12 ม.ค. 2020 เวลา 12:02 • กีฬา
LIGHTSTRIKE : นวัตกรรมโฟมแบบใหม่ ที่อาจช่วยให้ ADIDAS ทวงตำแหน่งสุดยอดรองเท้ามาราธอน
ไม่ว่าจะเป็นกีฬาหรือธุรกิจ ปฏิเสธไม่ได้ว่า "การแข่งขัน" คือสิ่งที่ช่วยให้เกิดการพัฒนาในทุกๆ ด้าน เพราะคงไม่ดีแน่ที่การผูกขาดความยิ่งใหญ่ จะทำให้อะไรๆ ยังเหมือนเดิม
และในเมื่อคำว่า "เบอร์ 1" นั้นหอมหวนชวนให้อยากเป็น เมื่อต้องสูญเสียสิ่งนั้นไป ก็ไม่แปลกที่จะต้องมีการคิดค้นสิ่งใหม่ที่จะทำให้ตัวเองกลับมาเป็นที่สุดอีกครั้ง เพราะนอกจากจะเป็นการสร้างชื่อเสียงแล้ว ยังสามารถต่อยอดความยิ่งใหญ่นั้นได้อย่างมากมายมหาศาล
และนี่คือความพยายามครั้งล่าสุดของ adidas ในการกลับมาทวงตำแหน่ง "สุดยอดรองเท้าวิ่งมาราธอนเบอร์ 1 ของโลก" อีกครั้ง ... กับนวัตกรรมใหม่ที่ชื่อ "Lightstrike"
อดีตอันสุดยอด
หากพูดถึง "สุดยอดรองเท้าวิ่งมาราธอน" คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ในช่วงต้นทศวรรษ 2010's นั้น adidas คือแบรนด์ที่สามารถพูดได้อย่างเต็มปากอย่างแท้จริง
Photo : www.nytimes.com
สาเหตุก็เพราะ ค่าย 3 แถบจากเยอรมนี ได้สร้างรองเท้าที่ช่วยให้นักกีฬาที่สวมใส่รองเท้าของพวกเขา ทำลายสถิติโลกในการวิ่งมาราธอน ระยะทาง 42.195 กิโลเมตร ได้ถึง 3 ครั้ง 3 ครา แถมเป็นในรายการ เบอร์ลิน มาราธอน ทั้ง 3 ครั้ง
เริ่มตั้งแต่ แพทริค มาเคา นักวิ่งชาวเคนยาในปี 2011 กับเวลา 2 ชั่วโมง 3 นาที 38 วินาที ก่อนที่จะมีการทำลายสถิติโลก 2 ปีซ้อน โดย 2 รุ่นพี่ร่วมชาติ วิลสัน คิปซาง ในปี 2013 เวลา 2 ชั่วโมง 3 นาที 23 วินาที และ เดนนิส คิเมตโต ในปี 2014 เวลา 2 ชั่วโมง 2 นาที 57 วินาที
แน่นอน ทุกความสำเร็จย่อมมีบางสิ่งอยู่เบื้องหลัง และสำหรับการวิ่งมาราธอน ปฏิเสธไม่ได้ว่า "รองเท้า" ถือเป็นหนึ่งในตัวช่วยสำคัญ ... ซึ่งทั้ง 3 คน ใส่รองเท้าจากค่าย adidas และหากพูดให้เจาะจงก็คือรุ่น adizero adios 2
adidas adizero adios 2 คือรองเท้าวิ่งถนนสายทำความเร็วที่มีจุดขายคือน้ำหนักรองเท้าเบา ซึ่งต่อยอดมาจาก adizero adios ที่ ไฮเล เกรเบเซลาสซี ตำนานนักวิ่งระยะไกลชาวเอธิโอเปีย ใส่ทำลายสถิติโลกวิ่งมาราธอน 2 ปีต่อเนื่อง ในเบอร์ลิน มาราธอน ปี 2007 ด้วยเวลา 2 ชั่วโมง 4 นาที 26 วินาที ต่อด้วยปี 2008 เวลา 2 ชั่วโมง 3 นาที 59 วินาที
Photo : Runner's World
แม้จะเป็น adizero adios 2 เหมือนกัน แต่รองเท้าที่คิเมตโตใส่ทำลายสถิติโลกในปี 2014 นั้น ถูกพัฒนาจากสมัยที่มาเคาและคิปซางใส่ โดย adidas ตัดสินใจเลาะพื้นโฟม EVA แบบดั้งเดิมไปบางส่วน เพื่อใส่โฟม BOOST ที่พวกเขาพัฒนาร่วมกับ BASF บริษัทเคมีภัณฑ์ชั้นนำของโลกจากเยอรมนี ซึ่งคุณสมบัติของโฟมชนิดนี้ คือจะส่งแรงสะท้อนกลับจากพื้นสู่เท้า หรือเรียกง่ายๆ ว่า "เด้ง" และ "นุ่ม" ให้การซัพพอร์ต รองรับแรงกระแทก (Cushioning) ที่ดีกว่าโฟม EVA เดิม
ความสำเร็จจากการทำลายสถิติโลก ทำให้ BOOST กลายเป็นเทคโนโลยีพระเอกที่ทำให้รองเท้าวิ่งของ adidas "แมส" ในเวลาอันรวดเร็ว หลายรุ่นที่ได้รับการพัฒนาหลังจากนั้นกลายเป็นรุ่นขายดียอดฮิต ซึ่งรวมถึง ULTRABOOST ที่ผสมผสานระหว่างประสิทธิภาพกับแฟชั่นได้อย่างลงตัว
เบอร์ 1 ที่หายไป
แต่ในเมื่อโลกของเทคโนโลยีมีการพัฒนา และการแข่งขันในวงการกีฬายังคงมีอย่างต่อเนื่อง ในที่สุดพวกเขาก็ต้องเจอกับคู่ปรับที่โหดไม่แพ้กัน นั่นคือ Nike แบรนด์กีฬารายใหญ่อันดับ 1 ของโลกจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งตั้งเป้าหมายเดียวกับ adidas ในเวลาต่อมา คือการสร้าง "รองเท้าวิ่งคู่แรกที่สามารถวิ่งมาราธอนด้วยเวลาต่ำกว่า 2 ชั่วโมง"
Photo : nationalpost.com
จากความล้มเหลวในความสำเร็จ ที่รองเท้า Zoom Vaporfly Elite ของ Nike สามารถพา เอลิอุด คิปโชเก ยอดนักวิ่งระยะไกลชาวเคนยา กลายเป็นมนุษย์คนแรกที่ทำเวลาแตะหลัก 2 ชั่วโมงพอดีในการวิ่งมาราธอน แต่ยังไม่สามารถทะลุกำแพง 2 ชั่วโมงได้ (เข้าเส้นชัยด้วยเวลา 2 ชั่วโมง 25 วินาที) ในโปรเจ็คท์ Breaking2 เมื่อปี 2017 ... แบรนด์ตรา Swoosh ก็ทำลายป้อมปราการอันแสนภาคภูมิใจของ adidas ได้ในปีต่อมา เมื่อคิปโชเก สามารถทำลายสถิติโลกวิ่งมาราธอนใน เบอร์ลิน มาราธอน 2018 ด้วยเวลา 2 ชั่วโมง 1 นาที 39 วินาที กับอาวุธใหม่ Nike Zoom Vaporfly 4% Flyknit
ล่าสุดในปี 2019 ป้อมปราการที่หลายคนคิดว่าไม่น่าจะมีใครสามารถพังทลายได้ กับการ "วิ่งมาราธอนด้วยเวลาต่ำกว่า 2 ชั่วโมง" ก็พังลง เมื่อคิปโชเกคนเดิม สร้างประวัติศาสตร์เป็นมนุษย์คนแรกที่สามารถวิ่งมาราธอนด้วยเวลาต่ำกว่า 2 ชั่วโมงได้สำเร็จ ในภารกิจ INEOS 1:59 Challenge ด้วยเวลา 1 ชั่วโมง 59 นาที 40 วินาที แม้การวิ่งดังกล่าวจะไม่ถูกนับว่าเป็นการทำลายสถิติโลก จากรูปแบบการวิ่งที่ไม่ใช่การแข่งขันก็ตาม
และรองเท้าที่ร่วมสร้างประวัติศาสตร์ในวันนั้นคือ Nike Zoom Vaporfly Next% รุ่นพิเศษ ที่ได้รับการพัฒนาจาก Zoom Vaporfly Next% ทายาทของรองเท้าวิ่งที่เร็วที่สุดในโลก เพื่อพิชิตภารกิจนี้โดยเฉพาะ
Photo : www.vrunvride.com
เอาเข้าจริง แค่ตอนที่คิปโชเกสวม Vaporfly 4% ทำลายสถิติโลกมาราธอน รองเท้าตระกูลนี้ก็ได้กลายเป็นสุดยอดรองเท้าวิ่งมาราธอน ที่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ผลิตเท่าไหร่ก็แทบไม่พอขาย แถมความเจ็บแสบยังมาต่อเนื่องตรงที่ นักวิ่งที่ปกติใส่รองเท้าของแบรนด์คู่แข่งเอง ก็เคยต้องแอบนอกใจลองใส่รองเท้าตระกูลดังกล่าววิ่งบ้าง ซึ่งปรากฎว่า สามารถทำสถิติดีกว่าเดิมขึ้นไปอีก
และยิ่งเมื่อโปรเจ็คท์ INEOS 1:59 Challenge ประสบความสำเร็จ... ในตอนนี้คงไม่มีใครกล้าปฏิเสธแล้วว่า Nike ได้ก้าวขึ้นมาเป็นแบรนด์ "สุดยอดรองเท้าวิ่งมาราธอน" อย่างเต็มตัว
เทคโนโลยีจากคอร์ทบาสเกตบอล
อันที่จริง โฟม BOOST ถือเป็นเทคโนโลยีเรือธงของทางค่าย adidas ที่ได้รับเสียงตอบรับในแง่บวกเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะ "เด้ง" สะท้อนแรงกลับจากพื้นสู่เท้า ช่วยให้สูญเสียพลังงานจากการวิ่งน้อยกว่าเดิมแล้ว ยังมีความ "นุ่ม" ช่วยซัพพอร์ตเท้าได้เป็นอย่างดี
Photo : medium.com
ด้วยเหตุดังกล่าว เราจึงได้เห็นโฟม BOOST อยู่ในรองเท้าวิ่งแทบจะทุกตระกูล ทุกรูปแบบของค่ายสามแถบ ไม่ว่าจะเป็นรองเท้าสำหรับวิ่งในเมือง หรือ City Run อย่าง Pureboost กับ Pulseboost HD รองเท้าสายทำความเร็วอย่างตระกูล adizero หรือรองเท้าสาย All Around วิ่งก็ได้ แฟชั่นก็เท่อย่าง ULTRABOOST
อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่า โฟม BOOST เองก็มีจุดอ่อนของมันอยู่ นั่นคือ น้ำหนัก ที่ดูจะมากกว่าโฟม EVA แบบทั่วไปหรือของค่ายอื่นๆ อยู่บ้าง ทำให้เมื่อเป็นรองเท้าสายวิ่งทำความเร็ว พวกเขาจำเป็นที่จะต้องเฉือนเนื้อโฟม BOOST ออกไปบางส่วน แล้วทดแทนส่วนที่ขาดหายไปด้วยโฟม EVA ที่แม้จะมีน้ำหนักเบากว่า แต่ก็ไม่ซัพพอร์ตและเด้งเท่า
และนั่นทำให้ adidas ต้องพัฒนาวัสดุใหม่เพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว ทว่าจุดกำเนิดของเรื่องนี้ จริงๆ แล้วไม่ได้เกิดจากท้องถนนหรือสนามวิ่ง ... แต่เป็นคอร์ทบาสเกตบอล
2
"โดยทั่วไปแล้ว เพื่อสร้างโฟมพื้นรองเท้าที่มีน้ำหนักเบา คุณสมบัติการซัพพอร์ตเท้าจะเป็นสิ่งที่ต้องสูญเสียไป ซึ่งเมื่อเวลานานๆ เข้า โฟมมันก็จะหมดสภาพ หรือใส่แล้วรู้สึกแข็งยิ่งกว่าเดิม" เจเน็ตต์ แอตกินส์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการพัฒนาคอนเซ็ปท์ก้าวหน้าของ adidas เผย
Photo : www.yezshoes.com
ด้วยเหตุดังกล่าว แบรนด์สามแถบจึงได้พัฒนาโฟมพื้นรองเท้าใหม่ในชื่อ "Lightstrike" ที่ยังคงให้ความนุ่มสบายแก่นักกีฬา แต่ยังรักษาน้ำหนักที่เบา และการสะท้อนกลับพลังงานที่รวดเร็วเอาไว้ได้ เพื่อให้เหมาะกับกีฬาบาสเกตบอล ที่ต้องมีการเคลื่อนไหว เปลี่ยนทิศทางอย่างรวดเร็วตลอดการแข่งขัน
1
adidas ได้เผยโฉมโฟม Lightstrike เป็นครั้งแรกกับรองเท้าบาสเกตบอล N3XT L3V3L เมื่อช่วงปลายปี 2018 เพื่อชิมลาง ก่อนต่อยอดระลอกใหม่เมื่อเดือนกันยายน 2019 กับ Harden Vol. 4 รองเท้าบาสเกตบอลซิกเนเจอร์ของ เจมส์ ฮาร์เดน การ์ดดีกรี MVP จาก ฮิวส์ตัน ร็อคเก็ตส์ รวมถึง Dame 6 ตัวซิกเนเจอร์ของ เดเมียน ลิลลาร์ด สตาร์ของ พอร์ทแลนด์ เทรลเบลเซอร์ส ซึ่งทั้งคู่ถือเป็นพรีเซนเตอร์สายแม่นห่วงตัวท็อปของค่ายสามแถบอีกด้วย
Photo : orangemagazine.ph
เมื่อมีนวัตกรรมใหม่ออกมา ก็ไม่แปลกที่จะมีการตั้งคำถามว่า จะมีโอกาสต่อยอดสู่วงการอื่นๆ หรือไม่ ซึ่งแอตกินส์ได้เปิดใจถึงเรื่องดังกล่าวไว้ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2018 ว่า "ฉันก็คาดเดาอนาคตไม่ได้หรอกนะ แต่จากที่ได้รับฟังคำวิจารณ์ของนักกีฬามา ก็หวังว่าจะมีโอกาสค่ะ"
สู่รองเท้าวิ่งความหวังใหม่
สำหรับวงการกีฬานั้น หลายสิ่งหลายอย่างที่ถูกสร้างมาสำหรับกีฬาหนึ่ง ก็อาจถูกนำไปใช้ต่อกับกีฬาอื่นได้ ซึ่งเทคโนโลยีก็เช่นกัน
และด้วยเสียงตอบรับที่ดีจากนักแม่นห่วง ในที่สุด โฟม Lightstrike ก็ได้เปิดตัวกับรองเท้าสำหรับกีฬาอื่นๆ และกีฬานั้นก็คือ ... วิ่ง
Photo : snkrtoday.com
ด้วยน้ำหนักที่เบากว่า แต่ยังให้ความนุ่มสบาย ซัพพอร์ตเท้า และเด้งใกล้เคียงกับโฟม BOOST จึงทำให้รองเท้าตระกูล adizero ที่เป็นสายทำความเร็ว ถูกเลือกให้มาเป็นรองเท้าที่ใช้เทคโนโลยี Lightstrike เป็นประเดิม และหนึ่งในรุ่นแรกๆ ที่ออกวางจำหน่ายก็คือ adizero adios 5 ทายาทของอดีตรองเท้าวิ่งมาราธอนเบอร์ 1 ของโลก
1
สิบปากว่า สิบตาเห็น หรือจะสู้หนึ่งทดลองฉันใด ... ผู้เขียนเลยถือโอกาสที่ adizero adios 5 เพิ่งวางจำหน่ายเมื่อช่วงต้นปี 2020 ไปลองสวมจริงแบบเบาๆ ให้รู้ถึงฟีลลิ่งกันเลย
1
สิ่งแรกที่รู้สึกจากการทดลองใส่คือ รองเท้าวิ่งสายทำความเร็วของค่ายสามแถบนี้ ดูจะมีความนุ่มและซัพพอร์ตมากกว่าที่คิดไว้จากภาพโปรโมท เพราะจากภาพที่เห็นว่าโฟม BOOST แค่ช่วงส้นเท้า อันที่จริง โฟมดังกล่าวได้กระจายเต็มพื้นที่ของพื้นรองเท้าด้านล่าง ส่วนโฟม Lightstrike นั้นมีหน้าที่คล้ายๆ กรอบที่หุ้ม BOOST ไว้เสียมากกว่า
ส่วนสัมผัสที่ได้จากการทดลองวิ่งนั้น ถือว่าตามมาตรฐานรองเท้าสายซิ่ง ที่ "เด้ง" สะท้อนพลังงานจากการวิ่งได้ดี ซึ่งเชื่อว่าในส่วนนี้ก็ยังน่าที่จะรักษามาตรฐานที่ดีอยู่เดิมเอาไว้ได้ แต่ด้วยการที่ค่ายสามแถบ ยังคงไม่ใช้พื้นคาร์บอนเป็นหนึ่งในส่วนประกอบเหมือนกับแบรนด์อื่นๆ ในส่วนนี้จึงยังต้องพิสูจน์กันในภายหลังว่า จะเด้งสู้คู่แข่งได้หรือไม่
Photo : www.adidas.com
อย่างไรก็ตาม ฟีลลิ่งในการใส่นั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะสถิติไม่เคยโกหกใคร ผลงานจากการแข่งขันในสนามต่างๆ จึงเป็นสิ่งที่สามารถตอบคำถามได้ดีที่สุด
และนอกจากงานวิ่งรายการต่างๆ ซึ่งมี เบอร์ลิน มาราธอน รายการที่แฟนๆ หวังเห็นการทำลายสถิติโลกวิ่งมาราธอนเป็นรายการประจำทุกปีแล้ว ปี 2020 ยังเป็นปีที่มีอีเวนต์ระดับมหึมาอย่าง โอลิมปิก รออยู่ด้วย บางที adidas อาจจะมีทีเด็ดอย่างรองเท้าวิ่งที่มีทั้งโฟม BOOST, Lightstrike และแผ่นคาร์บอนในคู่เดียวกันรออยู่ก็เป็นได้
ทุกการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ล้วนมีการเดิมพันเป็นส่วนหนึ่งอยู่เสมอ หากนักวิ่งที่ใช้รองเท้าของ adidas สามารถคว้าแชมป์รายการใหญ่ๆ หรือทำลายสถิติโลกวิ่งมาราธอนได้สำเร็จ ก็ถือว่าการเดิมพันครั้งนี้ประสบความสำเร็จ แต่ถ้าไม่ ก็ถือเป็นบทเรียนในการพัฒนาต่อไป
ก็อย่างที่เราพูดไว้ในตอนแรก เมื่อมีการแข่งขัน ก็ย่อมมีการพัฒนาเพื่อสิ่งที่ดีกว่าเสมอ ... และคนที่ได้ผลประโยชน์ที่สุด หนีไม่พ้นผู้บริโภคอย่างเราๆ นั่นเองครับ
บทความโดย เจษฎา บุญประสม
โฆษณา