7 ก.พ. 2021 เวลา 13:39 • การตลาด
เทรนด์ใหม่"อาหารสายกัญ" โมเดลอาหารแบบใหม่ที่ต้องจับตามอง
แม้ว่ากัญชาจะเป็นพืชที่อยู่กับสังคมไทยมาช้านาน และมีเส้นแบ่งบางๆ ในการถกเถียงมาโดยตลอดถึงสถานะของมัน ว่าจะถูกใช้เป็นยารักษา สมุนไพรหรือว่าจะถูกมองว่าเป็นสารเสพติด แต่ทว่าด้วยตัวกฏหมายดูเหมือนจะยังเห็นโทษของมันมากกว่าคุณ เลยมีการกำหนดพระราชบัญญัติฉบับควบคุมกัญชาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2477 ลากยาวมาจนถึงเกือบปัจจุบัน แต่แล้วเมื่อปี 2562 ช่วงที่มีการจัดการเลือกตั้ง พรรคภูมิใจไทยก็มีการเสนอนโยบาย “กัญชาเสรี” (ซึ่งในส่วนรายละเอียด เบื้องลึกเบื้องหลังต่างๆ ของโครงการก็คงต้องให้ตามหาอ่านกันเอาเอง) จนทำให้เรื่องของกัญชาถูกกลับมาเป็นที่พูดถึงและถกเถียงกันอีกครั้ง ถึงการนำมาใช้ของผู้คนด้วยจุดประสงค์ต่างๆ
และดูเหมือนนโยบาย “ปลดล็อคกัญชา” ที่เพิ่งออกมาเมื่อ 29 มกราคม 2564 ที่ผ่านมานั้น ดูเหมือนจะสร้างความหวังให้กับสายเขียวทั้งหลายอีกครั้ง เมื่อพบว่าบางส่วนของกัญชานั้น จะสามารถนำมาใช้ปรุงอาหารได้ และเป็นกระแสฮือฮาในโลกโซเชียลอยู่เสมอ เมื่อร้านอาหารต่างๆ เปิดตัวสินค้าที่มีส่วนผสมของกัญชามา อย่างล่าสุดก็ร้าน Kanom Siam ที่มีสินค้าอย่าง ขนมครกใบเตยผสมกัญชา จนได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก จนมีคนแชร์ออกไปกว่า 5.5 พันแชร์ในเวลาเพียงไม่นาน
ซึ่งหากสุดท้ายแล้วการนำกัญชามาใช้ในอาหารได้และเริ่มมีการทำอย่างแพร่หลายแล้ว คำถามที่สำคัญคือหากธุรกิจร้านอาหารของเราอยากมีส่วนร่วมไปกับกระแสนี้ หรือมีความคิดที่จะใช้กัญชาเข้ามาเป็นส่วนผสมในอาหารอย่างจริงจังแล้ว จะมีการเตรียมตัวอย่างไรบ้าง? ซึ่งวันนี้เราก็มีข้อมูลต่างๆ มาแนะนำสำหรับร้านสายเขียวกันดังนี้
1) หมั่นอัพเดทข้อมูลและข้อกฏหมายสม่ำเสมอ
ถึงแม้ว่าตอนนี้จะมีนโยบาย “ปลดล็อคกัญชา” มาแล้ว แต่มาจนถึงตอนนี้ก็ยังพบว่าไม่ค่อยมีความชัดเจนสักเท่าไร และในส่วนของข้อมูลที่ออกมาก็ค่อนข้างสร้างความสับสนไม่น้อย เพราะถ้าลองค้นหาข้อมูลดูจะพบว่ามีแหล่งข้อมูลที่แทบไม่ตรงกันสักอัน ตั้งแต่ข้อกำหนดในการใช้ต่างๆ อาทิ ส่วนของกัญชาที่สามารถนำมาใช้ได้ หรือหากจะนำมาใช้จะต้องติดต่อไปที่ไหน เป็นต้น อีกทั้งบางแหล่งข้อมูลก็ดูเหมือนจะบอกว่าเอาไว้ใช้ทางการแพทย์เท่านั้น
3
แต่ในขณะที่ก็มีร้านอาหาร กัญชารส ของทางโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ที่จังหวัดปราจีนบุรี ที่นำเอากัญชามาใช้ในการทำอาหารเอาใจสายเขียวกันอย่างเต็มที่ พร้อมกับพูดถึงนโยบาย ‘ปลดล็อคกัญชา’ ว่าสามารถใช้ ใบที่ไม่ติดกับช่อดอก กิ่ง ก้าน ลำต้น เปลือก ราก ของกัญชามาใช้ในการทำอาหารได้โดยไม่ผิดกฏหมาย แต่ทั้งนี้ก็ต้องได้รับการรับรองกับภาครัฐ รวมถึงต้องสามารถยืนยันผลผลิตกัญชาจากสหกรณ์ชุมชนได้
1
ทำให้อันดับแรกก่อนที่ร้านอาหารต่างๆ ที่จะนำกัญชามาใช้นั้น ก็ต้องมีการศึกษาข้อกฏหมายให้ละเอียดดีเสียก่อน ตั้งแต่รับกัญชาที่ถูกกฏหมาย (เพราะปลูกเองไม่ได้) จากวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับอนุญาตให้ปลูกร่วมกับหน่วยงานทางภาครัฐเท่านั้น และการไปขึ้นทะเบียนเพื่อนำกัญชามาใช้ปรุงอาหาร รวมถึงหลักสูตรอบรมต่างๆ ที่น่าจะต้องมี เพื่อนำกัญชามาใช้ได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัยแก่ผู้บริโภคได้
ซึ่งหากอยากได้ข้อมูลชัวร์ๆ เป๊ะๆ แล้ว เร็วๆ นี้ ก็จะมีงาน มหกรรมกัญชากัญชง 360 เพื่อประชาชน ที่จังหวัด บุรีรัมย์ ในวันที่ 5-7 มีนาคม 2564 ที่จะมีการอบรมให้กับทั้งผู้ประกอบการ และผู้บริโภคทั่วไปด้วย แต่หากไม่สะดวกก็สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยากันได้เลย (https://www.fda.moph.go.th/Pages/HomeP_D2.aspx) ซึ่งในเว็บก็จะมีบอก ถึงข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ของกัญชากัญชง รวมไปถึง รายชื่อของรัฐวิสาหกิจที่ให้เราสามารถไปรับซื้อใบกัญชาได้ นับเป็นข้อมูลอีกเว็บของทางภาครัฐที่มีประโยชน์ต่อผู้ประกอบการที่สนใจในศาสตร์นี้มากๆ
2) เรียนรู้และเข้าใจการนำกัญชามาใช้ให้ดีเสียก่อน
ขึ้นชื่อว่าร้านอาหารแล้ว ยังไงรสชาติและคุณภาพ ก็ต้องมาเป็นอันดับแรก หากมีการปลดล็อคนำกัญชามาใช้ได้จริง หลังจากที่ศึกษากฏหมายอะไรเรียบร้อยแล้ว สิ่งต่อมาก็ควรที่จะเป็นการศึกษาเรียนรู้ถึงการนำกัญชามาใช้เป็นส่วนผสมนั้น ต้องใช้ในปริมาณเท่าใด และนำมาปรุงอย่างไรให้ได้อาหารที่รสชาติดี และไม่ทำให้เมนูเดิมที่เรามีต้องเสียรสชาติไป ซึ่งในช่วงนี้อาจต้องคอยติดตามข่าวสารเอาไว้ เพราะทาง อภัยภูเบศร ที่มีร้านอาหารจากกัญชาเป็นของตัวเองและได้รับคำชื่นชมเป็นอย่างดีนั้น ก็มีการเตรียมผลิตหลักสูตรในการใช้ใบกัญชามาปรุงอาหารแล้ว
และก็ได้รับความสนใจจากประชาชนมากมาย ซึ่งสิ่งที่ทาง อภัยภูเบศร จะนำมาสอนนั้น ไม่เพียงแต่สอนในเรื่องการทำอาหารให้มีรสชาติอร่อยเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงปริมาณการใช้ที่เหมาะสมในแต่ละเมนู (โดยปริมาณคร่าวๆ สำหรับการบริโภค 1 คนคือไม่ควรเกิน 5-8 ใบต่อวัน) รวมถึงผลกระทบการการกินอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาที่ลูกค้าจะได้รับกลับไปได้เป็นอย่างดี และลูกค้าแบบใดบ้าง ที่ห้ามรับประทานอาหารที่ส่วนผสมจากกัญชาเหล่านี้
เพราะจริงๆ แล้วการศึกษาถึงเรื่องกัญชายังต้องมีการพัฒนาอีกมาก และมีหลากหลายปัจจัยสร้างระดับความเมาที่ต่างกันออกไป และผลข้างเคียงอีกไม่น้อย อาทิ อาการวิงเวียน ปวดศรีษะและหัวใจเต้นแรง โดยปัจจัยที่ว่าก็อย่างเช่น อายุของใบ ความอ่อนแก่ หรือส่วนที่จะนำมาใช้ ไปจนถึงระยะเวลาในการปรุง หรือปรุงด้วยไขมันก็จะดึงสาร THC ที่เพิ่มความเมาให้กับผู้บริโภคได้มาก
นี่ยังไม่รวมถึงปัจจัยในด้านผู้บริโภคเองอีกด้วย ที่จะมีในส่วนของน้ำหนักตัว และปริมาณไขมันในร่างกายของผู้ทาน ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ผู้ประกอบการที่จะนำกัญชามาใช้ ต้องศึกษาก่อนเป็นอย่างดี เพราะหากมีการใช้อย่างไม่มีความรู้แล้ว ก็จะมีผลกระทบต่อชื่อเสียงของร้านได้มากกว่าที่เราคิด ซึ่งหากสนใจในเรื่องหลักสูตรที่ว่า ก็สามารถติดต่อไปได้ที่ 037-21-7127 อภัยภูเบศร เดย์ สปา และ 037-211289 ศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร
3) จับตาดูกระแสให้ดี อาจมีดราม่า
ในตอนนี้ผลิตภัณฑ์จากกัญชา อาจเป็นที่ฮือฮาทั้งจากคนอาจจะเคยลองแล้วติดใจ หรือรายใหม่ๆ ที่ให้ความสนใจอยากลอง จากนโยบายกฏหมายที่เพิ่งปลดล็อคออกมา ทำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารแต่ละราย อาจต้องถามใจตัวเองประกอบกับดูกระแสทิศทางกันต่อสักหน่อยว่า สุดท้ายแล้วกระแสกัญชา จะมาแค่ชั่วคราว หรือจะมาอยู่ยาวๆ กับเราตลอดไป เพราะหากมองในแง่มุมการรับรู้ของคนแล้ว ก็ยังคงมองกัญชาเป็นสารเสพติด และมีปริมาณที่กำหนดในการบริโภค จึงอาจจะไม่ใช่อาหารในลักษณะที่คนทั่วไปจะเลือกรับประทานในทุกวัน
อีกทั้งสำหรับหลายๆ ร้านอาหาร ที่ขายอาหารปกติอยู่แล้ว หากมีการเพิ่มเมนูกัญชาเข้าไปก็ต้องพิจารณา Positioning ของตัวเองอยู่เหมือนกัน ว่า Target ลูกค้าของเราเป็นใคร และหากเพิ่มไปแล้วจะทำให้ภาพลักษณ์ (Brand Image) ของร้านนั้นแย่ลงหรือไม่ เพราะอย่างที่ได้บอกไปกัญชาเป็นสารเสพติดภายใต้กฏหมายมานาน การรับรู้ของคนทั่วไปก็นับว่าไปในด้านไม่ดีเสียส่วนใหญ่ ซึ่งการเลือกออกสินค้าใหม่มา แต่ขัดกับตัวแบรนด์ก็อาจก่อดราม่าขึ้นมาได้ ว่าร้านแบบนี้ทำไมถึงเลือกเอาสารเสพติดมาขายในร้านได้อย่างไร
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ คือสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องมองผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้รอบด้าน มองถึงข้อดี และข้อเสียในการที่จะนำกัญชามาปรับใช้ ไม่ว่าจะเป็นร้านสายเขียวแบบเต็มตัว หรือร้านที่เพิ่มบางเมนูแค่เข้ามาเป็นกระแสก็ตาม
บทความยังไม่จบ อ่านต่อได้ที่
โฆษณา