4 ก.พ. 2021 เวลา 07:56 • ครอบครัว & เด็ก
6 เรื่อง ที่แม่วัย 35+ ตั้งท้อง..ต้องระวัง
เราเป็นคนนึงที่ตั้งท้องตอนอายุ 35+ และได้เจอหลายอย่างที่คนตั้งท้องในวัยน้อยกว่านี้ไม่เจอ และจากการพูดคุยกับเพื่อน ๆ ในวัยเดียวกัน ต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า
2
"รู้งี้..ท้องตั้งแต่อายุ 25 แระ !! " แต่... ติดที่ว่าตอนนั้นยังหาพ่อของลูกไม่ได้ 😄😄
2
ขอบคุณภาพจาก Pixabay
จากที่มีลูกมา 1 คน ผ่านการตั้งท้องมา 2 ครั้ง และปัจจุบันกำลังตั้งท้องครั้งที่ 3 และครั้งนี้เจอสิ่งที่ไม่คาดคิด คือ มีถุงน้ำ (ซีสต์) ในรังไข่ ซึ่งแพทย์จะนัดทำการผ่าตัดเมื่ออายุครรภ์ได้ 4 เดือน เลยอยากแชร์ประสบการณ์ของการตั้งครรภ์ในวัยนี้ว่าต้องเจอกับอะไรบ้างค่ะ
2
1. มีบุตรยาก
ขอบคุณภาพจาก Pixabay
เกิดได้จากทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง โดยเกิดมาจากหลายสาเหตุ เช่น น้ำเชื้อของฝ่ายชายไม่แข็งแรง, มดลูกฝ่ายหญิงมีปัญหา และส่วนหนึ่งเกิดจากอายุของฝ่ายหญิง
กรณีของเรายังไม่ถือว่ามีบุตรยาก แต่ก็ปล่อยธรรมชาติหลายเดือนกว่าจะตั้งท้องคนแรก
แต่มีเพื่อนหลายคนที่ยังไม่มีลูก บางรายมีลูกแต่มาจากการทำ IUI (Intra-uterine insemination) คือ การฉีดเชื้ออสุจิที่ผ่านการคัดเลือกแล้วเข้าไปในโพรงมดลูกโดยตรง ซึ่งใช้กับกรณีมีบุตรยากไม่เยอะ และผู้ชายมีน้ำเชื้อที่แข็งแรง
บางรายใช้ IUI แล้วก็ยังไม่ได้ผล แต่มาสำเร็จกับการทำ IVF (In-vitro Fertilization) หรือเด็กหลอดแก้ว ซึ่งเป็นการนำไข่และอสุจิมาผสมกันให้เกิดการปฏิสนธิภายนอกร่างกายในห้องปฏิบัติการ จากนั้นจึงจะนำไข่ที่ได้รับการผสมแล้ว (ตัวอ่อน) ย้ายกลับเข้าไปในมดลูกของฝ่ายหญิง เพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์ต่อไป
ขอบคุณภาพจาก Pixabay
ข้อเสียของการทำ IVF คือ ราคาแพง เพื่อนเราทำที่คลินิกในจังหวัด ราคาอยู่ที่ประมาณ 2 แสนบาท
1
ส่วนตัวเรากลับเจอเรื่องที่ไม่คาดคิด คือ ผลการตรวจเลือดเพื่อเตรียมตัวมีลูก พบว่าเราเป็นพาหะธาลัสซีเมียเลยต้องตรวจสามีด้วย ปรากฏว่าสามีก็เป็นพาหะธาลัสซีเมียด้วย ซึ่งมีผลให้ลูกมีโอกาสเป็นธาลัสซีเมีย
1
แต่โชคดีที่เมื่อตรวจชนิดของพาหะแล้วเป็นชนิดที่เข้าคู่กันได้ ไม่อันตราย แต่ลูกก็จะเป็นพาหะธาลัสซีเมียด้วย ซึ่งคู่แต่งงานไม่ว่าจะวัยไหนควรมีการตรวจเลือดก่อนมีลูก
เพราะการตรวจสุขภาพประจำปีทั่วไปไม่ได้ตรวจธาลัสซีเมีย ผู้เป็นพาหะธาลัสซีเมียก็ไม่ได้แสดงอาการอะไร สามารถบริจาคเลือดได้ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่จับคู่กันแล้วไม่เข้าคู่ มีโอกาสที่ลูกจะเป็นธาลัสซีเมียถึง 25%
1
2. ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์
ขอบคุณภาพจาก Pixabay
อายุของแม่ตั้งแต่ 30+ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำเกิดภาวะนี้ ถ้าไม่รักษาเด็กจะตัวใหญ่กว่าปกติและจะคลอดยาก เด็กอาจคลอดก่อนกำหนด ตัวเหลืองและอาจทำให้เกิดภาวะเลือดต่ำทำให้เด็กมีอาการชักได้ และเป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้ครรภ์เป็นพิษและแม่เป็นเบาหวานหลังคลอด
เราและเพื่อน ๆ หลายคนเจอปัญหานี้แม้จะเป็นคนผอมและก่อนท้องไม่ได้เป็นเบาหวานก็ตาม แต่อยู่ในระดับที่ควบคุมอาหารเองได้ ในบางรายถึงขั้นต้องฉีดอินซูลินเข้าไป
โดยพยาบาลจะสอนวิธีการฉีดและให้กลับไปฉีดเองที่บ้านเพราะต้องฉีดตลอด ซึ่งสาเหตุเกิดมาจากรกสร้างฮอร์โมนเพื่อการเจริญเติบโตของทารกและไปทำให้การทำงานของอินซูลินผิดปกติ
ขอบคุณภาพจาก Pixabay
ทำให้น้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือดสูง แพทย์จะตรวจเบาหวานตอนอายุครรภ์ได้ 24-28 สัปดาห์ และถ้าพบว่าเป็นเบาหวานต้องควบคุมอาหาร โดนลดปริมาณแป้งและน้ำตาล
เราต้องเช็คเลือดหลังอาหารทุกมื้อ งดของหวานทุกชนิดรวมถึงผลไม้หวาน ๆ ด้วย และต้องลดข้าวลงเหลือมื้อละ 1 ทัพพี เปลี่ยนเป็นข้าวกล้องแทนได้ก็จะดี และหันไปเพิ่มพวกโปรตีนแทน
พยายามกินของที่มีประโยชน์ ไม่ใช่กินเยอะ ซึ่งมีข้อดี คือ ลูกจะแข็งแรง ตัวไม่ใหญ่เกินซึ่งจะทำให้คลอดไม่ยาก แม่ไม่อ้วนด้วย
1
3. ภาวะแท้งคุกคาม
ขอบคุณภาพจาก Pixabay
อีกปัญหาที่เกิดในวัย 35+ เราเจอภาวะแท้งคุกคามตอนท้องที่ 2 ตอนอายุครรภ์ได้ 8 สัปดาห์ ซึ่งต้องสูญเสียลูกไป แต่เพื่อนบางคนก็เจอภาวะนี้แต่สามารถพยุงไว้ได้จนคลอดสมบูรณ์
1
สาเหตุของภาวะนี้เกิดจากระบบคัดกรองตามธรรมชาติ มักเกิดในช่วงไตรมาสแรก ถ้าเด็กไม่แข็งแรง การฝังตัวไม่ดีก็จะหลุดไปเอง ซึ่งถ้าอาการไม่รุนแรงสามารถรักษาได้ด้วยการฉีดยากันแท้งและนอนเฉย ๆ ห้ามลุกไปไหน ระยะเวลาแล้วแต่เคสไป
อาการเบื้องต้น คือ จะมีเลือดออกทางช่องคลอด ถ้าพบอาการดังกล่าวต้องรีบไปโรงพยาบาล ส่วนวิธีอื่น ๆ ที่ช่วยลดความเสี่ยง คือ ต้องดูแลตัวเองเป็นพิเศษในช่วง 3 เดือนแรก ไม่เครียด ไม่ขับรถนาน ๆ ห้ามยกของหนักและงดกิจกรรมที่ต้องเกร็งท้อง
1
4. ครรภ์เป็นพิษ
ขอบคุณภาพจาก Pixabay
เป็นภาวะที่เกิดจากความผิดปกติของการฝังตัวของรก ซึ่งแพทย์ยังไม่ได้ระบุสาเหตุที่แน่ชัด ภาวะดังกล่าวทำให้มีความดันโลหิตสูง มีไข่ขาวหรือโปรตีนออกมาในปัสสาวะ
1
วิธีป้องกันที่ทำได้ คือ หมั่นสังเกตตัวเองอยู่เสมอ หากพบอาการผิดปกติต้องรีบพบแพทย์เพื่อรักษาได้ทันท่วงที อาการที่บ่งชี้ คือ ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว คลื่นไส้ อาเจียน ปวดใต้ลิ้นปี่และมักมีอาการบวมที่มือ ขา หน้าและเท้า
ถ้าขั้นรุนแรงมากจะเกิดการชักและเลือดออกในสมอง ส่วนวิธีรักษา คือ การคลอดเด็กออกมาให้เร็วที่สุดเพื่อช่วยเหลือแม่ ทำให้เด็กคลอดก่อนกำหนดซึ่งจะมีปัญหาเรื่องการหายใจและปัญหาสุขภาพอื่น ๆ
5. คลอดลูกยาก
ขอบคุณภาพจาก Pixabay
วัย 35+ มีความเสี่ยงที่ลูกจะเสียชีวิตในครรภ์หรือทารกไม่กลับหัวหรือคลอดลูกยากกว่าปกติ เพราะกล้ามเนื้อบริเวณครรภ์จะทำงานลดลง ดังนั้นแพทย์จะวินิจฉัยให้ผ่าคลอดได้ แต่ถ้าจะลองคลอดเองดูก็ได้แต่ต้องควบคุมน้ำหนักช่วงตั้งครรภ์ไม่ให้ทารกตัวใหญ่เกินไป
1
แพทย์ที่เราฝากท้องอนุญาตให้เราผ่าคลอดได้ซึ่งถ้าอายุไม่ถึง 35 แพทย์จะวินิจฉัยให้คลอดเอง แต่เราขอลองคลอดเองดูก่อนซึ่งก็ผ่านไปได้ด้วยดี แต่เพื่อนของเราหลายคนก็คลอดไม่ออก บางคนแพทย์ต้องใช้อุปกรณ์ในการดูดเด็กออกมา บางคนก็ต้องเปลี่ยนไปผ่าคลอดแทน
6. ลูกมีความเสี่ยงเป็นดาวน์ซินโดรม
ขอบคุณภาพจาก Pixabay
แม่วัย 35+ แพทย์จะแนะนำให้ตรวจเช็คความผิดปกติของโครโมโซมเพื่อดูภาวะดาวน์ซินโดรมเมื่ออายุครรภ์ได้ 16-20 สัปดาห์ ซึ่งไม่ได้บังคับ ถ้าตรวจพบความผิดปกติ แพทย์จะแนะนำให้ยุติการตั้งครรภ์ แต่ถ้าใครคิดว่ายังไงก็ไม่ยอมเอาเด็กออกก็ไม่ควรตรวจไปเลย
1
วิธีการตรวจ มี 2 วิธี วิธีแรก คือ การตรวจคัดกรองเพื่อประเมินความเสี่ยงของทารกในครรภ์ โดยการตรวจเลือด ซึ่งมีหลายวิธี ราคาก็ขึ้นอยู่กับความแม่นยำ มีตั้งแต่ 80-99% ซึ่งจะมีข้อดี คือ ไม่เจ็บ ตรวจที่คลีนิคได้ และไม่เสี่ยงแท้งลูก
แต่มีข้อเสีย คือ ค่าใช้จ่ายสูงกว่า (หลักหมื่น) และถ้าหากได้ผลเป็นบวก (พบความผิดปกติ) แพทย์จะให้ตรวจยืนยันด้วยการตรวจน้ำคร่ำที่โรงพยาบาลอีกครั้งเพราะมีความแม่นยำกว่า เท่ากับต้องตรวจและเสียค่าใช้จ่ายสองรอบ
อีกวิธี คือ การเจาะน้ำคร่ำ ซึ่งเราเลือกการเจาะน้ำคร่ำไปเลย โดยแพทย์จะฉีดเข็มเล็ก ๆ ยาว ๆ เข้าไปในท้องเราผ่านผนังหน้าท้อง ผ่านมดลูกลงไปในถุงน้ำคร่ำแล้วดูดเอาน้ำคร่ำออกมา
บางโรงพยาบาลจะฉีดยาชาก่อนแต่โรงพยาบาลที่เราตรวจแพทย์ไม่ได้ฉีดยาชาเพราะยังไงก็ต้องโดนเข็มจากยาชาอยู่แล้ว แพทย์เลยให้โดนเข็มที่ดูดน้ำคร่ำไปเลย
วิธีนี้มีข้อดี คือ ผลตรวจมีความแม่นยำมากกว่า 99% และค่าใช้จ่ายถูก แต่มีข้อเสีย คือ เจ็บนิดหน่อยแต่ก็ไม่มาก เหมือนเวลาโดนเข็มแทงอยู่ 2-3 วินาที จริง ๆ ความกลัวมีมากกว่าเจ็บ และมีความเสี่ยงที่จะแท้ง 0.5-1%
ขอบคุณภาพจาก Pixabay
ใครที่วางแผนจะมีลูกแต่มัวทำงานหาเงินเพลิน รอให้มีความพร้อมทุกด้าน แต่อย่าลืมนะคะว่าร่างกายมันไม่รอเรา เงินเมื่อไหร่ก็หาได้แต่ลูกเราต้องสร้างเองและสร้างได้แค่ช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น
1
แต่ถ้าใครเข้าสู่วัยนี้แล้วก็อย่าเพิ่งวิตกกังวลไปค่ะ เพราะเทคโนโลยีสมัยนี้ดีขึ้นมาก เราแค่ต้องเตรียมพร้อมและดูแลตัวเองมากขึ้นเท่านั้น แต่ถ้ายังหาพ่อของลูกไม่ได้ อันนี้ตัวใครตัวมันนะคะ 😄
1
แต่ท้ายที่สุดแล้วคู่ครองหรือลูกก็ไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิต เราต้องมีความสุขกับตัวเองให้ได้ก่อน
1
อย่ารอให้ใครมาเติมเต็มความสุขให้เรา เราต้องเป็นเครื่องผลิตความสุขให้ตัวเอง จนเหลือเผื่อแผ่ไปถึงคนอื่น
2
ไม่มีใครที่จะอยู่กับเราตลอดไป สุดท้ายแล้วคนที่จะอยู่กับเราก็คือตัวเราเองเท่านั้นค่ะ 🌿🌿
1
ขอบคุณทุกคนที่แวะมาให้กำลังใจนะคะ ❤️
โฆษณา