27 ม.ค. 2021 เวลา 13:00 • สุขภาพ
เช็กสถานะโครงการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในอาเซียน พบมี 3 ชาติอาเซียนเริ่มโครงการฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว ได้แก่สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และล่าสุดคือเมียนมา วันนี้ workpointTODAY สรุปโครงการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของทั้งสามประเทศมาให้ได้อ่านกัน
5
🇸🇬 สิงคโปร์
สิงคโปร์เป็นชาติแรกในอาเซียนที่เริ่มโครงการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชน ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคมปีที่แล้ว ใช้วัคซีนโควิด-19 ที่พัฒนาโดยบริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) ที่ร่วมมือกับบริษัทไบโอเอ็นเทค (BioNTech) โดยให้สิทธิ์บุคลากรทางการแพทย์ฉีดก่อนเป็นกลุ่มแรก ตามด้วยกลุ่มผู้สูงอายุ
4
รัฐบาลสิงคโปร์ยืนยันว่า จะจัดเตรียมวัคซีนโควิด-19 เพียงพอให้กับพลเมืองและผู้ที่พำนักในสิงคโปร์ทุกคนฟรี ขณะที่เว็บไซต์บลูมเบิร์กรายงานว่า ในตอนนี้สิงคโปร์เริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปได้แล้ว 60,000 โดส โดยตั้งเป้าไว้ว่า จะสามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบทุกคนในประเทศภายในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้
2
ในตอนนี้รัฐบาลสิงคโปร์เปิดเผยว่า กำลังจับตาดูประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 หลังฉีดกับประชาชนจำนวนมาก ซึ่งหากวัคซีนมีประสิทธิภาพดี รัฐบาลก็จะพิจารณาผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 เป็นลำดับต่อไป
1
นอกจากวัคซีนโควิด-19 ที่พัฒนาโดยไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทคแล้ว ทางการสิงคโปร์ยังเจรจาขอซื้อวัคซีนจากบริษัทโมเดอร์นา (Moderna) และวัคซีนของบริษัทซิโนแวค (Sinovac) เพื่อรองรับโครงการฉีดวัคซีนประชาชนด้วย
🇮🇩 อินโดนีเซีย
2
รัฐบาลอินโดนีเซียเริ่มต้นโครงการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชนเมื่อวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา โดยนายโจโค วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย เริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 ถ่ายทอดสดผ่านโทรทัศน์เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน และประธานาธิบดีอินโดนีเซียเพิ่งได้รับวัคซีนโควิด-19 เข็มที่สองในวันนี้ (27 ม.ค.)
1
รัฐบาลอินโดนีเซียเลือกใช้วัคซีนของบริษัทซิโนแวค (Sinovac) บริษัทเวชภัณฑ์สัญชาติจีน ซึ่งทยอยส่งไปยังประเทศอินโดนีเซียและกระจายไปทั่วประเทศแล้ว นอกจากนี้ทางบริษัทซิโนแวคจะส่งวัตถุดิบให้กับรัฐบาลอินโดนีเซียเพื่อดำเนินการผลิตในประเทศเองด้วย
2
ทางการอินโดนีเซียระบุว่า บุคลากรทางการแพทย์ที่มีอยู่ราว 1.3 ล้านคน จะเป็นคนกลุ่มแรกที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 และจะแบ่งส่วนหนึ่งฉีดให้กับผู้ว่าฯ ในจังหวัดต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับชาวบ้าน ขณะเดียวกันรัฐบาลอินโดนีเซียยังตัดสินใจเลือกฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับกลุ่มคนทำงานอายุ 18-59 ปีก่อนผู้สูงอายุ โดยให้เหตุผลว่า กลุ่มคนทำงานมีโอกาสเคลื่อนย้ายเดินทางมากกว่าผู้สูงอายุ การฉีดให้คนกลุ่มนี้จึงน่าจะมีส่วนช่วยลดอัตราการติดเชื้อโควิด-19 ได้มากกว่า
1
เว็บไซต์บลูมเบิร์กรายงานว่า ในตอนนี้รัฐบาลอินโดนีเซียฉีดวัคซีนโควิด-19 ประชาชนไปแล้วกว่า 172,000 โดส ซึ่งถือว่ายังน้อยเมื่อเทียบกับประชากรอินโดนีเซียทั้งประเทศที่มีกว่า 267.7 ล้านคน ซึ่งทางการอินโดนีเซียตั้งเป้าไว้ว่า จะใช้เวลาประมาณ 15 เดือน เพื่อฉีดวัคซีนให้ได้เป้าหมาย 181.5 ล้านคน หรือคิดเป็น 67% ของประชากรทั้งหมด ถึงจะมีการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในอินโดนีเซีย
นอกจากการใช้วัคซีนของซิโนแวค บริษัทเวชภัณฑ์สัญชาติจีนแล้ว รัฐบาลอินโดนีเซียยังเจรจาซื้อวัคซีนจากบริษัทไฟเซอร์ที่ร่วมพัฒนากับบริษัทไบโอเอ็นเทค รวมไปถึงการเจรจาซื้อวัคซีนจากบริษัทแอสตราเซเนการ่วมกับมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด อย่างละ 50 ล้านโดส รวมเป็น 100 ล้านโดส ขณะเดียวกันยังเปิดทางให้สั่งซื้อเพิ่มได้อีกบริษัทละ 50 ล้านโดสด้วย
🇲🇲 เมียนมา
เมียนมาเป็นประเทศล่าสุดในอาเซียนที่เริ่มโครงการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชน โดยเริ่มวันนี้ (27 ม.ค.) เป็นวันแรก โดยรัฐบาลเมียนมาใช้วัคซีนโควิด-19 ที่พัฒนาโดยบริษัทแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) ร่วมกับมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด (Oxford University) ซึ่งผลิตโดยสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย ที่ในตอนนี้ได้รับมาแล้ว 1.5 ล้านโดส เพียงพอต่อการฉีดประชากร 750,000 คน
ทางการเมียนมาให้สิทธิ์บุคลากรทางการแพทย์ที่มีอยู่กว่า 110,000 คน และอาสาสมัครอีกกว่า 10,000 คน เป็นกลุ่มแรกที่จะได้รับวัคซีนโควิด-19 ก่อนจะให้สิทธิ์เจ้าหน้าที่รัฐสำคัญ และผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ซึ่งมีอยู่ราว 3.5 ล้านคนทั่วประเทศเป็นลำดับต่อไป
1
ก่อนหน้านี้ทางการเมียนมาเปิดเผยว่า ได้สั่งจองวัคซีนโควิด-19 จำนวน 30 ล้านโดส จากสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดียแล้ว โดยคาดว่าจะได้รับวัคซีนล็อตดังกล่าวในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ขณะเดียวกันยังเจรจาซื้อวัคซีนจากจีน, รัสเซีย, สหราชอาณาจักรและสหรัฐฯ เพิ่มเติม ภายใต้เป้าหมายว่า จะต้องฉีดวัคซีนโควิด-19 ประชาชนให้ได้ 40% ของประชากรทั้งหมด 54.4 ล้านคนภายในสิ้นปีนี้
1
#workpointTODAY
#สาระความรู้เพื่อวันนี้
ติดตาม workpointTODAY ทาง YouTube https://bit.ly/2YDfyiK
โฆษณา