22 ก.พ. 2021 เวลา 10:24 • ไลฟ์สไตล์
ฟังเพลงตอนทำงานยังไงให้เวิร์ค!
ที่ผ่านมานั้นหลายๆ คนมักมีความเชื่อที่ว่า การฟังเพลงในระหว่างการทำงานนั้น จะช่วยปรับอารมณ์ และเพลิดเพลินไปกับการทำงานได้มากขึ้น ซึ่งสิ่งดังกล่าวก็จะส่งผลไปถึงประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีขึ้นด้วยเช่นกัน ในส่วนนี้ก็มีผลงานวิจัยออกมารองรับมากมายในช่วงที่ผ่านมา กับการศึกษาถึงการทำงานควบคู่ไปกับการฟังเพลงว่ามีผลออกมาอย่างไร แต่ผลที่ได้ออกมานั้นจะมีทั้งข้อดี และข้อเสียที่แตกต่างกันออกไป บางผลวิจัยก็มีผลพิสูจน์ที่ค่อนข้างชัดเจนว่าการฟังเพลงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้จริงๆ แต่ในขณะเดียวกันบางผลการทดลองก็พบว่า การฟังเพลงนั้นจะช่วยให้เราจดจ่อกับงานได้น้อยลง และการรับจำข้อมูลใหม่ๆ ได้ยากขึ้น
ซึ่งก่อนหน้าการศึกษาที่เป็นที่พูดถึงเป็นอย่างมากก็คือทฤษฎี Mozart Effect ในปี 1993 ของนักจิตวิทยาที่มีชื่อว่า Alfred A. Tomaits ที่นำเสนอว่าดนตรีคลาสสิคจะช่วยเพิ่มความสามารถในการเรียนรู้ได้ โดยผลการทดลองที่ออกมาคือคนที่ฟังดนตรีคลาสสิคนั้นสามารถทำงานได้ในปริมาณที่มากกว่าและดีกว่าคนที่ไม่ได้ฟัง ซึ่งการทดลองนี้ไม่เพียงแต่ปรับใช้เฉพาะคนทำงานด้วยซ้ำ แต่ดันกลายเป็นกระแสฮิตติดลมสำหรับบรรดาแม่ๆ ที่ยังท้องอยู่ ต้องอัดเพลงของ Mozart เข้าหู เพื่อหวังให้ลูกในท้องมีพัฒนาการที่ดีเช่นกัน
ต่อมาในปี 2015 ก็เริ่มมีการเอาทฤษฎีนี้มาพิสูจน์กันอีกครั้ง โดยเป็นการทดลองการใช้ดนตรี “K.448” ของ Mozart ที่เป็นส่วนผสมของเปียโดน 2 โต มาเทียบเคียงกับ “Für Elise” ของ Beethoven’s ซึ่งผลที่ออกมาสร้างความประหลาดใจอย่างมาก เพราะใน Genre ที่เป็นดนตรีคลาสสิคเหมือนกันนั้น กลับกลายเป็นว่าบทเพลงของ Mozart กลับเพิ่ม “Alpha band” ในคลื่นสมองได้ดีกว่า ซึ่งเจ้าคลื่นสมองตัวนี้เนี่ย คือส่วนที่เชื่อมโยงกับความทรงจำ การรับรู้ และการแก้ปัญหาได้ด้วย ในขณะที่บทเพลงของ Beethoven แทบไม่มีผลอะไรในสมองเลย
นอกจากนี้การทดลองยังดำเนินต่อไป ด้วยความน่าสนใจขึ้น เมื่อมีการเอาหนูมากรอกหูด้วยเพลงของ Mozart K.448 ติดต่อกัน 10 สัปดาห์ พบว่าหนูที่ฟังบทเพลงของ Mozart นั้น สามารถวิ่งหาทางออกจากเขาวงกตได้ดีขึ้นอย่างมีนัยยะ มากกว่าเจ้าหนูที่ฟังเพลงของ Beethoven เสียอีก วันนี้ทาง Uppercuz จึงอยากจะพาลองมาดูกันว่า การฟังเพลงตอนทำงานให้ได้งานดี ไม่รบกวนสมาธิในการทำงานจะต้องทำกันอย่างไรบ้าง
1
1). เลือกดนตรีที่ใช่ จากแนวเพลงที่ชอบ
เมื่อศึกษาเพิ่มเติมลงไป ฝั่งที่มีน้ำหนักมากกว่า และอัพเดทใหม่กว่า กลับเป็นฝั่งผลดีจากการฟังเพลงขณะทำงาน ผลการศึกษาของ Teresa Lesiuk ก็สนับสนุนแนวคิดนี้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งเธอคนนี้เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชา Music Education and Music Therapy จาก University of Miami ที่ออกมาระบุว่า กว่า 90% ของช่วงเวลาการฟังเพลง สร้างเสริมประสบการณ์ในเชิงบวกที่ดีกว่าเมื่อพวกเขาได้ฟังเพลงประเภทในก็ตามที่พวกเขา “ชอบ” ดังนั้นอันดับแรกเลยของการที่จะฟังเพลงตอนทำงาน ก็ควรมี Playlist แนวเพลงที่ตัวเองชอบกันเสียก่อน เพราะเมื่อใดก็ตามที่เพลงถูกรันไปในแนวที่ตัวเองไม่ได้ชอบนั้น ก็อาจจะสร้างความหงุดหงิดกวนใจไปเปล่าๆ
1
เพราะผลการศึกษาออกมาว่า การฟังเพลงที่ในแนวที่เราชอบ จะช่วยปรับอารมณ์ของเราให้รู้สึกดี และเมื่อเรารู้สึกดี เราก็จะใจเย็นในการแก้ปัญหาได้มีสติรอบคอบมากยิ่งขึ้น อีกทั้งดนตรีเหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน แต่ยังเพิ่มความสร้างสรรค์เข้าไปในงานได้อีกด้วย ซึ่งทั้งนี้ก็ยังมีข้อจำกัดในบางอย่างสำหรับกลุ่มดนตรีที่มีจังหวะที่ค่อนข้าง Extreme ไปสักหน่อย ก็อาจจะสร้างความรบกวนใจได้แทน (เสียใจด้วยสำหรับสาย Heavy Metal และ EDMs 555+) แต่ทั้งหมดทั้งมวลแล้วไม่ว่าจะดนตรีแนวไหนก็ตาม ก็ขึ้นอยู่กับความชอบเป็นหลักอยู่ดี
2). เนื้อเพลงดึงสมาธิเราไปมากกว่าที่คิด
สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือนอกจากการเลือกแนวเพลงแล้ว การเลือกบทเพลงที่ไม่มีเนื้อร้องนั้นดูจะช่วยส่งเสริมการทำงานมากกว่า เพราะเนื้อเพลงนั้นจะช่วยดึงดูดความสนใจของเรา ให้ไปโฟกัสที่ตัวเนื้อเพลง (และบางครั้งก็ทำเอาปากขยับร้องตามไปอีก) จนกลายเป็นว่าเราต้องแบ่งสมาธิส่วนนึงไปกับเพลงเหล่านั้น ซึ่งจะส่งผลให้สิ่งที่เราอ่านเข้าสมองได้น้อยลง เวลาคิดอะไรก็จะเหมือนติดขัดอยู่ไม่น้อย นั่นจึงเป็นสาเหตุที่แม้ว่าเราจะไม่ได้สนใจเนื้อเพลงอะไรมากมาย แต่พอถึงเวลาเรากลับร้องเพลงนั้นๆ ได้อย่างน่าประหลาด แถมยังจดจำเนื้อร้องได้เป็นอย่างดี นั่นเป็นเพราะสมาธิส่วนนึงของเราถูกนำไปใช้กับการนำเนื้อร้องเหล่านี้เข้าสู่ระบบความจำแทน
ส่งผลให้บรรดาร้านกาแฟ (แบบเอาไว้นั่งทำงาน) ร้านหนังสือ หรือแม้แต่ Co-Working Space นั้น ต่างเลือกใช้ดนตรีที่ไม่มีเนื้อร้องออกมาคลอๆ มากกว่าการที่จะใช้เพลงที่มีเนื้อร้อง เพราะจะเอื้อต่อลูกค้าที่มานั่งทำงาน หรืออ่านหนังสือมากกว่า เพราะไม่เป็นการรบกวนสมาธิของลูกค้าเหล่านี้
3). ดนตรีไม่ได้มีผลต่อประสิทธิภาพของทุกคน
อีกหนึ่งผลการศึกษาที่น่าสนใจที่ออกมาของ Teresa Lesiuk นั้น การเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานระหว่างฟังเพลงนั้น มีตัวแปรหนึ่งที่สำคัญอย่างมากก็คือ เรานั้นถนัดในสิ่งที่เรากำลังทำอยู่มากน้อยขนาดไหน เพราะมีผลการวิจัยอันหนึ่งที่พบว่ากลุ่มคนที่ได้รับแรงกระตุ้นจากการฟังเพลงในระหว่างทำงานได้ดีที่สุดก็คือกลุ่มคนที่ไม่ได้ “ใหม่” เกินไป และไม่ได้ “เก่ง”เกินไปในงานที่ตัวเองกำลังทำอยู่
เพราะสำหรับคนที่เก่งในงานที่ตัวเองทำอยู่แล้ว สิ่งที่เขาจะได้ก็คือประโยชน์ในเรื่องของอารมณ์ที่ดีขึ้นในการทำงาน แต่อาจจะไม่ได้ส่งผลไปถึงประสิทธิภาพในการทำงานโดยตรง คนกลุ่มนี้จะยังคงทำงานได้ดีไม่ว่าจะฟังเพลงหรือไม่ก็ตาม แต่ในขณะเดียวกัน สำหรับคนที่เก่งแบบกลางๆ ในงานที่ตัวเองทำ จะเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานอย่างเห็นได้ชัดเลย โดยส่วนสุดท้ายคือคนที่ไม่มีสกิลหรือใหม่กับงานนั้น ดนตรีอาจจะปรับได้เรื่องอารมณ์แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่ได้ช่วยเรื่องประสิทธิภาพในการทำงานเช่นกัน เพราะสุดท้ายแล้วพนักงานยังคงต้องเรียนรู้และปรับทักษะของตัวเองโดยที่ดนตรีก็ช่วยไม่ได้ในส่วนนี้
1
บทความยังไม่จบ อ่านต่อได้ที่
โฆษณา