27 พ.ย. 2019 เวลา 00:45 • บันเทิง
Chernobyl (2019) เชอร์โนบิล : มินิซีรี่ส์ถอดบทเรียนจากหนึ่งในภัยพิบัติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ครั้งร้ายแรงของมวลมนุษยชาติ
26 เมษายน 1986 เครื่องปฎิกรณ์หมายเลขสี่ ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล ที่ตั้งอยู่ในยูเครน (ซึ่งตอนนั้นคือส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต)เกิดการลุกไหม้ ส่งผลให้ปริมาณกัมมันตรังสีจำนวนมหาศาลรั่วไหลออกมา ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสิ่งมีชีวิตรอบๆโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้กินวงกว้างครอบคลุมพื้นที่กว่า 200 กิโลเมตร
มีผู้คนต้องอพยพออกจากพื้นที่เพราะเหตุการณ์ครั้งนี้กว่า 335,000 คน พื้นที่ 30 กิโลเมตรรอบเตาปฏิกรณ์ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่หวงห้าม
และกระแสลมได้พัดกัมมันตรังสีกระจายไปทั่วทั้งทวีป ครอบคลุมพื้นที่ตะวันตกของสหภาพโซเวียต ยูเครน เบลารุส สวีเดน ฟินแลนด์และอีกหลายประเทศในยุโรป
แม้เหตุการณ์จะผ่านมากว่า 33 ปีแล้ว แต่กัมมันตรังสียังคงตกค้างอยู่
ความเข้มข้นของปริมาณรังสีที่รั่วไหลออกมาส่งผลให้เสื้อผ้าของนักดับเพลิงที่ใส่ในวันเกิดเหตุยังคงแผ่รังสีอันตรายออกมาจนถึงทุกวันนี้
นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าพื้นที่แห่งนี้ไม่สามารถใช้เป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตใดๆอีกราว 20,000 ปี
นี่คือเรื่องราวบางส่วนจาก Chernobyl มินิซีรี่ส์ความยาว 5 ตอน ของHBO
1
เป็นซีรีส์ที่ได้รับคำวิจารณ์เชิงบวกจากนักวิจารณ์หลายสำนัก
หนังให้รายละเอียดของเหตุการณ์ได้ดีมาก
ด้วยความยาว 5 ชั่วโมง จึงสามารถไล่ลำดับเหตุการณ์และอธิบายให้ผู้ชมอย่างเราทราบถึงต้นเหตุของภัยพิบัติครั้งนี้ รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์นี้ ตั้งแต่หนึ่งวัน สองวัน หนึ่งสัปดาห์ จนถึงสี่เดือนหลังจากนั้น
ตัวละครหลักส่วนใหญ่คือบุคคลที่มีอยู่จริงตามประวัติศาสตร์
เหตุการณ์ที่เราได้ชมจากซีรีส์เรื่องนี้คือบทเรียนอันใหญ่หลวงของการจัดการกับวิกฤตของรัฐบาล รวมถึงความเลวร้ายของทางการที่พยายามปิดข่าว จนส่งผลกระทบวงกว้างต่อผู้คนมากมาย
ภาพบางส่วนจากภาพยนตร์เรื่อง Chernobyl (2019)
ในบทความนี้ผมจะอธิบายลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามที่ซีรีส์ถ่ายทอดไว้
(หมายเหตุ : มีการสปอยด์เนื้อหาบางส่วน)
โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลแห่งนี้ใช้พลังงานนิวเคลียร์ผลิตกระแสไฟฟ้า หลักการทำงานคร่าวๆของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ คือ การใช้ความร้อนจากปฎิกิริยาฟิชชั่น ทำให้น้ำกลายเป็นไอน้ำเพื่อหมุนกังหันสำหรับผลิตไฟฟ้า
ปฎิกิริยาฟิชชั่นนั้นเกิดจากการที่นิวเคียสของอะตอมแตกตัวเป็นสองส่วน ซึ่งในปฎิกิริยานี้มวลของนิวเคียสส่วนหนึ่งจะหายไป กลายเป็นพลังงานออกมาและเกิดเป็นนิวตรอนใหม่อีก 2-3 ตัว ซึ่งจะวิ่งไปยิงนิวเคียสของอะตอมอื่นให้แตกตัวเป็นลูกโซ่ต่อเนื่องไป (ดูภาพประกอบ)
ซึ่งแร่ธาตุที่นำมาใช้เพื่อสร้างปฎิกิริยาฟิชชั่นคือ ยูเรเนียม หรือ พลูโตเนียม
สิ่งนี้เกิดขึ้น ณ แกนปฏิกรณ์ จะสร้างความร้อนที่สูงมาก
ความร้อนเหล่านี้จะถูกนำออกมาผ่านตัวนำความร้อน ซึ่งก็คือ น้ำ,เกลือหลอมละลายหรือก๊าซคาร์บอนไดอออกไซค์ จนท้ายที่สุดตัวนำความร้อนกลายเป็นไอน้ำ และไปหมุนกังหันเพื่อผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าต่อไป
ด้วยระบบนี้ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะต้องป้องกันและรักษาสมดุลเตาปฎิกรณ์ให้มีความสมดุลของความร้อน ซึ่งปกติจะมีระบบหล่อเย็น(น้ำ)คอยควบคุม
ปัญหาคือเมื่อใดที่ขาดพลังงานที่ใช้ดันน้ำเข้าในระบบ(อาจเกิดจากสงคราม หรือปัจจัยอื่นๆที่ทำให้พลังงานหายไปชั่วคราว) อาจทำให้แกนปฎิกรณ์เกิดความร้อนสูงและระเบิดได้ ดังนั้นการทำงานของระบบหล่อเย็นจึงสำคัญมาก
และจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ครั้งนี้ก็เกิดจากการทดสอบระบบหล่อเย็นของเตาปฎิกรณ์หมายเลข4
เป็นการทดสอบว่าเมื่อเกิดเหตุขัดข้องกับแหล่งพลังงานในระบบหล่อเย็นแล้ว พลังงานสำรองจะใช้การได้หรือไม่ ?
การทดสอบนี้จำเป็นต้องใช้เจ้าหน้าที่ผู้ชำนาญในการปฎิบัติการ แต่วันนั้นโรงไฟฟ้าที่อยู่ใกล้เคียงปิดทำการทำให้ไม่สามารถทดสอบในช่วงกลางวันได้ เพราะต้องคงกำลังการผลิตไฟฟ้าไว้เพื่อชดเชยกับกำลังการผลิตที่หายไป การทดสอบจึงถูกเลื่อนไปเป็นกลางคืน
1
ซึ่งวิศวกรกะกลางคืน คือ วิศวกรหน้าใหม่ที่ประสบการณ์ไม่มากนัก จึงเกิดความผิดพลาดและไม่สามารถควบคุมระดับความร้อนในเตาปฎิกรณ์ได้
จึงตัดสินใจกดปุ่มปิดกลไกเพื่อรักษาระดับพลังงานไว้
การกดปุ่มนี้ทำให้แท่งควบคุมจำนวน 200 กว่าแท่งที่ถอนออกมาตอนทดสอบระบบถูกใส่เข้าไปใหม่
สถานการณ์ที่ควรจะดีขึ้นกลับแย่ลง เมื่อแกนปฎิกรณ์มีความร้อนสูงมากเกินไปทำให้แกนเชื้อเพลิงแตกหักจนขวางช่องของแท่งควบคุม ทำให้แท่งควบคุมไม่สามารถเข้าไปยังช่องของมันได้ทั้งหมด เมื่อความร้อนเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆก็เกิดการสะสมของไอน้ำ จนลุกลามทำให้แกนกลางของเตาปฎิกรณ์ระเบิด
ภาพเตาปฎิกรณ์ระเบิดจากภาพยนตร์เรื่อง Chernobyl (2019)
ผลที่ตามมาคือการรั่วไหลของกัมมันตรังสีราว 30,000 รึนเกนส์ต่อชั่วโมง (โดยปกติหากได้รับเพียง 500 รึนเกนส์ ในระยะเวลา 5 ชั่วโมง ก็ทำให้เสียชีวิตได้)
ความผิดพลาดเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เจ้าหน้าที่ที่มาจัดการกับพื้นที่ไฟไหม้ไม่มีการสวมเครื่องป้องกันรังสีแม้แต่นิดเดียว
ที่เป็นเช่นนี้เพราะความชะล่าใจจากการใช้เครื่องวัดปริมาณรังสีในอากาศ ที่วัดค่าได้ว่ามีปริมาณรังสีมากกว่า 3.6 รึนเกนส์ ต่อชั่วโมง ที่วัดได้แค่นี้เพราะค่าที่เกิดขึ้นจริงเกินขีดจำกัดของเครื่อง ส่วนเครื่องที่มีประสิทธิภาพมากกว่าที่วัดค่าได้ถึง 1,000 รึนเกนส์นั้น พังอยู่ใต้ซากอาคารที่ล้มตัวลง
ด้วยเหตุนี้เองทำให้คนงานในพื้นที่รังสีเสียชีวิตทันทีขณะปฎิบัติหน้าที่ และส่วนที่เหลือถูกนำส่งโรงพยาบาลในเวลาต่อมา
แม้เหตุการณ์จะลุกลามบานปลายขนาดนี้...รัฐบาลก็ไม่ได้แจ้งเตือนประชาชน นักดับเพลิงที่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ก็ไม่สวมอุปกรณ์ป้องกัน...ประชาชนรอบโรงไฟฟ้าก็ออกมาดูเหตุการณ์กันบนสะพานใกล้ๆกับโรงไฟฟ้า ซึ่งทั้งหมดเสียชีวิตในเวลาต่อมา.... ( ราวสองสัปดาห์หลังเกิดเหตุการณ์ สะพานแห่งนี้จึงถูกขนานนามว่า " สะพานมรณะ " )
1
กว่าจะรู้ว่าเหตุการณ์นี้ส่งผลต่อประชาชนในวงกว้างก็ล่วงเลยไปกว่า 36 ชั่วโมง...
ผู้คนราวสามแสนคนต้องอพยพออกจากพื้นที่ในทันที... เป็นการอพยพแบบเร่งด่วน ทางการอนุญาตให้นำเพียงสิ่งของจำเป็นติดตัวไปเท่านั้น สมบัติและสิ่งของอื่นๆที่ถูกทิ้งไว้ในครั้งนั้น ยังคงอยู่ที่เดิมจนถึงทุกวันนี้
ภาพความเสียหายของโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล
เรื่องยังไม่จบเพียงเท่านี้...เพราะแม้เพลิงจากเตาปฎิกรณ์จะดับลงแล้ว แต่ซากของมันยังแผ่กัมมันตรังสีออกมาอย่างต่อเนื่อง ตรงนี้ต้องใช้แรงงานทหารกว่าสามพันคน เพื่อหย่อนตะกั่วลงบนซากโรงไฟฟ้าเพื่อลดปริมาณกัมมันตรังสีในเบื้องต้น
เหตุที่ต้องใช้นายทหารจำนวนมากขนาดนี้ เพราะเหตุผลด้านความปลอดภัย ทุกคนที่ปฏิบัติภารกิจ จะต้องสวมอุปกรณ์ป้องกันอย่างแน่นหนาและมีเวลาในการปฎิบัติการเพียงคนละ 40 วินาทีเท่านั้น
1
คนงานในเหมืองแร่กว่า 400 คน ถูกเกณฑ์มาขุดเส้นทางใต้โรงไฟฟ้า เพื่อยั้บยั้งการหลอมละลายของพื้นคอนกรีตใต้โรงไฟฟ้าซึ่งจะมีผลให้รังสีแผ่ลงมายังแหล่งน้ำใต้ดินและอาจแพร่กระจายลงแม่น้ำสายสำคัญได้ มีการคาดการณ์กันว่า คนงานเหมืองแร่เหล่านี้ เสียชีวิตก่อนวัย 40 ปี ไม่ต่ำกว่า 100 คน ซึ่งเป็นผลจากการทำงานใกล้ซากปฎิกรณ์
ผู้คน ทรัพยากรและเงินมากมายถูกนำมาใช้เพื่อลดปริมาณรังสีในพื้นที่....สัตว์ในพื้นที่ถูกฆ่าและฝังกลบด้วยปูนซีเมนต์ ขั้นตอนนี้กินเวลานานหลายเดือน
คิดเป็นความเสียหายมูลค่าไม่ต่ำกว่า 235 พันล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ ไม่นับรวมความเสียหายที่เกิดกับสุขภาพของประชากรในประเทศที่มีรายงานว่าผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ส่งผลให้ผู้คนราว 4,000 คน เป็นมะเร็ง และอาจมีผู้ได้รับผลกระทบจนเจ็บป่วยอีกเกือบแสนคน (ตัวเลขคาดการณ์)
ปัจจุบันซากโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลถูกครอบด้วยอาคารโลหะเพื่อป้องกันการรั่วไหลของกัมมันตรังสี และเมือง Pripyat ที่ตั้งอยุ่ใกล้กับโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลก็ถูกทิ้งร้างมากว่า 30 ปี มีข่าวว่า ช่วง 20 ปีหลังเริ่มมีคนลักลอบเข้าไปเก็บทรัพย์สินที่ถูกทิ้งไว้ในเมืองเพื่อนำมาใช้หรือนำไปขายต่อในตลาดมืด
ภาพของโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลในปี 2017 : มีอาคารโลหะล้อมซากเตาปฎิกรณ์ไว้
แม้เหตุการณ์จะผ่านไปนานแล้ว...แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์นี้ยังส่งผลต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
พื้นที่บริเวณรอบๆโรงไฟฟ้ายังคงมีสารกัมมันตรังสีอยู่ในระดับที่สูง.มาก..และมันจะยังเป็นแบบนี้ไปอีกนับหมื่นปี
ภาพเมือง Pripyat : https://www.totallycoolpix.com โดย David Schindler
หมายเหตุ : เหตุการณ์ในซีรีส์ จะเน้นไปที่ลำดับเหตุการณ์และตัวบุคคลจริงตามประวัติศาสตร์ โดยเน้นให้เห็นถึงจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ การแก้ปัญหาของสหภาพโซเวียตที่นำพาตัวละครไปสู่จุดจบ มีการดัดแปลงเนื้อหาบางส่วนและใส่ตัวละครเชิงสัญลักษณ์เข้าไปบ้าง
เรื่องราวในซีรีส์จะมีความละเอียดกว่าในบทความเพราะเจาะลึกไปถึงผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ นับเป็นบันทึกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่ถ่ายทอดออกมาได้น่าติดตาม แม้ช่วงต้นจะเนือยไปบ้าง แต่ก็เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆจนถึงตอนท้าย
หากสนใจสามารถหาชมได้จากทาง HBO หรือที่ Ais Play (สมาชิกแบบพรีเมี่ยม)
สามารถติดตามบทความเของหนังหลายมิติเพิ่มเติมได้ที่ :
Website : www.movie8d.com
โฆษณา