28 ม.ค. 2021 เวลา 09:31 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ช่องโหว่ของ "เราชนะ"
บทนี้จะไม่ขอเกริ่นอะไรมาก เราขอร่ายเรียงเป็นข้อ ๆ ดังนี้
1. ไม่ครอบคลุม – นอกเหนือจากกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และกลุ่มผู้ร่วมโครงการคนละครึ่งและเราเที่ยวด้วยกันแล้ว คาดว่าจะมีคนอีกประมาณ 14 ล้านคนที่ต้องลงทะเบียนเพิ่มเติม
และนั่นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะมีคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน ในประเทศไทยมีคน 2.5 ล้านคนมีโทรศัพท์แบบปุ่มกด ทั้งคนที่ไม่มีโทรศัพท์เลยก็ยังคงมีอยู่บ้างจะทำอย่างไร แม้จะให้ผู้อื่นช่วยลงทะเบียนให้ได้ แต่การใช้งานต้องใช้สมาร์ทโฟนซึ่งไม่ง่าย
 
2. เข้าถึงได้ยาก - คนไม่มีสมาร์ทโฟนแต่ไปลงทะเบียนที่ธนาคารได้สามารถช่วยได้ระดับหนึ่ง ยังมีชาวบ้านรวมถึงคนพื้นที่ห่างไกลที่มีปัญหาในการเข้าถึงธนาคารของรัฐ รวมไปถึงคนบางกลุ่มที่อาจยังไม่มีบัญชีด้วยซ้ำไป
 
3. เฉพาะเจาะจงเกินไป - การกำหนด "ระยะเวลา" และ "สถานที่" ที่เข้าร่วมโครงการแบบเฉพาะเจาะจงนั้นมีปัญหา เนื่องจากหากมองจากความเป็นจริง ค่าครองชีพประชาชนมีหลายส่วน ซึ่งอาจอยู่นอกเหนือการสินค้าต่าง ๆ จากร้านค้า เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเตอร์เน็ต รวมถึงค่าเทอม
ในขณะที่เมื่อเรามองจากฝั่งผู้ขายเอง ก็อาจจะไม่ทั่วถึงผู้ขายบางกลุ่ม เช่น แม่ค้าหาบเร่ แผงลอย ฯลฯ ซึ่งนั่นก็หมายความว่า คนเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในคำว่า ‘เรา’ ของโครงการ ‘เราชนะ’ ในครั้งนี้
 
4. ทับซ้อนและซับซ้อน - นโยบายที่ดีคือนโยบายที่เข้าใจง่าย ยิ่งมีผู้เกี่ยวข้องหลายภาคส่วนหรือเป็นประชาชนส่วนใหญ่ การจะบังคับใช้ให้เกิดประสิทธิผลจะเป็นไปไม่ได้เลยหากประชาชนไม่เข้าใจนโยบายดีพอ
โดยในฝั่งประชาชนที่สามารถเข้าร่วมโครงการเราชนะได้นั้น เชื่อมโยงกับ 3 นโยบายหลักที่มีมาก่อนหน้าคือ 1. บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2. คนละครึ่ง และ 3. เราเที่ยวด้วยกัน ในขณะที่ฝั่งร้านค้าก็ถูกแบ่งเป็นหลายกลุ่ม ทั้งร้านธงฟ้า ร้านที่ลงคนละครึ่ง ร้านที่ใช้แอพถุงเงิน ร้านที่มีแต่เครื่อง EDC ไปจนถึงร้านที่จะเข้าร่วมโครงการเราชนะเอง
นอกจากนี้ยังมีเรื่องการจ่ายเงินเป็นสัปดาห์ ที่กำหนดวันไม่ตรงกันของคนแต่ละกลุ่มอีกด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้มีความซับซ้อน ซ่อนเงื่อนมากมาย ถึงเวลาใครจะใช้บริการใครได้บ้าง อาจต้องมานั่งทำแผนผังกันอย่างงงงวย แล้วชาวบ้านตาดำ ๆ จะเข้าใจได้อย่างไร
บทส่งท้าย
กลับมาที่จุดตั้งต้น โครงการเราชนะถูกออกแบบมาเพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด ทั้งกลุ่มที่เจ็บปวดมานานต่อเนื่อง และกลุ่มที่เพิ่งมาเจ็บปวดหนัก ๆ ในการแพร่ระบาดระลอก 2 ซึ่งก็แน่นอนว่า โครงการอัดฉีดเงินประเภทนี้เป็นโครงการช่วยเหลือประชาชนพร้อมการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบกลาย ๆ
นอกจากนี้ เม็ดเงินในโครงการนี้มีมูลค่าสูงกว่า 2 แสนล้านบาท เราจึงมุ่งหวังว่า เม็ดเงินดังกล่าวจะกระจายไปยังส่วนต่าง ๆของระบบเศรษฐกิจได้อย่างเท่าเทียม สมชื่อนโยบายเราชนะ อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ยังคงมีช่องโหว่ที่มองเห็นได้ง่ายอยู่มากตามที่ได้กล่าวไปแล้ว
 
จึงน่าตั้งคำถามต่อไปว่า เม็ดเงินมหาศาลที่ทุ่มลงไป ซึ่งเป็นราคาที่ต้องจ่ายในอนาคต เมื่อเทียบกับผลลัพธ์ที่จะได้แล้วนั้นมีความคุ้มค่าหรือไม่ และส่งผลต่อความมั่นคงทางการคลังในอนาคตอย่างไร
 
เราจะชนะไปด้วยกันจริง ๆ หรือ ? #TheSeriousTH #คิดไม่เครียดกับเดอะซีเรียส
โฆษณา