18 ธ.ค. 2019 เวลา 02:11
หลายปีหลังจากที่ผมเปลี่ยนสายงานจากวงการสถาปัตยกรรมไปทำงานโฆษณา ฝรั่งคนหนึ่งบอกผมว่า "น่าเสียดายความรู้ที่คุณเรียนมาจัง"
น่าเสียดายที่เรียนมาอย่างหนึ่ง แต่ไปทำงานอีกอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะงานโฆษณา งานรับใช้นายทุนที่กรอกหัวคนด้วยการตลาดแบบกำไรสูงสุด
คนจำนวนมากคิดว่า เราเรียนอะไรมาก็ควรทำสายอาชีพนั้น ด้วยเหตุผลว่า เป็นการเสียทรัพยากร เสียเวลา ฯลฯ หลายคนจึงทนทำงานที่ตนเองไม่ชอบอยู่จนวันสุดท้ายของชีวิต
ผมไม่คิดเช่นนั้น ผมเชื่อว่า มนุษย์เรามีเสรีภาพที่จะเลือก (อย่างน้อยก็ในระดับหนึ่ง) คนเราควรก้าวเดินไปตามทางที่พึงใจ มิใช่เพราะเรียนมาอย่างหนึ่งก็ต้องทากาวแปะตัวเองติดอยู่กับมันทั้งชีวิต มิใช่เพราะเกิดมาในสถานะหนึ่ง ก็ต้องยึดติดกับสถานะนั้นไปจนวันตาย
หลายปีหลังจากที่ผมเปลี่ยนสายงานจากโฆษณาไปเป็นนักเขียนอาชีพ ฝรั่งอีกคนหนึ่งบอกผมว่า "คุณนี่น่าทึ่งจริง ๆ ที่กล้าเปลี่ยนอาชีพ จากอาชีพที่ให้เงินทองมากไปยังอาชีพที่รายได้ไม่แน่นอน และที่สำคัญคือกล้าเปลี่ยนงานในวัยนี้"
ใช่ การเปลี่ยนงานในวัยกลางคนไม่เคยเป็นเรื่องง่าย โดยเฉพาะคนที่ยังไม่สามารถตั้งเข็มทิศชีวิตได้แน่นอน คนวัยกลางคนส่วนใหญ่มีครอบครัว มีลูกแล้วการตัดสินใจแต่ละครั้งมีตัวแปรเพิ่มขึ้นอีกหลายตัว หนึ่งในนั้นคือกลัวความล้มเหลว
ในวันที่ผมบอกลาอาชีพที่ให้รายได้แน่นอนมาเป็นรายได้ที่ไม่แน่นอนนั้นหลายคนรอบตัวผมมองผมด้วยความเป็นห่วง เพื่อนหลายคนเสนองานที่ดูมั่นคงให้ทำ น่าแปลก(หรือไม่น่าแปลก?) ที่ไม่มีใครเชื่อว่า การเขียนหนังสือสามารถทำเป็นอาชีพได้ในเมืองไทย หรือคำว่า 'นักเขียนอาชีพ' เป็นความฝันเกินเอื้อมจริง ๆ ? ทว่าเพื่อนสนิทบางคนก็ให้กำลังใจเดินหน้า
ผมเคยถูกคำว่า 'ความมั่นคง' และ 'ครอบครัว' ตีกรอบตัวเองจนไม่กล้ากระดิกตัว แต่ทว่าเมื่อถึงจุดจุดหนึ่ง ก็ลองหัดปล่อยวาง และคิดเสียว่า"อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด อย่างน้อยกูก็ได้พยายามแล้วโว้ย!" รวมกับกำลังใจจากเพื่อนสนิทให้เดินหน้า เมื่อนั้นผมก็กล้าทำในสิ่งที่ผมไม่กล้าทำมาก่อน
ที่น่าแปลกก็คือ ในวันที่ตัดสินใจ 'ลอกคราบ' ตัวเองนั้น ผมไม่มีความกังวลใจในหัวเลย ไม่ได้คิดด้วยซ้ำว่า หากล้มเหลวแล้วจะทำอย่างไร หากไม่มีเงินทองส่งเสียลูกเรียนหนังสือแล้วจะทำอย่างไร
อย่างน้อยสักครั้งในชีวิต คนเราก็ควรเดินไปตามทางที่ชอบ ไม่ใช่ใช้คำว่า 'เงิน' เป็นตัวกำหนดวิถีชีวิตอย่างเดียว
แต่ผมก็เชื่ออย่างที่พ่อผมเชื่อ นั่นคือการทำงานหนักสามารถแปลงฝันให้กลายเป็นจริงได้ หากพ่อผมสามารถเปลี่ยนสถานะจากคนเสื่อผืนหมอนใบ ไม่ได้เรียนหนังสือ มาเป็นผู้ที่สามารถส่งเสียลูกสิบคนเข้าโรงเรียนจนจบชั้นมัธยมต้นได้ ก็ไม่มีอะไรที่ผมและคนอื่น ๆ จะทำไม่ได้
คนเราทำได้ทุกอย่าง ขอให้อยากทำจริง
จุดแตกต่างอยู่ที่จะฝันอย่างเดียว หรือจะฝันแล้วลงมือทำ
แต่การเดินตามฝันก็เช่นการออกศึก มิใช่ใช้แต่ความรู้สึกฮึกเหิม ต้องเตรียมตัวให้พร้อม เมื่อรู้ว่ารู้ไม่พอ ก็เรียนเพิ่ม เมื่อเข้าใจไม่พอก็ศึกษา เมื่อชำนาญไม่พอ ก็ฝึกฝน
เพราะถึงจะเดินตามฝันก็จริง แต่ใครบอกเล่าว่า ต้องเดินในความมืด?
อุปสรรคมีก็จริง แต่ก็มีความสนุกระหว่างทาง และความหวังที่ปลายทาง
.
หลายครั้งที่หมดแรง ผมนึกถึงคำของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ และ กฤษณา อโศกสิน ที่เล่าให้ผมฟังว่า พวกเขาสร้างบ้าน ส่งลูกเรียนหนังสือจนจบด้วยเงินที่ได้มาจากการเขียนหนังสืออย่างเดียว
จุดที่เหมือนกันของนักเขียนอาชีพทั้งสองท่านนี้คือ การทำงานหนักและมีวินัยสูง
หลายปีให้หลัง เมื่อทราบว่า 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ในสภาพคนป่วยเขียนหนังสือในบางช่วงทำงานแบบ "ตอกพิมพ์ดีดแต่ละที เจ็บไปทั้งตัว" ผมก็ยิ่งมั่นใจว่าไม่มีอุปสรรคใดที่ขวางมนุษย์ได้อย่างเด็ดขาด หากใจของเราสู้เสียอย่าง
หากนักเขียนในวัยเจ็ดสิบกว่าตอกเครื่องพิมพ์ดีดแบบ "เจ็บไปทั้งตัว" อุปสรรคที่นักอยากเขียนทั้งหลายพบพานนั้นก็เป็นเพียงไม้จิ้มฟันเทียบกับท่อนซุง
ผมมักรู้สึกแปลก ๆ ทุกครั้งที่ได้ยินคนหนุ่มสาวที่อยาก 'เออร์ลี รีไทร์' เก็บเงินให้มากที่สุดเพื่อที่จะได้ทำงานที่ตัวเองรักในบั้นปลายชีวิต
ทำไมต้องทำงานที่ตัวเองรักหลังเกษียณ? ทำไมไม่ทำมันในวันนี้เลย?
ภาพนักเขียนในวัยเจ็ดสิบกว่าตอกเครื่องพิมพ์ดีดตอกย้ำในสิ่งที่ผมเชื่อว่า ความฝันไม่มีวันหมดอายุ ทำได้ตั้งแต่วัยหนุ่มสาว และทำได้จนถึงวัยเลยเกษียณ
เซอร์ พอล แม็คคาร์ทนีย์ ตำนานที่ยังมีชีวิตแห่งอดีตวงดนตรี เดอะ บีเทิลส์ ผู้แต่งเพลง When I'm Sixty Four ยังคงทำงานหนักในวัยหกสิบสี่ เมื่อถูกถามว่าทำไมเขายังไม่ยอมเกษียณ แต่กลับมีผลงานเพลงออกมาไม่หยุด แม็คคาร์ทนีย์กล่าวว่า "ก็ไม่มีอะไรหรอก ผมเพียงแต่สนุกกับงานมากเหลือเกิน"
ใช่ ความฝันไม่มีวันหมดอายุ
.
จากหนังสือ เดินไปให้สุดฝัน
วินทร์ เลียววาริณ
โฆษณา