22 พ.ย. 2019 เวลา 09:00 • ธุรกิจ
สรุปกฎหมายเกี่ยวกับ Grab ที่กำลังจะเกิดขึ้น
การนำรถส่วนบุคคล มารับจ้างโดยสารผ่านแอปพลิเคชัน
กำลังอยู่ในกระบวนการทำให้ถูกกฎหมาย
ซึ่งเรื่องนี้ถ้าทุกคนจำกันได้ เป็นหนึ่งนโยบายตอนหาเสียงของพรรคภูมิใจไทย
มาวันนี้เรื่องนี้กำลังจะเกิดขึ้นจริง
โดยล่าสุดมีร่างกฎกระทรวง 2 ฉบับออกมาจากกระทรวงคมนาคม ซึ่งอยู่ในการทำประชาพิจารณ์
แล้วร่างกฎกระทรวงนี้ ระบุไว้ว่าอย่างไรบ้าง
ลงทุนแมนจะสรุปให้ฟัง
ทุกคนรู้ดีว่าตอนนี้ปัญหาที่คนเรียกแท็กซี่เจออยู่บ่อยครั้ง คือ
-เรียกแล้วแท็กซี่ไม่ไป
-ถ้าเป็นชาวต่างชาติ เรียกแล้ว แท็กซี่ไม่กดมิเตอร์
-ถ้าบ้านอยู่ในซอยลึก หรือในหมู่บ้าน ไม่สะดวกออกมาเรียกแท็กซี่
นั่นจึงเป็นสาเหตุของการเกิดขึ้นของแอปพลิเคชันสำหรับการรับจ้างโดยสาร
ถ้าถามว่าในประเทศไทยมีแอปไหนบ้างที่ให้บริการลักษณะนี้
เมื่อก่อนอาจจะมี Uber อยู่ในคำตอบ
แต่ตอนนี้ Grab อาจจะเป็นแอปเดียวที่เรานึกถึง เพราะ Grab ได้ซื้อ Uber ไปแล้ว
เรื่องนี้ทำให้ผู้มีรถส่วนตัวสามารถมีรายได้เสริม
ผู้โดยสารก็ได้ประโยชน์คือ สามารถเรียกรถได้สะดวก ลดปัญหาแท็กซี่ไม่ไป
ด้วยเหตุผลนี้ ทำให้ที่ผ่านมา การใช้บริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชันมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ
ในขณะเดียวกันก็มีแท็กซี่บางส่วนไม่พอใจ เพราะ Grab เข้ามาแย่งลูกค้าโดยไม่มีใบอนุญาตแบบถูกกฎหมายเหมือนแท็กซี่
ดังนั้น สิ่งที่ทุกคนสงสัยคือ เป็นไปได้ไหมว่า Grab จะถูกกฎหมาย?
ซึ่งเรื่องนี้เป็นประเด็นหลักที่พรรคภูมิใจไทยใช้ตอนหาเสียงว่าจะทำให้ Grab ถูกกฎหมาย
มาวันนี้พรรคภูมิใจไทยได้ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นกฎหมายเรื่องนี้ถูกผลักดันตามสิ่งที่พรรคได้รับปากไว้
1
Cr. Nikkei Asian Review
ล่าสุด กรมการขนส่งทางบก มีการเปิดให้ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างกฎกระทรวง 2 ฉบับ ผ่านทาง
เว็บไซต์กรมการขนส่งทางบก https://dlt.go.th/th/announce/
เว็บไซต์สำนักงานกฎหมาย กรมการขนส่งทางบก http://elaw.dlt.go.th/
ถ้าเราอ่านจะพบว่า กฎหมายนี้ครอบคลุมเรื่อง หลักเกณฑ์การนำรถยนต์ส่วนบุคคลมาใช้ในการรับจ้างบรรทุกคนโดยสารผ่านแอปพลิเคชัน
2
รวมไปถึง การขอรับใบอนุญาตประกอบการของบริษัท
เรื่องนี้น่าสนใจ เพราะถ้ากฎกระทรวงนี้ถูกบังคับใช้ เราจะเป็นประเทศที่ 3 ในภูมิภาคนี้ที่ใช้ Grab ได้ถูกกฎหมาย ตามหลังมาเลเซีย และ สิงคโปร์
แล้วทำไมต้องมีกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว?
จุดประสงค์ของกฎหมายนี้ระบุว่าปัจจุบันมีผู้นำรถยนต์ส่วนบุคคลมารับจ้างโดยสารเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นการยากที่จะต่อต้าน
และเนื่องจากกระแสความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและการใช้รถให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงจำเป็นต้องมีมาตรการควบคุมและกำหนดเงื่อนไขเพื่อให้ประชาชนได้รับความปลอดภัย และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับรถยนต์สาธารณะในระบบอีกด้วย
แล้วเนื้อหากฎหมายระบุไว้ว่าอย่างไร?
ลงทุนแมนจะขอสรุปเนื้อหาเบื้องต้นก็คือ
ด้านบุคคล
1. บุคคลที่จะนำรถส่วนตัวมาให้บริการ ต้องเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย
2. บุคคลนั้นต้องมีสิทธิ์ครอบครองรถนั้น
3. บุคคลนั้นต้องมีใบขับขี่รถยนต์สาธารณะ
4. บุคคลนั้นต้องผ่านการอบรมตามที่กฎหมายกำหนด
ด้านตัวรถ
1. รถต้องมีเครื่องอุปกรณ์ครบถ้วน มีความสะอาดเหมาะสมสำหรับรับคนโดยสาร
2. รถต้องมีอายุไม่เกิน 9 ปี โดยต้องเป็นรถที่ไม่ถูกดัดแปลง หรือซ่อมแซมจากรถที่ประสบอุบัติเหตุรุนแรง
3. รถต้องมีกระจก ต้องมองเห็นชัด กระจกด้านหน้าถ้าติดฟิล์ม ต้องให้แสงผ่านได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ในกรณีนี้ใครที่ติดฟิล์มมืดมากๆ จะนำรถมาให้บริการไม่ได้
4. ต้องให้บริการในท้องที่ที่รถนั้นจดทะเบียนเป็นหลัก เช่น รถเชียงใหม่ไปให้บริการในกทม.ไม่ได้ รถกทม.ไปให้บริการในเชียงใหม่ไม่ได้
5. ชั่วโมงการทำงานปกติกับการขับรถให้บริการ ต้องไม่เกิน 12 ชั่วโมง เราจะขับรถหามรุ่งหามค่ำไม่ได้
6. รถที่ให้บริการนี้ต้องติดเครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ตามที่กำหนด
2
ด้านบริษัทที่ขอใบอนุญาต
1. บริษัทต้องเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนตามกฎหมายไทย
2. บริษัทต้องมีพื้นที่ให้บริการที่ครอบคลุม มีโครงสร้างองค์กรที่น่าเชื่อถือ มีระบบเทคโนโลยีเป็นของตนเอง มีหลักเกณฑ์การคิดและแสดงค่าโดยสารตามกฎหมายที่กำหนด
3. มีศูนย์บริการลูกค้าและรับเรื่องร้องเรียน 24 ชั่วโมง และมีระบบจัดการข้อร้องเรียน โดยให้มีการระงับการให้บริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ทันที และที่น่าสนใจคือ การบริการลูกค้า ต้องมีภาษาให้บริการอย่างน้อย 3 ภาษา นั่นก็คือ ไทย อังกฤษ และ จีน
1
เมื่อไปดูข้อมูลของศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพที่สำรวจความคิดเห็น มีคนเห็นด้วยมากถึง 95.7% ที่จะให้รถรับจ้างสาธารณะผ่านแอปพลิเคชันถูกกฎหมาย
เหตุผลหลักที่พวกเขาเห็นด้วยก็คือ
1. บริการประเภทนี้ปลอดภัย เพราะมีข้อมูลผู้ขับ และทะเบียนรถเป็นหลักฐานในแอปพลิเคชัน
2. บริการประเภทนี้ไม่ปฏิเสธผู้โดยสาร เรียกใช้บริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง
3. บริการประเภทนี้สะดวก ใช้งานง่าย ทั้งเวลาเรียกรถ เวลาจ่ายเงิน
Cr. TechCrunch
อย่างไรก็ตาม เรื่องที่ผู้ตอบคำถามอยากให้มีเพิ่มเติม ถ้าเรื่องนี้ถูกกฎหมายแล้วก็คือ
1. เรตอัตราค่าโดยสารต้องยุติธรรม
2. สภาพรถใหม่พร้อมใช้บริการ
3. ควรมีสติกเกอร์หรือสัญลักษณ์บ่งบอกที่ตัวรถที่ให้บริการ
ทั้งหมดนี้น่าสนใจ เพราะดูเหมือนว่าเมื่อก่อน การนำรถส่วนบุคคลมาขับให้บริการจะเป็นอิสระไม่มีใครควบคุม มาวันนี้รัฐเห็นว่าไหนๆ ก็ห้ามไม่ได้ จึงตั้งกฎเกณฑ์ขึ้นมากำกับและควบคุมให้เป็นระเบียบเรียบร้อย และมีความปลอดภัยมากขึ้น
ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า กฎกระทรวงนี้จะผ่านการประชาพิจารณ์และถูกบังคับใช้เมื่อไร
ต่อไป คนขับ Grab ก็คงไม่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ
คนใช้บริการ Grab ก็มั่นใจในความปลอดภัยมากขึ้น
บริษัท Grab ก็ต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด
ส่วนแท็กซี่ในระบบเดิมก็จะได้ปรับตัวถูก และได้รับความเป็นธรรม เพราะ Grab ก็ต้องมาอยู่ในกฎกติกาที่ถูกควบคุมไม่ให้ได้เปรียบแท็กซี่เช่นกัน
และสุดท้ายคนที่ได้ประโยชน์ที่สุด
ก็น่าจะเป็นประชาชนส่วนใหญ่ที่ได้ใช้บริการอย่างสะดวกและปลอดภัยมากขึ้นนั่นเอง..
ใครอยากแสดงความคิดเห็นต่อร่างกฎกระทรวงนี้ลองเข้าไปที่ลิงก์
เว็บไซต์กรมขนส่งทางบก https://dlt.go.th/th/announce/
เว็บไซต์ สำนักงานกฎหมายกรมขนส่งทางบก http://elaw.dlt.go.th/
รัฐเปิดรับฟังความคิดเห็นจนถึงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2562
โฆษณา