20 ก.พ. 2021 เวลา 08:56 • กีฬา
ศิลปะการเล่าเรื่องแบบอเมริกันเกมส์ กับ THE CALL และ THE KNOCK ของดีแค่วัตถุดิบดีอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องมี storytelling ที่ดีด้วย
สิ่งที่ทำให้อเมริกันเกมส์ได้รับความนิยมอย่างมาก ในตลาดโลก คือการสร้าง "สตอรี่"
ถ้าคุณบอกว่าสิ่งที่ควรสนใจในกีฬามีอย่างเดียวคือการแข่งขัน แปลว่าทุกอย่างมันก็จะจบแค่ในสนาม ดูจบแล้วก็แค่นั้น แต่ในอเมริกันเกมส์ พวกเขาสร้างเรื่องราวมากมาย เกร็ดเล็กๆน้อยๆ นอกสนาม ให้คนติดตามในทุกๆแง่มุม
ซึ่งในเชิงธุรกิจ มันย่อมดีกว่าแน่นอน ที่ผู้คนคิดถึงคุณตลอดเวลา แม้แต่ในช่วงที่ไม่ได้แข่งในสนามก็ตามที
ที่อเมริกาจะมี Tradition บางอย่างที่สร้างความคลาสสิค ที่ประเทศอื่นไม่มี เช่น
- ทีมกีฬาเมื่อได้แชมป์แล้ว จะได้เข้าทำเนียบขาวเพื่อพบกับประธานาธิบดีของประเทศ
- เวลานักกีฬาฮ็อกกี้น้ำแข็งยิงแฮตทริกได้ คนก็จะโยนหมวกลงมาที่พื้นน้ำแข็ง (Rink)
1
- ผู้ชนะกอล์ฟเดอะ มาสเตอร์ส ที่สนามออกัสต้า จะได้รับแจ๊กเก็ตสีเขียว
ธรรมเนียมแปลกๆเหล่านี้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามันสร้างมูลค่าให้การแข่งขัน มันเป็นสิ่งที่ผู้คนรอคอยอยากจะเห็น ดังนั้นยิ่งสร้างสตอรี่เก่งเท่าไหร่ คนจะยิ่งสนใจในแบรนด์ของคุณ และจะนำมาสู่การติดตามที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
อเมริกันฟุตบอล NFL ถือเป็นกีฬาตัวท็อปเรื่องการสร้างสตอรี่ มันน่าคิดใช่ไหม ว่าทำไมกีฬาที่เล่นกันเองแค่ในประเทศ ถึงได้รับความนิยมไปทั่วโลกขนาดนี้ คือความสนุกก็ส่วนหนึ่ง แต่เรื่องการสร้างสตอรี่ที่ซ่อนอยู่ NFL ก็ไม่เป็นรองใครทั้งนั้น
วันนี้แอดมินจะเล่าสองธรรมเนียมคลาสสิคที่ชื่อว่า The call และ The Knock เมื่ออ่านบทความของผมจบ อยากให้ไปดูต่อในยูทูบแล้วจะเห็นภาพตามเลยครับ
ธรรมเนียมแรกที่ผมจะเริ่มก่อนมีชื่อว่า The Call (สายโทรศัพท์) มันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงการดราฟต์ตัวผู้เล่นเข้าสู่ลีกอาชีพ
การดราฟต์ใน NFL คือการเสริมทัพด้วยการ "เลือกผู้เล่น" จากระดับมหาวิทยาลัยเข้ามาสู่ทีมอาชีพ โดยทั้ง 32 ทีมในลีก จะได้เลือกตัวผู้เล่นรอบละ 1 คน จำนวน 7 รอบ รวมแล้วทั้งหมดการดราฟต์ จะมีผู้เล่นถูกเลือก จำนวน 32x7 หรือ 224 คนต่อปี
แต่ปัญหาคือ นักศึกษามหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ที่ส่งชื่อตัวเองเข้าร่วมการดราฟต์ มีมากกว่า 3,000 คนต่อปี แต่จะมีแค่ 224 คน จาก 3,000 คนเท่านั้นที่จะสมหวังได้เล่นในอเมริกันฟุตบอลอาชีพ
การดราฟต์ถือว่ามีความสำคัญมากๆ กับชีวิตของนักกีฬา ถ้าหากคุณไม่ถูกเลือกในปีนี้ ต่อให้ปีหน้าคุณเสนอรายชื่อตัวเองเข้าดราฟต์อีก แต่ใครจะมาเลือกคุณล่ะ เขาก็เลือกเด็กรุ่นใหม่ที่เก่งกว่าคุณสิ ดังนั้นใน "วันดราฟต์" จึงเป็นช่วงเวลาที่ระทึกใจที่สุดของนักกีฬามหาวิทยาลัย ถ้า "ถูกเลือก" เส้นทางอเมริกันฟุตบอลก็ได้ไปต่อ แต่ถ้า "ไม่ถูกเลือก" ก็ต้องทำใจและผันตัวไปทำอาชีพอื่น
หรือถ้ายังอยากเล่นอเมริกันฟุตบอลอยู่ก็ต้องไปเริ่มต้นนับหนึ่งกับลีกต่างแดนหรือลีกรอง หรือไม่ก็มาคัดตัวทีหลังแบบ undraft ซึ่งก็มีนักกีฬา undraft น้อยคนมาก ที่จะประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่แบบเป็นชิ้นเป็นอัน
1
วันดราฟต์จะแบ่งเป็น 3 วัน คือ
2
- วันที่ 1 (ดราฟต์รอบแรก 32 คน)
- วันที่ 2 ( รอบ 2 และ รอบ 3 รวม 64 คน)
- วันที่ 3 (รอบ 4 5 6 7 รวม 128 คน)
1
สิ่งที่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของการดราฟต์ นั่นคือแต่ละสโมสรจะมีการ war room ประชุมกันอย่างหนัก เพื่อตัดสินใจว่าจะเลือกนักกีฬาคนไหนเข้าทีม และเมื่อตัดสินใจได้แล้ว GM (General Manager) จะเป็นคนโทรศัพท์ไปหานักกีฬาด้วยตัวเอง เพื่อโทรไปบอกว่า เราจะเลือกคุณเข้ามาอยู่ในทีมของเรา
หลายๆทีม ไม่ใช่แค่ GM เท่านั้น แต่จะให้นักกีฬาคุยกับเจ้าของทีมเลยด้วย เพื่อสร้างความมั่นใจว่าเราดูแลคุณดีแน่ๆ ตัวอย่างเช่น นิวอิงแลนด์ เพเทรียตส์ เวลาจะดราฟต์ใคร ทั้งโค้ชบิลล์ เบลิชิค ซึ่งควบหน้าที่ GM ด้วย และโรเบิร์ต คราฟท์ เจ้าของทีม ก็จะคุยกับนักกีฬาคนนั้นโดยตรง
ดังนั้นสิ่งที่นักกีฬาทุกคนรอคอยคือ สายโทรศัพท์ (The Call) ทุกคนจะเฝ้าดูจอมือถือว่าเมื่อไหร่มันจะดังขึ้นมานะ เมื่อไหร่จะมี GM ของทีมไหนก็ได้ ที่จะโทรมาหาแล้วบอกว่า 'เราจะเลือกคุณเข้ามาอยู่กับทีมของเรา'
2
หลายๆคน ขอแค่ได้รับ The Call ก็พอใจแล้ว เขาไม่สนใจเลยว่าจะถูกดราฟต์รอบไหน ขอแค่มีทีมให้เล่นก่อน จากนั้นก็ค่อยๆไต่เต้าไปเรื่อยๆก็ได้ ดูอย่าง ทอม เบรดี้ ถูกดราฟต์รอบ 6 เป็นคนที่ 199 คือแทบจะหลุดวงโคจรไปแล้ว แต่สุดท้ายก็ยังถูกเลือกเข้าลีก และกลายเป็นสตาร์ระดับโลกในเวลาต่อมา
1
แต่แน่นอน มันก็มีหลายคนรอเก้อ 3 วัน 3 คืนที่เฝ้าหน้าจอโทรทัศน์แต่ก็ไม่มีใครโทรมา สุดท้ายก็ต้องยอมรับความจริงแบบเศร้าๆ ว่าเขาไม่ถูกเลือกแล้ว
ในดราฟต์แต่ละปี สิ่งที่ผมชอบทำมาก คือนั่งดูยูทูบ รีแอ็กชั่นของนักกีฬาแต่ละคน ในโมเมนต์ที่ได้รับ The Call ครับ มันเป็นความรู้สึกที่ตื้นตันไปพร้อมกับนักกีฬาจริงๆนั่นแหละ
นักกีฬาอาจตัวใหญ่ แข็งแรง แต่เมื่อได้รับสายโทรศัพท์สำคัญจาก GM คนเข้มแข็งเหล่านั้นก็ร้องไห้อย่างง่ายดาย เพราะมันเหมือนความพยายามทั้งหมดตั้งแต่เด็ก จนถึงมหาวิทยาลัย ในที่สุดก็มีคนเห็นคุณค่า ความฝันที่มีในที่สุดก็กำลังจะเป็นจริง
มีคลิปนึงผมชอบมากครับ เป็นเรื่องของ ดีเค เม็ทคาล์ฟ ปีกนอกของมหาวิทยาลัยมิสซิสซิปปี้ คือตอนสมัยเรียนเขามีผลงานใช้ได้ และคาดหมายว่า น่าจะถูกดราฟต์ในรอบแรกในปี 2019
อย่างไรก็ตาม บรรดา scout ของแต่ละทีมไปสืบค้นข้อมูลแล้วพบว่าเม็ทคาล์ฟ มีปัญหาเรื่องอาการบาดเจ็บบ่อย มีทั้งเจ็บเท้า และเจ็บสะโพก ดังนั้นจึงไม่อยากจะเสี่ยง ถ้าเลือกมาแล้วเจ็บออดๆ แอดๆ ก็ไม่น่าจะคุ้ม สู้ไปเลือกเอาปีกนอกชอยส์อื่นๆ ที่บาดเจ็บไม่บ่อยน่าจะดีกว่า
วันดราฟต์รอบแรก 25 เมษายน 2019 เม็ทคาล์ฟเดินทางไปที่โลเวอร์ บรอดเวย์ ในเมืองแนชวิลล์ ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานดราฟต์ เขาคาดหวังว่าตัวเองจะถูกเรียก แล้วเดินขึ้นไปบนเวทีแบบเท่ๆ แต่สุดท้ายผ่านไป 32 คน เม็ทคาล์ฟก็ไม่ถูกเลือก เขาต้องกลับบ้านไปอย่างผิดหวัง
1
จากนั้นวันต่อมา 26 เมษายน ในวันดราฟต์รอบสอง เขาอยู่ที่บ้านกับครอบครัวและเพื่อนๆ เฝ้าดูโทรทัศน์ไปด้วยกัน แน่นอน เขาก็ได้แต่เฝ้ารอสายโทรศัพท์จาก GM สักทีม หวังว่าจะมีใครสักคนที่โทรมาบอกข่าวดี
1
แต่ผ่านรอบ 2 ไปคนแล้วคนเล่า ก็ไม่มีใครโทรมาเลย จากสีหน้ามั่นใจเปลี่ยนเป็นความกังวล มีปีกนอก 8 คน ถูกเลือกไปแล้วก่อนหน้าเขา ซึ่งดูทรงแล้วถ้าเป็นแบบนี้ ทุกทีมอาจพร้อมใจเห็นอะไรบางอย่าง จนตัดสินใจเมินเม็ทคาล์ฟไปพร้อมๆกัน และอย่าทำเป็นเล่นไป เผลอๆ เขาอาจจะไม่ถูกดราฟต์เลยสักรอบก็เป็นได้ใครจะรู้
จนเมื่อถึงผู้เล่นคนสุดท้ายของการดราฟต์รอบ 2 ระหว่างที่อยู่ในความกดดันนั้น ในที่สุดก็มีสายโทรศัพท์ดังขึ้นมาบนมือถือของเม็ทคาล์ฟ คนที่อยู่ในสายคือจอห์น ชไนเดอร์ GM ของซีแอตเติล ซีฮอว์คส์
เมื่อเม็ทคาล์ฟรับ ชไนเดอร์ก็พูดทันทีว่า "นายโอเคไหม ฉันอยากให้นายสบายใจได้นะ ซีฮอว์กส์ จะเลือกนายในการดราฟต์ครั้งนี้"
เมื่อเม็ทคาล์ฟได้ยินดังนั้น ก็ร้องไห้ออกมาอย่างไม่อายเลย แล้วพูดคำว่าขอบคุณ ขอบคุณ ขอบคุณอย่างเดียว ก่อนเดินไปกอดคุณพ่อแล้วก็ร้องไห้ ในที่สุดความกดดันที่เขาแบกอยู่ก็ได้รับการปลดปล่อยเสียที
1
ในปีเดียวกัน เทรซ แม็คซอร์ลีย์ ควอเตอร์แบ็กจากมหาวิทยาลัยเพนน์สเตต ถูกมองข้ามมา 5 รอบ จนถึงรอบที่ 6 คนที่ 197 เขาก็ได้รับสายโทรศัพท์จาก GM ของบัลติมอร์ เรฟเวนส์ ซึ่งเจ้าตัวเมื่อคุยเสร็จก็ร้องไห้กอดแม่ กอดพ่อเช่นกัน เพราะเขาแทบจะหลุดจากวงโคจรไปแล้ว แต่ถูกเลือกตัวในโค้งสุดท้ายจริงๆ เป็นควอเตอร์แบ็กคนสุดท้ายในดราฟต์ปีนั้นที่ถูกเลือกด้วย
1
สิ่งที่เราเห็นก็คือจะตอนไหนก็เถอะ ขอแค่ให้โทรศัพท์ดังขึ้นมาแค่นั้นในวันดราฟต์ ความฝันที่รอคอยของเด็กหนุ่มเหล่านี้ก็จะถูกเติมเต็ม และนี่คือธรรมเนียม The Call ที่มีผลต่อหัวใจของรุกกี้ทั้งหลายใน NFL
นอกจากธรรมเนียม The Call แล้ว ยังมีธรรมเนียมชื่อ The Knock (การเคาะประตู)
สำหรับนักกีฬาอเมริกันฟุตบอลนั้น จะแบ่งความฝันในการเล่นออกเป็น 3 ระยะ
1- ในสมัยเล่นมหาวิทยาลัย เป้าหมายคือ ถูกดราฟต์เล่นลีกอาชีพ
2- ในสมัยเล่นอาชีพ เป้าหมายคือ สร้างชื่อเสียง รายได้ และความสำเร็จให้มากที่สุด
3- ในสมัยเลิกเล่นไปแล้ว เป้าหมายคือ ได้มีชื่อติดหอเกียรติยศ (Hall of fame)
หอเกียรติยศมีไว้ทำไม? คำตอบคือมีไว้เพื่อบันทึกเรื่องราวของนักกีฬาบางคนที่ยิ่งใหญ่ ลงในหน้าประวัติศาสตร์ ลองคิดดูเล่นๆว่า ตอนนี้เราจำนักอเมริกันฟุตบอลในยุค 90 ได้ไหม โอเค เราอาจจำได้บางคนเช่น เบรต ฟาฟร์ ของกรีนเบย์ แพคเกอร์ส หรือ แชมป์ เบลีย์ ของเดนเวอร์ บรองโกส์ แต่คนอื่นๆล่ะ บางทีด้วยระยะเวลาที่ผ่านไปนานเราก็หลงลืมไป และจำไม่ได้แน่ชัดว่า ในยุคนั้นมีใครที่เคยเก่ง และทำผลงานได้ยอดเยี่ยมบ้าง
ดังนั้น NFL จึงกำหนดให้แต่ละปี จะมีการเลือกผู้เล่นที่โดดเด่น และสร้างชื่อเสียงให้กับอเมริกันฟุตบอลอย่างแท้จริง ให้มีชื่อติดในฮอล ออฟ เฟม
บรรดานักกีฬาที่เลิกเล่นไปแล้วนี่คือความฝันสูงสุด เพราะคุณจะบอกว่าเป็นตำนานไม่ได้เลย ถ้าไม่ได้ถูกรับเลือกให้เข้าไปอยู่ในฮอล ออฟ เฟมด้วย การได้รับเลือกแปลว่าคุณถูกยอมรับอย่างแท้จริงแล้ว
คนที่ได้รับเลือกเข้าฮอล ออฟ เฟม คุณจะได้ "แจ๊คเกตสีทอง" เป็นของที่ระลึก และใบหน้าของคุณจะถูกปั้น เป็นประติมากรรม ถูกตั้งแสดงเอาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ของ NFL Hall of fame ที่เมืองแคนตัน รัฐโอไฮโอ
สำหรับวิธีการเลือกฮอล ออฟ เฟม นั้น คณะกรรมการจะเลือกแคนดิเดทในแต่ละปี ราวๆ 130 คน จากนั้นคัดจนเหลือ Finalists ราว 15 คน
ในจำนวนนั้น ไม่ใช่ทุกคนที่จะได้เข้าหอเกียรติยศ แต่คณะกรรมการจะเลือกแค่ 8 คนเท่านั้น ส่วนที่เหลือจะต้องผิดหวังไป
ไฮไลท์ที่น่าสนใจอยู่ที่การประกาศ ว่าใครจะได้เข้าฮอล ออฟ เฟม ทาง NFL จะใช้ธรรมเนียมสำคัญที่ชื่อ The Knock (การเคาะประตู)
โดยขั้นแรกทาง NFL จะเชิญ 15 Finalists มาชมเกมซูเปอร์โบวล์ โดยทั้งหมดจะเข้าพักที่โรงแรมเดียวกัน
1
ก่อนซูเปอร์โบวล์จะเริ่ม 1 วัน ในเวลา 15.00 น. คณะกรรมการจะขอให้ทั้ง 15 คน นั่งรอผลอยู่ที่ห้องนอนของตัวเองที่โรงแรม และภายในช่วงเวลา 15.00-16.00 เดวิด เบเกอร์ ผู้อำนวยการสถาบันฮอล ออฟ เฟม จะทำสิ่งที่เรียกว่า The Knock นั่นคือไปเคาะประตูห้องในโรงแรมของนักกีฬาแต่ละคน เพื่อแจ้งข่าวด้วยตัวเองว่า "คุณมีชื่อติด ฮอล ออฟ เฟม"
ถ้าหากเลยเวลา 16.00 ไปแล้ว ยังไม่มีใครไปเคาะ สุดท้ายคณะกรรมการจะโทรศัพท์มาหา แล้วบอกว่า คุณไม่ได้เข้าฮอล ออฟ เฟม ซึ่งแน่นอน ตัวนักกีฬาก็ไม่อยากให้เรื่องแบบนั้นเกิดขึ้น ทุกคนอยากได้ยินเสียงเคาะประตู มากกว่าเสียงโทรศัพท์
ในโมเมนต์ที่ "เฝ้ารอการเคาะประตู" สำหรับคนที่รอลุ้นผล เป็นอะไรที่ระทึกมากที่สุด เพราะไม่รู้ว่าเสียงเคาะประตูหรือเสียงโทรศัพท์จะดังก่อน และเมื่อสุดท้ายตอนนักกีฬาได้ยินเสียงเคาะประตูจากเดวิด เบเกอร์ ความกังวลใจทุกอย่างก็จะหายไป
เมื่อเบเกอร์เคาะประตู แล้วนักกีฬาออกมาเปิด ตัวเบเกอร์จะพูดประโยคที่เป็นรูทีน ซ้ำเดิม แต่เป็นประโยคที่นักกีฬาต่างรอคอยอยากจะได้ยิน
เบเกอร์จะพูดว่า "ยินดีต้อนรับสู่ แคนตัน โอไฮโอ ยินดีด้วย เราจะเก็บบันทึกความยิ่งใหญ่ของคุณเอาไว้ตลอดกาล ขอบคุณอย่างมาก กับสิ่งที่คุณทำเพื่ออเมริกันฟุตบอลมาตลอด และเราจะมอบแจ๊กเกตสีทองให้กับคุณ"
1
นักกีฬาที่เข้มแข็งมาจากไหน ก็เสียน้ำตาได้ง่ายๆ เพราะการได้เข้าฮอล ออฟ เฟม แปลว่าชื่อของคุณได้รับการยอมรับว่าเป็น "หนึ่งในสุดยอดของนักกีฬาอเมริกันฟุตบอล" เป็นความภูมิใจที่ยากจะอธิบายอย่างยิ่ง
ตอน The Call ได้เข้าลีกก็ว่าภูมิใจแล้ว แต่ The Knock มันเป็นความรู้สึกที่เหนือขึ้นไปอีก เพราะแต่ละปี มีนักกีฬาจำนวนหยิบมือเดียวจริงๆ ที่จะได้รับเกียรติยศสูงสุดนี้
ตามธรรมเนียมปกติ จริงๆแล้วจะต้องเคาะที่โรงแรม ในเมืองที่จัดแข่งซูเปอร์โบวล์ แต่ในช่วงโควิด-19 ด้วยความฉุกละหุกหลายอย่าง ทำให้กระบวนการ The Knock เปลี่ยนรูปแบบชั่วคราวมาเป็นเคาะประตูบ้านแทน โดยเดวิด เบเกอร์ จะบินไปหาผู้ได้รางวัลด้วยตัวเอง แต่เขาก็ยืนยันว่า พอโควิดทุเลาลงเมื่อไหร่ ก็จะไปใช้ธรรมเนียม The Knock ที่โรงแรมเหมือนเดิม
จะเห็นได้เลยว่า The Call กับ The Knock เป็นเรื่องราวที่ไม่ได้เกิดขึ้นในสนามเลย แต่มันสร้างเรื่องราวให้ผู้คนติดตามได้
แต่ละปี คนจะรอดูภาพประทับใจจาก The Call เพราะอยากเห็นโมเมนต์ที่นักกีฬารู้สึกตื้นตันใจที่เล่นอาชีพครั้งแรก และผู้คนก็จะรอดูภาพการ The Knock ที่ประทับใจมากๆไม่ต่างกัน
ธรรมเนียมเหล่านี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเอง แต่มาจากการสร้างขึ้นอย่างแยบยล มีสื่อช่วยประโคมข่าว และถูกทำซ้ำๆ ทุกปีจนกลายเป็นประเพณีปฏิบัติ
ดังนั้นผู้บริหารองค์กรกีฬาที่มีฝีมือ ไม่ใช่แค่จัดการแข่งขันให้จบๆไปเท่านั้น แต่จะพยายามสอดแทรกธรรมเนียมเหล่านี้ เพื่อสร้างฟีลลิ่งให้เกิดขึ้นทั้งกับตัวนักกีฬา และแฟนๆที่ติดตามอยู่
ในโลกยุคนี้ เราพูดกันเสมอว่าศิลปะแห่งการ Storytelling มันมีความสำคัญ
ครัวซองต์หนึ่งชิ้น ถ้าคุณตั้งราคาขาย 200 บาท ใครจะมาซื้อ แต่ถ้าครัวซองต์ชิ้นนั้นใช้การโฆษณาอย่างดี ว่าถูกผลิตขึ้นโดยสูตรของเชฟชาวฝรั่งเศส และมีจำนวนจำกัดที่ 100 ชิ้นต่อวัน บางทีราคาที่ตั้งขาย 200 บาท ผู้คนอาจจะเสียเงินซื้อแบบไม่คิดเยอะเลยก็ได้
ดังนั้นไม่ว่าวงการไหนถ้าคุณเล่าเรื่องเป็น มีสตอรี่มาขาย มันแน่นอนอยู่แล้วว่า ราคาของสินค้าที่คุณมีอยู่ ย่อมสูงขึ้นกว่าเดิมเสมอ
#THECALL #THEKNOCK
โฆษณา