300 ครอบครัว รวม 1,200 กว่าชีวิต จึงถูกรถแบคโฮ และรถเกรด เข้ารื้นทำลายบ้านทั้งหมดออกโดยที่ไม่ได้มีการสื่อสารที่ตรงกับประชาชน เรียกได้ว่าปุ๊บปั๊บไล่เลยนั่นเอง
ต่อมาหน่วยงานด้านการลงทุนของรัฐบาลจีนได้เจรจาซื้อที่ดินต่อจาก OCIC เพื่อลงทุนและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ทั้งโรงแรม คอนโดมิเนียมหรูหรา คฤหาสน์ อาคารพาณิชย์สไตล์ต่างๆ รวมทั้งสไตล์ฝรั่งเศส ศูนย์การแสดงสินค้า ห้างสรรพสินค้า บ่อนคาสิโน และโรงเรียนนานาชาติ
2
ตัวอักษรจีน ธงชาติจีน ปรากฎเต็มทั่วอาคารพาณิชย์ใหม่ๆ ถนนสายต่างๆ เขียนด้วยภาษาจีน อังกฤษและกัมพูชา ที่ตัวอักษรดูเล็กที่สุดจนเหมือนไม่ใช่เจ้าของผืนดินในประเทศตัวเอง
พื้นที่บนเกาะเพชรเป็นเครื่องยืนยันถึงอิทธิพลของการลงทุนจากรัฐประชาชนจีนในกัมพูชาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และจีนคือนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดของกัมพูชา โดยนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 – 2563 จีนลงทุนในกัมพูชาไปแล้วด้วยมูลค่าสูงถึง 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2.4 แสนล้านบาท ขณะที่กัมพูชามีขนาดเศรษฐกิจตาม GDP ปี 2020 เพียงแค่ 27,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 8.1 แสนล้านบาท
1
แน่นอนการลงทุนที่สูงขนาดนี้ ราคาที่พักอาศัยหรือการทำธุรกิจบนเกาะเพชรก็คงไม่ใช่ราคาทั่วไปที่คนกัมพูชาที่มีรายได้เพียง 160 ดอลลาร์ต่อเดือนจะสามารถจับต้องได้ ซึ่งคอนโดมิเนียมขนาด 1 ห้องนอน 1 ห้องรับแขก ที่นี่มีราคาถูกสุดที่ห้องละ 1.8 แสนดอลลาร์สหรัฐ หรือ 5.4 ล้านกว่าบาท เทียบเท่ากับคอนโดในทำเลเกือบใจกลางเมืองติดรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และห้องที่แพงสุดเป็นเพนเฮาส์ขาด 131 ตารางเมตร ราคาที่ 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 15 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับเพนเฮาส์ใจกลางกรุงเทพอย่างอโศก สาธร หรือทองหล่อเลยทีเดียว
เกาะเพชร และทิวทัศน์กรุงพนมเปญ
ซึ่งผู้ที่อยู่อาศัยบนเกาะเพชรเกือบ 100% เป็นคนจีน ที่เข้ามาลงทุนทำธุรกิจ และซื้ออสังหาริมทรัพย์เอาไว้ ส่วนคนกัมพูชาทำได้เพียงแค่ตกเย็นขับรถเข้ามาเดินเล่น ถ่ายรูป แล้วก็ขับออกไป เพราะคงไม่ใช่สถานที่ที่จะเหมาะสมกับกำลังซื้อของคนท้องถิ่นส่วนใหญ่ และไม่ใช่ว่าจะสามาเดินไปไหนมาไหน ถ่ายรูป ตั้งขากล้องได้ทุกที่ เพราะมันคือพื้นที่ของเอกชนดังนั้น ผู้มาเยือนทำได้เพียงแค่อยู่ในโซนที่ถูกจัดไว้ให้เพื่อการโชว์เท่านั้น ส่วนอื่นๆ ของเกาะเป็นพื้นที่ส่วนตัวของผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์เพียงเท่านั้น (ผู้เขียนและทีมงานเคยตั้งกล้องเพื่อถ่ายทำรายการบริเวณห้องอาคารสไตล์ฝรั่งเศสแล้วโดนเจ้าหน้าห้ามไม่ให้ถ่ายมาแล้ว)
2
อย่างไรก็ตามถ้ามองในมุมของการเร่งพัฒนาแล้ว กัมพูชาคงมีทางเลือกไม่มากที่จะยกระดับประเทศขึ้นมาให้หลุดพ้นจากการเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และการพึ่งพาการลงทุนจากต่างชาติก็เป็นทางเลือกที่กัมพูชา ลาว เมียนมา รวมทั้งเวียดนามเลือกใช้กัน โดยให้สิทธิพิเศษทางภาษี การค้า หรือแม้แต่ระยะเวลาการถือครองที่ดินในประเทศตัวเองเป็นเวลายาวนานบางประเทศให้สิทธิ์ครองที่ดินถึง 99 ปี
แต่ถ้าหากไม่ทำแบบนี้ก็คงเป็นประเทศที่ตกขบวนรถไปแห่งการพัฒนา ส่วนคำถามที่ว่ามันได้ประโยชน์จริงๆ กับประชาชนท้องถิ่นหรือไม่ นอกจากแค่ได้ถ่ายภาพถึกสวยๆ งามๆ ลงโซเชียล เชื่อว่าทุกคนคงมีคำตอบนี้คงมีอยู่ในใจแล้ว...
โฆษณา