18 ธ.ค. 2018 เวลา 05:01
การประยุกต์ใช้หลักอริยสัจ 4 ประการในการแก้ปัญหา
เมื่อเรามีทัศนคติ หรือ ความเชื่อว่าปัญหาสามารถแก้ไขได้แล้ว มาดูกันว่าจะนำหลักอริยสัจ 4 ประการมาประยุกต์ใช้งานอย่างไร
อริยสัจสี่ประการประกอบด้วย
ทุกข์
สมุทัย สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์
นิโรธ การหมดสิ้นจากความทุกข์
มรรค แนวทางในการดับทุกข์
การประยุกต์ใช้หลักอริยสัจ 4 ประการมาเป็นหลักในการแก้ปัญหา ทำได้โดยมุมมองที่ว่า ทุกข์ คือ ปัญหา จากนั้นเราจะได้แนวทางในการการจัดการกับปัญหาดังนี้
ทุกข์ = ปัญหา คือสิ่งที่เราต้องการปรับปรุง แก้ไข เราจะไม่สามารถแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบได้หากไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าตัวปัญหาจริงๆนั้นคืออะไร นอกจากนี้ปัญหาของคนคนหนึ่งอาจจะไม่ใช่ปัญหาของอีกคนก็ได้ ตัวอย่างเช่น ก่อนยุคไอโฟน ไม่มีใครมีปัญหากับ "ความฉลาด" ของโทรศัพท์ จนกระทั่งสตีฟ จ๊อบส์ ชี้ให้เห็นว่าไอโฟนดีอย่างไร (จ๊อบส์ เคยกล่าวว่า ไม่เคยมีใครรู้ว่าต้องการไอโฟน จนกระทั่งมีไอโฟนเกิดขึ้นมาแล้ว) โลกจึงตระหนักรู้ในตอนนั้นเองว่าปัญหานี้มีอยู่จริงๆ และสามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ จะเห็นว่า การเห็นปัญหาก่อนคนอื่นสามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกได้
สมุทัย = แนวทางในการแก้ปัญหา มีเทคนิคในการแก้ปัญหาที่น่าสนใจอยู่หลายอย่างที่จะช่วยให้การแก้ไขปัญหา รวดเร็ว ตรงจุด ครอบคลุม มีประสิทธิภาพมากขึ้น และ สามารถป้องกันการเกิดซ้ำได้ ที่เราจะพูดถึงในโอกาสต่อไปได้แก่ PDCA, Fish Bone Diagram, Root-Cause Analysis, OODA (Observe-Orient-Design-Act), Cause Mapping, TRIZ และ A3 Problem Solving
นิโรธ = เป้าหมายหรือผลลัพธ์ที่ต้องการ ยิ่งเราสามารถระบุสิ่งที่เราต้องการได้ชัดเจนมากขึ้นเท่าไร แนวทางในการแก้ไขปัญหาก็จะมีความชัดเจนมากขึ้น เราสามารถใช้หลักการ 5W1H ได้ What-อะไร When-เมื่อไร Where-ที่ไหน Why-ทำไม Who-ใคร และ How-อย่างไร เช่น แทนที่จะตั้งเป้าหมายว่าจะต้องเพิ่มยอดขายและลดสต๊อคสินค้า A ก็อาจจะเป็น "เพิ่มยอดขายสินค้า A อีก 10% ภายในระยะเวลา 3 เดือน โดยการจัดโปรโมชั่นส่วนลด 30% สำหรับสมาชิก เพื่อเพิ่มความผูกพันกับสินค้าและลดสต๊อคสินค้า เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพ" เป็นต้น
มรรค = แนวทางในการดำเนินการ เมื่อมีเป้าหมายที่ชัดเจนแล้ว เราจึงจะสามารถกำหนดแนวทางในการดำเนินการได้ ขั้นตอนนี้จะต่อเนื่องจาก การหาแนวทางในการแก้ปัญหา ดังนั้นจึงเกี่ยวข้องกับการ สร้างทางเลือก เปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสีย ของแต่ละทางเลือก ต้นทุนทางการเงิน และ เวลาที่ต้องใช้ การวัดและประเมินผลการดำเนินการ จนถึงที่สุดคือการสรุปผลการดำเนินการเทียบกับเป้าหมาย และ สรุปบทเรียนเพื่อสร้างองค์ความรู้สำหรับการดำเนินการในอนาคต
จากแนวทางทั้งหมด เมื่อผู้ที่มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา มีประสบการณ์มากพอ ก็จะสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ สามารถเลือกทางเลือกที่มีความเหมาะสมได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ทั้งนี้การฝึกฝนจะช่วยให้เราแก้ปัญหาได้ดีขึ้นเรื่อยๆ
ครั้งต่อไปจะพูดถึงเทคนิคในการแก้ปัญหาที่น่าสนใจตัวแรกคือ PDCA = Plan-Do-Check-Action
โฆษณา