19 ก.พ. 2021 เวลา 19:53 • ปรัชญา
“ไม่ว่าร่างกายจะอยู่ในสภาพใดสามารถสร้างศีล สมาธิ ปัญญาได้”
ธรรมะรุ่งอรุณ ☀️
๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔
ท่านทั้งหลายท่านไม่ต้องกังวลว่าท่านมาสายเกินไป ถ้าตราบใดถ้าท่านได้เข้าถึงคำสั่งคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว เข้าใจแล้วว่าจะต้องทำอะไรบ้าง คือเข้าใจแล้วว่าต้องสร้างศีล สมาธิ ปัญญาขึ้นมา ตอนนี้ท่านมีลมหายใจอยู่ ไม่ว่าร่างกายจะอยู่ในสภาพใด ท่านสามารถที่จะสร้างศีล สมาธิ ปัญญาขึ้นมาได้ อย่าไปคิดว่าตอนป่วยแล้วรักษาศีลไม่ได้ ตอนป่วยนี่แหละเป็นเวลาที่รักษาศีลง่ายที่สุดเพราะร่างกายไม่สามารถไปทำอะไรได้นั่นเอง ต้องนอนอยู่เฉยๆ ศีลก็บริสุทธิ์ เห็นไหม ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่เสพกามไม่ร่วมหลับนอนกับใคร ศีลที่จะต้องมีในการทำใจให้สงบนี้ต้องเป็นศีลขั้นสูง คือศีล ๘ ขึ้นไป
 
คนเจ็บไข้ได้ป่วยนี่รักษาศีล ๘ ได้สบายเพราะว่าจะไปเที่ยวก็ไปเที่ยวไม่ได้ จะไปกินอาหารเย็นก็กินไม่ได้ กินมื้อเดียวก็แทบจะลำบากแล้ว ดังนั้นคนป่วยไม่ต้องกลัวว่ารักษาศีลไม่ได้ คนแก่ไม่ต้องกลัวว่ารักษาศีลไม่ได้ คนหนุ่มคนสาวนี้น่ากลัวมากกว่าเพราะคนหนุ่มคนสาวมีกำลังวังชามากกว่า สามารถเอาร่างกายไปทำผิดศีลได้มากกว่า แต่คนแก่คนเจ็บนี้ไม่มีกำลังวังชาที่จะเอาร่างกายไปทำผิดศีลได้ ก็เลยถูกบังคับให้มีศีลโดยอัตโนมัติขึ้นมา เพราะว่าต้องนอนอยู่บนเตียงอย่างนี้เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย จะไปทำผิดศีลข้อไหนบ้างล่ะ จะไปแต่งเนื้อแต่งตัวให้ดูสวยงามก็ไปไม่ได้ จะให้ร้องรำทำเพลงดูหนังฟังเพลงก็ไม่อยากจะดู ใช่ไหม เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยไม่อยากจะทำอะไรทั้งนั้น ดังนั้นคนที่เจ็บไข้ได้ป่วยนี้อย่าไปคิดว่ารักษาศีลไม่ได้ เป็นคนที่รักษาศีลได้ง่ายกว่าคนที่เป็นหนุ่มเป็นสาว คนเป็นหนุ่มเป็นสาวนี่แหละรักษาศีลยากกว่าเพราะมีอะไรมาคอยยั่วยวนกวนใจมาล่อใจให้ไปทำผิดศีลอยู่เรื่อย เดี๋ยวเห็นคนนั้นคนนี้ถูกอกถูกใจ เดี๋ยวก็คิดนอกใจสามีนอกใจภรรยาขึ้นมาได้ หรืออยู่ใกล้ภรรยาหรือสามีก็อยากจะไปร่วมหลับนอนกับภรรยาหรือสามีขึ้นมาได้ คนที่ต้องการจะสร้างความสงบทางใจนี้ต้องเลิกหาความสุขทางร่างกายโดยเด็ดขาด ต้องเลิกเสพ การไม่ร่วมหลับนอนกับแฟนถึงแม้จะเป็นสามีหรือภรรยาก็ไม่ให้ร่วมหลับนอนกัน เอาเวลาร่วมหลับนอนกันมาสร้างสมาธิสร้างปัญญา เพราะถ้าไปร่วมหลับนอนกันก็จะไม่มีเวลามาสร้างสมาธิสร้างปัญญานั่นเอง
พระพุทธเจ้าจึงทรงต้องสอนให้สร้างศีล ๘ ขึ้นมาก่อน ให้เราหยุดการหาความสุขผ่านทางร่างกายก่อน เพื่อที่เราจะได้เอาร่างกายมาฝึกสมาธิกัน มาสร้างสติก่อน เพราะสตินี้เป็นตัวที่จะทำให้ใจสงบเป็นสมาธิได้ ถ้าไม่มีสติใจก็จะไม่มีวันสงบไม่มีวันนิ่ง สตินี้เป็นเหมือนเบรกรถยนต์ เวลาที่เราต้องการหยุดรถยนต์เราต้องเหยียบเบรกกัน ถ้ารถไม่มีเบรกรถก็จะไม่หยุด เหยียบไปแล้วไม่มีเบรกมันก็วิ่งต่อไป ถึงสี่แยกไฟแดงมันก็จะไม่หยุด ฉันใดใจถ้าไม่มีสติ พอนั่งสมาธิให้มันหยุดคิดมันก็จะไม่หยุดคิด นั่งสมาธิมันก็คิดต่อไป คิดไปๆ ไม่มีวันหยุด เมื่อไม่หยุดมันก็ไม่สงบ พอไม่สงบก็นั่งต่อไปไม่ไหวก็เลิกนั่งก็เลยไม่ได้สมาธิขึ้นมา แต่ถ้าใจรู้ว่าไม่มีสติเหมือนรู้ว่าถ้ารถยนต์ไม่มีเบรกก็ต้องเอารถเข้าอู่รีบไปติดเบรก ให้ช่างเขาตรวจดูว่าทำไมเหยียบเบรกแล้วรถไม่หยุด ช่างก็บอกว่าเบรกเสียต้องเปลี่ยนเบรกใหม่ ก็เปลี่ยน ฉันใด เราสั่งให้ใจหยุดคิดมันไม่หยุดคิดก็แสดงว่าเราไม่มีสติ พระพุทธเจ้าทรงบอกว่าก็ต้องสร้างสติขึ้นมา วิธีสร้างสติก็ต้องใช้กัมมัฏฐาน ใช้อารมณ์ที่จะหยุดความคิดได้ เช่น ใช้คำบริกรรมพุทโธพุทโธหรือใช้บทสวดมนต์ บทอิติปิโส ๑๐๐ จบนี่ สวดไปถ้ามันคิดมากๆ ให้สวดอิติปิโสไป ๑๐๐ จบดู สวดไปแล้วความคิดต่างๆ มันจะหายไปหมด ใจก็จะว่าง พอนั่งสมาธิก็ใช้พุทโธหรือใช้ดูลมหายใจแทนก็ได้ เดี๋ยวเดียวใจก็จะนิ่งสงบเกิดความสุขขึ้นมาได้
นี่คือขั้นที่ ๒ หลังจากที่เรารักษาศีล ๘ ได้แล้วเราก็ต้องมาฝึกสติ มาเจริญสมาธิกันนั่งสมาธิทำใจให้สงบให้นิ่งให้รวมเป็นหนึ่ง สักแต่ว่ารู้ ให้เกิดความสุขที่เหนือกว่าความสุขทั้งปวง คือความสุขที่เกิดจากความสงบนี้เรียกว่า “เป็นความสุขที่เหนือกว่าความสุขทั้งปวง” พอเราได้ความสุขจากสมาธิแล้วเราก็จะได้เลิกหาความสุขจากทางร่างกายได้ โดยที่ไม่ต้องถือศีลก็ได้ มีศีลหรือไม่มีศีลก็ไม่มีความจำเป็นแล้ว ถ้าใจเรามีความสุขจากความสงบแล้วใจเราก็จะไม่อยากไปหาความสุขจากทางร่างกายอีกต่อไป ไม่ต้องบังคับมันไม่ต้องห้ามมัน แต่เวลาออกจากสมาธิมานี้ ความสงบก็จะจางหายไป ความอยากที่จะไปหาความสุขทางร่างกายที่ยังไม่ได้ตายจากสมาธิก็ยังจะออกมาแสดงได้ พอเกิดความอยากจะใช้ความสุขผ่านทางร่างกายเราก็ต้องใช้ปัญญาขั้นที่ ๓ นี้มาหยุดความอยาก เอาปัญญาคือความจริงมาสอนใจว่า ถ้าไปหาความสุขทางร่างกายก็จะต้องทุกข์กับร่างกายต่อไป ร่างกายแก่ร่างกายเจ็บร่างกายตายก็จะต้องทุกข์ แล้วก็เวลาสูญเสียลาภยศสรรเสริญ สูญเสียสิ่งที่ให้ความสุขกับเราไปใจก็จะต้องทุกข์อีก อยากจะกลับไปทุกข์อีกหรือไม่ ถ้าอยากจะกลับไปทุกข์อีกก็ไป แต่ถ้าไม่อยากจะไปทุกข์อีกก็อย่าไป ให้อยู่กับความสงบดีกว่า เข้าไปในสมาธิแทนดีกว่า ถ้าอยากจะมีความสุขก็กลับเข้าไปในสมาธิแทน เปลี่ยนวิธีหาความสุขแบบใหม่ ใช้ปัญญาคอยแก้ความอยากไปทุกครั้งที่มันโผล่ขึ้นมา ต่อไปความอยากมันก็จะไม่โผล่ขึ้นมาอีกต่อไป เวลาออกจากสมาธิใจก็จะสงบต่อไปได้เพราะไม่มีความอยากมาทำให้ใจไม่สงบ ต่อไปก็ไม่ต้องเข้าสมาธิก็ได้ เพราะใจจะสงบตลอดเวลาตราบใดถ้าไม่มีความอยากปรากฏขึ้นมาในใจ ถ้ามีความอยากก็ต้องใช้ปัญญาเข้ามาสอนใจว่าการไปหาความสุขทางร่างกายจะพาให้ต้องไปเจอความทุกข์ทางร่างกายต่อไป ถ้าไม่อยากจะเจอความทุกข์ทางร่างกายก็เลิกหาความสุขทางร่างกาย
 
นี่คือปัญญาสอนให้รู้ว่าการหาความสุขผ่านทางร่างกายเป็นการไปหาความทุกข์ ถ้าอยากจะหาความสุขแบบไม่มีความทุกข์ต้องหาความสุขจากการเข้าสมาธิทำใจให้สงบให้หยุดความอยากเลิกความอยาก ต่อไปความอยากก็จะหายไปหมด หายไปหมดแล้วก็จะไม่มีอะไรมาสร้างความหิวความอยากความทุกข์ให้กับใจ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปหาความสุขทางร่างกายอีกต่อไป ร่างกายจะเป็นอะไรก็จะไม่เดือดร้อน ร่างกายแก่ก็ไม่เดือดร้อน ร่างกายเจ็บก็ไม่เดือดร้อน ร่างกายตายก็ไม่เดือดร้อน แล้วหลั้งจากที่ร่างกายตายไปก็จะไม่ไปหาร่างกายอันใหม่ จะไม่กลับมาเกิดใหม่อีกต่อไป จะไม่มีการแก่การเจ็บการตายแบบไม่มีวันสิ้นสุดอีกต่อไป
ธรรมะบนเขา
วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2563
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
ณ จุลศาลา เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาชีโอน
โฆษณา