12 ก.พ. 2021 เวลา 03:40 • ปรัชญา
เวลามีคนพูดถึงคุณสมบัติของคนที่จะประสบความสำเร็จ เรามักจะเห็นการหยิบยกคน 2 กลุ่ม ขึ้นมาเปรียบเทียบกัน ระหว่าง “คนส่วนใหญ่ที่ทำตามๆ กัน” กับ “คนส่วนน้อยที่ทำอะไรแตกต่าง”
แล้วถามว่า คุณจะเลือกเป็นคนแบบไหน ?
เรามักคิดกันว่ามันเป็นเรื่องของตัวบุคคล และ เป็นสิ่งที่เลือกกันได้ง่ายๆ ว่าจะ “เป็นคนส่วนใหญ่ที่ทำตามๆ” หรือ “เป็นส่วนน้อยที่ทำอะไรแตกต่าง”
แต่คำถาม คือ ปัจจัยมันขึ้นอยู่กับตัวบุคคล และ เป็นสิ่งที่เลือกกันได้ง่ายๆ จริงๆ หรอ ?
ชเวอินช็อล ได้เขียนเอาไว้ในหนังสือ The Frame เกี่ยวกับงานวิจัยที่โด่งดังชิ้นหนึ่ง โดยนักจิตวิทยาชื่อ โซโลมอน แอช จัดทำขึ้นในปี 1951 ที่วิทยาเขตของมหาวิทยาลัยสวาร์ธมอร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา
การวิจัยครั้งนี้ได้ทำการทดลองโดยแบ่งกลุ่มนักเรียนชายออกเป็นกลุ่มละ 8 คน ซึ่งในกลุ่มนั้น มีผู้ที่ถูกทดลองจริงๆ เพียง 1 คน ส่วนที่เหลืออีก 7 คนนั้นเป็นหน้าม้าของนักวิจัยที่ถูกเตี๊ยมเอาไว้แล้ว
ในการทดลองครั้งนี้ ผู้วิจัยได้ตั้งโจทย์โดยเตรียมบัตรจำนวน 2 ใบ ซึ่งในบัตรใบแรกจะมีเส้นตรง 1 เส้น ส่วนบัตรใบที่สองจะมีเส้นตรง 3 เส้น ซึ่งแต่ละเส้นมีความยาวไม่เท่ากัน
หน้าที่ของผู้เข้าร่วมทดลองก็แค่ ตอบคำถาม ว่าเส้นตรงในบัตรใบแรกนั้น มีความยาวเท่ากับเส้นตรงใดใน 3 เส้น ของบัตรใบที่สอง
โดยผู้วิจัยกับหน้าม้าอีก 7 คน ได้เตี๊ยมกันไว้แล้วว่าพวกเขาจะตอบเส้นไหนบ้าง
สิ่งที่น่าสนใจคือ ผู้วิจัยได้จัดลำดับที่นั่งให้ผู้ที่เข้าร่วมการทดลองตัวจริงตอบคำถามเป็นคนสุดท้ายเสมอ เพื่อให้เขามองเห็นชัดเจนว่า 7 คนแรกนั้นตอบข้อไหน โดยในแต่ละรอบก็จะมีการเปลี่ยนความยาวของเส้นด้วย
1
การทดลองทำขึ้นทั้งหมด 18 รอบ โดย 2 รอบแรก หน้าม้าทุกคนจะตอบคำตอบที่ถูกต้อง แต่พอถึงที่ 3-18 ม้าหน้าทุกคนจะเริ่มเลือกคำตอบที่ผิด โดยในจำนวนนี้ จะมีทั้งหมด 12 ข้อที่หน้าม้าทุกคนจะพร้อมใจกันเลือกคำตอบที่ผิด
ผลการทดลองปรากฎว่า พอหน้าม้าเริ่มตอบข้ออื่นๆ ที่เห็นชัดๆ ว่ามันผิด เห็นชัดๆ ว่าเส้นตรงในบัตรทั้งสองใบนั้นไม่เท่ากัน แต่ด้วยพลังของคนรอบข้าง ทำให้ผู้เข้าร่วมทดลองตัวจริงเริ่มลังเล และในที่สุดก็ยอมทิ้งคำตอบของตัวเองเพื่อไปเลือกคำตอบตามหน้าม้าแทน
โดยในช่วงแรกๆ ผู้เข้าร่วมทดลองตัวจริงเริ่มมีอัตราการตอบถูกที่น้อยลงเหลือ 80 เปอร์เซ็นต์ และ เมื่อผ่านไปหลายรอบก็เริ่มจะลดลงอีกเหลือ 60 เปอร์เซ็นต์
เมื่อสรุปแล้ว ผลการวิจัยที่ออกมาก็พบว่าในแต่ละกลุ่มมีผู้ทดลองตัวจริงมากถึง 75 เปอร์เซ็นต์ที่ตอบตามคนส่วนมากอย่างน้อย 1 ครั้ง และอีก 5 เปอร์เซ็นต์ที่ตอบตามคนส่วนมากทุกครั้ง
อย่างไรก็ตาม มีผู้ทดลองตัวจริงอีก 25 เปอร์เซ็นต์ที่เลือกคำตอบที่ถูกต้องทั้ง 12 รอบ โดยไม่ตอบตามคนส่วนใหญ่เลย
นี่แสดงให้เห็นว่า คนจำนวนมากใน “บางครั้ง” ก็ละทิ้งความเชื่อของตัวเองและปรับความคิดตามคนส่วนใหญ่ แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีคนจำนวนหนึ่งที่ยึดมั่นในความเชื่อของตัวเอง เพียงแต่คนแบบนี้มันมีจำนวนที่น้อยมากๆ
สิ่งที่น่าสนใจคือ ผู้วิจัยยังทำการทดลองอีกรูปแบบหนึ่ง โดยให้ผู้ทดลองตัวจริง ตอบคำถามแบบรายบุคคลในห้องเพียงคนเดียว โดยไม่มีแรงกดดันจากการตอบคำถามจากผู้เข้าร่วมการทดลองคนอื่นๆ
ผลปรากฎว่า ผู้เข้าร่วมทดลองตัวจริงตอบคำถามถูกถึง 99 เปอร์เซ็นต์
ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้ก็เกิดขึ้นกับเราบ่อยๆ คือ เวลาที่อยู่คนเดียว เรามักจะเลือกในสิ่งที่เราเชื่อ แต่พอมีแรงกดดันจากคนอื่นๆ เช่น ในที่ประชุม เราก็มีแนวโน้มที่จะคิด พูด และ ทำ ตามคนส่วนใหญ่
แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ โซโลมอน แอช ได้ทำการเพิ่มเงื่อนไขเข้าไป โดยให้หน้าม้า “หนึ่งคน” เลือกคำตอบที่ถูกจริงๆ โดยไม่เลือกตามคนส่วนมาก
ผลการทดลองในครั้งนี้ปรากฎว่า อัตราการตอบถูกกลับพุ่งขึ้นมาสูงเกือบถึง 100 เปอร์เซ็นต์
นั่นหมายความว่า การที่เรามีพวกเข้ามา แม้จะเป็นแค่เพียงหนึ่งคน มันก็กลายเป็นพลังที่ทำให้ผู้เข้าร่วมทดลองตัวจริงรักษาความเชื่อเอาไว้ได้
ผลการวิจัยทั้ง 3 รูปแบบทำให้เห็นว่า การที่คนๆ หนึ่ง “จะเลือกเป็นคนส่วนใหญ่ที่ทำตามๆ กัน” หรือ “เลือกเป็นส่วนน้อยที่ทำอะไรแตกต่าง” นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลเสมอไป แต่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่เขาเจอด้วย
หากเราอยู่คนเดียว เราก็มักจะเชื่อความคิดของตัวเองมากๆ แต่พอไปเจอแรงกดดันจากคนอื่นๆ ที่มองต่างออกไปมันก็ทำให้ความเชื่อของเรานั้นสั่นคลอนจนบางครั้ง ก็ทำให้เรายอมทิ้งความเชื่อของตัวเองไป ซึ่งเรามักจะเจอกับสถานการณ์นี้บ่อยๆ
แต่หากเรามีคนที่เป็นพวกเดียวกับเรา แม้จะมีจำนวนที่น้อยนิดเพียงคนเดียวก็ตาม มันก็เป็นพลังที่ทำให้มนุษย์อย่างเรามีความมั่นใจและแข็งแกร่งขึ้น
เวลาเราเจอเรื่องราวของบุคคลที่ประสบความสำเร็จ และ ขึ้นชื่อในเรื่องของความคิดที่แตกต่าง เรามักเห็นว่าเบื้องหลังเขาไม่ได้ทำอะไรคนเดียว คนเหล่านี้จะมีเพื่อนคู่คิดเสมอ
อย่างเช่น สตีฟ จ็อบส์ ผู้ที่ขึ้นชื่อเรื่องความคิดที่แตกต่าง ก็ยังมีคู่หูอย่าง สตีฟ วอซเนียก อยู่เคียงข้างทุกครั้งที่ต้องฟาดฟันกับบอร์ดบริหารเมื่อความคิดเห็นไม่ตรงกัน
ในชีวิตของคนเราก็เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความคิด ความเชื่อ การทำงาน หรือ ธุรกิจ เราทุกคนล้วนต้องเจอกับสถานการณ์ที่มีแรงกดดันจากคนรอบข้างมากมายอยู่ตลอดเวลา การมีใครสักคนเป็นเพื่อนคู่คิด จะทำให้คุณแข็งแกร่งขึ้นและสามารถต่อสู้กับแรงกดดันที่จะถาโถมเข้ามาทุกวันได้อย่างแน่นอน
และถ้าหากคุณมีคู่หูคนนั้นที่อยู่เคียงข้างคุณแล้ว ก็ลองแท็กชื่อของเขาลงในใต้คอมเมนต์นี้ดูครับ เพื่อให้เขาได้รู้ว่า ตัวเขาเองมีผลกับเรามากแค่ไหน
“เปลี่ยนตัวเองเป็นคนที่ดีขึ้น
ด้วยการอ่านหนังสือดีๆ สักเล่ม”
แต่ถ้าไม่รู้ว่าตัวเองควรอ่านเล่มไหน
ทักมาปรึกษาสมองไหลได้เลย
สั่งซื้อหนังสือออนไลน์ง่ายๆ ส่งตรงถึงหน้าบ้านคุณ
ได้ที่ Inbox เพจ #สมองไหล
โฆษณา