11 ก.พ. 2021 เวลา 11:30 • การเกษตร
“ผักตบชวา กันกระแทก” จากตัวปัญหา สู่ ฮีโร่ ในการแก้ปัญหาขยะพลาสติก
1
รู้หรือไม่ ในปีที่ผ่านมา รัฐต้องใช้เงินกว่า 67 ล้านบาท สำหรับซื้อเรือกำจัดผักตบชวาจำนวน 800 ลำ
และยังต้องใช้หน่วยงานรัฐกว่า 5 แห่งในการแก้ปัญหาผักตบชวา ซึ่งได้แก่
กรมเจ้าท่า กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมชลประธาน กรุงเทพมหานคร และกรมทรัพยากรน้ำ
1
โดยทั้ง 5 หน่วยงานนี้ ใช้งบประมาณการกำจัดผักตบชวาในปี 2559 สูงถึง 762 ล้านบาท
ดูเหมือนว่า ผักตบชวาต้นเล็กๆ พวกนี้ กำลังสร้างปัญหาอยู่ไม่น้อย
แล้วพอจะมีทางไหนที่จะแก้ปัญหานี้ได้บ้าง?
หนึ่งในคำตอบนั้น ก็อาจเป็น “ผักตบชวากันกระแทก”
ที่นอกจากจะลดจำนวนผักตบชวาได้แล้ว ยังจะช่วยลดขยะจาก “พลาสติกกันกระแทก” ซึ่งกำลังเป็นปัญหาจากการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซ ได้อีกด้วย..
3
จากเรื่องนี้ ลงทุนเกิร์ลได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณวศการ ทัพศาสตร์ หรือคุณเจ
หนึ่งในเจ้าของแบรนด์ “ตบชวากันกระแทก” ซึ่งได้ส่งเคสธุรกิจนี้เข้ามาหาทางเพจ
1
ผักตบชวากันกระแทกคืออะไร?
แล้วเรื่องนี้น่าสนใจอย่างไร? ลงทุนเกิร์ลจะแชร์ให้ฟัง
ผักตบชวากันกระแทก คือ ส่วนของก้านผักตบชวา
ที่ถูกนำมาตัดเป็นชิ้นเล็กๆ และตากจนแห้งสนิท
ซึ่งโครงสร้างของ “ก้าน” ผักตบชวา จะมีลักษณะเหมือนฟองน้ำ
ที่มีรูเล็กๆ และสามารถซับแรงกระแทก และยืดหยุ่นได้ดี
3
โดยหนึ่งในแบรนด์แรกๆ ที่หันมาผลิตผักตบชวากันกระแทก ก็คือ “ตบชวากันกระแทก”
สำหรับแบรนด์ “ตบชวากันกระแทก” นั้นเกิดขึ้นในปี 2019
ซึ่งในขณะนั้นคุณเจ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง ได้ทำอาชีพเสริมเป็นธุรกิจออนไลน์
1
เขาพบว่าในแต่ละวันจะต้องใช้พลาสติกกันกระแทก และเม็ดโฟมในการบรรจุพัสดุเยอะมาก แถมส่วนใหญ่ก็มักจะใช้เพียงครั้งเดียวแล้วทิ้ง
1
แต่ปัญหาคือ พลาสติกกันกระแทกพวกนี้ จะอยู่เป็นขยะบนโลกไปอีกนาน
และนานกว่าชั่วชีวิตของเราเสียอีก
2
ดังนั้นเขาจึงเริ่มหาวิธีที่จะมาลดปริมาณขยะเหล่านี้
ซึ่งเขาก็ได้พบว่า มีการนำผักตบชวามาแปรรูป เพื่อทำที่กันกระแทกอยู่ด้วย
1
เขาจึงได้เริ่มศึกษา และติดต่อไปยังชุมชนริมน้ำในกรุงเทพฯ
เพื่อให้ช่วยกันแปรรูปผักตบชวากันกระแทก แต่ผลลัพธ์ก็ยังไม่ได้คืบหน้ามากนัก
จนกระทั่งเขาได้เดินทางไปนครปฐม และพบกับชุมชนในอำเภอบางเลน
ซึ่งที่นี่ ชาวบ้านจะนำผักตบชวามาแปรรูปเป็นกระเป๋าสาน และตะกร้าสานกันอยู่แต่เดิมแล้ว
คุณเจจึงเริ่มเข้าไปพูดคุย และตกลงกับชาวบ้านให้ช่วยผลิตผักตบชวากันกระแทกให้
โดยทางคุณเจ และผู้ร่วมก่อตั้งคนอื่นๆ จะเป็นผู้ทดลอง
และหาวิธีแปรรูปผักตบชวา สำหรับนำไปกันกระแทก
แล้วค่อยสอนวิธีการแปรรูปทั้งหมดให้กับชาวบ้านในชุมชน
2
ซึ่งในช่วงแรกๆ ทางแบรนด์ก็จะส่งคนไปคอยควบคุมทุกกระบวนการแปรรูป
จนมั่นใจว่า ชาวบ้านจะทำได้ตรงตามมาตรฐานของแบรนด์ แล้วค่อยรับซื้อสินค้ามาจากชาวบ้านอีกที
ที่น่าสนใจคือ สินค้าผักตบชวากันกระแทกของแบรนด์นี้ ยังเป็นแบรนด์เดียวในไทยที่ได้ผ่านการทดสอบมาตรฐาน ISTA ว่ามีความสามารถในการกันกระแทก จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
ทำให้มั่นใจได้ว่า คุณภาพในการกันกระแทกของผักตบชวา จะไม่ด้อยไปกว่าพลาสติกกันกระแทก
1
เมื่อผักตบชวาได้มาเจอกับคนที่เห็นคุณค่าของมันจริงๆ
เราจึงได้เห็นมุมมองดีๆ ที่เกิดขึ้น
1
1. การกระจายรายได้
2. การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม
3. การรักษาภาพลักษณ์ของแบรนด์
1
สำหรับเรื่อง “การกระจายรายได้”
โดยในตอนแรก แบรนด์ตบชวากันกระแทก จ้างผลิตผักตบชวากันกระแทกอยู่แค่ในชุมชนเดียว
แต่ต่อมา เมื่อยอดขายโตขึ้น ก็ได้ขยายกำลังการผลิตไปในอีก 3 ชุมชน ในจังหวัดสุพรรณบุรี
แม้ว่าข้อเสียของการจ้างหลายๆ ชุมชน คือ บางครั้งชาวบ้านอาจผลิตสินค้ามาไม่ตรงตามมาตรฐาน
แต่คุณเจก็ได้แก้ปัญหานี้ ด้วยการรับซื้อสินค้าไว้ แล้วนำไปใช้ในการเกษตรแทน
ซึ่งเขาก็จะเน้นย้ำกับชาวบ้านว่า เหตุผลที่รับซื้อเพราะไม่ต้องการให้เขาเหนื่อยฟรี เพราะคุณเจเชื่อว่าการที่เราดีกับเขา เขาก็จะดีกับเราเช่นกัน
ส่วนฝั่งชาวบ้าน ก็ต้องพยายามทำให้สินค้ามีคุณภาพตรงตามมาตรฐาน
เพราะถ้าสุดท้าย คุณเจไม่สามารถขายสินค้าให้กับลูกค้าได้
ชาวบ้านก็จะได้รับผลกระทบ จากการไม่มีรายได้เสริมเหมือนกัน
ดังนั้น ความสัมพันธ์นี้ จึงเป็นแบบน้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า
ซึ่งเป็นเหมือนกลไกที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายต้องช่วยพากันไปให้รอดนั่นเอง
ส่วนเรื่องที่ 2 อย่าง “สิ่งแวดล้อม”
ผักตบชวากันกระแทก จะเข้ามาช่วยลดการใช้พลาสติก และเม็ดโฟมกันกระแทก
และยังสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้อีกหลายครั้งด้วย
ซึ่งความพิเศษอีกอย่างของแบรนด์ตบชวากันกระแทก คือ จะใส่สารป้องกันเชื้อรา “แบบฟู้ดเกรด”
ทำให้สามารถนำไปทิ้งลงดินได้โดยไม่เป็นอันตราย และยังย่อยสลายในเวลาไม่นาน
1
แถมตัวผักตบชวากันกระแทก ยังสามารถมานำคลุมหน้าดิน
เพื่อกักเก็บความชุ่มชื้นไว้ในหน้าดินได้ด้วย
นอกจากนี้ การแปรรูปผักตบชวา ยังช่วยลดปริมาณผักตบชวาในแหล่งน้ำ และผลที่ตามมาก็คือ ช่วยลดภาระและงบประมาณของรัฐในการกำจัดผักตบชวา
และเรื่องสุดท้าย ก็คือ “รักษาภาพลักษณ์ของแบรนด์”
สำหรับแบรนด์ที่มีจุดยืนในเรื่องรักษ์โลก
แต่เวลาส่งสินค้า กลับใช้พลาสติกหรือโฟมกันกระแทก
ก็คงจะดูขัดแย้งกับจุดยืนของตัวเองไม่น้อย
2
แบรนด์เหล่านี้จึงเริ่มมองหาทางเลือกในการส่งสินค้าแบบที่ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ซึ่งแบรนด์ตบชวากันกระแทก ก็กลายเป็นหนึ่งในคำตอบของหลายๆ แบรนด์รักษ์โลกที่เปลี่ยนจากพลาสติก มาเป็นวัสดุที่กันกระแทกที่ยั่งยืนมากกว่า
เมื่ออ่านมาจนถึงตรงนี้ หลายคนอาจสงสัยว่า
แล้วราคาผักตบชวากันกระแทก จะแพงกว่า พลาสติกกันกระแทกหรือไม่?
เราคงไม่สามารถเปรียบเทียบราคากันได้โดยตรง
เพราะพลาสติกกันกระแทกจะขายตามความยาว แต่สำหรับผักตบชวากันกระแทกจะคิดราคาตามน้ำหนัก
ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้มีการใช้งานที่แตกต่างกันตรงที่ ปริมาณการใช้งานของพลาสติกกันกระแทกจะขึ้นอยู่กับสิ่งของที่เราต้องการห่อ แต่ปริมาณการใช้ผักตบชวากันกระแทกจะขึ้นอยู่กับ “ขนาดของกล่องพัสดุ”
เพราะต้องใส่ผักตบชวากันกระแทกลงไปให้เต็มกล่อง เพื่อไม่ให้มีช่องว่างแล้วสิ่งของเกิดการกลิ้งไปมานั่นเอง
แต่ส่วนใหญ่ต้นทุนของสองสิ่งนี้ก็จะไม่ต่างกันเท่าใดนัก
เรื่องราวของผักตบชวา อาจทำให้เราเห็นว่า ไม่มีสิ่งไหนไร้ประโยชน์เสมอไป
ขึ้นอยู่กับว่า เราจะมองเห็นคุณค่า และดึงเอาสิ่งดีๆ ออกมาใช้ได้มากแค่ไหนต่างหาก..
1
Reference:
-สัมภาษณ์โดยตรงกับคุณเจ ผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ “ตบชวากันกระแทก”
1
โฆษณา