28 ม.ค. 2021 เวลา 12:38 • ปรัชญา
🎐นกอาสา สื่อธรรมะดังตฤณ
ถาม : ภาวนาตอนอายุมาก รู้สึกร่างกายไม่เอื้ออำนวย
https://www.facebook.com/groups/DharmaDungtrin/permalink/3705978459445350/
ดังตฤณ : ผมกลับมองว่าเป็นเรื่องดีนะครับ
ตอนจิตเป็นสมาธิ เห็นกายป่วยออดๆ แอดๆ
เอาแน่เอานอนไม่ได้ จะเริ่มเห็นเป็นสภาวะ
.
แต่เดิม เราจะมีแต่ความรู้สึกว่า กายนี้เป็นเรา ป่วยก็กายเรา
แต่ให้สังเกตนะ ถ้าเอาความรู้สึกเสียดาย
ว่าไม่ได้ทำมาตั้งแต่สาวๆ ออกไป
ช่วงที่ผ่านมา เวลาป่วยออดๆ แอด ๆ
จะมีตัวความรู้ความเข้าใจแบบหนึ่ง ที่ดีมาก
คือ รู้สึกว่ากายนี้ไม่ใช่ของเรา แต่เป็นแค่สภาวะที่ควบคุมไม่ได้
.
ถ้าเอาตามความรู้สึกอย่างเดียวเลยนะ
เรา (ผู้ถาม) จะรู้สึกว่าจิตที่เป็นสมาธิ เป็นความสว่างแบบหนึ่ง
เป็นสิ่งมีคุณภาพ เป็นสิ่งที่ดีที่เราเพิ่งทำได้
แต่ร่างกายมันสวนทางกัน ปรากฏเป็นภาวะที่แย่
เอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้
.
ซึ่งตรงนี้ ถ้า (ผู้ถาม) ตัดเอาความเสียดาย
ที่ไม่ได้ปฏิบัติมาเสียนานแล้วออกไป
สิ่งที่เหลืออยู่ มันดีอยู่แล้ว
และอาจจะดีกว่า ที่จะมาเริ่มเมื่อตอนสาว ๆ ก็ได้
.
ถ้าเริ่มเมื่อตอนสาวๆ บางทีอาจจะประมาทในวัย
รู้สึกว่า ยังอยู่อีกนาน
ร่างกาย ดูเข้าไปเท่าไหร่ ก็ยังเห็นว่าดีอยู่อย่างนั้น
แต่ตอนนี้ มันช่วยมาตอกย้ำ ช่วยมายืนยัน
ว่า (ร่างกาย) เอาแน่เอานอนไม่ได้จริงๆ แสดงตัวของมันอยู่เอง
.
ตอนที่ (ผู้ถาม) เป็นสมาธิ อาจไม่ตลอดเวลาก็จริง
แต่จะมีบางช่วงที่รู้สึกว่า จิตอยู่ส่วนจิต ว่างๆ สว่างๆ อยู่
และกายก็แสดงตัวไปอีกแบบหนึ่ง ซึ่งมีความขัดแย้งกัน
จิตดูเหมือนดี แต่กายดูเหมือนแย่
.
ก็ดูเข้าไปที่ตรงนั้น ไม่ต้องไปเสียดายเวลาอะไรทั้งนั้น
ดูเข้าไปเฉพาะสิ่งที่กำลังปรากฏให้ดู ว่าจิตดีแต่กายแย่
จิตเป็นผู้ดูกายแย่ แต่จิตไม่ได้แย่ตามกาย
.
พอดูไปอย่างนั้นเรื่อยๆ ว่าจิตแสดงตัวของมัน
เราไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวอะไรด้วยเลย
จะรู้สึกขึ้นมาว่า จิตที่เป็นสมาธิเห็นกายที่แย่
ไม่เกี่ยวกับกาย เป็นคนละส่วนกัน
และตรงนั้นจะเกิดความเคยชินแบบหนึ่ง
ที่ทำให้จิตแยกออกมาเป็นผู้ดูจริง ๆ
.
ตรงที่เราไม่ได้จะเอาอะไร จิตสว่างอยู่ รู้อยู่ของเขา
แล้วกายมาแสดงตัว ว่าแย่ของมันไป
ตรงนั้น เฉียดนิดเดียวกับการแยกรูปแยกนาม
.
สิ่งที่ทำต่อ ก็แค่ รู้
ว่าจิตตัวเองมีคุณภาพ มีความสว่าง มีสติ
กายที่แย่ ก็แสดงออกของมัน โดยที่เราไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยว
และไม่ได้อยากให้มันเป็นอะไรขึ้นมา มากไปกว่าที่มันเป็น
.
ในที่สุด จิตจะเข้าถึงสภาวะแบบหนึ่ง
เป็นคุณภาพอีกแบบหนึ่ง ที่ไม่มีความใยดี
.
ตอนนี้ (ผู้ถาม) ยังมีความใยดีอยู่
ว่าเราจะปฏิบัติให้ได้เท่านั้นเท่านี้
เราจะรักษาร่างกายไว้เพื่อปฏิบัติโน่นนี่นั่น
มีความคิดส่วนเกินเข้ามา ซึ่งสะท้อนถึงความใยดี
.
แต่ถ้าไปถึงจุดที่ จิตเป็นสมาธิจริงๆ
มีความสว่าง มีความรู้ว่า ไม่ต้องสน
ขอแค่ดูอย่างเดียว ดูอยู่เฉยๆ เงียบๆ
อย่างนี้จะสิ้นความใยดี
.
ตอนที่เราสิ้นความใยดีนี่
จะไม่สน ว่าชีวิตจะเป็นยังไงด้วยซ้ำ
ไม่สนด้วยซ้ำ ว่าการปฏิบัติของเรา
จะคืบหน้าไปกว่านี้อีกหรือเปล่า
.
เราสนแค่ภาวะที่เป็นปัจจุบันตรงนั้น
ว่ารู้ได้แค่ไหนเอาแค่นั้น
.
นี่ ความไม่ใยดี ก็เกิดขึ้นตรงนี้
ตอนที่ จิตมันเป็นอุเบกขาเต็มที่
และอุเบกขาจะเกิดขึ้น ก็เมื่อ เรามีสติอยู่กับปัจจุบันจริง ๆ
และไม่มีข้างหน้า ไม่มีข้างหลังนะครับ!
คำถามเต็ม : อายุมากแล้ว ป่วยง่ายมาก เพิ่งจะมา (เริ่มหัด) ภาวนา เมื่ออายุมากแล้ว ไม่เหมือนกับน้องๆ ที่ปฏิบัติมาตั้งแต่อายุน้อยๆ
จะมีวิธีใดบ้าง ที่จะช่วยให้เราปฏิบัติต่อ ในยามที่อายุมากอย่างนี้ ซึ่งมีปัญหาเรื่องการเจ็บป่วยคะ
ดังตฤณวิสัชนา @ ศูนย์เรียนรู้วรการ
วันที่ 15 พฤศจิกายน 2563
ถอดคำ : นกไดโนสคูล
ตรวจทาน / เรียบเรียง : เอ้

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา