28 ก.พ. 2021 เวลา 03:30 • ไลฟ์สไตล์
ทำไมการบูลลีถึงพบเจอได้ในทุกวัย แล้วควรรับมืออย่างไร
เชื่อหรือไม่ จากการสำรวจของกรมสุขภาพจิต 92%
ของกลุ่มตัวอย่างเด็กนักเรียนอายุ 10-15 ปี เคยถูกบูลลีมาก่อน
โดยอันดับ 1 คือการถูกตบหัว ตามมาด้วยการล้อพ่อแม่ และพูดจาดูถูกเหยียดหยาม
1
ถึงแม้การถูกบูลลีในช่วงวัยเรียนจะเป็นภาพที่พบเห็นได้บ่อย
แต่จริงๆ แล้วในวัยทำงานเอง ก็มีการบูลลีกันอยู่บ่อยครั้งไม่แพ้กัน
โดยมักจะมาในหลายรูปแบบ เช่น การตำหนิงานด้วยการใช้คำพูดที่ไม่ดี พูดเรื่องไม่จริง ปล่อยข่าวลือแปลกๆ การใช้คำพูดวิจารณ์รูปร่างหรือที่เรียกว่า Body Shaming
แล้วปัญหาการบูลลีเกิดจากอะไร?
จากการศึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา ในปี 2016
ของโรงพยาบาล Mount Sinai ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า
พฤติกรรมการบูลลีนั้น มีความเชื่อมโยงกับกลไกการให้รางวัลตัวเองในสมอง
ซึ่งส่งผลให้บุคคลนั้นๆ เกิดความพึงพอใจ เมื่อได้บูลลีคนอื่น
นอกจากนั้น อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าวก็คือ จิตใจ
แล้วเหตุผลทางจิตใจอะไรที่ทำให้คนบูลลีคนอื่น?
-ในอดีตเคยถูกรังแกมาก่อน
คนกลุ่มนี้เมื่อถูกแกล้ง ย่อมรู้สึกเครียดเป็นธรรมดา
ซึ่งเจ้าความเครียดนี้เอง ที่อาจส่งผลให้กลุ่มคนที่เคยถูกแกล้ง หันมาแกล้งคนอื่นบ้าง
เพราะไม่รู้จะหาทางระบายความรู้สึกเครียดเหล่านั้นอย่างไร
-ต้องการเป็นจุดสนใจ
บางคนที่รู้สึกว่าตัวเองโดดเดี่ยว และไม่มีคนสนใจ
อาจใช้การบูลลีเป็นการเรียกร้องให้คนหันมาสนใจ เราอาจเคยได้เห็นภาพเหล่านี้มาบ้าง
ทั้งในชีวิตจริงและในการ์ตูน ที่เด็กผู้ชายบางคนมักจะแกล้งผู้หญิงที่ตัวเองชอบ
เพื่อให้ผู้หญิงคนนั้นหันมาสนใจ หรือทำตัวเกเร เพื่อให้พ่อแม่หันมาสนใจ
-กดคนอื่นลง เพื่อให้ตัวเองสูงขึ้น
สิ่งนี้น่าจะพบเห็นได้ทั่วไปในสังคม ทั้งการวิจารณ์รูปร่างหน้าตาสีผิวของคนอื่น หรือการพูดถึงคนอื่นในแง่ลบ
ซึ่งเรื่องนี้เกิดจากการที่คนคนนั้นรู้สึกว่าตัวเองยังดีไม่พอ จึงกดคนอื่นให้ต่ำลง เพื่อให้ตัวเองรู้สึกสูงขึ้น
-บูลลีตามคนอื่นๆ
บางคนมีแนวโน้มที่จะรังแกคนอื่น เพราะคนในกลุ่มก็เป็นคนที่รังแกคนอื่น
โดยคนกลุ่มนี้จะมองว่าถ้าหากไม่ทำตาม ก็อาจจะทำให้ตัวเองกลายเป็นเหยื่อแทน
จึงเลือกที่จะทำตามคนอื่นๆ เพื่อปกป้องตัวเอง
แล้วเราจะรับมือกับการถูกบูลลีได้อย่างไร?
สิ่งหนึ่งที่คนที่บูลลีคนอื่นต้องการคือ การที่เรามีปฏิกิริยาตอบสนองที่พวกเขาอยากเห็น
ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกเสียใจ รู้สึกหวาดกลัว หรือการตอบโต้อื่น
ฉะนั้นวิธีการแก้ปัญหาก็คือ การแสดงให้เห็นว่าเราไม่รู้สึกอะไรกับการถูกบูลลี
และเมื่อปฏิกิริยาของเราไม่เป็นไปตามที่คนเหล่านั้นต้องการ
กลุ่มคนเหล่านั้นก็จะล้มเลิกการบูลลีไปเอง
หรือหากต้องเจอการปะทะกันจริงๆ ลองตอบโต้เขาด้วยปฏิกิริยาที่ทำให้คนเหล่านั้นคาดไม่ถึง
เช่น ตอบโต้ด้วยคำพูดที่เป็นมิตรและอ่อนโยน ซึ่งเป็นปฏิกิริยาที่คนกลุ่มนี้ไม่ได้คาดไว้
บางครั้งการพูดจาดีๆ อย่างใจเย็น ก็เป็นอีกหนึ่งทางแก้ ที่จะช่วยให้การบูลลีนี้จบลง
อย่างไรก็ตาม เมื่อเทคโนโลยีเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกให้กับชีวิตเรามากขึ้น
ก็ไม่ได้ช่วยเฉพาะในด้านที่ดีเท่านั้น
เพราะบางคนกลับใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการทำร้ายผู้อื่น
โดยเฉพาะโลกออนไลน์ ที่เราไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตน
และไม่ต้องเผชิญหน้ากันตรงๆ ก็สามารถเชื่อมต่อกันได้
ทำให้เรามักจะพบเห็นการด่าทอและกลั่นแกล้งกัน หรือที่เรียกว่า Cyberbullying กันมากขึ้น
ทั้งนี้หากเราต้องการให้ปัญหานี้หมดไปจากสังคม ก็คงต้องเริ่มที่ตัวเราเองก่อน
โดยถ้าเห็นคนถูกกลั่นแกล้งก็ควรเข้าไปให้ความช่วยเหลือ และให้กำลังใจ
ที่สำคัญลองหยุดไตร่ตรองว่าคำพูดหรือการกระทำที่เราคิดว่าเป็นเพียงการ “ล้อเล่น”
แต่ผู้ที่รับฟังหรือถูกกระทำอาจไม่ได้รู้สึก “สนุก” ด้วยก็เป็นได้..
โฆษณา