30 ต.ค. 2019 เวลา 12:57 • ธุรกิจ
สวัสดีอาลีบาบาและแจ็คหม่า
1
ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษากันแล้ว เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ที่ผ่านมา สำหรับประกาศกรมศุลกากร เรื่อง การปฏิบัติพิธีการศุลกากร ณ เขตปลอดอากรกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ภายในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC
1
จริงๆ แล้วกฎหมายฉบับนี้ ไม่ได้จำเพาะเจาะจงสำหรับอาลีบาบานะ ผู้ประกอบการ e-commerce เจ้าอื่นก็มาตั้งแข่งได้เหมือนกัน เพียงแค่แจ็คหม่า เค้าสนิทกับคนไทย เริ่มเข้ามาก่อนเท่านั้นเอง
แอดมินก็เลยรวบรวมสรุปที่มาที่ไปของเรื่องนี้ และความเคลื่อนไหวอื่นๆ ของอาลีบาบาในโพสนี้ทีเดียวเลย
1) 19 เมษายน ปีที่แล้ว มีการลงนามความร่วมมือระหว่างอาลีบาบา และไทย ในความร่วมมือ Smart Digital Hub และ Digital Transformation Strategic Partnership
โดยความร่วมมือดังกล่าว ประกอบด้วย การใช้ e-commerce เพื่อช่วย SMEs ในการส่งออกสินค้า ทั้งสินค้าเกษตร เช่น ข้าว และทุเรียน รวมไปถึงสินค้าอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการส่งเสริมนักท่องเที่ยวชาวจีน ให้ไปเที่ยวเมืองรองบ้าง และสุดท้าย คือ "ศูนย์ดิจิทัลอัจฉริยะ" (Smart Digital Hub) ซึ่งประกาศกรมศุลกากร ก็คือ ส่วนหนึ่งของสิ่งที่คุยกันไว้
ซึ่งในส่วนของบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างอาบีบาบากับ EEC ก็มี 2 ฉบับด้วยกัน ก็คือ หนึ่ง ความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน  ซึ่งก็คือ การค้า e-commerce โดยใช้แพลตฟอร์มอาลีบาบา และสอง ความร่วมมือด้านการลงทุน ที่ทาง Cainiao บริษัทลูกของอาลีบาบา จะลงทุนด้านลอจิสติกส์ 11,000 ล้านบาทในการพัฒนา ศูนย์ดิจิทัลอัจฉริยะ
2) ที่เป็นประเด็นจนทาง EEC ต้องออกมาชี้แจงก็คือ ศูนย์ดิจิทัลอัจฉริยะ
โดยข้อเท็จจริง ก็คือ อาลีบาบาเขาไม่ได้ขอส่งเสริม BOI จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษี แต่สิ่งที่อาลีบาบา (และเจ้าอื่นๆ ถ้ามาลงทุนใน Smart Digital Hub) ก็คือ การได้รับสิทธิในการชำระภาษี ทุก 14 วัน จากเดิมที่ต้องชำระทุกวัน เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถขอคืนสินค้าได้ภายใน 14 วัน หากสินค้าชำรุด เสียหาย หรือไม่พอใจ อยากคืน
3) จริงๆ แล้วต้องบอกว่าอาลีบาบา ลงทุนในไทยเพียง 11,000 ล้านบาท แต่เมื่อปี 2560 อาลีบาบา อัดฉีดเงินให้ Lazada 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 62,000 ล้านบาท) ส่วนหนึ่งใช้สร้างศูนย์กระจายสินค้า ระดับภูมิภาคในประเทศมาเลเซีย
4) คุณภาวุธ นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทยและผู้ก่อตั้งตลาดดอทคอม ชี้ว่า อาลีบาบา ได้เปรียบจากดีลนี้มาก สิ่งที่น่ากังวลคือ ในอนาคต เหล่าพ่อค้าแม่ค้าที่เป็นตัวกลางรับสินค้าจากจีนมาขายในไทย จะล้มหายตายจาก และผู้ผลิตไทยก็ต้องสู้กับสินค้าจีน เหนื่อยกว่าเดิม
อีกจุดที่น่ากังวลคือ อาลีบาบา มีทุกอย่างในมือ ทั้งข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภค มีระบบจ่ายเงินอย่าง Alipay และยังปล่อยกู้ได้ด้วย กระทบหลายอุตสาหกรรมพร้อมๆ กัน
5) ทางรอดก็มีเหมือนกัน เหมือนที่เราเปิดการค้าเสรีนั่นแหล่ะ เขาส่งมาไทยได้ เราก็ส่งออกไปให้จีน ได้เหมือนกัน แต่คราวนี้ คือ ผู้ประกอบการรายย่อย ที่ต้องพยายามปรับสินค้าและบริการให้ถูกใจผู้บริโภคจีนให้ได้ ดึงความแตกต่างของสินค้าเราออกมาให้ได้ (แต่ก็ต้องระวังโดนลอก เหมือนเคสเถ้าแก่น้อย) และเราก็คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเรียนรู้แพลตฟอร์ม e-commerce ของต่างประเทศ แต่ก็ห้ามยึดติดเจ้าใดเจ้าหนึ่ง ต้องทดลองหลายๆ ช่องทาง
6) อาลีบาบา ยังรุกคืบในไทยอีกก้าว โดยลงทุนใน Flash Express มาแข่งกับ ไปรษณีย์ไทย, Kerry, และเจ้าอื่นๆ ในไทย โดยปีนี้เตรียมลงทุนเพิ่ม 2,500 ล้านบาท เพื่อสร้างระบบขนส่งสินค้าครบวงจร
นอกจาก Flash Express ก็ยังมี Best Express ที่อาลีบาบา ก็มีหุ้นด้วยเหมือนกัน เรียกว่าเข้ามากันทุกทางเลย
ส่วนตัวแอดมินก็ต้องบอกว่าดูทรงแล้วผลเสียมากกว่าผลดี โดยเฉพาะผลกระทบต่อรายย่อย
แต่จริงๆแล้ว ถึงแม้ไม่มีโครงการนี้ เราไปดูใน Lazada ก็มีแต่ของจีนเต็มไปหมดอยู่แล้ว คือเค้ามาตั้งนานแล้วหล่ะ
ดังนั้นทางที่ถูกต้อง ก็คงต้องพยายามใช้โอกาสจากโครงการนี้ส่งออกของไปจีนให้ได้ตามที่เค้าโฆษณาเอาไว้หล่ะ ใครเจอช่องกระซิบบอกที...
Cr. Prachachat
💡ไม่อยากพลาดข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ และกลยุทธ์ทางธุรกิจ
กด  ติดตาม "นำเข้าส่งออก สุดขอบฟ้า"
และสำหรับผู้นำเข้าส่งออก เชิญเข้าร่วมกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ หาช่องทางนำเข้าส่งออก และข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับการนำเข้าส่งออก ได้ที่
โฆษณา