25 ก.พ. 2021 เวลา 22:16 • ปรัชญา
“วันมาฆบูชา” ตรงกับวันเพ็ญเดือนมาฆะ (วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓)
ธรรมะรุ่งอรุณ ☀️
๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔
“สรุปเรื่องสำคัญเนื่องในวันมาฆบูชา”
“มาฆบูชา” ย่อมาจาก “มาฆปูรณมีบูชา” หมายถึงการบูชาวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะ ตามปฏิทินของอินเดีย หรือเดือน ๓ ตามปฏิทินจันทรคติของไทย ซึ่งมักจะตรงกับเดือนกุมภาพันธ์หรือเดือนมีนาคม วันมาฆบูชาเป็นเสมือนวันประชุมกันเป็นพิเศษแห่งพระอรหันตสาวก โดยมิได้มีการนัดหมายล่วงหน้าซึ่งได้มีขึ้น ณ บริเวณเวฬุวันวรมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ หลังจากที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้เป็นเวลานับได้ ๙ เดือน วันนี้มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “วันจาตุรงคสันติบาต” (มาจากศัพท์บาลี คือ จตุ+องค+สนนิปาต+ แปลว่า การประชุมอันประกอบด้วยองค์ประกอบทั้ง ๔ ประการ) เนื่องจากมีเหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างประจวบเหมาะ ๔ ประการ คือ
๑. วันที่พระสงฆ์ทั้งหมดมาชุมนุมกันนี้ ตรงกับวันเพ็ญเดือนมาฆะ (วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓)
๒. พระภิกษุ ๑,๒๕๐ รูป มาชุมนุมกันโดยมิได้นัดหมาย
๓. พระภิกษุ เหล่านั้นทั้งหมด ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง (เอหิภิกขุอุปสมปทา)
๔. พระภิกษุทั้งหมดล้วนเป็นพระอรหันต์ ประเภทฉฬภิญญา คือ ได้อภิญญา ๖
พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ เป็นพระพุทธพจน์ ๓ คาถา ซึ่งถือได้ว่า เป็นหัวใจของพระศาสนา มีใจความดังนี้
พระพุทธพจน์คาถาแรก ทรงกล่าวถึง พระนิพพาน ว่าเป็นจุดมุ่งหมายหรืออุดมการณ์อันสูงสุดของบรรพชิตและพุทธบริษัท อันมีลักษณะที่แตกต่างจากศาสนาอื่น ดัง พระบาลีว่า “นิพพานัง ปรม วทนติ พุทธ”  แปลว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวว่า พระนิพพานเป็นบรมธรรม
พระพุทธพจน์คาถาที่ ๒ ทรงกล่าวถึง "วิธีการอันเป็นหัวใจสำคัญเพื่อเข้าถึงจุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนาแก่พุทธบริษัททั้งปวง โดยย่อดังพระบาลีว่า “สพพปาปสส อกสรณ กุสลสสูปสมปทา สจิตตปริโยทปเน เอต พุทธานสาสนฯ” คือ การไม่ทำชั่วทั้งปวง การบำเพ็ญแต่ความดี และการทำจิตของตนให้ผ่องใสเป็นอิสระจากกิเลสทั้งปวง ส่วนนี้เองของโอวาทปาฏิโมกข์ที่พุทธศาสนิกชนมักท่องจำกันไปปฏิบัติ ซึ่งเป็นเพียงคาถาใน ๓ คาถากึ่งของโอวาทปาฏิโมกข์เท่านั้น
ส่วนพระพุทธพจน์คาถาสุดท้าย ทรงกล่าวถึงหลักการปฏิบัติของพระสงฆ์ผู้ทำหน้าที่เผยแผ่พระศาสนา ๖ ประการ คือ การไม่กล่าวร้ายใคร ,การไม่ทำร้ายใคร ,การมีความสำรวมในปาฏิโมกข์ทั้งหลาย ,การเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหารและการรู้จักที่นั่งนอนอันสงัด
ไม่ว่าพระพุทธเจ้าพระองค์ใดก็ตาม เมื่อได้มาตรัสรู้และประกาศคำสอนแล้ว ก็จะประกาศหัวใจของศาสนาด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งมีหัวข้อสำคัญอยู่ ๓ หัวข้อด้วยกันคือ ๑. ละเว้นจากการทำบาปทั้งปวง ๒. ทำกุศลทั้งหลายให้ถึงพร้อม ๓. ชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ กำจัดความโลภ ความโกรธ ความหลงให้หมดสิ้นไปจากจิตจากใจ
นี่คือหัวใจของพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ที่อุบัติขึ้นมาในอดีตก็ดี หรือจะมาตรัสรู้ในภายภาคหน้าก็ดี ก็จะสอนเหมือนกันทั้งนั้น เพราะคำสอนนี้เป็นเหตุที่จะนำสัตว์โลกไปสู่ความสุข ความเจริญแคล้วคลาดปลอดภัยจากทุกข์ภัยอันตรายทั้งหลายทั้งปวง เพราะสัตว์โลกทั้งหลายทั้งแต่ท้าวมหาพรหมลงมาจนถึงสัตว์นรก ก็ตกอยู่ภายใต้กฎแห่งกรรมทั้งสิ้น คือ “กฎของเหตุและผล” เหตุก็คือการกระทำ ผลก็คือความสุขความเจริญ หรือความทุกข์ความเสื่อม ก็จะตามมาไม่ยกเว้นใครทั้งสิ้น ถ้าทำเหตุที่ดีตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ทำทั้ง ๓ ประการ ก็จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในที่สุด ถ้ายังไม่ได้บรรลุก็จะได้เป็นเทพ เป็นพรหม เป็นมนุษย์ไปก่อน จนกว่าจะทำภารกิจให้เสร็จสิ้นไป ก็จะได้กลายเป็นพระอรหันต์ กลายเป็นพระพุทธเจ้า ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป ถ้ายังไม่ถึงขั้นพระอรหันต์ก็จะเวียนว่ายอยู่ในภพที่ดี อยู่ในสุคติ เกิดเป็นมนุษย์บ้าง เป็นเทพบ้าง เป็นพรหมบ้าง แล้วในที่สุดก็จะได้เป็นพระอรหันต์ ไม่ต้องไปเกิดอีกต่อไป ได้ไปอยู่ในพระนิพพาน อันเป็นดินแดนที่มีแต่ความสุขมีแต่ความเจริญโดยฝ่ายเดียว ปราศจากความทุกข์ต่างๆ
การกำจัดความโลภความโกรธความหลง ด้วยการสร้างปัญญาให้เกิดขึ้น สอนตนเองว่าไม่มีอะไรในโลกนี้เที่ยงแท้แน่นอน ที่เป็นของเราอย่างแท้จริง ที่จะอยู่กับเราไปตลอด ที่จะให้ความสุขไร้ความทุกข์ เมื่อต้องพลัดพรากจากกัน ก็จะต้องปล่อยวาง เตรียมตัวเตรียมใจว่า สักวันหนึ่งจะต้องจากกันไป จะได้รู้สึกเฉยๆ ไม่เดือดร้อน ไม่ทุกข์ เพราะเดือดร้อนไปทุกข์ไป ก็ไม่ได้ห้ามไม่ให้เกิดขึ้นได้ เมื่อถึงเวลาจะต้องตายจากกัน  จะทุกข์หรือไม่ทุกข์ก็ต้องตายจากกันเหมือนกัน แต่คนที่ไม่ทุกข์ เป็นคนฉลาด เพราะใจสบาย คนที่ทุกข์เป็นคนโง่ ต้องแบกความทุกข์ ความเศร้าโศกเสียใจ กินไม่ได้นอนไม่หลับ เพราะไม่สร้างปัญญามาทำลายความหลงนั่นเอง นี้ก็คือการกำจัดความโลภความโกรธความหลงในจิตใจ เพื่อที่จะทำให้ไม่ต้องไปเกิดอีกต่อไป
ส่วนหนึ่งจากพระธรรมเทศนา ชุด กำลังใจ ๓๑
เรื่อง “วันมาฆบูชา” กัณฑ์ที่ ๓๐๒
วันที่ ๓ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๐
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
“ข้อมูลจากหนังสือ ป้ายบอกทาง”
ขอบคุณภาพโดย: Dean Moriarty จาก Pixabay
โฆษณา