27 ก.พ. 2021 เวลา 05:12 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เงินดิจิทัลของธนาคารกลาง
บทความโดย ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย
หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ รองหัวหน้าสายงานวิจัย
บล.เกียรตินาคินภัทร
Optimise Magazine
เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีพัฒนาการที่น่าสนใจเกี่ยวกับเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง
เมื่อธนาคารกลางของจีน 'แจก' เงินดิจิทัลที่เรียกว่า DC/EP
ที่ย่อมาจาก Digital Currency Electronic Payment
โดยแจกให้กับคนเมืองเชินเจิ้น 50, 000 คน
มูลค่ารวม 10 ล้านหยวน
ผ่านระบบล็อตเตอรี่
โดยคนที่ได้รางวัลสามารถดาวน์โหลดแอปแล้วรับเงินดิจิทัลมูลค่า 200 หยวน
หรือประมาณ 900 บาท ไปใช้ได้เลย
แม้จะเป็นการทดลอง 'เล็กๆ' แต่ก็ถือเป็นการเปิดตัวเงินดิจิทัลของจีนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก
ตั้งแต่เริ่มโครงการในปี 2014 และคาดว่าจีนจะนำเงินดิจิทัลนี้ออกมาใช้อย่างเต็มรูปแบบในไม่ช้า
และทำให้จีนกลายเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ที่เริ่มนำเงินดิจิทัลของธนาคารกลางออกมาใช้กับรายย่อย
(สวีเดนและบางประเทศในแคริเบียนก็เริ่มทดลองเงินดิจิทัลของธนาคารกลางแล้ว)
และแม้แต่แบงก์ชาติไทยเองก็มีการศึกษาทดลองใช้เงินดิจิทัลภายใต้โครงการ 'อินทนนท์'
ทำให้มีคนตั้งคำถามว่า 'เงินดิจิทัลของธนาคารกลาง' หรือ Central Bank’s Digital Currency (CBDC) นี้คืออะไร
และจะมีผลต่อระบบเศรษฐกิจอย่างไร และโลกในอนาคตข้างหน้าจะเปลี่ยนไปอย่างไร
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า CBDC นี่ไม่ใช่การออกเงินสกุลใหม่
แต่เป็นการเปลี่ยนรูปแบบของเงิน
ลองนึกภาพว่า ทุกวันนี้ เงินที่เราใช้กัน ก็แปลงรูปเป็น 'ดิจิทัล' กันไปค่อนข้างมากแล้ว
เช่น เงินในบัญชีธนาคารที่เราสามารถโอนไปให้คนอื่นๆ ได้
เงินในกระเป๋าเงินดิจิทัลหรือระบบอื่นๆ
อย่าง 'เป๋าตัง' ก็ถือว่าเป็นเงินอิเล็กทรอนิกส์หรือเงินดิจิทัลแล้ว
และถ้านึกดูดีๆ เงินอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลายเหล่านี้ เป็น 'หนี้' ของบริษัทเอกชน
ไม่ว่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทที่เป็นเจ้าของกระเป๋าเงิน
แต่เงินที่เป็น 'หนี้' ของ 'ธนาคารกลาง'
ที่ประชาชนใช้กัน มีอยู่รูปแบบเดียวคือธนบัตรที่เป็นกระดาษ
(ใช่ครับ ธนบัตรที่เราใช้อยู่ ทำให้เรามีสภาพเป็นเจ้าหนี้ของธนาคารกลาง)
และที่น่าสนใจคือ ธนาคารกลางไม่มีทาง 'ผิดนัดชำระหนี้'
หนี้ที่ตัวเองออกมาเองได้
เพราะธนาคารกลางมีหน้าที่และอำนาจในการพิมพ์ธนบัตรใหม่ออกมาได้เสมอ ในขณะที่เงินรูปแบบอื่นๆ ยังมีความเสี่ยงถูกเบี้ยวอยู่
ในอดีต ธนาคารกลางทำหน้าที่เป็นนายธนาคารของธนาคารพาณิชย์
และยอมให้ธนาคารพาณิชย์เปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารกลางเท่านั้น
และธนาคารพาณิชย์ก็ทำหน้าที่รับเปิดบัญชีเงินฝากให้ประชาชนทั่วไป
และประชาชนทั่วไปสามารถใช้ 'เงิน' ของธนาคารกลางในรูปแบบธนบัตรที่เป็นกระดาษเท่านั้น
ธนบัตรมีคุณสมบัติสำคัญ คือ มีความเป็นส่วนตัวสูง
(ไม่มีการบันทึกว่าธนบัตรถูกใช้โดยใคร จ่ายให้ใคร และเพื่ออะไร)
และมีต้นทุนการจัดการสูงมาก
เพราะธนบัตรทุกใบมีต้นทุนในการพิมพ์ขึ้นมา ต้นทุนในการจัดเก็บ รักษา และเคลื่อนย้ายทั้งภายในธนาคาร
(ธนาคารต้องย้ายธนบัตรที่รับมาจากสาขาเอาไปกระจายในเครื่อง ATM)
และระหว่างธนาคาร นี่ยังไม่นับต้นทุนในการทำความสะอาดและทำลาย
ยิ่งในช่วง Covid-19 หลายๆ คนก็กังวลว่าธนบัตรอาจจะเป็นตัวกลางในการส่งผ่านเชื้อโรค จนต้องมีต้นทุนในการทำความสะอาดเพิ่มเติมขึ้นมาอีก
มีการประมาณว่าในประเทศไทย ต้นทุนเฉพาะต้นทุนในการจัดการธนบัตรสูงถึงปีละกว่าห้าหมื่นล้านบาท เฉลี่ยแล้วต้นทุนต่อธุรกรรมอาจจะสูงมากกว่า 1.26 บาทต่อธุรกรรม
เมื่อเทคโนโลยีพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ ก็มีคำถามว่า ธนบัตรมีไว้ทำไม
และทำไมเรายังต้องใช้ธนบัตรกันอีก
ในเมื่อคนทั่วไปมีเงินที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์กันเยอะแล้ว
และก็เป็นคำถามที่ธนาคารกลางหลายๆ แห่งตั้งคำถามว่า
แล้วบทบาทของธนาคารกลางในการออก 'เงิน' ให้ประชาชนทั่วไปใช้ยังมีอยู่หรือไม่
CBDC จึงเป็นการทดลองของธนาคารกลางในการออก 'เงิน' มาเพื่อทดแทนธนบัตรที่มีต้นทุนสูง
และเป็นความพยายามรักษาบทบาทของธนาคารกลางในการควบคุม 'เงิน' อีกครั้ง -
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภาวะปัจจุบันที่เราเริ่มเห็นว่าสถานะของธนาคารกลางในการ 'ผูกขาด' ฐานะผู้ออก 'เงิน' เริ่มถูกสั่นคลอน
ทั้งจากเงินอิเล็กทรอนิกส์และเงินคริปโตทั้งหลาย
เช่น Libra ของ Facebook, Bitcoin และเงินรูปแบบอื่นๆ -
นอกจากนี้ ยังเป็นการนำธนาคารกลางเข้ามาร่วมเป็นผู้เล่นในตลาดการชำระเงิน
ที่เอกชนได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว
อย่างในจีน ระบบการจ่ายเงินของ WeChat และ Alipay พัฒนาไปจนมีความสำคัญมากกว่าระบบของธนาคารพาณิชย์เสียอีก
แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่บริษัทเอกชนเหล่านี้อาจจะล้มได้
จนสร้างความเสี่ยงให้กับระบบการเงินของประเทศ ธนาคารกลางหลายแห่งจึงต้องการพัฒนาระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่เข้ามาเป็นทางเลือกให้กับระบบของเอกชนอีกระบบหนึ่ง
แต่ไม่จำเป็นต้องทดแทนกันโดยตรง
อย่างไรก็ตาม เงินดิจิทัลของธนาคารกลาง มีประเด็นให้คิดอีกหลายเรื่อง
เช่น เมื่อธนาคารกลางออกใช้เงินดิจิทัลจะทำให้บทบาทของธนาคารพานิชย์ในฐานะเป็นตัวกลางทางการเงินเปลี่ยนไปอย่างไร
จะเกิดอะไรขึ้นถ้าระบบธนาคารเริ่มมีความอ่อนไหว
ผู้ฝากเงินจะไม่แห่กันย้ายเงินกลับมาเป็นเงินดิจิทัลของธนาคารกลางกันหมดหรือ
เมื่อเงินของธนาคารกลางไม่มีทางถูกเบี้ยว
แต่ธนาคารและบริษัทเอกชนมีสิทธิล้มได้
หรือเงินดิจิทัลนี้ควรจ่ายดอกเบี้ยหรือไม่
ถ้าจ่าย ใครจะเอาเงินกลับไปฝากที่ธนาคารพาณิชย์
หรือเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง ควรรักษาคุณสมบัติความเป็นส่วนตัวที่เป็นคุณสมบัติสำคัญของธนบัตรไว้หรือไม่
เพราะเงินดิจิทัลสามารถตรวจสอบได้ง่ายๆ ว่าใครมีเท่าไร ใครนำเงินไปใช้ทำอะไรบ้าง
(ซึ่งช่วยให้การหลบภาษี และการใช้เงินไปในทางผิดกฎหมายทำได้ยากขึ้น)
นอกจากนี้ ยังมีหลายคนสงสัยว่า นี่จะเป็นความพยายามของธนาคารกลางในการ 'ควบคุม' และ 'กระจาย' การพิมพ์เงินแจกไปให้ประชาชนโดยตรงหรือไม่
ซึ่งจะเป็นเหมือนอีกขั้นหนึ่งของนโยบาย QE
ที่สามารถเพิ่มปริมาณเงินกันได้ตรงๆ
ต้องบอกว่า เรื่องนี้ยังคงเป็นเรื่องใหม่มาก
และยังเป็นการทดลองขั้นเริ่มต้น
ที่ยังไม่มีข้อสรุปที่เป็นสากล
และด้วยกรอบกฎหมายในปัจจุบัน เงินดิจิทัลของธนาคารกลาง ที่หลายๆ ประเทศทดลองกันอยู่
ยังเป็นเพียงความพยายามเพื่อทดแทนความจำเป็นในการใช้ธนบัตร
โดยทำตัวเป็นผู้ออกเงินอิเล็กทรอนิกส์อีกรายหนึ่ง
แต่เมื่อเทคโนโลยีเปิดสามารถทำให้ธนาคารกลางใช้ประโยชน์จากเงินรูปแบบใหม่นี้ ก็ต้องบอกว่าอะไรก็เป็นไปได้ และเราอาจจะเห็นรูปแบบของการทำงาน
และส่งผ่านนโยบายการเงินที่เราไม่เคยเห็นหรือทำไม่ได้ในอดีตก็เป็นไปได้
เช่นเดียวกันกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีได้รับผลกระทบจากพัฒนาการด้านเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ธุรกิจในภาคการเงิน และแม้แต่ธนาคารกลางเองก็เผชิญความท้าทายและโอกาสใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลาเช่นเดียวกัน
#Optimise Magazine #เงินดิจิทัลของธนาคารกลาง #ธนาคารกลาง #ต้นทุนในการจัดการธนบัตร #เงินดิจิทัลของจีน #นักเศรษฐศาสตร์ #สกุลเงิน #ต้นทุนในการทำความสะอาดและทำลาย #ATM #Bitcoin #เงินคริปโต #ผลกระทบจากพัฒนาการด้านเทคโนโลยี #KKP #เกียรตินาคินภัทร #HighNetWorth #นักลงทุนรายใหญ่ #นักลงทุนรายย่อย #Investor #Investment #ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน #ตลาดเงิน #ตลาดทุน #UltraHighNetWorth #HighNetWorth #PrivateBank #นักลงทุนอาชีพ #เกียรตินาคินภัทร #FED #PhilosophyOfWealth #นโยบายQE #ควบคุม #กระจาย #BestGlobalPrivateBank #FinancialPlanning #AssetAllocationAdvice #KiatnakinPhatra@Blockdit #OptimiseYourOpportunities
โฆษณา