23 ก.พ. 2020 เวลา 09:22 • สุขภาพ
ปล่อยฉันจากไปเมื่อถึงเวลา
อยากรู้ไหมว่า ถ้าเลือกได้...หมออยากตายแบบไหน When the time comes, please let me go.
วันนี้จะมาพูดถึง Precursors study ซึ่งเป็นหนึ่งในงานวิจัยเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงของโรคเรื้อรังต่างๆ ที่ยาวนานที่สุดในโลก โดยกลุ่มผู้เข้าร่วมงานวิจัยคือบรรดาแพทย์ที่จบจาก Johns Hopkins University ตั้งแต่ปี 1946-1964 จำนวน 1,337 คน
โดยคำถามที่ส่งไปให้แพทย์เหล่านี้จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ทุกปี ช่วงแรกๆ จะเป็นคำถามเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังต่างๆ
แต่พอผ่านไปได้ 50 ปี คุณหมอเหล่านี้ก็อายุปาเข้าไป 70-80 กันแล้ว รูปแบบคำถามก็เปลี่ยนไป ครั้งนี้ถามว่า แพทย์เหล่านี้วางแผนอย่างไรเมื่อถึงวาระสุดท้ายของตัวเอง
โดยให้สถานการณ์สมมติว่า ถ้าเกิดเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หาย และสมองเสียหาย จนจำคนรู้จักไม่ได้ สื่อสารกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง (ตัวอย่างเช่นภาวะ Alzheimer รุนแรง หรือสมองเสื่อมมากๆ) แต่ไม่ตาย ถ้าประคับประคองไปเรื่อยๆ ก็สามารถมีชีวิตอยู่ได้อีกนาน แพทย์เหล่านั้นยังต้องการหัตถการที่ช่วยในการดำรงชีพหรือไม่ คำตอบเราว่าน่าสนใจมาก และน่าจะตรงกับความคิดของแพทย์หลายๆคน
กล่าวโดยสรุปคือ
- ไม่ต้องการ CPR 90%
- ไม่ต้องการ เครื่องช่วยหายใจ 80%
- ไม่ต้องการสายให้อาหาร 80 %
- ไม่ต้องการ การฟอกไต 80%
- ไม่ต้องการ การผ่าตัด 80%
- ไม่ต้องการ invasive test 80%
- ไม่ต้องการเลือด 80%
- ไม่ต้องการสารน้ำ 60%
- ไม่ต้องการยาปฏิชีวนะ 60%
สรุปคือส่วนใหญ่ไม่ขออะไรเลย
มีแค่เพียงสิ่งเดียวที่หมอเหล่านี้ต้องการคือ...ยาแก้ปวดเพื่อจากไปอย่างสงบถึง 80%
ซึ่งคำตอบเหล่านี้น่าจะแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับคนธรรมดาทั่วไป
ต้องยอมรับว่าหมอต่างกับคนทั่วไป ตรงที่สถานการณ์สมมติดังกล่าวนั้นไม่ยากเกินจินตนาการเลย พวกหมอเห็นกันอยู่จนชินตา และรู้ว่ามันจะจบลงเช่นไร
คือบางครั้งความเจ็บปวดจากหัตถการเหล่านั้นมันยังแย่กว่าความเจ็บปวดจากตัวโรคเอง และสิ่งที่ทำไปทั้งหมดมันอาจจะไม่ได้ยืดชีวิตออกไป แต่เป็นการยืดระยะเวลาการเจ็บปวดก่อนตายต่างหาก (prolonged suffering, not life)
และเมื่อถึงวาระสุดท้ายของชีวิต เราทุกคนควรมีสิทธิ์เลือกว่าจะตายอย่างไร (autonomy) เพราะการมีแค่ชีวิตอยู่แต่ไม่สามารถทำอะไรได้เลย แม้แต่ควบคุมการตัดสินใจของตัวเองก็ทำไม่ได้ มันอาจจะน่ากลัวกว่าตัวความตายเสียอีก
บางที...สิ่งเดียวที่มนุษย์ต้องการเมื่อถึงเวลา คือการเสียชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี, สงบ และไม่เจ็บปวดเท่านั้นเอง
คำถามเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องไกลเกินตัวนะ คงต้องคิดเผื่อไว้บ้างว่าถ้าเวลานั้นมาถึงเราต้องการอะไร
ทางที่ดีคือไปทำพินัยกรรมชีวิต (Living will) กันเถอะ คนข้างหลังจะได้รู้และเคารพการตัดสินใจของเรา
โฆษณา