18 ก.ย. 2019 เวลา 06:25 • ธุรกิจ
หนี้ครัวเรือนไทยสูงจนน่ากลัวจริงหรือไม่???
ช่วงหลังมานี้ธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาพูดถึงความกังวลที่มีต่อเรื่องปริมาณหนี้ครัวเรือนของไทยที่เพิ่มขึ้นแบบไม่มีทีท่าจะลดลง โดยล่าสุดหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ที่ระดับประมาณ 78.7% ต่อ GDP
ปริมาณหนี้ครัวเรือนของไทย (สีฟ้า) ยังคงพุ่งขึ้น
ซึ่งดูเหมือนแบงก์ชาติจะมองว่าปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือนเกิดจากพฤติกรรมของคนไทยที่ก่อหนี้มากเกินไป ใช้จ่ายเกินตัว รวมไปถึงความง่ายในการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงินต่างๆ
จึงเป็นที่มาของมาตรการควบคุมการปล่อยสินเชื่อ...เริ่มตั้งแต่ สินเชื่อสำหรับของใหญ่ๆอย่างอสังหาริมทรัพย์ที่เจอมาตรการ LTV เข้าไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา จนปีนี้คาดว่ายอดขายบ้านและคอนโดจะติดลบเทียบกับปีก่อน (ราคาคอนโดใน กทม หลายแห่งเริ่มปรับตัวลดลงติดกันมาหลายเดือน)...ถัดมาก็มีการพูดถึง การควบคุมการปล่อยสินเชื่อตามความสามารถในการผ่อนผ่านตัวเลข DSR (debt service ratio) แต่เหมือนสถาบันการเงินหลายฝ่ายจะออกมาคัดค้านว่าทำได้ยาก เรื่องจึงเงียบๆไป
ล่าสุดสมาคมธนาคารและแบงก์ชาติกำลังพิจารณาการปล่อยวงเงินบัตรเครดิตผ่านแคมเปญ 0% 10 เดือน ตามที่ได้โพสต์ถึงไปแล้ว ซึ่งจัดเป็นมาตรการที่กระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคโดยตรงและค่อนข้างรุนแรง...จะว่าไป regulator ของไทยก็คงคล้ายๆ “พ่อ” ที่คิดว่า “ลูก” ใช้จ่ายเกินตัวจึงอยากหาทางจัดการให้เด็ดขาดยังไงยังงั้น
คำถามสำคัญก็คือ คนไทยหนี้เยอะเป็นปัญหาที่น่ากลัวในระยะยาวต่อเศรษฐกิจไทยหรือไม่ ก่อนจะตอบคำถามนี้ เราลองมองออกไปดูรอบๆโลกกันบ้างดีกว่า...
สวิสเซอร์แลนด์ จัดเป็นประเทศที่ได้รับการยอมรับในเรื่องคุณภาพชีวิตของประชาชน บ้านเมืองน่าอยู่ และเศรษฐกิจแข็งแกร่ง...แต่คุณรู้หรือไม่ว่า สวิสฯ คือประเทศที่มีหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงที่สุดในโลก (ราวๆ 129% to GDP)
หนี้ครัวเรือนของประเทศสวิสเซอร์แลนด์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและอยู่เหนือระดับ 100% to gdp มาเป็นสิบปีแล้ว
ทำไมสวิสฯถึงมีหนี้ครัวเรือนในระดับสูงได้โดยประชาชนยังอยู่ดีกินดีและเศรษฐกิจของประเทศไม่มีปัญหามาอย่างยาวนาน...คำตอบมาจาก 2 อย่าง
หนึ่ง คือ เพราะประชาชนชาวสวิสฯมีรายได้ต่อหัวในระดับที่สูงมากๆนั่นเอง โดยปัจจุบันรายได้เฉลี่ยของคนสวิสฯอยู่ที่ 82,950 usd ต่อปี ในขณะที่รายได้เฉลี่ยของคนไทยอยู่ที่ 7,187 usd เท่านั้น (คนไทยรายได้น้อยกว่าประมาณ 11 เท่ากว่า)
สอง คือ เมื่อเทียบการเติบโตของหนี้แล้ว สวิสฯมีอัตราการเติบโตของหนี้ครัวเรือนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 1.2% (น้อยกว่าGDP) ในขณะที่ล่าสุดหนี้ครัวเรือนของไทยไตรมาส2 เติบโต 6.1% เทียบกับปีก่อน โดย GDP ของไทยโตราว 2-3% เท่านั้น...เปรียบได้ว่า คนสวิสฯหนี้โตช้ากว่ารายได้ ส่วนไทยหนี้โตไวกว่ารายได้ไปเยอะ
บทสรุปที่ได้จากเรื่องนี้ พูดง่ายๆก็คือ เมื่อคนมีรายได้สูงพอ ถึงการก่อหนี้จะมากก็ไม่ได้ทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจในระยะยาว ถ้าหนี้ที่ก่อนั้นยังเติบโตช้ากว่ารายได้ นั่นเอง
กลับมาที่คำถามว่า หนี้ครัวเรือนไทยที่อยู่ระดับสูงตอนนี้นั้นน่ากลัวหรือไม่...ตามที่ได้กล่าวไปแล้วก็คงต้องตอบว่า “น่ากลัว” เพราะ ปัจจุบันคนไทยยังมีรายได้ไม่สูงพอและหนี้ที่ก่อขึ้นก็เติบโตเร็วกว่ารายได้ด้วย
อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวแล้วไม่เห็นด้วยกับความพยายามควบคุมสินเชื่ออย่างเข้มงวด เพราะนั่นคือการบีบให้คนที่รายได้น้อยอยู่แล้วหาทางออกให้ชีวิตไม่ได้ ซ้ำร้ายอาจจะต้องไปกู้หนี้นอกระบบอีกตะหาก
จะดีกว่าไหมถ้ารัฐบาลไทยพยายามทำเศรษฐกิจให้ดี หาทางช่วยเพิ่มรายได้ให้ประชาชน และ สมาคมธนาคารกับแบงก์ชาติก็ช่วยลดภาระดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับชาวบ้านสักหน่อย...
ทำไมถึงเอาแต่จะออกมาควบคุมสินเชื่อแต่เพียงอย่างเดียว??? คำถามนี้ใครก็ได้ช่วยตอบที
(ขอขอบคุณข้อมูลส่วนหนึ่งจาก อาจารย์ชาติชัย พาราสุข)
เพราะการลงทุนไม่ใช่เรื่องเล่นๆ...มาเป็น serious investor กันเถอะ
โฆษณา