28 ก.พ. 2021 เวลา 00:00 • หนังสือ
ผมเป็นคนขี้ลืมครับ
3
บ่อยครั้งที่นึกอะไรขึ้นได้ ผ่านไปแป๊ปเดียว ลืมแล้ว!
พอเห็นหนังสือชื่อ “เทคนิคจำแบบไม่ต้องจำ ที่จิตแพทย์อยากบอกคุณ” รู้สึกสะดุดทันที
ยิ่งเห็นชื่อคนเขียน คะบะซะวะ ชิอง หยิบไปจ่ายเงินเลย
ทำไม?
เพราะนี่คือคนเขียนหนังสือชื่อ The Power of Output ซึ่งเป็นหนึ่งในหนังสือเล่มโปรด
แล้วก็ไม่ผิดหวังที่ซื้อ
จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้คือ อธิบายเทคนิคการจำด้วยหลักประสาทวิทยา (Neuroscience) ใช้ภาษาที่อ่านสนุก เข้าใจง่าย
1
หลายครั้งที่อ่านแล้วโพล่งกับตัวเองว่า
“อ้อ! มันแบบนี้นี่เอง”
ผู้เขียนอธิบายว่า การที่ความจำจะก่อตัวขึ้นจนติดแน่นทนนาน ต้องผ่าน 4 กระบวนการ
1. ทำความเข้าใจ
2. จัดระเบียบ
3. จำ
4. ทบทวน
9
ถ้าเปรียบเทียบให้เห็นภาพ ลองนึกถึงสมัยเรียน
ตอนฟังอาจารย์สอนให้ห้องคือ “ทำความเข้าใจ”
ตอนจดสิ่งที่อาจารย์สอนลงสมุดนั่นคือ “จัดระเบียบ
พอกลับมาอ่านสิ่งที่จดไว้ นั่นคือ “จำ”
และตอนกลับมาอ่านหนังสือก่อนสอบ นั่นคือ “ทบทวน”
6
เห็นภาพชัดเลยใช่ไหมครับ ^_^
“ทำความเข้าใจ และ “จัดระเบียบ” คือกระบวนที่สำคัญมาก แต่คนส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญกับ “จำ” และ “ทบทวน”
เด็กที่เรียนเก่งมักถูกมองว่ามีความจำดี แต่แท้จริงแล้วเค้ามีทักษะในการ “ทำความเข้าใจ” และ “จัดระเบียบ” สูงต่างหาก
3
ข้อมูลที่รับเข้ามาจะกลายเป็นความจำที่ยืนยาวต้องผ่านการนอนไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง ดังนั้นการอ่านหนังสือโต้รุ่งจะจำอะไรในระยะยาวไม่ได้เลย
1
มิน่า หลังสอบแล้วผมจำอะไรไม่ได้เลย ^^
3
การลืมเป็นเรื่องปกติ เพราะสมองจะทิ้งข้อมูล 99% ที่ได้รับเข้ามาแต่ไม่มีการเรียกใช้ สมองมนุษย์จะเลือกจำข้อมูลสำคัญ และลืมข้อมูลไม่สำคัญ
1
เมื่อได้รับข้อมูล สมองจะส่งข้อมูลนั้นไปเก็บชั่วคราวในส่วนที่เรียกว่า ฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) ประมาณ 2 สัปดาห์ ถ้าระหว่างนั้นมีการเรียกใช้ข้อมูลนั้นบ่อย ๆ ฮิปโปแคมปัสจะตัดสินว่า นี่คือข้อมูลสำคัญ แล้วย้ายไปเก็บไว้ที่สมองกลีบขมับซึ่งเป็นคลังเก็บความทรงจำระยะยาว
2
พูดง่าย ๆ คือ ถ้าอยากจำเรื่องไหน ต้องทำให้สมองคิดว่านี่คือ ข้อมูลสำคัญ
2
ทำยังไง?
เกณฑ์ที่สมองใช้ตัดสินว่าอะไรสำคัญมีเพียง 2 อย่างคือ เรียกใช้บ่อยแค่ไหน และ กระตุ้นความรู้สึกหรือไม่
1
กลยุทธ์การจำแบบไม่ต้องจำ มี 5 ข้อ คือ
1. ไม่จำเป็นต้องจำ แค่ “ส่งออก” ก็พอ
2. “รับเข้า” และ “ส่งออก” ซ้ำไปซ้ำมา
3. “การจด” สำคัญกว่า “การจำ”
4. ส่งออกผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก
5. ปลดปล่อย “เมมโมรีสมอง”
6
[1. ไม่จำเป็นต้องจำ แค่ “ส่งออก” ก็พอ]
2
คนส่วนใหญ่มักคิดว่าความจำเกิดจากการจำ หรือการ “รับเข้า” (Input) ซึ่งมักทำโดย “ยัด” ข้อมูลเข้าหัวเยอะ ๆ แต่วิธีนี้ไม่เวิร์ก
วิธีที่เวิร์กคือ “ส่งออก”
1
“ส่งออก” คืออะไร?
1
ส่งออก คือการถ่ายทอด เช่น นำข้อมูลดังกล่าวไปพูดคุย เขียนออกมาเป็นตัวหนังสือ สอนคนอื่น หรือลงมือทำ
2
การส่งออกเป็นการเรียกข้อมูลที่เก็บไว้ในฮิปโปแคมปัสออกมาใช้ พอทำแบบนี้หลายครั้ง ฮิปโปแคมปัสจะประเมินว่าข้อมูลนี้สำคัญ และเปลี่ยนเป็นความทรงจำระยะยาว
1
พูดง่าย ๆ คือ ถ้าอยากจำเรื่องไหนแม่น ต้องส่งออกข้อมูลนั้นบ่อย ๆ
2
บ่อยแค่ไหน?
3 ครั้งใน 1 สัปดาห์
โดยอาจใช้สูตร 1, 3, 7 นั่นคือ
ส่งออกทันทีที่ได้รับข้อมูลวันแรก
ส่งออกอีกครั้งเมื่อถึงวันที่ 3
และส่งออกอีกครั้งเมื่อถึงวันที่ 7
3
หลักการนี้ตรงกับหนังสือเรื่อง The Power of Output (คนเขียนเดียวกัน) หรือจะมองว่า The Power of Output เป็น “ภาพขยาย” ของส่วนนี้ก็ได้ ^_^
[2. “รับเข้า” และ “ส่งออก” ซ้ำไปซ้ำมา]
1
ทำไมบางคนไปงานสัมมนาบ่อย แต่ไม่ค่อยพัฒนา?
3
คำตอบคือ รับเข้า และ ส่งออก ไม่สมดุลกัน
คนพวกนี้มักรับเข้า แต่แทบไม่ได้ส่งออก
เมื่อไม่ส่งออก ต่อให้เข้าร่วมเป็นร้อยงานก็ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง
ในทางตรงข้าม ถ้ารับเข้าแล้วส่งออก ทำแบบนี้ซ้ำไปซ้ำมา จะเก่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง
การส่งออกเป็นประจำจะค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและนิสัย จนกลายเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ในที่สุด
สุดยอดเทคนิคการจำแบบยิงปืนนัดเดียวได้นก 4 ตัว คือ การสอน
1
การที่เราสอนคนอื่นได้ แปลว่าเราเข้าใจเรื่องนั้นเป็นอย่างดี และ “ย่อย” ข้อมูลในแบบฉบับของตัวเอง
1
จากกระบวนการจำ 4 ขั้นตอน “ทำความเข้าใจ” “จัดระเบียบ” “จำ” และ “ทบทวน”
แปลว่าก่อนถึงขั้น “จำ” ต้องทำความเข้าใจ และจัดระเบียบให้ได้ก่อน
พอจำได้แล้ว ก็ไปสอนคนอื่น
ระหว่างสอนยังเป็นการทบทวนไปในตัว
1
นี่แหละ ยิงปืนนัดเดียวได้นก 4 ตัว ^_^
หมายเหตุ: ผู้เขียนอธิบายเทคนิคการรับเข้าในหนังสือเรื่อง “เทคนิคอ่านให้ไม่ลืม ที่จิตแพทย์อยากบอกคุณ” ผมกำลังอ่านทวนเล่มนี้อีกรอบ เดี๋ยวจะมารีวิวให้ฟังครับ ^_^
[3. “การจด” สำคัญกว่า “การจำ”]
แม้การส่งออกจะทำให้ข้อมูลกลายเป็นความทรงจำระยะยาวง่ายขึ้น แต่ยังไม่ถึงขั้นสมบูรณ์แบบ
วิธีป้องกันการลืมแบบได้ผล 100% คือ การจด
การจด หรือการเขียน เป็นการใช้เส้นประสาทสั่งการของกล้ามเนื้อมือและนิ้ว เป็นการกระตุ้นให้สมองตัดสินว่า “นี่คือข้อมูลสำคัญ”
ต่อให้จดแล้วไม่กลับมาอ่าน เราก็จำได้มากกว่าไม่จด
(ผมอ่านตรงนี้แล้วพยักหน้าหงึก ๆ)
5
นอกจากนี้ การจดถือเป็นการ “ส่งออก” แบบหนึ่ง
1
แปลว่า การจดบันทึกสั้น ๆ ก็ถือเป็นการส่งออก 1 ครั้งแล้ว
จากกระบวนการจำ 4 ขั้นตอน การจดก็คือการจัดระเบียบ ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญไม่แพ้การทำความเข้าใจ
สมองของเราชอบจำอะไรเป็นก้อน ถ้าจัดระเบียบเป็นกลุ่มก้อนจะจำได้ดีขึ้น
หนังสือเรื่อง Brain Rules ของจอห์น เมดินา บอกว่ามนุษย์จะจำคำที่ถูกจัดระเบียบได้มากกว่าคำที่เรียงต่อ ๆ กันอย่างไม่เป็นระเบียบ 40%
อาจแปลได้ว่า ถ้าหมั่นจัดระเบียบข้อมูลที่เข้าสู่สมอง เราจะจำได้เพิ่มขึ้นถึง 40%!
1
ควรอ่านหนังสือแล้วขีดเส้นใต้ไหม?
ผู้เขียนแนะนำว่าควร ยิ่งถ้าฉุกคิดอะไรได้ก็ให้จดใส่หนังสือไปเลย
เมื่อเวลาผ่านไป พอกลับมาอ่านสิ่งที่จด จะนึกข้อคิดจากหนังสือเล่มนั้นได้อย่างง่ายดาย
จดแบบกระดาษหรือจดแบบดิจิตอลดีกว่า?
ผู้เขียนบอกว่าไม่ต่างกัน ขอให้ใช้งานสะดวกแบบเดินไปจดไปได้ก็พอ
แต่ถ้าใครชอบจดสิ่งที่ต้องทำ (To-do list) ใส่โพสต์อิต (Post-it) เมื่อทำเสร็จแล้วให้ขีดฆ่า แล้วทิ้งโพสต์อิทนั้นทันที
ทำไม?
เพราะถ้าไม่ทิ้ง เวลาผ่านไปโพสต์อิทก็พอกพูน รู้ตัวอีกทีก็เห็นแต่โพสต์อิทแปะเต็มโต๊ะไปหมด บั่นทอนประสิทธิภาพการทำงาน
2
[4. ใช้ประโยชน์จากโซเชียลเน็ตเวิร์ก]
ถ้าส่งออกอย่างน้อย 3 ครั้งหลังรับข้อมูล จะจำเรื่องนั้นได้ แต่จะส่งออกยังไงล่ะ?
คำตอบคือ โซเชียลเน็ตเวิร์ก (Social Network)
เช่น การโพสต์ลงเฟซบุ๊กก็เหมือนส่งออก 3 ครั้งใน 1 สัปดาห์
ทำไม?
ลองนึกภาพว่า เราโพสต์ประสบการณ์วันนี้ลงเฟซบุ๊ก
นั่นคือการ “ส่งออก” ครั้งที่ 1
สักพัก ก็จะมีเพื่อนมาเมนต์ เราก็เมนต์ตอบ
นั่นคือการส่งออกครั้งที่ 2
ผ่านไป 1 วัน มีเพื่อนเข้ามาเมนต์เพิ่มขึ้น เราเริ่มลืมไปแล้วว่าตอนแรกเขียนอะไร ก็เลยอ่านสิ่งที่ตัวเองเขียนใหม่ แล้วค่อยพิมพ์ตอบ
นั่นคือการส่งออกครั้งที่ 3
ใช่ครับ ยิ่งมีเพื่อนมาเมนต์เยอะ ๆ เราคงส่งออกนับสิบครั้ง และเมื่อส่งออกเยอะ เราจะจำประสบการณ์วันนั้นได้ไม่ลืม
1
การส่งออกมีเงื่อนไขว่า ต้องส่งออกอย่างต่อเนื่อง
คำว่า “ต่อเนื่อง” คือ ติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี
“ทำไมต้องใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ก จดใส่สมุดไม่ได้เหรอ?”
ได้ แต่การจดใส่สมุดไม่ค่อยจรรโลงใจ
ในทางปฏิบัติ ยากมากที่เราจะเขียนใส่สมุดเงียบ ๆ คนเดียวเป็นปี ต่อให้ทำได้ สักพักก็จะเบื่อ
แต่ถ้าโพสต์ลงเฟซบุ๊ก มีเพื่อนมากด Like กด Share เราจะมีกำลังใจและสนุกขึ้น
นอกจากนี้ การโพสต์ลงโซเชียลเน็ตเวิร์กแปลว่ามีคนอ่าน จึงเกิดความกดดันว่าจะเขียนห่วย ๆ ไม่ได้
พอเกิดความกดดัน ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนที่ชื่อว่า นอร์อะดรีนาลิน (Noradrenaline) ทำให้มีสมาธิ จดจำ และเรียนรู้ได้ดีขึ้น
2
การรับเข้าข้อมูลโดยตั้งใจแต่แรกว่าจะส่งออก ทำให้จับประเด็นได้ดีขึ้น ยิ่งสร้างความกดดันว่าจะมีคนอ่านเยอะ ยิ่งกระตุ้นให้สมองหลั่งนอร์อะดรีนาลิน ผลก็คือยิ่งจำแม่น!
ผมว่าอันนี้จริงเลยนะ ถ้าไม่ได้ทำเพจ ไม่ได้เขียนบล็อก ผมคงไม่มีแรงเขียนรีวิวหนังสือยาว ๆ แบบนี้แน่นอน ^_^
1
[5. ปลดปล่อย “เมมโมรีสมอง”]
สมองมนุษย์มีระบบที่ใช้ทำกิจกรรมต่าง ๆ เรียกว่า “ความจำปฏิบัติการ (Working Memory)” หรือหนังสือเล่มนี้เรียกว่า “เมมโมรีสมอง”
เมมโมรีสมองมีบทบาทสำคัญต่อการคิด การจำ การตัดสินใจ และการเรียนรู้
พื้นที่ของเมมโมรีสมองเก็บข้อมูลได้สั้นมาก ไม่เกิน 30 วินาที เมื่อทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องเสร็จก็จะถูกเขียนทับด้วยข้อมูลชุดถัดไป
ถ้าใช้งานเมมโมรีอย่างไม่เหมาะสม เมมโมรีสมองจะเต็มอย่างรวดเร็วจนมีประสิทธิภาพในการเรียนรู้ลดลง
บ่อยครั้งที่เราคิดว่าจะทำอันนี้ แต่พอผ่านไปแป๊ปเดียว กลับลืมว่าจะทำอะไร เป็นผลมาจากภาวะ “ข้อมูลล้น” ชั่วคราว หรือเมมโมรีสมองเต็มนั่นเอง
(ที่หลายคนชอบพูดว่า “เมมเต็ม” นั่นแหละ ^^)
1
เมมโมรีสมองประมวลผลข้อมูลพร้อม ๆ ได้น้อย ถ้าให้ดีไม่ควรเกิน 3
แปลว่า ในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ เราควรคิดหรือทำอะไรไม่เกิน 3 เรื่อง
1
แต่ในชีวิตจริง เรามีเรื่องที่ต้องทำเยอะแยะ เมมโมรีสมองจึงไม่พอ จึงเป็นเหตุให้เกิดภาวะขี้ลืม
อ้าว! แล้วจะทำยังไงล่ะ?
เทคนิคที่ผู้เขียนแนะนำก็คือ “เขียนแล้วลืม”
เขียนแล้วลืม?
คือการเขียนสิ่งที่ต้องทำออกมาทั้งหมด พอเขียนแล้วก็จะ “โล่ง” มีพื้นที่ในเมมโมรีสมองมากขึ้น
2
การลืมโดยตั้งใจแบบนี้ทำให้ซึมซับสิ่งใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็ว และทำงานต่อไปได้ดีขึ้น
1
เทคนิคนี้ผมก็ใช้เหมือนกัน บางวันมีเรื่องที่ต้องทำเยอะมาก แต่พอเขียนออกมาว่าต้องทำอะไรบ้าง ห้วก็โล่ง มีสมาธิกับงานตรงหน้า ^_^
1
การทำงานหลายอย่างพร้อมกัน (Multi-tasking) ดูเหมือนดี แท้จริงแล้วสมองไม่ได้ทำงานหลายอย่างพร้อมกัน เพียงแต่สลับไปมาอย่างรวดเร็ว
และการทำแบบนั้นเป็นการสิ้นเปลืองพลังงานสมองมาก
1
นอกจากนี้ยังมีผลวิจัยยืนยันว่าการทำอะไรทีละอย่าง มีประสิทธิภาพดีกว่าการทำงานหลาย ๆ อย่างพร้อมกัน
1
ทำไมบางคนทำ Multi-tasking ได้?
เพราะพวกเขามีเมมโมรีสมองมากเป็นพิเศษ แต่คนส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นแบบนั้น
เสียงเพลงมีผลเสียต่อการทำงานหรือไม่?
มีงานวิจัยหนึ่งสรุปว่า การฟังเพลงส่งผลดีกับอารมณ์ ความเร็วในการลงมือทำ และการออกกำลังกาย
แต่ส่งผลเสียต่อการจำและการอ่านที่ต้องทำความเข้าใจ
2
พูดง่าย ๆ คือ มีทั้งผลดีและผลเสีย ขึ้นกับว่ากำลังทำงานแบบไหน
โดยส่วนตัวผมชอบฟังเพลงเวลาทำงาน แต่ต้องเป็นเพลงบรรเลง ยิ่งเป็นเพลงคลาสสิกแบบไม่มีเนื้อร้องยิ่งดี เพราะการฟังเพลงคล้ายตัดเสียงรบกวนจากภายนอก ทำให้มีสมาธิจดจ่อดีขึ้น
[ยิ่งมีอารมณ์ร่วม ยิ่งจำได้]
มาคุยเรื่องความจำบ้าง
ความจำที่เรานึกออกมาได้ หรือจำในจิตสำนึก เรียกว่า ความจำชัดแจ้ง (Explicit)
ความจำชัดแจ้งประกอบด้วย 2 ส่วนคือ
1 ความจำอาศัยความหมาย (Semantic Memory)
2 ความจำอาศัยเหตุการณ์ (Episodic Memory)
1
ความจำอาศัยความหมาย เป็นความจำประเภทข้อเท็จจริง ไม่มีอารมณ์ความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น เมืองหลวงของประเทศไทยคือกรุงเทพฯ
1
ความจำอาศัยเหตุการณ์ เป็นข้อมูลที่บันทึกโดยอาศัยประสบการณ์เฉพาะตัว จึงมีอารมณ์ความรู้สึกส่วนตัวผสมอยู่ด้วย
ลองสังเกตว่า ถ้ามีอารมณ์หรือความรู้สึกมาเกี่ยวข้อง เราจะจำเรื่องนั้นได้แม่น เพราะนั่นคือ ความจำอาศัยเหตุการณ์
1
สมองของเด็กใช้ความจำอาศัยความหมาย ได้อย่างยอดเยี่ยม พวกเขาจะจำได้ดีที่สุดในช่วงประถม หลังจากนั้นสมองจะเติบโตขึ้นจนความสามารถนี้เสื่อมถอยลงเรื่อย ๆ
ในทางกลับกัน ความจำอาศัยเหตุการณ์จะไม่เสื่อมถอยง่าย ๆ แม้อายุมากขึ้นก็สามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้อีก
1
เด็กถนัดใช้ ความจำอาศัยความหมาย
แต่ ผู้ใหญ่ถนัดใช้ ความจำอาศัยเหตุการณ์
3
แปลว่า ถ้าเราไม่ใช่เด็ก ให้ใช้ ความจำอาศัยเหตุการณ์
2
ยังไง?
1
เวลาจะจำอะไร ต้องเชื่อมโยงความจำกับประสบการณ์ หรือผู้เขียนเรียกว่าให้ทำ ดรรชนีความจำ
1
ดรรชนีความจำ?
คือสิ่งที่เชื่อมโยงหรือ “จับคู่” เรื่องนั้น ๆ หรืออาจหาเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านั้นมาจำคู่กัน
3
เช่น วันที่ 1 มีนาคม 2021 ไปกินข้าวกับคุณธิตินันทน์ เท่านี้ก็จำชื่อคุณธิตินันทน์ได้ ยิ่งถ่ายรูปคู่กันและโพสต์ลงเฟซบุ๊ก ยิ่งลืมยาก
1
ผมอ่านถึงตรงนี้แล้วนึกถึงเทคนิคจำเบอร์โทรบ้านเพื่อน
2
คือสมัยก่อนไม่มีโทรศัพท์มือถือ ไม่มีการเมมเบอร์ ถ้าอยากโทรหาใคร ต้องโทรไปที่บ้าน และต้องจำเบอร์บ้านเพื่อนคนนั้นให้ได้
เทคนิคการจำเบอร์โทรศัพท์ของผมก็คือ หาความสัมพันธ์ของตัวเลขในเบอร์โทร
เช่น เบอร์โทรบ้านเพื่อนคือ 02-222-6871
ผมก็จะจำว่า 2+2+2 =6
8-7=1
เท่านี้ก็จำได้ไม่ลืม ^_^
ทำไมเราถึงจำตอนทำอะไรครั้งแรกได้แม่น?
เพราะเวลาที่ลองทำอะไรใหม่ ๆ หรืออยู่ในสภาพ “อยากรู้อยากเห็น” ฮิปโปแคมปัสจะปล่อยคลื่นสมองที่เรียกว่าคลื่นทีตา (Theta Wave) ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจำ เราจึงจำสิ่งต่าง ๆ ตอนอยากรู้อยากเห็นได้ดี
3
เวลาทำอะไร ให้ทำด้วยความสนุก แล้วจะจำแม่น
2
เพราะเมื่อสนุก สมองจะหลั่งฮอร์โมนชื่อโดปามีน (Dopamine) ฮอร์โมนนี้มีคุณสมบัติช่วยให้ความจำดีขึ้น
1
ในทางตรงข้าม ถ้ารู้สึกอึดอัดหรือเครียด ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ถ้ามีคอร์ติซอลในปริมาณน้อยจะช่วยเสริมความจำ แต่ถ้ามีมากเกินไปจะสร้างความเสียหายกับฮิปโปแคมปัสและทำให้ความจำถดถอย
1
รู้ไหม! การปรับทุกข์บ่อย ๆ ไม่ได้ทำให้เครียดน้อยลง
1
เพราะการปรับทุกข์คือการส่งออกแบบหนึ่ง ยิ่งส่งออกหลายครั้ง ยิ่งจำแม่นทั้งที่ไม่อยากจำ
1
งั้นควรปรับทุกข์ยังไง?
ทางออกคือเล่าให้จบในรอบเดียว แล้วลืมมันซะ
ย้ำ! รอบเดียว
3
ทำไมบางคนชอบทำงานที่ร้านกาแฟ?
จริง ๆ แล้วการทำงานที่ร้านกาแฟไม่สะดวก แต่ทำไมหลายคน (รวมทั้งผมด้วย) ยังชอบไป?
1
คำตอบคือ การเปลี่ยนสถานที่ช่วยกระตุ้นฮิปโปแคมปัส
4
ในฮิปโปแคมปัสมีสิ่งที่เรียกว่า เซลล์ประสาทสถานที่ (Place Cell) แค่เปลี่ยนสถานที่ เซลล์ประสาทนี้ก็จะถูกกระตุ้นให้ปล่อยคลื่นทีตาออกมา ความจำและการทำงานของเราจึงเป็นไปอย่างราบรื่น
2
ยิ่งไปสถานที่ที่ต่างไปจากความเคยชินมากเท่าไร เซลล์ประสาทสถานที่ก็ยิ่งได้รับการกระตุ้นมากขึ้นเท่านั้น
ถ้าเป็นไปได้ควรท่องเที่ยวไกล ๆ บ้าง เพราะฮิปโปแคมปัสเกลียดอะไรเดิม ๆ
1
สำหรับคนทำงานออฟฟิศ การทำงานที่ร้านกาแฟอาจเป็นไปได้ยาก แต่แค่เดินไปชงกาแฟที่ห้องครัว ลุกเดินไปเดินมา หรือขึ้นบันไดแทนการใช้ลิฟต์ แบบนี้ก็ช่วยกระตุ้นเซลล์ประสาทสถานที่ได้เหมือนกัน
2
การค้นพบเซลล์ประสาทสถานที่เป็นการค้นพบที่สำคัญมาก จนทำให้ผู้ค้นพบ (ดร.จอห์น โอคีฟ) ได้รับรางวัลโนเบลปี 2014
[สรุป]
เป็นหนังสือที่ลำดับเรื่องราวได้ดีและอ่านสนุก คล้ายกำลังฟังผู้เขียนเล่าให้ฟังต่อหน้า (อ่านสนุกกว่า The Power of Output)
หลายครั้งที่อ่านแล้วรู้สึกตื่นเต้น อารมณ์ประมาณ
“เฮ้ย! จริงเดะ”
“อ้าว! เรามาผิดทางนี่นา””
“เอ้อ ที่เราทำมามันก็ถูกแฮะ”
ด้วยความที่ผู้เขียนเป็นจิตแพทย์ และนำหลักประสาทวิทยา (Neuroscience) มาช่วยอธิบาย หนังสือเล่มนี้จึงมีรายละเอียดที่น่าสนใจเต็มไปหมด
ยังมีรายละเอียดอีกหลายอย่างที่ผมไม่ได้เขียน เช่น ความจำกับการนอน ความเครียดกับความจำ เทคนิคการทำ To-do list การป้องกันโรคสมองเสื่อม แต่บทความนี้ยาวมากแล้ว เดี๋ยวเขียนเป็นบทความแยกเฉพาะเรื่องนั้น ๆ เลยดีกว่า ^_^
ความเจ๋งอีกอย่างของหนังสือเล่มนี้คือ ทำสารบัญดีมาก เก็บรายละเอียดปลีกย่อยและคำสำคัญได้ครบ
แนะนำว่า ก่อนเริ่มอ่าน ให้อ่านสารบัญรอบนึงก่อน
จากนั้นค่อยอ่านทีละบทจนจบ
แล้วอ่านสารบัญอีกที
เท่านี้ก็เหมือนได้อ่าน 3 รอบแล้ว
1
ยิ่งถ้าได้อ่านรีวิวจากบทความนี้ ยิ่งจำได้แม่นแบบไม่ต้องจำครับ ^_^
โฆษณา