17 ธ.ค. 2019 เวลา 13:00
จากปี 2019-2020 เศรษฐกิจไทยขาลงยังไม่ถึงจุดต่ำสุด แต่เพิ่งเริ่มต้น
1
ช่วงส่งท้ายปลายปีเช่นนี้ ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ เวลาได้รับเชิญไปบรรยายหรือไปร่วมวงเสวนาที่ไหน ใครๆ ก็มักจะถามไถ่ด้วยความกังวลว่าเศรษฐกิจปีหน้าจะเป็นอย่างไรบ้าง ทุกครั้งผมก็ได้แต่ปลอบทุกๆ ท่านไปว่าปีหน้าต้องตัวใครตัวมันครับ
1
เราเพิ่งเริ่มต้นวัฏจักรขาลง?
หากพิจารณาทางด้านเทคนิค เศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และเริ่มหันหัวลงตามรูปแบบของวัฏจักรเศรษฐกิจมาตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2018 โดยตัวเร่งปฏิกิริยาที่สำคัญคือสงครามการค้า ที่ทำให้เครื่องยนต์หลักของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยติดลบเป็นครั้งแรกในรอบหลายๆ ปีที่ผ่านมา และหากพิจารณาตามวัฏจักรเศรษฐกิจ โดยปกติรอบหนึ่งๆ จากจุดสูงสุดลงสู่จุดต่ำสุด แล้วกลับขึ้นมาสู่จุดสูงสุดอีกรอบน่าจะกินเวลาในราว 10-12 ปี (อย่าลืมนะครับ เราเจอวิกฤตหนักๆ 1997/1998 Asian Financial Crisis แล้วมาต่อที่ 2007/2008 Sub-Prime Crisis คราวนี้สงครามการค้า 2018) ดังนั้นเศรษฐกิจขาลงที่เพิ่งเริ่มต้นยังดำดิ่งต่อไปได้อีกหลายๆ ปี และยิ่งรุนแรงมากยิ่งขึ้น เพราะนักวิเคราะห์ทั่วโลกก็ออกมายอมรับเป็นเสียงเดียวกันด้วยว่าปี 2020 เศรษฐกิจโลกน่าจะถดถอย
 
แต่สิ่งที่ผมเชื่อว่าหลายๆ ฝ่ายก็วิตกกังวลเช่นกัน นั่นคือผลกระทบจากเศรษฐกิจขาลงที่ร้าวลึกและดำดิ่ง กลายเป็นผลกระทบทางสังคมที่จะส่งผลต่อทุกคนในระบบเศรษฐกิจ
1
จากแผนภาพข้างต้น ขอให้ผู้อ่านเริ่มต้นจากมุมขวาบนของแผนภาพครับ การเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมในภาคการผลิตที่เกิดขึ้นในระดับโลกและส่งผลกระทบกระเทือนไปถ้วนทั่วในทุกระบบเศรษฐกิจคือการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 Cyber-Physical System ที่พูดถึงเทคโนโลยีที่จะเชื่อมโยงโลกไซเบอร์ที่จับต้องไม่ได้เข้ากับโลกกายภาพที่จับต้องได้ โดยมีปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI) เป็นหัวใจสำคัญ โดยปัจจัยหลักๆ ที่สำคัญในการพัฒนา AI ได้แก่ การมีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ การมีคอมพิวเตอร์ที่มีความสามารถสูงในการประมวลผล และการสร้างชุดคำสั่งเพื่อสอนคอมพิวเตอร์ให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนทำให้คอมพิวเตอร์เครื่องนั้นสามารถเรียนรู้และคิดวิเคราะห์เองได้ตามหลักเหตุและผล ซึ่งประเทศที่พร้อมที่สุดที่จะพัฒนาสิ่งเหล่านี้และจะพัฒนาตนเองจนกลายเป็นมหาอำนาจใหม่ของโลกได้คือประเทศจีน
 
และนั่นทำให้สหรัฐอเมริกาสูญเสียความสามารถในการจัดระเบียบโลกที่เคยมีอยู่แต่เพียงผู้เดียวตลอดทศวรรษที่ 1990-2000 ทั้งหมดสะท้อนให้เห็นจากผู้นำสหรัฐฯ อย่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในรูปแบบที่คลั่งชาติ (Nationalism เห็นว่าชาติของตนดีเด่นเหนือประเทศอื่นๆ), การเกลียดกลัวและใช้ความรุนแรงกับต่างชาติ (Xenophobia, Radicalism) และนำไปสู่นโยบายการค้าแบบปกป้องคุ้มกัน (Protectionism) ซึ่งนำไปสู่ภาวะสงครามการค้าในที่สุด
นั่นนำเราไปสู่กล่องทางซ้ายบน นั่นคือสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน และล่าสุดสงครามการค้านี้ก็มีแนวโน้มที่จะพัฒนาไปสู่สงครามเทคโนโลยี ผู้อ่านคงจำได้ว่าตลอดปีที่ผ่านมา เราต่างก็กำลังกังวลว่าโทรศัพท์มือถือ Huawei ในมือจะสามารถเข้าถึงบริการของ Google ได้หรือไม่
 
ล่าสุดไม่เพียงแต่สหรัฐฯ และจีนที่ออกมาสร้างความตึงเครียดในเรื่องการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศในเอเชียตะวันออก เราเห็นข้อพิพาทระหว่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่นที่เริ่มต้นจากกรณีเรียกร้องขอคำขอโทษและเงินชดเชยจากรัฐบาลญี่ปุ่นต่อกรณีหญิงบำเรอ (Comfort Women) หรือที่เรียกว่า Jugun Ianfu ในภาษาญี่ปุ่น ซึ่งหมายถึงหญิงที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงจากการทำงานใน Iansho หรือสถานีบำเรอ (Comfort Stations) ภายใต้การบริหารจัดการของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นในช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งแน่นอนว่าสำหรับญี่ปุ่นที่เคยลงนามในข้อตกลงชดใช้เงินและขอโทษอย่างเป็นทางการไปแล้วตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 คงไม่ยอมรับในประเด็นที่เกาหลีใต้ออกมาเรียกร้องอีกครั้ง และสิ่งที่ญี่ปุ่นใช้ในการตอบโต้ประเด็นดังกล่าวกลายเป็นการจุดกระแสการค้าแบบปกป้องคุ้มกันที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น
ญี่ปุ่นเลือกที่จะตอบโต้ประเด็นดังกล่าวโดยการระงับการอนุญาตส่งออกแบบอัตโนมัติ (Automatic Licensing) การส่งออกสินค้าตั้งต้นในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ชั้นสูงถึง 3 รายการสินค้า อันได้แก่ Photoresists ซึ่งเป็นสารสำคัญในการถ่ายแผนภาพร่างของวงจรต่างๆ ลงบนชิปคอมพิวเตอร์, Hydrogen Fluoride ซึ่งเป็นก๊าซสำคัญที่ต้องใช้ในกระบวนการผลิตชิปคอมพิวเตอร์ และ Fluorinated Polyimides ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตหน้าจอโทรศัพท์มือถือ ซึ่งถ้าเกาหลีใต้จะนำเข้าสินค้าดังกล่าวที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าตลาดที่ผลิตสินค้าเหล่านี้มากกว่า 90% ของสินค้าที่ขายในตลาดโลกก็ต้องขออนุญาตจากทางการญี่ปุ่นทุกครั้ง และใช้เวลาในการพิจารณาอนุญาตให้ส่งออกได้ยาวนานถึง 90 วัน ซึ่งการไม่ขายวัตถุดิบตั้งต้นนี้จะทำให้ผู้ผลิตเกาหลีใต้และผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ทั่วโลกต้องเดือดร้อนจากการขาดแคลนวัตถุดิบตั้งต้นและวัตถุดิบขั้นกลาง
 
ในขณะที่ฝากฝั่งยุโรปเอง ฝรั่งเศสก็เริ่มต้นกระบวนการทางกฎหมายเพื่อจัดเก็บภาษีจากบริการดิจิทัล (Digital Services) กับบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง Google, Facebook และ Amazon พร้อมกับการสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวในหลายประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป และกำลังขยายตัวสู่ประเทศอื่นๆ ที่กำลังนำแนวคิดนี้ไปปรับใช้เพื่อจัดเก็บรายได้จากการค้าบริการบนโลกออนไลน์
 
ซึ่งการกระทำในลักษณะการค้าแบบปกป้องคุ้มกันดังกล่าวส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมให้เกิดการชะลอตัวของการค้าและการลงทุนในระดับโลก ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วว่าปี 2020 นักวิเคราะห์มองว่าเศรษฐกิจโลกจะถดถอย
3
เมื่อการค้าระหว่างประเทศชะลอตัวลง เคราะห์ซ้ำกรรมซัดด้วยค่าเงินบาทที่แข็งค่า (บาทแข็งในช่วงเศรษฐกิจดีเป็นเรื่องดี แปลว่าทุกคนต้องการถือครองเงินบาท ทุกคนเชื่อมั่นประเทศไทย แต่ถ้าบาทแข็งในเวลาที่เศรษฐกิจขาลง อันนี้ไม่ดีแน่ครับ แปลว่าในกลไกมันต้องมีอะไรสักอย่างหนึ่งที่ถูกบิดเบือนอยู่) ประเทศไทยที่พึ่งพาการส่งออกเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจก็เผชิญหน้ากับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงตาม เห็นได้จากการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในช่วงต้นปี 2018 ที่เคยคาดว่าจะขยายตัวได้ถึง 5% แต่เมื่อเกิดสงครามการค้าในไตรมาส 3 และ 4 ของปี 2018 การส่งออกติดลบ และทำให้เศรษฐกิจไทยโตได้เพียง 4% ในปี 2018 และน่าจะส่งผลต่อเนื่อง เศรษฐกิจไทยปี 2019 คงขยายตัวได้เพียง 2% กว่าๆ เท่านั้น
เมื่อส่งออกไม่ได้ ผู้ผลิตไทยก็จะลดการผลิตลง ในระยะแรกมาตรการที่เจ้าของกิจการจะนิยมทำมากที่สุด เพราะไม่จำเป็นต้องแจ้งกระทรวงแรงงาน ไม่จำเป็นต้องแจ้งประกันสังคม นั่นคือการงดการจ้างงานล่วงเวลา หรืองดโอที ซึ่งแน่นอนว่ากระทบอย่างยิ่งต่อแรงงานไทย เพราะต้องอย่าลืมว่าคนงานอย่างสองสามีภรรยาที่ทำงานหาเงินได้ค่าจ้างวันเวลาทำงานตามปกติก็จะใช้เงินเดือนจากการทำงานเต็มเวลาเป็นค่ากินอยู่ประจำวัน ค่าเช่าหอพัก ค่าเดินทาง ค่าโทรศัพท์ ที่รายจ่ายทั้งหมดตกอยู่ในเมืองใหญ่ แต่สำหรับเงินที่พวกเขาส่งให้ลูกที่ฝากไว้กับปู่ย่าตายาย เงินที่จะส่งกลับบ้านให้พ่อแม่ที่ต่างจังหวัดเกือบทั้งหมดมาจากโอที ดังนั้นเมื่อไม่มีโอที เงินที่เคยไหลจากเมืองสู่ภาคชนบทก็เหือดแห้ง สภาพคล่องในต่างจังหวัดจะหายไป รากหญ้าได้รับผลกระทบแล้ว
 
หากงดโอทีแล้วต้นทุนยังไม่ลดลงและยังไม่สามารถสร้างรายรับเหนือต้นทุนได้ สิ่งที่เจ้าของโรงงานจะทำต่อไปคือการขยายวันหยุด เช่น จากหยุดชดเชย 1 วันก็จะปิดโรงงานต่อเป็นหยุด 3 วันแทน ซึ่งแน่นอนว่าลูกจ้างรายวันขาดรายได้ทันที และนั่นคือเด้งที่สองที่รากหญ้าได้รับผลกระทบ
2
ท้ายที่สุดหากงดโอทีก็แล้ว ขยายวันหยุดก็แล้ว แต่โรงงานก็ยังมีปัญหา ขั้นตอนสุดท้ายคือการปลดคนงาน อันนี้คือผลกระทบทางตรงที่ส่งผลต่อการบริโภค เพราะแม้แรงงานจะได้เงินชดเชย แต่โอกาสในการหางานใหม่ในช่วงที่เศรษฐกิจทั้งในประเทศและในตลาดโลกชะลอตัวคงไม่ใช่เรื่องง่าย
 
สังคมผู้สูงอายุ ความท้าทายในตลาดแรงงานไทย
และยิ่งมีปัจจัยเสริมที่สำคัญเข้ามากระทบอีก นั่นคือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรจากสังคมผู้สูงอายุ (Ageing Society) สู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society)
สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) หมายถึงสังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 10% ของประชากรทั้งประเทศ หรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปีมากกว่า 7% ของประชากรทั้งประเทศ แสดงว่าประเทศนั้นกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และในปีหน้า ปี 2020 ประเทศไทยจะเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ซึ่งหมายถึงสังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ หรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปีมากกว่า 14% ของประชากรทั้งประเทศ และหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ประเทศไทยจะเข้าสู่ระดับสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (Super-aged Society) ในปี 2040 นั่นหมายความว่าประเทศไทยจะมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งนั่นหมายถึงเราจะมีประชากรวัยทำงานที่ลดลงอย่างมาก เราจะขาดแคลนแรงงานที่มีค่าจ้างต่ำ แต่ปัญหาคือผู้ผลิตยังไม่สามารถปรับโครงสร้างการผลิตจนลดการใช้แรงงานไร้ฝีมือได้
 
แต่เมื่อคนไทยอยู่ดีกินดีและเรียนสูงขึ้น ดังนั้นงานร้อน งานเหนื่อย งานหนัก งานสกปรก และงานเงินเดือนน้อยจึงไม่ใช่ทางเลือกของคนไทยอีกต่อไป ผู้ผลิตไทยจึงนิยมใช้บริการแรงงานต่างด้าว สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน เผยแพร่ข้อมูล ณ เดือนเมษายน 2019 ประเทศไทยมีแรงงานต่างด้าวทำงานในประเทศ 2,950,684 คน คนงานเหล่านี้ทำงานและส่งเงินกลับบ้านทุกเดือน ลองคำนวณเล่นๆ ว่าถ้าแต่ละคนส่งเงินกลับบ้านเดือนละ 1,000 บาท นั่นเท่ากับเงินไหลออกนอกประเทศเดือนละ 2.95 พันล้านบาท แต่ในสภาพความเป็นจริง จำนวนคนงานต่างด้าวมีมากกว่านี้ และในความเป็นจริงพวกเขาส่งเงินกลับบ้านมากกว่าเดือนละ 1,000 บาท สมมติมีแรงงานต่างด้าว 5 ล้านคน ส่งเงินกลับบ้านเดือนละ 1,500 บาทต่อคน นั่นหมายความว่าจะมีเงินไหลออกจากระบบเศรษฐกิจไทยเดือนละ 7.5 พันล้านบาท หรือเท่ากับ 9 หมื่นล้านบาทต่อปี นั่นทำให้พวกเราเห็นแล้วใช่หรือไม่ว่าทำไมอยู่ดีๆ เงินถึงหายออกไปจากระบบ
แต่นั่นยังไม่ใช่จุดสิ้นสุดของเรื่องราวของเราครับ เพราะเมื่อย้อนกลับไปที่โลกในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 แม้เราจะใช้บริการของแรงงานต่างด้าวสำหรับแรงงานไร้ฝีมือและแรงงานกึ่งฝีมือ แต่สำหรับแรงงานฝีมือ หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์กำลังจะเข้ามาแทนที่พวกเขา
 
การลดคนงานเท่ากับการลดต้นทุนค่าจ้าง ต้นทุนที่มาจากการจัดระบบสวัสดิการต่างๆ และยังลดเรื่องปวดหัวอีกมากมายของผู้ประกอบการ เช่น เรื่องชู้สาว เรื่องชกต่อย เรื่องขโมยของ ประกอบการให้ความช่วยเหลือทั้งแหล่งเงินทุนและเครดิตภาษีจากการลงทุน หากมีการปรับโครงสร้างการผลิตให้เป็นระบบอัตโนมัติมากยิ่งขึ้น หอการค้าฯ และสภาอุตสาหกรรมฯ ก็พร้อมที่จะสนับสนุนทางด้านเทคนิค ทั้งหมดเอื้อให้การจ้างงานลดลง รากหญ้าได้รับผลกระทบอีกแล้ว
 
ลองนึกภาพถึงนิคมอุตสาหกรรมที่เมื่อก่อนทุกๆ วันในช่วงเย็น เมื่อถึงเวลาเปลี่ยนกะ คนงานจำนวนมากจะเดินออกจากโรงงานและแวะตลาดนัดเพื่อซื้อกับข้าว ซื้อของใช้ส่วนตัว ซื้อเสื้อผ้า ซื้อของเล่นให้ลูก หรืออย่างน้อยก็เติมเงินค่าโทรศัพท์มือถือ แต่จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อโรงงานจ้างคนลดลงและใช้หุ่นยนต์มากยิ่งขึ้น อย่าลืมนะครับว่าหุ่นยนต์ไม่เคยพักและไม่เคยเดินออกมาซื้อของที่ตลาดนัด ที่หลายๆ คนบ่นว่าตลาดนัดมีแต่คนขาย ไม่มีคนซื้อ แม่ค้าพ่อค้านั่งตบยุง แมลงวันตอมขา มันคือความจริงครับ
 
มาดูตลาดกลางค่อนไปทางบนบ้าง แน่นอนว่าเศรษฐกิจที่ชะลอตัวล้วนทำให้เขารายได้ลดลงไม่มากก็น้อย แต่ไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปทำให้เขามีทางเลือกใหม่ ทุกวันนี้ใครๆ ก็ซื้อของออนไลน์ เพราะได้ส่วนลดพิเศษ สินค้าส่งถึงบ้านภายในไม่กี่ชั่วโมง อย่างมากที่สุดก็ไม่เกิน 3 วัน จำได้ไหมครับว่าเมื่อวันคนโสด 11.11 และวันที่ 12.12 เราซื้อของออนไลน์กันไปเท่าไร แต่อย่าลืมนะครับ Lazada, Shopee, AliExpress, Amazon, Ebay ทั้งหมดชำระเงินแล้วเงินไหลออกนอกประเทศทันทีนะครับ และหลายๆ ครั้งเขาได้รายได้จากคนไทย และเขาก็ไม่ได้เสียภาษีให้รัฐบาลไทยด้วย เงินไหลออกจากระบบเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งช่องทางแล้วครับ
ถ้าคิดกันให้ยาวๆ กว่านี้ ลองนึกภาพสงครามการค้าเรื้อรังทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวยาวๆ โอกาสหางานใหม่ก็คงยาก แรงงานต่างชาติและหุ่นยนต์เข้ามาทำงานแทน ในขณะที่ในสังคมสูงวัย พวกเรามีอายุขัยยาวนานมากยิ่งขึ้น แต่กลับไม่มีความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) ดังนั้นเราจะไม่มีงานทำ ไม่มีเงินในวัยชรา ทุนนิยมสามานย์และการคอร์รัปชันก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ระบบสวัสดิการสังคมของไทยไม่เพียงพอจนสามารถตอบสนองความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นได้ แต่นั่นก็ยังไม่สำคัญเท่ากับที่ระบบภาษีของเราไม่ได้ถูกออกแบบให้ไทยเป็นรัฐสวัสดิการเท่าๆ กับที่คนไทยจำนวนมากก็ไม่ยอมที่จะจ่ายภาษี
 
และเมื่อประชาชนมีความต้องการ แต่ภาครัฐไม่สามารถจัดสรรบริการของระบบสวัสดิการสังคมเหล่านั้นได้ สุญญากาศทางสังคม-เศรษฐกิจก็จะเกิดขึ้น และในสังคมไทยที่ยังมีระบอบทุนนิยมสามานย์ควบคู่กับการคอร์รัปชัน ปรากฏการณ์ ‘มาเฟีย’ ก็จะเกิดขึ้น มาเฟียจะเข้ามาเป็นผู้ให้บริการในบริการเหล่านี้ เพื่อสร้างคนที่พึ่งพามาเฟียให้เป็นเสมือนโล่มนุษย์ที่ทำให้ระบบทางการไม่สามารถเข้ามากวาดล้างมาเฟียเหล่านี้ได้ และมาเฟียเองก็คงแสวงหาประโยชน์ทางทุนนิยมสามานย์ต่อไป องค์การอาชญากรรม กลุ่มความคิดสุดโต่ง และอาชญากรรมในโลกไซเบอร์เพื่อฟอกเงินและนำเงินมาบริหารจัดการบริการของพวกมาเฟียก็จะดำเนินต่อไปในลักษณะของวงจรอุบาทว์
และวงจรอุบาทว์นี้จะยิ่งถูกเร่งปฏิกิริยาให้รวดเร็วรุนแรงมากยิ่งขึ้นเมื่อนำปัญหาหนี้ครัวเรือนเข้ามาคิดคำนวณด้วย เพราะหนี้จะยิ่งทำให้ทุกครัวเรือนกลายเป็นกลุ่มที่เปราะบางสู่ปัญหาเหล่านี้มากยิ่งขึ้น
 
จะเห็นได้ว่าถ้าทุกภาคส่วนไม่ออกมาทำอะไร ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสงครามการค้า สังคมสูงวัย การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่คนไม่รู้เท่าทัน ปัญหาคอร์รัปชัน และทุนนิยมสามานย์ เมื่อจิ๊กซอว์เหล่านี้ถูกต่อเข้าด้วยกัน ผลกระทบต่อคนไทยโดยเฉพาะรากหญ้าคงจะร้าวลึกอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
 
แต่สิ่งที่เราเห็นทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลกำลังทำคืออะไรครับ เริ่มจากคำถามง่ายๆ ก่อน นั่นคือตกลงใครคือหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ หรือจริงๆ แล้วเรามีทีมเศรษฐกิจกี่ทีม แล้วทุกทีมนั้นทำงานสอดคล้องประสานงานกันหรือไม่ ไม่ใช่คนหนึ่งเดินสายขายของ เน้นการส่งออก อีกคนหนึ่งจะยกเลิกสารเคมี แต่อีกคนไม่ยกเลิก อีกคนบอกว่าตัวเองไม่ใช่หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ในขณะที่อีกคนบอกว่าเศรษฐกิจไทยเป็นแค่ไข้หวัด กระตุ้นผ่านชิมช้อปใช้ก็ไข้ลดลงแล้ว ปีหน้าไม่มีเผาจริง ปีหน้าไม่มีเก็บกระดูก ปีหน้ายังไม่ใกล้เมรุด้วยซ้ำ ผมคิดว่าคำพูดแบบนี้ไม่สร้างสรรค์ครับ
เพราะสิ่งที่ไทยกำลังต้องการมากที่สุดตอนนี้คือภาวะผู้นำ การขอความร่วมมือทั้งจากมือเศรษฐกิจภาครัฐ คนเก่งๆ จากหน่วยงานราชการ นักวิชาการฝีมือดีๆ ดึงคนเก่งๆ จากภาคเอกชน รวมทั้งการยอมลดทิฐิมานะไปขอความช่วยเหลือจากมือเศรษฐกิจเก่งๆ ของฝ่ายค้าน หรือจะฝ่ายไหนก็ตามที่อาจเคยมองว่าเป็นศัตรูทางการเมือง นาทีนี้ประเทศไทยต้องการดรีมทีมทางด้านเศรษฐกิจที่ทำงานสอดประสานกัน เพราะวิกฤตครั้งนี้ใหญ่มาก ต้องเริ่มจากยอมรับความจริง เอกซเรย์ให้เจอก่อนว่าต้นตอของปัญหาอยู่ที่ไหน ต้องใช้เครื่องมือเศรษฐกิจทั้งนโยบายการคลัง นโยบายการเงิน และนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่สอดประสานกัน ต้องการคนที่เข้าใจทั้งภาคเศรษฐกิจแท้จริงและภาคการเงินมาทำงานเพื่อประเทศชาติแล้วครับ เพราะถ้ายังไม่จริงจัง ยังคิดว่าตอนนี้แค่ปวดหัวตัวร้อน ผมว่าปีหน้าพวกเราคงต้องตัวใครตัวมันเหมือนที่กล่าวไปตอนต้นครับ
เรื่อง: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
โฆษณา