28 ก.พ. 2021 เวลา 00:23 • หุ้น & เศรษฐกิจ
มือใหม่ลงทุนกองทุนรวมหุ้น
กองทุนรวมหุ้นนั้นก็จะเหมาะกับคนที่ต้องการลงทุนแต่ไม่มีเวลาศึกษา และติดตามการลงทุนมากนัก ถ้ายังไม่สามารถเลือกหุ้นได้ด้วยตนเอง การลงทุนในกองทุนรวมหุ้นก็จะน่าสนใจกว่า วันนี้มาดูว่า ถ้าเราต้องการลงทุนในกองทุนรวมหุ้น มีหลักในการเลือกอย่างไร
กองทุนรวมหุ้นคืออะไร??
กองทุนรวมหุ้น คือ การที่เรานำเงินของเราไปให้ผู้จัดการกองทุนลงทุนหุ้นให้ตามนโยบายที่กองทุนกำหนดไว้ ซึ่งเราจะได้รับผลตบแทนในรูปส่วนต่างกำไรของหน่วยลงทุน และเงินปันผลถ้ากองทุนนั้นมีนโยบายจ่ายปันผล
จะเลือกกองทุนรวมหุ้นอย่างไร??
1. เลือกระดับความเสี่ยงของกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้น ไม่ว่าจะลงทุนในหุ้นไทย หรือหุ้นต่างประเทศ จะแบ่งระดับความเสี่ยงได้อีก 3 ระดับ คือ 5-7 จากความเสี่ยง 8 ระดับของกองทุนรวม
ระดับที่ 5 จะเป็นกองทุนผสมระหว่างตราสารหนี้และตราสารทุน หรือที่เรียกว่า กองทุนรวมผสม กองแบบนี้ข้อดีคือ ความยืดหยุ่น ถ้าใครไม่รู้ว่าจะลงทุนหุ้นมากหน่อยช่วงไหน หรือลงทุนตราสารหนี้มากหน่อยช่วงไหน ไม่แน่ใจในการปรับพอร์ต ซึ่งผลตอบแทนก็มักจะเกาะอยู่กลางๆ ระหว่างตราสารหนี้ และตราสารทุนระดับที่ 6-7 จะเป็นการลงทุนที่เน้นในหุ้น
ระดับที่ 6 กองทุนรวมหุ้นทั่วไป ความเสี่ยงก็จะใกล้เคียงกับการลงทุนหุ้นทั่วไป จึงมีความเสี่ยงหรือความผันผวนสูง แต่จะมีการกระจายการลงทุนหุ้นในหลายตัว และหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรม
ระดับที่ 7 กองทุนรวมหุ้นเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรม จึงมีความเสี่ยงสูงมากขึ้น เนื่องจากเป็นการลงทุนในหุ้นเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น กลุ่มธนาคาร กลุ่มพลังงาน กลุ่ม health care ผู้ที่จะเลือกลงทุนในกองทุนรวมประเภทนี้ควรมีความรู้เรื่องของอุตสาหกรรมนั้นๆ ด้วย
2. ศึกษาเรื่องนโยบายการลงทุน ถึงแม้จะลงทุนในสินทรัพย์ลักษณะเดียวกัน แต่รายละเอียดในนโยบายการลงทุนของแต่ละกองทุนก็แตกต่าง รายละเอียดของนโยบายที่ต่างกัน ก็จะมีความเสี่ยงที่แตกต่างกัน เช่น กองทุนรวมหุ้น ก็จะมีทั้งลงทุนหุ้นในประเทศ ลงทุนหุ้นในต่างประเทศเฉพาะประเทศ เช่น กองทุนหุ้นจีน กองทุนหุ้นเวียดนาม หรือลงทุนหุ้นทั่วโลก มีทั้งแบบลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่หรือเน้นลงทุนหุ้นขนาดเล็ก มีทั้งแบบนโยบายการลงทุนมุ่งให้ได้ผลตอบแทนดีกว่าตัวชี้วัดที่เราเรียกว่า แบบ active fund หรือบางกองทุนหุ้นก็ลงทุนล้อไปกับดัชนีหรือตัวชีวัด ที่เรียกว่า passive fund ดังนั้นถึงลงลงทุนในสินทรัพย์ลักษณะเดียว แต่รายละเอียดต่างกัน ก็จะมีความเสี่ยงต่างกัน และปัจจัยที่มากระทบแตกต่างกัน
3
3. ดูผลการดำเนินงานในอดีต ถึงแม้ผลงานในอดีตไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลตอบแทนในอนาคต แต่ก็พอเป็นแนวทางช่วยเราในการตัดสินใจ ถ้ากองทุนนั้นทำผลงานมาดีได้ตลอดระยะเวลายาวพอสมควรก็จะน่าสนใจกว่า กองทุนที่ผลงานไม่ดี การดูผลงานควรดูทั้งในระยะยาว และระยะสั้น ไม่ควรดูแค่ผลตอบแทนระยะสั้นเท่านั้น การดูก็ควรดูเทียบกับตัวชี้วัด และกองทุนที่มีลักษณะเดียวกันด้วยนะ เพื่อช่วยในการตัดสินใจเลือก
สำหรับกองทุนรวมหุ้นที่มีนโยบายแบบ passive fund อย่าลืมดูค่า tracking error ด้วยนะ เพื่อดูว่า กองทุนนั้นลงทุนได้ล้อไปตามดัชนีได้ดีไหม
4. พิจารณาค่าธรรมเนียมกองทุน ค่าธรรมเนียมกองทุนแบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่
- ค่าธรรมที่เรียกเก็บจากกองทุน เราเรียกรวมๆว่า total expense ratio(TER) ค่าธรรมเนียมนี้ส่วนใหญ่เป็นค่าการจัดการกองทุน นอกนั้นก็จะมีค่าผู้ดูแลผลประโยชน์ ค่านายทะเบียน ค่าโฆษณาต่างๆ ค่าธรรมเนียมนี้เขียนไว้เป็น % ต่อปีแต่จะมีการหักเฉลี่ยเป็นรายวัน ค่าธรรมเนียมจะมีผลต่อผลตอบแทนที่เราจะได้รับ
- ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากเราโดยตรง เป็นค่าธรรมเนียมซื้อ ขาย หรือสับเปลี่ยนหน่วยลงทุน บางกองทุนมี บางกองทุนไม่มี ค่าธรรมเนียมนี้จะแฝงอยู่ในราคาที่เราไปซื้อหรือขายหน่วยลงทุน ดังนั้น ราคาซื้อ-ราคาขาย จะไม่เท่ากับ NAV ต่อหน่วย เพราะมีค่าธรรมเนียมนี้แฝงอยู่
ข้อมูลเหล่านี้จะมีเขียนอยู่ในหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญของกองทุนวมนั้นๆ เลือกกองทุนรวมหุ้นที่เหมาะกับเรา เข้าใจสินทรัพย์ลงทุน ดูผลงานดี ค่าธรรมเนียมเหมาะสม
เมื่อเลือกได้แล้วก็ติดต่อเพื่อเปิดบัญชีกองทุนรวม
การเปิดบัญชีซื้อขายกองทุนรวมสามารถทำได้ทั้งที่ บลจ. และตัวแทนขายต่างๆ เช่น ธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทนายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน ซึ่งเดี๋ยวนี้สามารถเปิดบัญชีกองทุนรวมผ่าน mobile banking ได้ด้วย จะเห็นว่าสะดวกสบายมากขึ้น
โดยใช้เอกสารที่ใช้จะมี 2 อย่างคือ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาหน้าสมุดบัญชีธนาคารสำหรับการรับเงินค่าขายคืนหน่วยลงทุน พร้อมกรอกแบบคำขอเปิดบัญชี และทำแบบทดสอบวัดความสามารถในการยอมรับความเสี่ยง และแนะนำให้ทำเรื่องเพื่อให้สามารถซื้อขายผ่าน อินเตอร์เน็ตไปด้วยเลย เพื่อความสะดวกในการซื้อขาย
ถ้ายังไม่สามารถเลือกหุ้นได้เอง แต่สนใจในการลงทุนหุ้น ลองพิจารณาเรื่องกองทุนรวมหุ้นดูนะ
#หมอยุ่งอยากมีเวลา
#กองทุนรวม
#ระดับความเสี่ยง
#ผลตอบแทน
#นโยบายลงทุน
#ค่าธรรมเนียมกองทุน
#มือใหม่ลงทุน
โฆษณา