ตอนที่ 1/2 ทฤษฎีวิวัฒนาการก่อน ชาร์ลส์ ดาร์วิน
(วันนี้เมื่อ 161 ปีที่แล้ว On the Origin of Species ตีพิมพ์ออกมาเป็นครั้งแรก)
1.
เรื่อราวที่เราจะคุยกันนี้เริ่มต้นขึ้นที่กลางมหาสมุทรแปซิฟิคในปี ค.ศ. 1835 หรือกว่า 170 ปีที่แล้ว
บนเรือหลวง HMS Beagle ของสหราชอาณาจักรซึ่งกำลังมุ่งหน้าตรงไปยังหมู่เกาะกาลาปากอสมีนักธรรมชาติวิทยาหนุ่มชาวอังกฤษคนหนึ่งเดินทางไปร่วมไปด้วย
HMS Beagle
หลายปีจากวันนั้น เขาจะค่อยๆนำเรื่องราวที่พบในระหว่างการเดินทางมาปะติดปะต่อเข้าด้วยกัน และอีก 20 หลังจากการเดินทางสิ้นสุดลงเขาก็ตีพิมพ์เรื่องราวเหล่านั้นออกมาเป็นหนังสือเล่มหนึ่ง หนังสือที่จะลบล้างความเชื่อเดิมเกี่ยวกับคนและสิ่งมีชีวิตต่างๆไปอย่างสิ้นเชิง หนังสือเล่มนั้นจะให้คำตอบว่าคนเราเป็นใครและคนมีจุดยืนอยู่ที่ไหนในธรรมชาติ
ทว่าชายหนุ่มที่เข้ามามีบทบาทต่อวงการชีววิทยาของโลกไปตลอดกาลผู้นี้คือใคร? จะเข้าใจความเป็นมาของเขาได้ เราคงต้องย้อนเวลากลับไปนานกว่ายุคนั้นอีกประมาณ 100 ปี
การจะเข้าใจประวัติศาสตร์ของเรื่องนี้แบบเห็นภาพได้ เราคงต้องลืมสิ่งที่เคยรู้มาก่อนแล้วเริ่มต้นจินตนาการว่าเราเป็นชาวอังกฤษที่มีชีวิตอยู่เมื่อประมาณ 250 ปีก่อน
วันหนึ่งขณะที่อายุได้ 10 ขวบ เราถามพ่อว่า “พ่อเป็นลูกของปู่ ปู่เป็นลูกของทวด แล้วถ้าไล่ไปเรื่อยๆ มนุษย์คนแรกมาจากไหนกัน?”
คำตอบที่เราได้รับจะเป็นคำตอบที่คนส่วนใหญ่ในยุโรปยุคนั้นเชื่อกัน คือ พระเจ้าสร้างโลกขึ้นมา และพระเจ้าก็สร้างสิ่งมีชีวิตทุกชนิดขึ้นมาในโลกซึ่งรวมไปถึงคนด้วย
ถ้าเรายังสงสัยและถามพ่ออีกว่า “โลกถูกสร้างขึ้นเมื่อไหร่?” พ่อซึ่งขยันตอบและรอบรู้ของเราก็จะตอบว่า “อารค์บิชอพ เจมส์ อัชเชอร์ (Bishop James Usher) ได้คำนวนเอาไว้ โดยนำข้อมูลต่างๆ จากพระคัมภีร์มาคำนวนและ พบว่าพระเจ้าทรงสร้างโลกในเช้าวันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม ประมาณ 9 โมงเช้า 4004 ปีก่อนพระเยซูประสูติ”
Bishop James Usher
เราอาจสงสัยว่าโลกเมื่อสร้างขึ้นมาครั้งแรกนั้นมีหน้าตาเป็นอย่างไร พ่อก็จะเล่าต่อว่า “โลกที่พระเจ้าสร้างขึ้นก็เป็นอย่างที่เราเห็นนี่แหละ ธรรมชาติเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น สัตว์หน้าตาอย่างไรก็หน้าตาอย่างนั้น สิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมามันมีความสมบูรณ์ในตัวเอง หลายพันปีที่ผ่านมาโลกนี้ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง” เราพอใจกับคำตอบนั้น ทุกอย่างฟังดูง่าย ตรงไปตรงมา
ใครๆ ในยุโรปศตวรรษที่ 18 ก็เชื่อเช่นนี้ เพราะเมื่อมองไปรอบตัว เราก็เห็นจริงอย่างที่พ่อว่าไว้ ทุกอย่างเหมือนเดิม ภูเขาที่ปู่ปีนเล่นตอนเด็กๆ พ่อก็เคยปีน เราเองก็เคยปีน และลูกเราก็จะได้ปีน แม่น้ำลำธารอยู่อย่างไรก็อยู่อย่างนั้น แต่ความเชื่อนี้กำลังจะถูกเปลี่ยนแปลง ความเชื่อเดิมกำลังจะถูกท้าทาย ไม่ไกลออกไปจากเกาะอังกฤษนัก นักคิดชาวฝรั่งเศสกลุ่มหนึ่งเริ่มตั้งคำถามกับความเชื่อเดิมและเสนอความคิดใหม่ๆ ซึ่งความคิดเหล่านี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในวงการวิทยาศาสตร์
2.
ในปี ค.ศ. 1738 หรือเกือบๆ 300 ปีมาแล้ว ในประเทศฝรั่งเศส
เบนัวต์ เดอมาเยต์ (Benoît de Maillet) ได้ตีพิมพ์หนังสือออกมาหนึ่งเล่มที่แปลเป็นภาษาอังกฤษแล้วมีชื่อยาวเหยียดว่า “Telliamed, Or Conversation Between an Indian Philosopher and a French Missionary on the Diminution of the sea, the Formation of the Earth, the Origin of Man, and so on”
Benoît de Maillet
เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้เล่าถึงบทสนทนาของมิชชันนารีชาวฝรั่งเศสกับนักปราชญ์ชาวอินเดียในเรื่องการลดลงของระดับน้ำทะเล กำเนิดของโลก กำเนิดของมนุษย์ ฯลฯ โดยที่หนังสือของเดอมาเยต์ถูกตีพิมพ์หลังจากที่เขาเสียชีวิตไปแล้ว 10 ปี ตามความตั้งใจของเขา
คำถามที่น่าสนใจคือ ทำไมเขาถึงต้องรอให้ตัวเองตายไปก่อนเป็นเวลานานจึงตีพิมพ์?
เดอมาเยต์ เป็นนักการทูตและนักเดินทางที่ชอบศึกษาธรรมชาติ เขามีโอกาสเดินทางไปเที่ยวในหลายๆ ประเทศรอบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และอียิปต์
ด้วยความที่เดอมาเยต์พูดภาษาอารบิกได้ เขาจึงได้เรียนรู้ความคิดและวัฒนธรรมของคนชาติอื่นๆ อย่างลึกซึ้ง และนั่นทำให้เขาค้นพบว่า ในแต่ละชนชาติ ในแต่ละวัฒนธรรมก็มีเรื่องราวเล่าขานถึงกำเนิดของโลก กำเนิดของคน และแต่ละวัฒนธรรมก็เชื่ออย่างจริงจังว่าตำนานการเกิดโลกของตัวเองเป็นเรื่องจริง
เดอมาเยต์จึงอดสงสัยไม่ได้ว่าเรื่องราวของวัฒนธรรมใดกันแน่ที่เป็นเรื่องที่ถูกต้อง สิ่งที่เขาเชื่อว่าถูกจริงๆแล้วถูกต้องหรือไม่ ถ้าสิ่งที่เขาเชื่อมันไม่ถูกแล้วความจริงมันเป็นเช่นไร
นอกไปจากนี้ การที่เดอมาเยต์มีโอกาสเดินทางไปหลายที่ ทำให้เขาสังเกตเห็นร่องรอยการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงของภูเขา ของหน้าผา ทำให้เขาเชื่อว่าธรรมชาติไม่ได้อยู่นิ่งเหมือนที่เขาเรียนรู้มา
จากสิ่งต่างๆ ที่พบเห็นมาทำให้เดอมาเยต์เริ่มมีแนวคิดของตัวเองเกี่ยวกับการเกิดของโลก แต่การเสนอแนวคิดที่ขัดกับหลักศาสนาคริสต์ในยุคนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ปลอดภัยนัก เขาจึงจำเป็นต้องอุปโลกนักปราชญ์ขึ้นมาคนหนึ่งแล้วให้ชื่อว่า เทลิอาเมด (Telliamed) ซึ่งก็คือชื่อของเขาเขียนย้อนกลับ (de Maillet) แล้วก็ให้ปราชญ์คนนั้นเป็นชาวอินเดีย เพราะคงจะไม่มีใครตามไปเอาผิดหรือหาเรื่องกับคนอินเดียเป็นแน่
เดอมาเยต์เสนอแนวคิดว่า โลกแต่เดิมปกคลุมด้วยน้ำทั้งหมด ต่อมาระดับน้ำทะเลค่อยๆ ลดลง กระแสของน้ำที่ไหล บวกกับแรงลมก็ค่อยๆ กัดเซาะทำให้เกิดเป็นภูเขารูปร่างต่างๆ ต่อมาเมื่อมีพื้นดินก็เกิดสิ่งมีชีวิตที่อาศัยบนบก สิ่งมีชีวิตก็เปลี่ยนรูปร่างไปเรื่อยๆ จนกลายมาเป็นสิ่งมีชีวิตในปัจจุบัน คนเองก็เกิดมาจากการเปลี่ยนแปลงนี้ด้วยเช่นกัน
3.
จอร์ช ลูอี เลอแคลร์ คอมเต เดอ บุฟง (Georges-Louis Leclerc Comte de Buffon) อาศัยอยู่ในช่วงเวลาเดียวกับเดอมาเยต์ คือกลางๆ ของศตวรรษที่ 18
สถานะทางสังคมของบุฟงต่างจากเดอมาเยต์ เพราะบุฟงเป็นนักวิชาการที่มีชื่อเสียงและมีคนเชื่อถือจำนวนมาก บุฟงเขียนตำราเกี่ยวกับธรรมชาติออกมาถึง 36 เล่ม
หนึ่งในความคิดใหม่ๆ ที่เขาเสนอคือ โลกเคยเป็นส่วนหนึ่งของดวงอาทิตย์ ต่อมามีดาวหางวิ่งเข้าไปชนดวงอาทิตย์ ทำให้มีสะเก็ดจากดวงอาทิตย์แตกกระจายออกมา สะเก็ดดาวเหล่านี้ค่อยๆ แปรเปลี่ยนเป็นดาวเคราะห์ต่างๆ และหนึ่งในนั้นก็คือ โลก และนั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ดาวต่างๆ หมุนรอบและหมุนไปทิศเดียวกับดวงอาทิตย์ จากนั้นเมื่อโลกเย็นตัวลง สิ่งมีชีวิตต่างๆ ก็เกิดขึ้น
แม้ว่าบุฟงจะเป็นนักวิชาการที่ได้รับความเชื่อถือสูง ทว่าหลังงานเขียนของเขาถูกตีพิมพ์ออกมา บุฟงก็โดนโจมตีจากคริสตจักรอังกฤษอย่างหนัก สุดท้ายบุฟงจึงต้องตัดสินใจถอนคำพูดและยกเลิกแนวคิดนี้ไปเพื่อเลี่ยงปัญหา ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วตัวบุฟงเองไม่ได้ปฏิเสธการมีอยู่ของพระเจ้า เขาเชื่อว่าพระเจ้าสร้างทุกอย่างในตอนแรก สร้างกฎของจักรวาล แล้วปล่อยให้ทุกอย่างดำเนินไปตามทางของมันเอง
แนวคิดของเดอมาเยต์กับบุฟง ไม่ได้เป็นทฤษฎีแบบวิทยาศาสตร์ที่อธิบายด้วยกลไกและมีหลักฐานสนับสนุน เป็นเพียงความคิดที่เกิดขึ้นมาลอยๆ แต่แนวคิดของสองคนนี้ก็มีอิทธิพลที่ทำให้คนตั้งคำถามและพยายามที่จะหาคำอธิบายใหม่ๆ เกี่ยวกับประวัติของโลกที่แตกต่างออกไปจากความเชื่อเดิม และยังมีผลต่อนักวิทยาศาสตร์ที่สำคัญรุ่นถัดมาอย่างน้อยอีกสองคน คือ คูวิเอร์และลามาร์ก
4.
ณ กรุงปารีส ปี ค.ศ. 1796 มีการบรรยายทางวิชาการครั้งสำคัญเกิดขึ้น
การบรรยายของ จอร์ช คูวิเอร์ (Georges Cuvier) ในวันนั้นมีความพิเศษเพราะ คูวิเอร์ นำกะโหลกช้างมาวางแสดงไว้สามชิ้น
เลคเชอร์โดยคูวิเอร์
ชิ้นแรกคือกระโหลกของช้างเอเชีย ชิ้นที่สองเป็นกระโหลกของช้างแอฟริกา และสุดท้ายเป็นกระโหลกของช้างแมมมอธ
สิ่งที่คูวิเอร์ชี้ให้ผู้ฟังเห็นคือจุดที่ต่างกันของกระดูกช้างทั้งสามชนิด และลักษณะที่ต่างกันนี้มีประโยชน์อย่างไรในสิ่งแวดล้อมที่มันอาศัยอยู่
1
คูวิเอร์ถือได้ว่าเป็นคนแรกที่นำกายภาพของสัตว์ต่างๆ มาเปรียบเทียบกันและพยายามมองถึงเหตุผลของความแตกต่างเหล่านั้น ซึ่งวิธีการศึกษาแบบนี้ของคูวิเอร์ทำให้เกิดวิชาใหม่ที่เรียกว่า Comparative Anatomy (กายวิภาคเปรียบเทียบ)ขึ้นมา
แต่ความสำคัญของการบรรยายครั้งนั้นคือ เป็นครั้งแรกที่มีการพิสูจน์ด้วยหลักฐานว่า การสูญพันธุ์เป็นเรื่องจริงที่เกิดได้ในธรรมชาติ เขาแสดงให้เห็นว่าแมมมอธคือช้างที่เคยมีชีวิตอยู่และได้สูญพันธุ์ไปแล้ว
สำหรับเราๆ อาจนึกภาพไม่ออกว่าการบรรยายของ คูวิเอร์ มันน่าสนใจตรงไหน แต่สำหรับคนในยุคนั้นที่เชื่อว่าทุกอย่างคงที่ สิ่งรอบตัวที่เห็นก็เป็นอย่างที่เห็นมาตลอด ต้นไม้ ลำธาร ภูเขา พ่อเห็นอย่างไรลูกก็เห็นเช่นนั้น ไม่มีใครเคยจินตนาการมาก่อนว่าโลกในอดีตจะมีต้นไม้หน้าตาประหลาด สัตว์ใหญ่ยักษ์รูปร่างพิสดารเดินไปเดินมาอยู่แถวบ้าน
นอกไปจากนั้น ความคิดที่ว่าสัตว์ที่สร้างโดยพระผู้เป็นเจ้าจะสูญพันธุ์ได้ เป็นความคิดที่ใหม่และแปลก ถ้าสัตว์หรือต้นไม้สูญพันธ์ได้จริงๆ คำถามต่อมาที่อดสงสัยต่อไม่ได้คือ ”อะไรที่ทำให้สัตว์สูญพันธุ์?”
คูวิเอร์เชื่อว่าการสูญพันธุ์เกิดจากทฤษฎีที่มีชื่อว่า Catastrophism หมายความว่าโลกเราเกิดความหายนะขึ้นเป็นระลอกๆ เมื่อเกิดความหายนะขึ้นแต่ละครั้งสัตว์ก็จะสูญพันธุ์ไป จากนั้นสิ่งมีชีวิตต่างๆ ก็จะเริ่มต้นใหม่ หนึ่งในตัวอย่างของความหายนะที่คูวิเอร์เชื่อคือน้ำท่วมโลกซึ่งมีบันทึกไว้ในพระคัมภีร์ของศาสนาคริสต์
5.
Jean-Baptiste Pierre Antoine de Monet, Chevalier de Lamarck หรือนิยมเรียกกันสั้นๆ ว่า จอห์น แบบติส ลามาร์ก เป็นนักคิดอีกคนที่อยู่ในยุคใกล้กับนักคิดคนอื่นๆที่เล่ามาแล้วด้านบน
ลามาร์ก
ความสัมพันธ์ของลามาร์กกับบุฟง อาจจะเรียกว่า ลามาร์กเป็นลูกศิษย์ของบุฟงได้ เพราะลามาร์กเป็นเด็กฝึกหัดของบุฟงและรับแนวคิดส่วนหนึ่งมาจากบุฟง ต่อมาในระยะหลังเมื่อลามาร์ก ไปทำงานที่พิพิธภัณฑ์ก็ไปทำงานในตำแหน่งที่ถือว่าเป็นลูกน้องของคูวิเอร์ซึ่งเป็นที่รู้กันทั่วไปว่าสองคนนี้ไม่ค่อยชอบหน้ากันเท่าไหร่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความเชื่อทางวิชาการต่างกัน นอกจากนั้นคูวิเอร์ ยังชอบนำทฤษฎีของลามาร์กมาล้อเลียนในเชิงตลกขบขัน
บทบาทที่สำคัญของลามาร์กคือเขาเป็นคนแรกที่พยายามอธิบายว่าวิวัฒนาการทำงานอย่างไร เขาพยายามที่จะเข้าใจกลไกที่อยู่เบื้องหลัง โดยนำความรู้ทางฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยาในขณะนั้นเชื่อมเข้าด้วยกัน เพื่ออธิบายการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ
ลามาร์กเชื่อว่าธรรมชาติที่พระเจ้าสร้างมีความฉลาดที่จะหาจุดสมดุลให้ตัวเองได้ และสัตว์ที่พระเจ้าสร้างจะสูญพันธ์ไปไม่ได้ แต่สามารถเปลี่ยนไปเป็นสัตว์อื่นๆ ได้ ดังนั้นสัตว์โบราณที่หายไปไม่ได้สูญพันธุ์ แต่เปลี่ยนไปเป็นสัตว์ที่หน้าตาต่างไปจากเดิม
นอกไปจากนี้ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ธรรมชาติจะปรับตัวไปหาสมดุลใหม่ ดังนั้นลามาร์กจึงไม่เชื่อทฤษฎีความหายนะ ไม่เชื่อเรื่องการสูญพันธุ์
ในหนังสือ Zoological Philosophy ของลามาร์กที่ตีพิมพ์ออกมาในปี 1809 ได้อธิบายกลไกการเปลี่ยนแปลงของสัตว์ว่าเกิดจากการใช้หรือไม่ใช้อวัยวะ (Use and Disuse) หมายความว่า การที่สัตว์พยายามใช้ร่างกายส่วนใด ส่วนนั้นจะเกิดเป็นอวัยวะใหม่ขึ้นมาได้ เช่น สัตว์พยายามมองบ่อยๆ แล้วตาจะค่อยๆ เกิดขึ้น หรือถ้ามีอวัยวะนั้นอยู่แล้วอวัยวะนั้นก็จะขยายใหญ่ขึ้น เช่น ยีราฟพยายามยืดคอขึ้นไปกินใบไม้ คอของยีราฟก็จะยาวขึ้น
ลามาร์กอธิบายว่ามีพลังในธรรมชาติซึ่งอาจเป็นพลังไฟฟ้า หรือของเหลวข้างในร่างกายที่จะไหลไปในทิศที่เราพยายามจะใช้อวัยวะ แล้วพลังนี้จะทำให้ค่อยๆ เกิดอวัยวะหรือเพิ่มขนาดอวัยวะได้ แต่ถ้าไม่ใช้อวัยวะนั้น พลังนี้ก็จะหายไปหรือไหลไปทางอื่น แล้วอวัยวะก็จะค่อยๆ หดหายไป
นอกจากนี้ลักษณะที่เกิดขึ้นในพ่อแม่จากการพยายามใช้หรือไม่ใช้นี้ ยังส่งผ่านไปให้ลูกได้ตามกฎของลามาร์กที่มีชื่อว่า Law of Inheritance of Acquired Characteristic
6.
ข้ามกลับมาที่เกาะอังกฤษ อิรัสมัส ดาร์วิน (Erusmus Darwin) ซึ่งเป็นปู่ของชาร์ลส์ ดาร์วิน อาศัยอยู่ในยุคเดียวกับ คูวิเอร์และลามาร์ก
ดาร์วินคนนี้เป็นหมอที่มีชื่อเสียงขนาดที่เคยได้รับเลือกให้เป็นหมอประจำตัวของพระเจ้าจอร์ชที่สาม แต่ดาร์วินปฏิเสธไป นอกจากจะเป็นหมอที่มีชื่อเสียงแล้วเขายังเป็นกวี นักประดิษฐ์และนักธรรมชาติวิทยา
เขาเขียนหนังสือเกี่ยวกับธรรมชาติออกมาสองเล่มชื่อว่า Zoonomia และ The Temple of Nature ซึ่งในหนังสือที่เขาเขียนมีเนื้อหาโลกของเราเก่ามาก สิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นเองเมื่อนานมาแล้ว และค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆตลอดเวลา ดาร์วินคนปู่ได้ยกตัวอย่าง การเกิดสัตว์ชนิดใหม่ที่มาจากการคัดเลือกพันธุ์ของมนุษย์ ถึงแม้ว่าดาร์วินจะเขียนถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลง แต่เขาไม่เคยให้เหตุผลหรือพยายามอธิบายว่าสิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นได้อย่างไร
7.
อังกฤษในยุคนั้นอยู่ในช่วงต้นของการปฏิวัติอุตสาหกรรม ก่อนหน้านั้นไม่มีใครสนใจธรณีวิทยา ไม่ค่อยมีคนสนใจเรื่องหินแร่ หรือฟอสซิลอย่างจริงจัง คนส่วนใหญ่เกิดตรงไหนก็อยู่ตรงนั้นจนตาย เมื่อไม่ได้เดินทางไปที่ไกลๆ จึงไม่มีโอกาสได้เห็นภูมิประเทศส่วนอื่นๆ
แต่ทุกอย่างเปลี่ยนไปเมื่อมีการปฏิวัติอุตสาหกรรม คนจากชนบทก็ย้ายเข้าสู่เมือง คนเดินทางย้ายถิ่นฐานเพื่อไปทำงานไกลๆ ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมก็ต้องใช้แร่โลหะมากขึ้น จึงมีการขุดดินเพื่อทำเหมืองหรือขุดคลองเพื่อการขนส่ง เมื่อขุดลึกลงไปคนก็เริ่มสังเกตว่าดินแต่ละที่ไม่เหมือนกัน หินและดินแต่ละชั้นก็หน้าตาไม่เหมือนกัน
จุดที่น่าสนใจคือ ในแต่ละชั้นของดินมีฟอสซิลที่หน้าตาแตกต่างกันออกไป ปริมาณฟอสซิลในแต่ละชั้นก็ไม่เท่ากัน บางชั้นมีมาก บางชั้นมีน้อย ฟอสซิลของสัตว์และพืชที่ต่างกันในแต่ละชั้นนี้แสดงให้เห็นว่า ในแต่ละยุคมีสัตว์ที่รูปร่างหน้าตาแตกต่างกันไปอาศัยอยู่
ฟอสซิลของสัตว์และพืชที่พบในแต่ละชั้นดินก็ต่างกันไป
นักวิทยาศาสตร์เริ่มตั้งสมมติฐานเพื่อจะอธิบายว่าทำไมหินแต่ละที่ ดินแต่ละแห่งถึงเป็นอย่างที่มันเป็น ทฤษฎีต่างๆ ทางธรณีวิทยาก็เริ่มเกิดขึ้น
ทั้งหมดที่เล่ามาคือภาพกว้างๆ ของยุโรปในยุคนั้น เมื่อสังคมเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว คนเริ่มสงสัยและท้าทายความคิดเก่าๆ พร้อมกับเริ่มตั้งคำถามใหม่ๆ มีการพูดคุยถกเถียงทางวิชาการอย่างเปิดกว้าง สิ่งแวดล้อมนี้ชวนให้คนคิดนอกกรอบเดิมๆ วิชาการหลายๆ สาขาที่เราเรียนกันในปัจจุบันจำนวนไม่น้อยเกิดมาจากความคิดใหม่ๆ ในช่วงนั้น
และหนึ่งในนักคิดคนสำคัญที่ได้รับอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อมของยุคนั้น และเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่เราจะคุยถึงกันต่อในตอนหน้า ซึ่งเป็นตอนสุดท้าย ก็คือ .....
ชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin)
(Ads)
ชอบประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์แบบนี้ แนะนำอ่านหนังสือ "เรื่องเล่าจากร่างกาย" สามารถสั่งซื้อได้จาก
อ่านบทความประวัติศาสตร์อื่นๆเพิ่มเติมได้ที่
อ่านบทความวิทยาศาสตร์และการแพทย์ได้ที่
คลิปวีดีโอเกี่ยวกับประวัติศาสตร์
เพิ่งเริ่มทำนะครับ ช้านิดแต่จะมีคลิปใหม่ๆตามมาอีกแน่นอน
โฆษณา