14 ต.ค. 2019 เวลา 11:00 • กีฬา
"รักที่ไร้เงื่อนไข"
คุณเคยรักใครโดยไม่มีเงื่อนไขมั้ย ?
ไม่สนว่าเขาจะเป็นใครมาจากไหน รูปร่างหน้าตา สีผิว คุณรักเขาแค่เพราะเขาคือเขา
เอาล่ะ จะเล่าเรื่องรักให้ฟังสักเรื่อง
ฌอง-ปิแอร์ อดัมส์ ชื่อนี้คนคงไม่ค่อยรู้จัก ปัจจุบันเขาอายุ 71 ปีแล้ว เป็นอดีตนักเตะของ นีมส์, นีซ และ ปารีส แซงต์ แชร์กแมง ในทศวรรษที่ 70s เคยติดทีมชาติฝรั่งเศส 22 นัด
ฟร้านซ์ เบคเค่นเบาเออร์ เคยบอกว่าการจับคู่กันของ ฌอง-ปิแอร์ อดัมส์ และ มาริอุส เตรซอร์ คือคู่ปราการหลังที่แข็งแกร่งที่สุดในยุโรป
ยามรับใช้ทีมชาติฝรั่งเศส คู่นี้ถูกเรียกว่า "Garde Noire" ก๊าร์ด นัวร์ หรือ "Black Guard" ปราการดำ เพราะต่างเป็นนักเตะผิวดำด้วยกันทั้งคู่
ฌอง-ปิแอร์ เกิดในปี 1948 ที่ ดาการ์, เซเนกัล ซึ่งในขณะนั้นยังเป็น เฟร้นช์ เวสต์ แอฟริกา
อายุได้ 10 ขวบ คุณย่าของ ฌอง-ปิแอร์ พาเขาเดินทางมาแสวงบุญยังยุโรปด้วย โดยครอบครัวเป็นคาทอลิกที่เคร่งครัด ขณะที่เธอแสวงบุญก็ฝาก ฌอง-ปิแอร์ เข้าโรงเรียนใน มงตาร์กิส เมืองในเขตลัวเร่ต์ ภาคกลางตอนเหนือของฝรั่งเศส
เด็กน้อย ฌอง-ปิแอร์ ได้รับการอุปถัมภ์จากครอบครัวชาวฝรั่งเศส จากนั้นเขาก็อาศัยในฝรั่งเศส ค่อยๆ ห่างหายจากบ้านเกิดเซเนกัล
ฌอง-ปิแอร์ เติบโตเป็นหนุ่มร่างกายแข็งแรง เขาเริ่มต้นเล่นเป็นกองหน้าให้ เกอปัว, แบลการ์ด และ มงตาร์กิส ซึ่งเป็นสโมสรในระดับสมัครเล่น และต่อมาเข้าร่วมทีม ฟงเตนเบลอ ในปี 1967 ซึ่งถือเป็นสโมสรกึ่งอาชีพ ขณะนั้นอายุได้ 19 ปี
ช่วงเวลานี้เองที่ ฌอง-ปิแอร์ ได้พบกับสาวชาวฝรั่งเศสในงานเต้นรำแห่งหนึ่ง เธอชื่อว่า แบร์นาแด็ตต์
ปลายทศวรรษที่ 60s เป็นช่วงที่การเมืองการปกครองกำลังก่อการเปลี่ยนแปลง คุกรุ่นไปทั้งโลก นอกเหนือจากสงครามเย็น ยังมีการประท้วงไปทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ในฝรั่งเศส เรื่องสิทธิความเสมอภาค ถูกหยิบตกมาพูดถึง
อย่างไรก็ดี แบร์นาแด็ตต์ ยอมรับว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่ผู้หญิงผิวขาว จะคบกับชายผิวดำ ในช่วงเวลานั้น
"ฉันไม่สามารถซ่อนความจริงที่ว่ามันเป็นเรื่องยุ่งยากมากๆ สำหรับครอบครัวของฉันในตอนแรก"
"แต่เราก็เริ่มอยู่ด้วยกันและตัดสินใจแต่งงาน ฉันเขียนจดหมายไปหาพ่อแม่ของฉัน บอกข่าวนี้ และบอกวันแต่งงานและเชิญพวกท่านมางานด้วย และแม่ของฉันเชิญพวกเราไปทานอาหารเย็นกันวันหนึ่ง"
"หลังจากนั้นทุกอย่างก็เป็นไปได้ด้วยดี เขากลายเป็นคนโปรดยิ่งกว่าฉันเสียอีก ฌอง-ปิแอร์, ฌอง-ปิแอร์ พวกท่านเอาแต่เรียกชื่อ ฌอง-ปิแอร์"
เด็กหนุ่มคนนี้เป็นคนเปิดเผย เปี่ยมด้วยรอยยิ้ม และเสียงหัวเราะ ทำให้คนที่อยู่ใกล้อดชื่นชอบไม่ได้
ในสนาม ฌอง-ปิแอร์ โดนโค้ชปรับมาเล่นกองหลังและทำผลงานได้ดี ช่วยฟงเตนเบลอ คว้าแชมป์ลีกสมัครเล่น 2 ครั้งก่อนย้ายไปร่วมทีม นีมส์ ในปี 1970 โดยพวกเขากำลังเล่นอยู่บน ลีก เอิง
ฌอง-ปิแอร์ อดัมส์ เป็นกำลังสำคัญให้ นีมส์ เขาเล่นอยู่ 3 ปี ช่วยทีมเป็นรองแชมป์ ลีก เอิง ในฤดูกาล 1971/72
จากนั้นย้ายไป นีซ ในปี 1973 และช่วยให้นีซ เป็นรองแชมป์อีกครั้ง ในฤดูกาล 1975/76 หนนี้อาการบาดเจ็บเล่นงานนักเตะในทีมหลายคน ส่งผลให้พวกเขาไล่ตาม แซงต์ เอเตียน ไม่ทัน ตามหลัง 3 คะแนนเมื่อจบนัดสุดท้ายของฤดูกาล (สมัยนั้น ชนะได้ 2 คะแนน) ผลงานส่วนตัวทำให้เขาติดทีมยอดเยี่ยมของฤดูกาลที่จัดโดยนิตยสาร ฟร้องซ์ ฟุตบอล ด้วย
1
ในปี 1977 ฌอง-ปิแอร์ อดัมส์ ย้ายเข้าเมืองหลวง เล่นให้กับ ปารีส แซงต์ แชร์แมง อีก 2 ปี เมื่ออายุได้ 31 ร่างกายเริ่มโรยราลง
อองรี มิเชล ซึ่งเคยเล่นด้วยกันในทีมชาติตั้งแต่นัดแรกที่ ฌอง-ปิแอร์ ติดทัพ เลส์ เบลอส์ เมื่อปี 1972 บอกว่า "เขาคือปรากฏการณ์ธรรมชาติ ร่างกายแข็งแรงมากๆ และมีความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว เขาน่าเกรงขาม เต็มที่เพื่อชาติ เป็นเกียรติมากที่ได้เล่นร่วมกับเขา"
เมื่อเข้าสู่ช่วงท้ายของอาชีพ ฌอง-ปิแอร์ ย้ายมาเล่นกับ มูลูส ทีมในลีกรอง และปิดฉากค้าแข้งกับชาลง ในปี 1981 ขณะอายุ 33 ปี เป็นเวลาเดียวกับที่เขาคิดเรื่องการเป็นโค้ช
ชีวิตของ ฌอง-ปิแอร์ และ แบร์นาแด็ตต์ กำลังมีความสุข เขาเป็นคนชอบดนตรี ชอบแต่งตัว ชอบซิการ์ ชีวิตแบบนี้ในยุค 70s จนถึงต้น 80s คือสิ่งที่พระเจ้าประทานมาให้ ยังไม่นับลูกชายอีก 2 คน ซึ่งผูกโยงความรักของทั้งคู่ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
เดือนมีนาคม 1982 ฌอง-ปิแอร์ เดินทางไปฝึกซ้อมและอบรมการเป็นโค้ชที่บูกิญง เป็นเวลา 3 วัน ไม่มีใครรู้ว่าอะไรรอคอยอยู่
วันสุดท้ายของการอบรมเขาได้รับบาดเจ็บหัวเข่าระหว่างการฝึกซ้อม และไม่มีใครคาดติดเช่นกันว่า อาการเจ็บนั้นจะส่งผลมากแค่ไหนต่อครอบครัวอดัมส์
ฌอง-ปิแอร์ เดินทางมาสแกนอาการเจ็บที่โรงพยาบาล เอดูอาร์ แอร์ริโอต์ ในลียง ผลบอกว่าเอ็นหัวเข่าฉีก ซึ่งตามกำหนด เขาต้องเดินทางกลับบ้านเมื่อทราบผลการตรวจ
บนทางเดินที่เขากำลังเดินออกจากโรงพยาบาล เขาสวนกับนายแพทย์คนหนึ่ง ซึ่งรู้เรื่องฟุตบอลเป็นอย่างดี เพราะเป็นแพทย์ที่ดูแลอาการเจ็บของผู้เล่น โอลิมปิก ลียง หมอคนนี้จำ ฌอง-ปิแอร์ ได้ทันที
เมื่อพูดคุยกัน แพทย์คนนี้แนะนำว่าเขาควรเข้ารับการผ่าตัดโดยเร็ว ไม่ควรปล่อยไว้ หมอรีบนัดวันผ่าตัดให้อย่างคล่องแคล่ว 17 มีนาคม 1982
ความโชคร้ายของวันนั้นก็คือ 17 มีนาคม 1982 มีการสไตรค์ หยุดงานของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลจำนวนมาก ซึ่งเอาเข้าจริงอาการเจ็บของ ฌอง-ปิแอร์ ไม่มีความจำเป็นต้องรีบด่วนผ่าตัดเลย แต่ยังไงก็ดี มันกลับเดินหน้าต่อ
ปรากฏว่า คนที่ผ่าตัดให้เขาในวันนั้นคือหมออินเทิร์น แพทย์จบใหม่ ที่ต้องรับผิดชอบถึง 8 เคส พร้อมๆ กันเพราะเหตุสไตรค์อย่างที่บอก
ภายหลังอินเทิร์นคนนี้ยอมรับในชั้นศาลว่าเขาไม่พร้อมสำหรับหน้าที่ในวันนั้นจริงๆ
ฌอง-ปิแอร์ ถูกใส่ท่อช่วยหายใจไม่ดี ท่ออันหนึ่งไปบล็อกหลอดลมปอด หมายความว่าทำให้เขาขาดอ็อกซิเจน ส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้น และเลือดไม่ไปเลี้ยงสมอง
หลังทราบเรื่อง แบร์นาแด็ตต์ ตรงดิ่งมาโรงพยาบาลทันที เธอบอกว่าเขาพบนอนอยู่โดยมีท่อระโยงระยางเต็มไปหมด
เธอไม่ออกจากห้องนานถึง 5 วันเต็ม โดยเชื่อว่าหากเขาฟื้นขึ้นมา เขาจะได้เห็นเธออยู่ตรงนั้นข้างๆ เขา
เมื่อแบร์นาแด็ตต์ เดินออกจากโรงพยาบาลมาสูดอากาศภายนอกอีกครั้ง โลกก็ไม่เป็นเหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว
ฌอง-ปิแอร์ นอนเป็นเจ้าชายนิทรา หลังจากอยู่ในโรงพยาบาล 15 เดือน ก็ได้รับคำแนะนำว่าทางที่ดีที่สุดคือให้ย้ายเขาไปพักบ้านคนชรา เพื่อจะได้มีคนดูแลตลอด
แบร์นาแด็ตต์ ตอบปฏิเสธ เธอตัดสินใจพาเขากลับบ้านเพื่อมาดูแลเขาด้วยตัวเอง
บ้านของพวกเขาถูกตกแต่งปรับปรุงใหม่เพื่อให้เหมาะกับคนทั้งคู่ บ้านนี้ถูกเรียกว่า "Mas ddu bel athlete dormant" หรือ บ้านที่นักกีฬาผู้งดงามได้นอนหลับอยู่
เงินทุนได้มาจากไหน ?
ได้มาจากการร่วมใจของวงการฟุตบอลฝรั่งเศส อดีตต้นสังกัดอย่าง นีมส์ และ เปแอสเช รวมถึงสมาคมฟุตบอลฝรั่งเศส (FFF) ที่มอบเงินก้อนแรก 25,000 ฟรังก์ จากนั้นมอบให้อีกสัปดาห์ละ 6,000 ฟรังก์ ซึ่งหากเทียบค่าเงินปัจจุบัน เท่ากับ 1,140,000 ยูโร ต่อปี
แบร์นาแด็ตต์ ต้องต่อสู้เพื่อความยุติธรรมในชั้นศาลอยู่เกือบ 12 ปี จนสุดท้ายในปี 1993 เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ 2 คนถูกตัดสินว่ามีความผิดโดยไม่เจตนา ลงโทษเพียงจำคุก 1 เดือน และปรับคนละไม่ถึง 1,000 ฟรังก์
เธอคงไม่ไหว หากไม่มีแรงสนับสนุนทั้งแรงใจและกำลังทรัพย์จากวงการฟุตบอล ซึ่งครั้งหนึ่งคนรักของเธอเคยสร้างคุณงามความดีไว้
ในแต่ละวัน แบร์นาแด็ตต์ จะมีเวลาส่วนตัวแค่ไม่นาน เช่นตื่นมาทานอาหารเช้า จากนั้นเธอจะทำความสะอาดร่างกายให้ ฌอง-ปิแอร์, เปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ให้ทุกวัน, พรมน้่ำหอมที่เขาโปรดปราน, ป้อนอาหาร (ปั่นเหลว), ช่วยการขับถ่าย, เปลี่ยนผ้าปูที่นอน และนั่งชั่วโมงแล้วชั่วโมงเล่า อ่านหนังสือให้เขาฟัง หรือดูทีวีเครื่องเล็กๆ แล้วสนทนากับเขาในสิ่งที่เกิดขึ้นในทีวี
เธอต้องคอยพลิกตัวเขาเสมอเพื่อไม่ให้เป็นรอยช้ำ บางครั้งกลางดึกก็ต้องตื่นมาทำ เธอมองเห็นการนอนหลับของเขาสำคัญมากกว่าของตัวเธอเอง
"ฉันซื้่อสิ่งต่างๆ เข้ามาเพื่อเขาจะได้มีห้องที่ดีๆ สักหน่อย อย่างเช่นผ้าปูที่นอน หรือน้ำหอม ไม่มีใครลืมที่จะส่งของขวัญมาให้ ฌอง-ปิแอร์ เลย ไม่ว่าจะเป็นวันเกิดของเขา, วันพ่อ หรือวันคริสต์มาส"
ฌอง-ปิแอร์ อดัมส์ ขยับร่างกายไม่ได้ พูดไม่ได้ แต่หายใจด้วยตัวเองได้ และระบบย่อยอาหารยังทำงานได้ตามปกติ
หากมันเป็นการกระทำระยะสั้นๆ สักเดือน, สามเดือน หรือ 1 ปี มันคงไม่กระไรนักแต่ แบร์นาแด็ตต์ ทำสิ่งนี้มากว่า 36 ปีแล้ว
1
เธอไม่ยอมหมดหวัง เธอบอกว่าไม่แน่ในอนาคต ใครจะรู้ วิทยาการทางการแพทย์เจริญก้าวหน้า อาจมีวิธีรักษาเขาให้กลับมาเหมือนเดิมก็เป็นได้
สิ่งเดียวที่เธอกลัวคือเธอจะจากโลกนี้ไปก่อนเขา เมื่อถึงวันนั้น เธอกลัวว่าจะไม่มีใครดูแลเขาได้ดีเท่าเธอ ส่วนลูกทั้งสองคน เธอไม่อยากโยนโชคชะตาเช่นนี้ไว้ให้พวกเขาแบก
ผู้หญิงคนหนึ่ง ยอมสละชีวิตวัยสาว ดูแลสามีที่เธอรักโดยไม่มีข้อแม้ เธอมองเห็นเขาคือสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตเธอ
หากสิ่งนี้ไม่ใช่ความรัก คงไม่มีสิ่งไหนใช่อีกแล้ว
.
ทุกท่านสามารถติดตามอ่านบทความย้อนหลังได้ที่ ..
.
และเพิ่มเพื่อนไลน์แอด "เพื่อเด้งเตือน" ให้คุณได้อ่านก่อนใคร กดที่ลิงค์นี้ครับ
ขอบคุณครับ
โฆษณา