3 ก.พ. 2021 เวลา 13:00 • ธุรกิจ
วิธีการจัดทำ "งบแสดงฐานะทางการเงิน" ส่วนบุคคล >>>
"วิธีการจัดทำ"
เรามักจะได้เห็น งบแสดงฐานะทางการเงิน งบกำไรขาดทุน ของธุรกิจที่มีสถานะเป็นนิติบุคคลอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งจริงๆ แล้ว ทั้ง 2 งบการเงิน บุคคลธรรมดาก็สามารถจัดทำขึ้นได้แบบง่ายๆ ไม่ยุ่งยากเลยค่ะ
งบกำไรขาดทุน ของนิติบุคคล ก็เปรียบเสมือน บัญชีรายรับรายจ่ายของบุคคลธรรมดา ที่นักวางแผนทางการเงินมักพูดว่า "อยากมีเงินออม ต้องเริ่มจากจัดทำบัญชีรายรับรายจ่าย (ทุกเดือน)" เพื่อให้เห็นภาพของรายจ่ายที่ไม่จำเป็นต่างๆ เพื่อการบริหารเงินในแต่ละเดือนให้มีเงินออม
ส่วนงบแสดงฐานะทางการเงิน เอาไว้วิเคราะห์ความมั่งคั่งของกิจการ ซึ่งโดยปกติ นักลงทุน มักไม่ได้จัดทำงบแสดงฐานะทางการเงินส่วนบุคคล แต่สำหรับผู้เขียนเอง จะจัดทำงบตัวนี้ปีละ 1 ครั้ง เพื่อดูความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี
"ตัวอย่าง งบแสดงฐานะทางการเงิน ส่วนบุคคล"
วิธีการจัดทำ
1.ฝั่งซ้ายมือ ให้เป็นสินทรัพย์ทั้งหมดที่เรามีและนำไปลงทุน เช่น เงินสด เงินฝากธนาคาร สลากออมสิน ทองคำ หุ้น หุ้นกู้ พันธบัตร RMF SSF กองทุน อสังหาริมทรัพย์ (คอนโด หรือ บ้านปล่อยเช่า) เป็นต้น
2. สินทรัพย์ตัวใด มีราคาตลาด ก็ให้บันทึกด้วยราคาตลาด ณ วันที่จัดทำ เช่น ทองคำ หุ้น อสังหาริมทรัพย์ ส่วนสินทรัพย์ตัวใดไม่มีราคาตลาด ก็ให้บันทึกด้วยราคา ณ วันที่ซื้อหรือได้มา เช่น เงินฝาก สลากออมสิน เป็นต้น
3. ฝั่งขวามือ ให้นำหนี้สินที่คงเหลือทั้งหมดของสินทรัพย์ทางฝั่งซ้ายมือมาบันทึก เช่น เหลือค่าผ่อนอสังหาริมทรัพย์กี่บาท เป็นต้น
4. นำ สินทรัพย์รวม มาลบ หนี้สินรวม จะได้เป็นทุน ผลลัพธ์ที่ได้นี้ล่ะค่ะ เรียกว่า "ความมั่งคั่ง" หากมีการจัดทำงบแสดงฐานะทางการเงินของปีก่อน ก็สามารถนำมาเปรียบเทียบกับปีนี้ได้ค่ะ
5. งบแสดงฐานะทางเงินที่ดี ควรมี ทุนมากกว่าหนี้สิน
งบแสดงฐานะทางการเงิน ยังเป็นงบที่ใช้บอกว่า เราสามารถนำเงินออมมาบริหาร หรือ นำมาลงทุนต่อยอดได้มากน้อยแค่ไหนด้วยนะคะ
ทำได้ไม่ยากเลยใช่มั้ยคะ...ลองทำดูนะคะ อาจจะได้ข้อมูลอะไรดีๆ นำมาวิเคราะห์และปรับใช้กับการลงทุนหลังจากจัดทำงบเสร็จค่ะ
แล้วพบกันใหม่ครั้งหน้านะคะ
Photo by Canva และ VI Style by MooDuang
1
เพจ VI Style by MooDuang
โฆษณา