23 ก.พ. 2020 เวลา 03:40 • กีฬา
เอฟซี สตาร์ท : ทีมโรงงานเบเกอรีที่เก่งเกินจนโดนนาซีสั่งฆ่า
“ระหว่างอุดมการณ์กับความตายคุณจะเลือกอะไร?”
คำตอบอาจจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับบุคคล แต่ในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เคยมีสโมสรฟุตบอลเล็กๆ จากยูเครน ที่เลือกอุดมการณ์และกล้าต่อกรกับมหาอำนาจของโลกในตอนนั้นอย่างพรรคนาซี ด้วยการไล่ถล่มทีมฟุตบอลตัวแทนจากเยอรมันอย่างไม่ไว้หน้า
หลังเกมวันนั้นมีรายงานว่า ชะตากรรมของพวกเขาต้องจบลงอย่างน่าเศร้า หลายคนถูกยิงเสียชีวิต หลายคนถูกทรมานจนตาย มีหลายหลายทฤษฎีบอกว่าพวกเขาถูกพรากชีวิตเพราะทำให้นาซีเสียหน้า จนทำให้เกมนัดดังกล่าวถูกขนานนามจากสื่อในท้องถิ่นว่า “เกมแห่งความตาย”
เรื่องราวเป็นอย่างไร เชิญติดตามไปพร้อมกับ Main Stand
เอฟซี สตาร์ท
ในช่วงทศวรรษที่ 1930's ฟุตบอลถือเป็นหนึ่งในกีฬาที่ได้รับความนิยมในสหภาพโซเวียต พวกเขาก่อตั้ง โซเวียต ท็อปลีกขึ้นในปี 1936 ซึ่งทำให้หลายสโมสรต้องปรับโครงสร้างให้เป็นมืออาชีพมากขึ้น เพื่อเข้าไปเล่นในลีกแห่งชาติของโซเวียต
Photo : www.fcdynamo.kiev.ua
ดินาโม เคียฟ จากยูเครนที่ตอนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต คือหนึ่งในทีมแนวหน้าของลีก พวกเขามีผู้สนับสนุนเป็น NKVD หน่วยข่าวกรองชื่อดังของโซเวียต โดยมีคู่แข่งสำคัญคือ โลโคโมทีฟ เคียฟ สโมสรร่วมเมือง
ทว่า หลังการเข้ายึดครองของนาซีในเดือนกันยายน 1942 ก็ทำให้หลายทีมถูกยุบ รวมไปถึงดินาโม และโลโคโมทีฟ นักเตะหลายคนแยกย้ายกันไปคนละทิศคนละทาง บางคนไปอยู่กับกองทัพแดง บางคนไปอยู่หน่วยต่อต้านกลุ่มหัวรุนแรง ในขณะที่บางคนเลือกที่จะไปทำงานที่โรงงานเบเกอรีที่กรุงเคียฟ
แม้จะไม่มีลีกให้เล่น แต่ความรักในฟุตบอลของพวกเขายังคงไม่เปลี่ยนแปลง เหล่าอดีตนักเตะ 9 คนจากโรงงานเบเกอรีที่ประกอบไปด้วยแข้งจากเคียฟ 3 คน และบางส่วนจากโลโคโมทีฟ, สปาร์ตัก โอเดสซา และสโมสรอื่นๆ จึงร่วมก่อตั้งทีมขึ้นมาใหม่โดยใช้ชื่อว่า “เอฟซี สตาร์ท”
นอกจากอดีตนักฟุตบอลแล้ว ทีมของพวกเขายังประกอบไปด้วย หัวหน้าพ่อครัว เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และตำรวจ ซึ่งชื่อ “สตาร์ท” ของสโมสรเอามาจากคำภาษาอังกฤษ โดยมีความหมายว่า “การเริ่มต้นใหม่”
ก้าวใหม่ของพวกเขาก็เริ่มต้นนับตั้งแต่นั้น
ยอดทีมไร้เทียมทาน
ในช่วงที่นาซียึดครองเคียฟ ฟุตบอลเป็นกีฬาที่สงวนไว้สำหรับเยอรมันและพันธมิตร แต่ในเดือนมิถุนายน 1942 พวกเขาได้จัดการแข่งขันฟุตบอลที่สองทีมจากยูเครนเข้าร่วม รวมไปถึงทีมกองกำลังรักษาการณ์ที่เป็นตัวแทนของ เยอรมัน ฮังการี และโรมาเนีย
Photo : www.uvlsports.com
เอฟซี สตาร์ท คือหนึ่งในสองทีมจากยูเครน พวกเขาทำผลงานได้อย่างโดดเด่นด้วยการเอาชนะทีมจากฮังการี 6-2 ต่อด้วยการถล่มทีมจากโรมาเนีย 11-0 รวมไปถึงเอาชนะ เอฟซี รุช อีกหนึ่งทีมจากยูเครน ที่ได้รับการสนับสนุนจากนาซี 7-2
1
นัดสุดท้ายพวกเขาต้องเจอกับ ฟลาคเอลฟ์ ตัวแทนของนาซี ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นทีมที่ดีที่สุดของยุโรป จากการเชิดชูของ อาณาจักรไรซ์ที่สาม ทีมประกอบด้วยพลต่อต้านอากาศยาน นักบิน และวิศกรเครื่องกล จากสนามบินเคียฟ พวกเขายังได้รับการดูแลเป็นการส่วนตัวจาก เฮอร์มาน กอร์ริง ที่มักจะไม่ส่งนักฟุตบอลเก่งๆ ไปแนวหน้าของสนามรบ
1
6 สิงหาคม 1942 คือวันที่ทั้งสองทีมต้องมาพบกัน ก่อนที่เกมจะจบลงด้วยการที่ทีมจากโรงงานเบเกอรีถล่ม ฟลาคเอลฟ์ ไปอย่างขาดลอย 5-1 แน่นอนว่า เยอรมันไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ ทำให้ต้องมีการรีแมตช์อีกครั้ง
1
และนั่นคือจุดเริ่มต้นของหายนะ
สังคมนิยมปะทะนาซี
เกมนัดที่ 2 ถูกกำหนดไว้ว่าอีก 3 วันจากเกมนัดแรก ผู้ชมกว่า 2,000 คนเข้ามาเป็นสักขีพยานในสนาม สตาร์ท สเตเดียม ที่ต่อมาเป็นที่รู้จักในชื่อ เซนิท สเตเดียม บางส่วนเล่าว่าเกมวันนั้น ในสนามเรียงรายไปด้วยทหารพร้อมอาวุธครบมือ เจ้าหน้าที่ตำรวจ และสุนัขตำรวจ
Photo :Tikitaka.ro
ก่อนเกมเจ้าหน้าที่จากเกสตาโป (ตำรวจลับของนาซี) เข้ามาหาพวกเขาแนะนำว่าคือผู้ตัดสิน และบอกให้ผู้เล่นชูมือขวาในสนามเพื่อทำท่าแสดงความเคารพแบบนาซี
1
“ผมคือผู้ตัดสินในวันนี้ ผมรู้ว่าคุณเป็นทีมที่ดี โปรดทำตามกฎและห้ามทำผิดกติกา ก่อนเกมกรุณาทักทายคู่แข่งพวกคุณด้วยธรรมเนียมของเรา” ผู้ตัดสินกล่าว
แต่ผู้เล่นปฏิเสธที่จะทำตาม และพวกเขากล่าวคำปฏิญาณแบบโซเวียตแทน จากนั้นเกมดำเนินไปอย่างขลุกขลักเมื่อ นิโคไล ทรูเซวิช ผู้รักษาประตูของสตาร์ท ต้องถูกหามออกนอกสนาม หลังถูกผู้เล่น ฟลาคเคลฟ์ เตะเข้าที่ศีรษะ แต่สตาร์ท ก็ยังเป็นฝ่ายออกนำไปก่อน 3-1 ในครึ่งแรก
อย่างไรก็ดี ในช่วงพักครึ่ง ได้มีเจ้าหน้าที่ของเยอรมัน เข้ามาในห้องแต่งตัวของพวกเขา พร้อมพูดเชิงข่มขู่ว่าหากไม่อยากตายจงยอมแพ้ในเกมนี้
“เยอรมันต้องเป็นผู้ชนะเท่านั้นในวันนี้” เจ้าหน้าที่กล่าว
เจ้าหน้าที่ยังกลับไปที่ห้องแต่งตัวของ ฟลาคเอลฟ์ และบอกกับนักเตะว่า “พวกแกต้องชนะวันนี้ และพิสูจน์ให้เห็นความเหนือกว่าของชาวอารยัน”
แม้ว่า ฟลาคเอลฟ์ จะเป็นฝ่ายตามตีเสมอได้ในครึ่งหลัง แต่ท้ายที่สุด สตาร์ทก็มายิงเพิ่มอีก 2 ประตู และเอาชนะไปในท้ายที่สุด 5-3 แฟนบอลในสนามพากันตะโกนโห่ร้อง และพูดสโลแกนต่อต้านนาซี มันไม่ใช่แค่เกมฟุตบอล แต่มันคือการต่อสู้ระหว่างยูเครนกับเยอรมัน เป็นการดวลกันระหว่างสังคมนิยมกับฟาสซิสต์ ก่อนที่มันจะทำให้ชะตาชีวิตของพวกเขาจบลงอย่างน่าเศร้า
แมตช์แห่งความตาย
เพียงแค่หนึ่งวันหลังเกมนัดนั้น นักเตะของสตาร์ทที่ทำงานอยู่ในโรงงานเบเกอรีทุกคน ก็ถูกจับโดยไม่ทราบสาเหตุโดยเจ้าหน้าที่เกสตาโป หลายฝ่ายเชื่อกันว่าสาเหตุน่าจะมาจากการทำให้นาซีต้องเสียหน้าจากความพ่ายแพ้
Photo : aminoapps.com
นิโคไล โคโรติช กองหน้าของสตาร์ท คือจุดเริ่มต้นของโศกนาฏกรรม เขาถูกทรมานจนตายโดยเจ้าหน้าที่ของเกสตาโป ส่วนคนอื่นถูกส่งไปที่ ซิเรตส์ ค่ายกักกันที่ใช้คำว่าค่ายแรงงานบังหน้า ในอีกสองวันหลังการตายของโคโรติช
การไปค่ายก็เปรียบเสมือนโทษประหาร 24 กุมภาพันธ์ 1943 หนึ่งในสามของนักโทษที่ซิเรตส์ ต้องถูกยิงเป้า ชะตากรรมตกมาถึง คุสเมนโก, คลิเมนโก และ ทรูเชวิช ส่วน กอนชาเรนโก และ สวิริดอฟสกี หนีรอดออกมาได้ ในขณะที่คนอื่นที่เหลือไม่ทราบชะตากรรม
หลังจากนั้น หนังสือพิมพ์ Izvestia คือเจ้าแรกที่เรียกเกมนั้นว่า “แมตช์แห่งความตาย” นับตั้งแต่วันนั้น ผู้เล่นทั้งหมดได้รับการยกย่องในฐานะตำนาน ปี 1964 ผู้เล่นที่รอดชีวิตได้รับเหรียญเชิดชูเกียรติ ในขณะบางคนได้รับเหรียญกล้าหาญเทียบเท่าออกไปรบในสงคราม
ปี 1971 ได้มีการสร้างอนุสาวรีย์ที่เป็นรูปนักฟุตบอลสี่คนไว้หน้าสนาม วาเลรี โลบานอฟสกี ดินาโม สเตเดียม เพื่อเชิดชูในความเป็นฮีโร่ของพวกเขา เรื่องราวของพวกเขายังได้กลายเป็นแรงบันดาลใจ จนเกิดเป็นภาพยนตร์ออกมาหลายเรื่องทั้ง Two Half Times in Hell (1962), The Longest Yard (1974) และ Escape to Victory (1981)
นั่นคือสิ่งที่ชาวโซเวียตเชื่อกันมาตลอด ทว่ามันคือเรื่องจริงอย่างนั้นหรือ ?
โฆษณาชวนเชื่อของโซเวียต
จากการศึกษาของนักประวัติศาสตร์ พบว่า “แมตช์แห่งความตาย” เป็นเพียงการโฆษณาชวนเชื่อของชาวโซเวียต เพื่อปลูกฝังให้เกลียดชังชาวเยอรมัน มันถูกบิดเบือนจากความจริงหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการข่มขู่จากนาซี
Photo : thesefootballtimes.co
“ความจริงคือการแข่งขันถูกจัดขึ้นจริง แต่ไม่มีแมตช์แห่งความตายอะไรทำนองนั้นหรอก ผู้คนอยากให้พวกเขาเป็นตำนาน เหมือนกับโรบินฮูด” มารินา เชฟเชนโก นักประวัติศาสตร์ ที่ทำงานที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์กรุงเคียฟกล่าว
1
จากคำบอกเล่าของ กอนชาเรนโก หนึ่งในผู้รอดชีวิตในคำสัมภาษณ์เมื่อปี 1985 บอกว่าข้อเท็จจริงคือไม่มีการข่มขู่ให้ยอมแพ้จากนาซี ไม่มีเจ้าหน้าที่ที่เต็มไปด้วยอาวุธครบมือในสนาม ไม่มีการทำร้ายผู้รักษาประตู ไม่มีการโห่ร้องต่อต้านนาซี และผู้เล่นก็ไม่ได้ถูกสังหารเนื่องจากเอาชนะตัวแทนจากเยอรมัน
ยิ่งไปกว่านั้นหลังจบเกม ทั้งสองทีมยังได้ถ่ายรูปร่วมกันบางคนมีสีหน้าที่ยิ้มแย้ม แม้ว่ารูปดังกล่าวจะยังถกเถียงกันว่าเกิดขึ้นก่อนเกม หรือเป็นเกมอื่นที่เกิดขึ้นหนึ่งเดือนก่อนหน้านั้นก็ตาม
“มันคือโฆษณาชวนเชื่อ” จอร์จี คุสมิน ที่เป็นเจ้าของหนังสือประวัติศาสตร์ยูเครนที่ชื่อว่า ‘What Did and Didn’t Happen’ ที่ตีพิมพ์ในปี 2010 กล่าว
“โซเวียตแสดงให้เห็นว่าผู้คนสามารถเสียสละชีวิตเพื่ออุดมการณ์ของโซเวียต และผู้คนในเคียฟก็ชอบเรื่องนี้ มันเป็นตำนานที่ดี แต่ทุกคนควรรู้ความจริง”
อย่างไรก็ดีในเรื่องเล่าก็มีบางส่วนที่เป็นเรื่องจริง เช่นเรื่องที่โดนขู่ว่าอาจจะทำให้พวกเยอรมันไม่พอใจหากเป็นฝ่ายชนะ หรือการที่นาซี ส่งคนมาบอกให้นักเตะทำท่าแสดงความเคารพแบบนาซี
“ทุกคนบอกกับเราว่า ‘พวกนายกำลังทำอะไร? นี่มันอันตรายของจริง” กอนชาเรนโก กล่าวไว้ในประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่าที่อัดเทปไว้โดยเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์สงครามโลกครั้งที่ 2
แต่ที่น่าเศร้าคือการจบชีวิตของเหล่าผู้เล่นสตาร์ทคือเรื่องจริง แล้วอะไรที่ทำให้พวกเขาต้องเผชิญกับชะตากรรมเช่นนี้ หากไม่ใช่เกมนัดนั้น
ถูกหักหลังจากเพื่อนร่วมชาติ
ความจริงที่เกิดขึ้นหลังเกมนัดนั้นยังเต็มไปด้วยข้อสงสัย และบางส่วนยังคงคลุมเครือ บ้างเล่าว่านักเตะของสตาร์ทถูกจับหนึ่งวันหลังจากเกมกับทีมจากเยอรมัน แต่บางส่วนก็บอกว่า พวกเขาถูกจับในวันที่ 18 สิงหาคม หลังลงเตะกับ เอฟซี รุช อีกหนึ่งทีมของยูเครนที่พวกเขาเอาชนะไปได้ 8-0
Photo : aminoapps.com
ทฤษฎีนี้ระบุว่าชัยชนะที่ถล่มทลายต่อรุช ทำให้ จอร์จี เช็คซอฟ เจ้าของทีมรู้สึกโกรธ และอิจฉาในความสำเร็จของสตาร์ท จึงไปบอกเกสตาโปว่าพวกนักเตะที่โรงงานเบเกอรีมีส่วนเกี่ยวข้องกับ NKVD หรือตำรวจลับโซเวียต (ที่ต่อมาพัฒนาเป็น KGB) ซึ่งถือเป็นภัยต่อความมั่นคงของนาซี
หลังเกสตาโป ทราบเรื่องจึงบุกไปถึงโรงงานเบเกอรี พร้อมกับโปสเตอร์และชื่อนักเตะของสตาร์ทสมัยเล่นให้กับ ดินาโม เคียฟ พวกเขาไล่จับอดีตนักเตะจนได้ตัวครบ และเป็นจุดเริ่มต้นของโศกนาฏกรรม
แม้ว่าท้ายที่สุดจะมีข้อสรุปออกมาว่าผู้เล่นของสตาร์ทไม่ได้ถูกสังหารเพราะเอาชนะ ฟลาคเอลฟ์ หลังอัยการเมืองฮัมบูร์กเข้ามาสอบสวนเรื่องนี้ก่อนจะปิดคดีไปเมื่อปี 2005 โดยระบุว่าทั้งสองเรื่องไม่ได้มีส่วนเชื่อมโยงกัน แต่การเสียชีวิตของนักเตะทีมสตาร์ทคือเรื่องจริง
นั่นทำให้พวกเขายังคงได้รับการยกย่องและสรรเสริญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ ดินาโม สเตเดียม ที่กรุงเคียฟ ซึ่งเป็นที่ตั้งของรูปปั้นของนักเตะสตาร์ท พวกเขาคือตำนานที่ชาวยูเครนภาคภูมิใจ
Photo : tikitaka.ro
“ไม่มีเอกสารใดที่สามารถพิสูจน์สิ่งหล่านี้ได้” คิริลล์ บอยโก ผู้จัดการกลุ่มแฟนคลับของดินาโมกล่าว
“เราคือผู้รักชาติของประเทศและทีม และเราก็เชื่อในตำนาน”
บทความโดย มฤคย์ ตันนิยม
โฆษณา