20 ธ.ค. 2018 เวลา 03:49
PDCA Cycle เพราะไม่มีคำตอบของปัญหาใดดีที่สุด แต่มีคำตอบที่ดีกว่าเสมอ
แนวคิดการแก้ไขปัญหาและปรับปรุงกระบวนการด้วย PDCA Cycle
กระบวนการแก้ปัญหาด้วยแนวคิด PDCA แพร่หลายมาจากแนวคิดของกระบวนการควบคุมคุณภาพในการผลิตสินค้าของญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งได้รับอิทธิพลทางความคิดจากกูรูชาวอเมริกัน ชื่อ W. Edward Deming (ได้รับการยกย่องเป็นบิดาแห่งการควบคุมคุณภาพ) ที่ใช้หลักการนี้ ซึ่งเจ้าตัวจะเรียกว่า Shawhart Cycle เพื่อเป็นเกียรติให้กับ Walter A. Shewhart ซึ่งนำแนวคิดในการ สังเกตุ-สร้างสมมติฐานและทำการทดสอบ-สรุปผล (เทียบได้กับ PDC) ที่เราเรียนกันสมัยเด็กๆในวิชาวิทยาศาสตร์มาปรับปรุงใหม่ ให้มี Action เพื่อให้เกิดผลงานจากการปฏิบัติ และ การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง จนเกิดเป็น PDCA Cycle
PDCA Cycle ย่อมาจากกระบวนการ Plan Do Chek Act เป็นแนวทางในการแก้ปัญหา โดยจะเริ่มต้นจากการหาปัญหาที่ต้องการแก้ไขหรือปรับปรุง โดยมีรายละเอียดสำหรับแต่ละขั้นตอนดังนี้
1. Plan เป็นขั้นตอนการนิยามปัญหาและระบุความต้องการให้ชัดเจน ในกรณีที่ปัญหามีความซับซ้อนหรือยาก ให้พยายามแตกปัญหาก้อนใหญ่ให้เล็กลงก่อน จากนั้นจึงใช้กระบวนการนี้ในการ เริ่มต้นแก้ไขปัญหาแต่ละข้อ
2. Do เป็นขั้นตอนในการ วิเคราะห์ปัญหา หาและเลือกแนวทางในการแก้ปัญหา จากนั้นทำการทดสอบผล
3. Check เป็นการประเมินผลที่ได้รับจากการทดสอบว่าเป็นไปตามที่ต้องการหรือไม่ หากไม่ได้ผลที่ต้องการก็กลับไปเริ่มที่ขั้นตอนที่ 2 ใหม่ แต่หากเป็นไปตามที่ต้องการจะทำการทำแผนงานในการนำแนวทางดังกล่าวไปใช้งานจริงในภาคปฏิบัติ
4. Act เป็นการลงมือปฏิบัติงานจริงจากนั้นประเมินปัญหา อุปสรรค ที่มีโอกาสในการแก้ไขและปรับปรุงต่อไปเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น (นำกลับไปสู่ขั้นตอน P-Plan) อีกครั้งหนึ่ง จนได้ผลตามเป้าหมายจึงสร้างระบบงานที่เป็นมาตรฐานเพื่อรองรับการทำงานในอนาคต
แนวคิด PDCA Cycle นี้เป็นพื้นฐานของการจัดการคุณภาพการผลิตทั้งสินค้าจนถึงซอฟแวร์ ซึ่งแนวทางที่แพร่หลายมากในปัจจุบันที่ต่อยอดมาจาก PDCA เช่น Lean และ Agile
ตอนต่อไปจะแนะนำให้รู้จักเครื่องมือในการเปลี่ยนปัญหาให้เป็นภาพที่ทำให้ง่ายในการระดมความคิดเพื่อหาปัจจัยที่เป็นสาเหตุของปัญหา ที่เรารู้จักกันในชื่อ แผนภูมิก้างปลา (Fish Bone Diagram)
โฆษณา