25 ก.พ. 2021 เวลา 14:10 • กีฬา
วิ่งกระเตงฟัด : ร็อบบี้ เคทเชลล์ กับตำนานไวรัลสุดยิ่งใหญ่ใน "นิวยอร์ก มาราธอน" | MAIN STAND
ความรู้สึกตอนที่ภรรยาเข้าไปอยู่ในห้องคลอด และเราผู้เป็นพ่อได้แต่นั่งรออยู่หน้าห้องคือหนึ่งในช่วงเวลาที่กระสับกระส่ายและยาวนานมากที่สุด
100 ทั้ง 100 คนที่กำลังจะได้เป็น "พ่อคน" จะต้องภาวนาอยู่ในใจให้ลูกที่คลอดออกมาสมบูรณ์แข็งแรง ปกติ ครบ 32 กันทั้งนั้น ... ทว่าบางครั้งชีวิตก็ไม่ได้สิ่งที่เราหวังเสียทุกครั้งไป
นี่คือเรื่องราวของ ร็อบบี้ เคทเชลล์ คุณพ่อมือใหม่ที่อุ้มลูกวิ่งในงานแข่งขัน นิวยอร์ก มาราธอน ด้วยเหตุผลที่ยิ่งใหญ่กว่าชัยชนะ ... และรูปภาพของ 2 พ่อ-ลูก เพียงใบเดียว กลายเป็น ไวรัล ที่ทั้งโลกต้องสั่นสะเทือน
ติดตามได้ที่นี่
1
เพราะชีวิตคือมาราธอน
"มาราธอน" คือการวิ่งระยะไกล ด้วยระยะทาง 42.195 กิโลเมตร ตัวเลขที่กล่าวมาไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์คนหนึ่งจะลุกขึ้นมาจากที่นอนหรือโซฟาอันแสนนุ่มสบายและสามารถทำสำเร็จได้ในทันที ร้อยทั้งร้อยย่อมต้องซ้อมอย่างเข้มข้นกว่าที่จะจบสักมาราธอนได้ ... ชีวิตก็เช่นกัน
กว่าที่จะชีวิตจะประสบความสำเร็จอะไรสักอย่างได้ ย่อมต้องผ่านการเรียนรู้ การลองถูกลองผิดกับสิ่งนั้น ซึ่งรสชาติของความสำเร็จที่แท้จริงนั้น ปลายทางอาจจะไม่เท่าเรื่องราวระหว่างทางก็เป็นได้
Photo : Runnerclick
ทุก ๆ การซ้อมมาราธอน หรือออกวิ่ง ร่างกายจะพบกับความเหนื่อยที่ไม่เคยเจอ ความเจ็บปวด และความท้อถอยกว่าจะถึงเส้นชัย แต่เมื่อก้าวผ่านทุกอย่างได้จนถึงปลายทาง รสชาติของความสำเร็จที่เราสามารถเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ นานา คือสิ่งที่ทำให้ความสำเร็จนั้นจะถูกจดจำไปตลอดชีวิต
สิ่งสำคัญที่สุดคือการลุกออกมาลงมือทำ ... ไม่ใช่ทุกคนที่ชอบให้ตัวเองเหนื่อย ทรมาน และเจ็บปวดหรอก แต่ไม่ว่าจะในชีวิตจริงหรือมาราธอน การที่ใครสักคนจะเริ่มออกสตาร์ท พวกเขาต้องมีความมุ่งมั่นที่มากพอ และมีความหมายของการออกวิ่งตามหาและคว้าสิ่งนั้นเอามาให้ได้ด้วยมือของตนเอง
ร็อบบี้ เคทเชลล์ คือพระเอกของเรื่องนี้ เขาไม่ได้ชอบวิ่งหรือตามหาความหมายของการวิ่งมาราธอนตั้งแต่แรก ทว่าด้วยอาชีพของเขาที่เป็นทีมวิจัยของแบรนด์สปอร์ตแวร์ดังอย่าง Nike ทำให้เขาต้องคลุกคลีกับการวิ่งตลอดมา
การอยู่กับการวิ่งทุกวัน เริ่มทำให้เขามีความรู้สึกอยากลงแข่งขันมาราธอนด้วยตัวเองสักครั้ง และหลังจากความพยายามอันสูงส่ง เขาสามารถเป็นหนึ่งในพนักงานออฟฟิศที่มีพลังเหลือล้นในการวิ่ง เขาจบการแข่งขันมาราธอน, อัลตรา มาราธอน หรือกระทั่งการวิ่งเทรล มามากมาย
Photo : Nohuman
มันคือความภูมิใจที่ลงมือทำและสนองความมุ่งมั่นของตัวเองสำเร็จ การวิ่งทำให้เขามีชีวิตที่ดี มีแฟนและได้แต่งงานกับเธอ อยู่กินกันฉันท์คู่สามีภรรยาที่มีความสุขมาโดยตลอด ... แต่ชีวิตนั้นเปรียบเสมือนการวิ่งมาราธอน เขาต้องเจอบททดสอบที่ทำให้ตัวเองรู้ว่า ความเจ็บปวด อดทน และทรมาน ในชีวิตที่เคยผ่านพ้นมา เทียบไม่ติดเลยแม้แต่น้อย
วิถีความเป็นพ่อ
ช่วงปี 2017 มายา ภรรยาของเขาตั้งท้องลูกคนแรก และมีกำหนดคลอดในช่วงต้นปี 2018 เขาเองเฝ้ารอการกำเนิดของเลือดเนื้อเชื้อไขของตัวเองด้วยความตื่นเต้นและดูแลเอาใจใส่ในทุก ๆ วัน
สำหรับคนรู้ว่าตัวเองกำลังจะเป็นพ่อคน ร้อยทั้งร้อยมักจะคิดเรื่องราวในหัวเอาไว้มากมาย จะต้องสร้างครอบครัวให้อบอุ่น จะต้องสร้างบ้านให้หลังใหญ่ขึ้น จะต้องทำงานหาเงินมาก ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของลูก และคิดไปไหนต่อไหนหวังให้ลูกเติบโตกลายเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในด้านใดด้านหนึ่ง นั่นคือฝันที่ไม่มีใครกล้าปฏิเสธสำหรับคนกำลังจะเป็นพ่อ
Photo : WhatTheLight
อย่างไรก็ตาม ชีวิตมักไม่เป็นไปอย่างที่หวัง และทุกคนจะต้องเจอกับเรื่องไม่คาดฝันไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง ทว่า ร็อบบี้ กลับโชคร้ายกว่านั้น เพราะเรื่องที่เขาให้ความคาดหวังสูงที่สุด กลับกลายเป็นเรื่องที่พลิกล็อกที่สุด นั่นคือเรื่องของ "ลูก" นั่นเอง
"วันที่ 12 มีนาคม ภรรยาของผมได้คลอด ไวแอตต์ ลูกชายของเรา เขาเกิดมาพร้อมกับดาวน์ซินโดรมเพราะคลอดก่อนกำหนด 67 วัน เขาออกจากโรงพยาบาลด้วยสายยางให้อาหาร" ร็อบบี้ กล่าวถึงเรื่องราวในตอนเริ่มต้นของเรื่อง
"จากนั้นเราจึงได้รู้จักการต่อสู้กับชีวิตที่แท้จริง เราต่อสู้ทุก ๆ วันเพื่อไม่ให้เขากลับไปเข้าโรงพยาบาลอีกครั้ง เราไม่ได้คาดหวังอะไรมากไปกว่าการให้เขามีสุขภาพที่ดี เราทำทุกทางทั้งกายภาพบำบัด เข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ นั่นคือการเดินทางบนเส้นทางของความยากลำบากที่แท้จริง"
สำหรับโรคดาวน์ซินโดรม มีต้นเหตุมาจากโครโมโซมคู่ที่ 21 และทำให้เกิดความปกติของร่างกายหลายด้าน ทั้งสมองและหัวใจ โดยเฉพาะความบกพร่องของหัวใจนั้นถือว่าร้ายแรงที่สุด โดย ไวแอตต์ นั้นต้องผ่าตัดหัวใจตั้งแต่อายุเพียง 1 เดือน เขายังกินอาหารผ่านปากไม่ได้ และยังมีมวลกล้ามเนื้อที่ต่ำมาก ทั้งหมดนี้ทำให้ ร็อบบี้ และ มายา ต้องสู้รอบด้าน ทั้งด้านกำลังใจและกำลังเงิน เพื่อให้ ไวแอตต์ กลับมาหายเป็นปกติ และทำตามคำแนะนำของแพทย์แบบสเต็ปต่อสเต็ป
Photo : WhatTheLight
พวกเขาอาจจะไม่ได้เดือดร้อนเรื่องเงินทองมากนัก เพราะต่างก็มีอาชีพที่มีรายได้ดีทั้งคู่ อย่างไรก็ตาม ร็อบบี้ รู้สึกว่าการที่เด็กคนหนึ่งที่เป็นโรคดาวน์ซินโดรม และจะต้องเข้ารักษานั้นจำเป็นต้องใช้เงินมาก เขากลับเริ่มนึกถึงคนที่ไม่มีอย่างเขา ซึ่งโรคนี้ถ้าไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็แทบจะหมดโอกาสกลับมาใช้ชีวิตแบบปกติได้เลย
ประกอบกับช่วงเวลาที่ต้องเข้าออกโรงพยาบาลเป็นว่าเล่น ทำให้เขาขาดซ้อมวิ่งที่เป็นกีฬาโปรดของเขา ร็อบบี้ จึงได้โอกาสที่จะทำให้ให้สองสิ่งมาเจอกันตรงกลาง เขาจะกลับมาซ้อมวิ่ง และหาทางช่วยเหลือเด็กที่ป่วยเป็นโรคดาวน์ซินโดรมเหมือนกับที่ ไวแอตต์ เป็นให้ได้
1
ไวรัลที่โลกได้เห็น
ร็อบบี้ เริ่มแบ่งเวลากลับมาซ้อมวิ่งและออกกำลังกายอีกครั้ง เขาพบว่ามันเป็นอะไรที่น่าประหลาด จากความเศร้าและความจับเจ่าที่มาเยือนไม่หยุด เมื่อได้ออกวิ่งสมองของเขาก็ปลอดโปร่งมากขึ้น และได้ความคิดว่าทั้งสองสิ่งที่เขาหวังสามารถไปด้วยกันได้ ถ้าเขาลงมือทำจริงจัง
Photo : Twitter @RobboKet
"ผมได้ติดต่อกับ Lumind Research ที่เป็นองค์กรการกุศลเพื่อหาเงินสำหรับวิจัยโรคดาวน์ซินโดรม ผมบอกว่าผมจะลงวิ่งในรายการ นิวยอร์ก มาราธอน ให้สามารถจบมาราธอนในเวลา 3 ชั่วโมง 21 นาที เพื่อสื่อถึงโครโมโซมคู่ที่ 21 ของ ไวแอตต์ เป้าหมายของผมคือการระดมทุนให้ได้ 3,210 ดอลลาร์สหรัฐฯ" ร็อบบี้ กล่าว
ร็อบบี้ เคยเป็นคนที่วิ่งถึง 70 ไมล์ต่อสัปดาห์ จนกระทั่งลูกชายเขาต้องเข้า ๆ ออก ๆ โรงพยาบาล เขาจึงกลับมาซ้อมอีกครั้งและตั้งเป้าไว้ที่ 35 ไมล์ต่อสัปดาห์อย่างสม่ำเสมอ และหวังว่าในการแข่งขันจริง พลังแฝง ในร่างกายจะช่วยผลักดันให้เขาวิ่งถึงเส้นชัยได้สำเร็จ
เมื่อ นิวยอร์ก มาราธอน มาถึง ร็อบบี้ ก็พร้อมในระดับที่ยังไม่เต็ม 100% มากนัก เพราะเวลาในการซ้อมมีน้อยมาก ดังนั้นตั้งแต่ออกตัว เขารู้สึกว่าร่างกายมีปัญหา เอ็นฝ่าเท้าของเขาอักเสบพร้อมกันถึงสองข้าง
บางครั้งบททดสอบก็มาในแง่ของโรคภัยไข้เจ็บ ... ถ้าเขาถอนตัว ทุกอย่างจบทันที แต่ ร็อบบี้ ไม่ทำ เพราะเขารู้ว่าที่ปลายเส้นชัยมีภรรยาและลูกชายของเขารออยู่ เขาต้องผลักดันตัวเองให้ไปถึงตรงนั้นให้ได้
Photo : Twitter @RobboKet
"พอถึงไมล์ที่ 8 ผมมีปัญหาที่เท้าหนักขึ้น แต่ก็ฝืนไปจนถึงไมล์ที่ 17 ผมต้องตัดสินใจอีกครั้ง ผมแทบก้าวขาไม่ไหวแล้ว เหมือนกับกำลังจะจบลงตรงนั้น ผมฝืนแล้วฝืนอีกจนถึงไมล์ที่ 20 ผมคุกเข่าลง ขาของผมรู้สึกเหมือนมันกำลังจะหัก มาถึงตรงนี้ผมไม่ยอมแล้ว ผมรู้ว่าต่อให้วิ่งไม่ไหวอย่างน้อย ๆ ก็ยังเดินไหว ผมเดินเข้าเส้นชัยได้ แต่ผมก็ยังอยากจะวิ่งให้เหมือนที่ตั้งใจไว้อยู่ดี"
อะไรทำให้เขาอยากวิ่ง ... คำตอบนี้ไม่ยากเลย ไวแอตต์ คือพลังครั้งสำคัญ ร็อบบี้ ตัดสินใจในไมล์ที่ 20 เขาส่งข้อความหา มายา ที่ดักรออยู่ข้างหน้า และบอกเธอว่า "ส่ง ไวแอตต์ มาให้ผม ผมจะแบกเขาเข้าเส้นชัย"
มันน่าประหลาดที่เขาพยายามทำให้ตัวเองวิ่งยากขึ้นกว่าเดิม ... แต่การแบกอะไรสักอย่างด้วยความสุขนั้นแตกต่างออกไป ไวแอตต์ ไม่ใช่ภาระ แต่มันคือการย้ำเตือนถึงเหตุผลว่าทำไม ร็อบบี้ จึงต้องวิ่งเข้าเส้นชัยในเวลาที่กำหนดให้ได้
Photo : ESPN
"ผมอยากจะแบกไวแอตต์เข้าเส้นชัยไปด้วยกันตลอด ผมรู้ว่ามันใกล้เข้ามาแล้ว ผมส่งข้อความบอกภรรยา และไม่ใช่ผมคนเดียวที่สู้ในตอนนั้น มายา ก็ต้องสู้ด้วย เพราะมีผู้เข้าแข่งขันกว่า 50,000 คน เธอต้องมองหาผมให้เจอ แหวกทั้งคนดูและคนวิ่ง เพื่อส่ง ไวแอตต์ ให้ผมในไมล์ที่ 26" ร็อบบี้ กล่าว
ฉากการส่ง ไวแอตต์ เข้าถึงอ้อมอกของ ร็อบบี้ คือวินาทีที่เหมือนกับฉากตอนจบของภาพยนตร์ ทุกคนที่รออยู่ ณ ไมล์ที่ 26 ได้เห็นฉากที่ มายา ส่ง ไวแอตต์ ให้ ร็อบบี้ และทุกคนเริ่มตะโกนเชียร์พวกเขาทั้ง 3 คน ไวแอตต์ ยังไร้เดียงสาเกินกว่าจะรู้ความ แต่ ณ นาทีนั้นเสียงปรบมือและเสียงเรียกชื่อของเขาดังสนั่น และ ร็อบบี้ ก็เริ่มที่รู้สึกว่าเขาไม่มีทางหยุดกลางคันได้อีกต่อไป
"ผมไม่ได้เป็นคนเจ้าน้ำตานะ แต่ตอนนั้นน้ำตาผมไหลออกมาเองเลย คนรอบตัวในตอนนั้นร้องไห้ แม้กระทั่งคนที่ไม่เคยรู้เรื่องราวของครอบครัวเรา ผมแบกเขาและเราเข้าเส้นชัยไปพร้อม ๆ กัน ผมรู้สึกว่าผมได้ทำในสิ่งที่วิเศษที่สุดลงไปแล้ว"
2
"มีหลายคนที่ปักชื่อลูกลงบนเสื้อหรือผ้าเช็ดเหงื่อ แต่ผมแบกไวแอตต์ไว้ด้วยอ้อมอกของตัวเอง ยิ่งใกล้เข้าเส้นชัยเสียงก็ยิ่งดังขึ้น ผมบอกตะโกนให้ทุกคนได้ยิน นี่คือ ไวแอตต์ ลูกชายของผม และนั่นคือช่วงเวลาที่พิเศษที่สุด"
ภาพถ่ายของการแบก ไวแอตต์ และค่อยๆเดินเข้าเส้นชัยของ ร็อบบี้ ถูกถ่ายไว้โดย อลิซาเบธ กริฟฟิน หนึ่งในผู้ชมในวันนั้น เธออัพโหลดลงในโซเชี่ยลมีเดียของเธอ ภาพของพ่อที่แบกลูกค่อย ๆ เดิน ท่ามกลางนักวิ่งคนอื่นที่กำลังวิ่งเข้าเส้นชัยให้องค์ประกอบภาพที่ครบถ้วน หลังจากนั้นวันเดียวผู้คนก็อยากรู้เบื้องหลังของภาพนั้น ว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมชายคนนี้จึงต้องแบกลูกของตัวเองเข้าเส้นชัย
และเรื่องที่เราเล่ามาทั้งหมดก็ได้ถูกถ่ายทอดออกไปในทุกสื่อใหญ่ทั่วโลก หลายคนได้รับรู้เรื่องราวและประทับใจจนหยิบยื่นความช่วยเหลือ และสนับสนุนโครงการการกุศลของ ร็อบบี้ อย่างล้นหลาม จากความคาดหวังเพียง 3,210 ดอลลาร์ พวกเขาได้เงินบริจาคหลายหมื่นดอลลาร์ มากกว่าที่ตั้งเป้าไว้ถึง 10 เท่า ...
Photo : The Bump
และที่ยิ่งใหญ่กว่าเงินทอง มันคือเรื่องราวการมองโลกในแง่บวกของพ่อคนหนึ่ง ที่เรียนรู้ความเจ็บปวด ความผิดหวัง และความเศร้า จากวันที่ลูกชายคลอดออกมาพร้อมกับดาวน์ซินโดรม เมื่อเขารู้ว่าเขาต้องอยู่กับเรื่องนี้และสู้กับมันไปอีกนาน เขาจึงพร้อมจึงเริ่มลงมือทำทันที ไม่ว่า ไวแอตต์ ลูกชายของเขาจะหายจากโรคนี้หรือไม่ แต่อย่างน้อย ๆ สิ่งที่เขาลงมือทำจะทำให้มีผู้คนที่กำลังลำบากจากโรคดาวน์ซินโดรม ได้เจอกับความช่วยเหลือมากกว่าที่เคยเป็น และที่เงินที่ได้จากการบริจาคครั้งนี้จะถูกใช้ในงานวิจัยเพื่อหาทางป้องกันโรคนี้
ถ้างานวิจัยสำเร็จ ความเสี่ยงที่เด็ก ๆ จะเกิดมาพร้อมกับโรคดาวน์ซินโดรมจะลดน้อยลง จะไม่มีหลอดให้อาหารผ่านสายยาง จะไม่มีการผ่าตัดหัวใจตั้งแต่ยังไม่รู้เดียงสา และจะไม่มีความทรมานของพ่อแม่ที่ต้องเห็นลูกเจ็บปวดอีกต่อไป ...
เพราะชีวิตเปรียบกับการวิ่งมาราธอน ร็อบบี้ เคทเทลล์ อาจจะเจ็บปวดตั้งแต่จุดสตาร์ท ท้อแท้จนอยากจะยอมแพ้เมื่อถึงปลายทาง ทว่าเมื่อมีสติและนึกขึ้นได้ว่า "เราสู้และอยู่เพื่ออะไร" แรงผลักดันเหล่านั้นจะนำพามาซึ่งชัยชนะที่ยิ่งใหญ่แบบที่ตัวของเขาเองไม่เคยกล้าคิดว่ามันจะเกิดขึ้น
1
หาก ไวแอตต์ เคทเทลล์ เติบโตขึ้นและหายกลับมาใช้ชีวิตดั่งคนปกติได้ เขาจะต้องภูมิใจในสิ่งที่พ่อของเขาทำอย่างไม่ต้องสงสัย และถ้าวันนั้นมีจริง ร็อบบี้ จะรู้สึกว่าการตัดสินใจออกวิ่งของเขาครั้งนี้คือสิ่งที่ถูกต้องที่สุดในชีวิต เท่าที่เขาเคยทำอย่างแน่นอน
บทความโดย ชยันธร ใจมูล
แหล่งอ้างอิง
โฆษณา