28 ก.พ. 2021 เวลา 08:19 • การศึกษา
วิกฤต ความพร้อมและโอกาส >>>
เมื่อวิกฤตเกิดขึ้นกับคนที่มีความพร้อม มันจะกลายเป็นโอกาส แต่หากวิกฤต เกิดขึ้นกับคนที่ไม่เคยเตรียมความพร้อม มันคือ วิกฤต
โอกาส = วิกฤต + ความพร้อม
เรื่องเล่าจากประสบการณ์จริงของผู้เขียน สมัยยังรับราชการอยู่กรมสรรพากร กว่าจะสอบได้ไม่ใช่ง่ายๆ ผู้เขียนคิดแบบนั้น ต้องสอบภาค ก ข ค ให้ผ่าน และลำดับคะแนนสอบ ต้องอยู่ในลำดับ ที่จะได้รับการบรรจุ
ภาค ก คือ ทดสอบความรู้ทั่วไป ภาษาไทย ตรรกะและอื่นๆ หรือที่เรียกกันว่า สอบ กพ. ภาค ข คือ การสอบเฉพาะทาง ซึ่งผู้เขียนสมัครในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษี ต้องผ่านการทดสอบกฎหมายภาษี ได้แก่ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และ อากรแสตมป์ ภาค ค คือ สัมภาษณ์
ผู้เขียนได้รับการบรรจุ ในตำแหน่ง เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษี ระดับ 3 ของสำนักงานสรรพากรพื้นที่แห่งหนึ่งใน กทม. เป็นข้าราชการพลเรือน ซึ่งหากเทียบยศเป็นตำรวจหรือทหาร ก็คือ ยศร้อยตรี
ผู้เขียนเป็นข้าราชการคนหนึ่ง ที่ตั้งใจทำงาน ด้วยความรักและซื่อสัตย์ เรียกว่า อ่านประมวลรัษฎากร ทั้งเล่มเพื่อเก็บภาษีผู้ประกอบการ (ชอบกฎหมายภาษีมาก) รุ่นพี่คนไหนเก่งประมวลรัษฎากร ผู้เขียนจะเข้าไปขอคำแนะนำ
หัวหน้าฝ่าย (ระดับ 7) คนไหนเก่ง เมื่อเลิกงาน ผู้เขียนจะเข้าไปขอคำแนะนำ เช่นกัน ในขณะที่เพื่อนๆ คนอื่นๆ ของผู้เขียนกลับบ้านไปหมดแล้ว
และสมัยนั้น อาจารย์ที่เป็นผู้ฝึกสอนวิชาภาษีให้กับเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษี (ในสมัยนั้น) คือ อาจารย์สุเทพ พงษ์พิทักษ์ (นักบัญชีส่วนใหญ่รู้จักอาจารย์ท่านนี้ดี)
ชีวิต คือ การต่อสู้
จากความมุ่งมั่น ตั้งใจทำงาน ชอบอ่านหนังสือ ส่งผลให้ผู้เขียนสามารถสอบ ใบอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากรได้ เรียกว่า ดังในสรรพากรพื้นที่ในพริบตา 😁 มีแต่คนแวะมาแสดงความยินดี ไม่เว้นแม้แต่ ท่านสรรพากรพื้นที่ ที่ผู้เขียนสังกัดอยู่ ยังต้องเดินมาที่โต๊ะทำงานของผู้เขียน เพื่อกล่าวแสดงความยินดี
เมื่อทำงานหาประสบการณ์ไปซักระยะ (ประมาณ 3 ปี) ผู้เขียนจึงตัดสินใจ สอบเพื่อเรียนต่อระดับปริญญาโท ภาคปกติ (เรียน จันทร์ ถึง ศุกร์) บริหารธุรกิจ เอกวิชาตรวจสอบ ของมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งหนึ่ง
เมื่อทราบผลการสอบ ว่าติด 1 ใน 16 คน จากโควต้าที่มหาวิทยาลัยรับ จึงดำเนินการ ยื่นเรื่องกับหน่วยงานต้นสังกัดเพื่อขอลาศึกษาต่อ แต่โชคไม่ดี ผู้เขียนไม่ได้รับการอนุมัติให้ลาศึกษาต่อ (ในขณะที่เพื่อนที่สอบได้มหาวิทยาลัยรัฐแห่งอื่น ทุกคนได้รับอนุมัติ)
ถามว่า ถ้าเป็นคุณ คุณจะหยุด หรือไปต่อ ถ้าทางเลือกที่ 1 หยุดเรียน ยังมีงานทำ ทางเลือกที่ 2 ไปเรียนต่อแต่ต้องลาออกจากราชการ
สำหรับผู้เขียน เมื่อได้ไตร่ตรอง ประกอบกับพอจะมีเงินเก็บอยู่บ้าง (เก็บเงินเดือนข้าราชการอันน้อยนิดออมไว้เดือนละ 1-2 พันบาท) ก็พอจะเป็นค่าเทอม เพราะค่าเทอม มหาวิยาลัยรัฐภาคปกติถูกมาก คือ เทอมละ 1 หมื่นบาท 4 เทอม 4 หมื่น ส่วนค่าเดินทางก็นั่งรถกระป๋องเอา ค่ากิน ค่าที่พัก ดีนะอยู่บ้าน 😁
คิด วิเคราะห์ในเบื้องต้น น่าจะพร้อมนะ ผู้เขียนจึงตัดสินใจ ลาออก จากกรมสรรพากร (ที่รัก) และโชคดีที่ระหว่างศึกษาต่อ ผู้เขียนได้รับทุนผู้ช่วยสอนจากมหาวิยาลัย และได้อาจารย์ในมหาวิทยาลัยหางานพิเศษ ทางวิชาการให้ทำ (เกือบจะทุกเสาร์ อาทิตย์) จึงรอด เรื่องค่าใช้จ่ายมาได้
เมื่อสำเร็จการศึกษา จึงได้เข้าสู่วงการ ที่ปรึกษาภาษี (ในที่สุด) ในตำแหน่งเริ่มต้น คือ Tax Senior ด้วยอัตราเงินเดือนที่มากกว่าตอนรับราชการ 1.5 เท่า
เป็นอย่างไรบ้างคะ วิกฤต ที่ไม่ได้รับอนุมัติให้ลาศึกษาต่อ แต่ดีที่ยังมีความพร้อม ด้านทุนทรัพย์อยู่บ้าง ด้านความรู้ที่สะสมไว้บ้าง เมื่อ บวกกันจึงกลายมาเป็นโอกาส ให้ได้เริ่มต้น เป็นที่ปรึกษาภาษี (ที่รัก)
กว่าจะมาเป็นผู้เขียนวันนี้ ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ เลยนะคะ ต้องใช้ความพยายาม อดทน มุ่งมั่น และตั้งใจ แลกมาทั้งนั้น ถึงวันนี้ รู้สึกตัดสินใจถูกมาก ที่เลือก ลาออกมาเรียน ไม่หยุดความตั้งใจของตัวเอง เพียงแค่ คำว่า "ไม่อนุมัติ"
เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ท่านใด ที่มีความฝัน ความตั้งใจใดไว้ อย่าทิ้งมันไปง่ายๆ เพียงเพราะมีอุปสรรคนะคะ เชื่อเถอะค่ะ ว่า โอกาส คือ วิกฤต + ความพร้อม
ภาพ by Canva
เพจ VI Style by MooDuang
(นักเขียนที่ชอบเขียนจากประสบการณ์จริง ปฏิบัติให้เห็น จึงนำมาเขียน ถ่ายทอดเรื่องราวได้ชัดเจนดีค่ะ)
โฆษณา