26 ก.พ. 2020 เวลา 01:52 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ข่าวปลอมคืออะไร? มีแบบใดบ้าง?
#สรุปครบทุกประเภท
ข่าวปลอม (Fake News) คือ การเผยแพร่ข้อมูลที่ผิดจากความจริงในรูปแบบต่างๆ
หน่วยงาน Eavi (หรือ Media literacy for citizenship) ซึ่งเป็นหน่วยงานไม่แสวงหาผลกำไรที่มีฐานการทำงานในยุโรป ได้การอธิบายและจัดจำแนกข่าวปลอมออกเป็นประเภทต่างๆ เพื่อให้ผู้เสพข่าวอย่างเราๆเห็นภาพรวมและป้องกันตัวจากข่าวปลอมได้ง่ายขึ้น
1) โฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda)
ขึ้นชื่อว่าโฆษณานั้นย่อมไม่มีความเป็นกลาง เพราะเป็นไปเพื่อโน้มน้าวอารมณ์ของผู้รับสาร แต่โฆษณาที่พูดเกินเลยข้อเท็จจริงหรือผิดจากความจริง หรือ ไม่บอกความจริง จนเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนอาจก่อให้เกิดความเสียหายได้
ทุกวันนี้ โฆษณาเข้าถึงเราผ่านทางเว็บไซต์มากมาย และหลายๆเว็บไซต์มีการเก็บข้อมูลว่า เราชอบค้นหาอะไร สนใจอะไร จนถึงอาศัยอยู่ที่ไหน
ที่น่ากลัวคือ บางครั้งเว็บไซต์เหล่านี้อาจมีการส่งเรื่องที่ตรงกับความเห็นเรามาให้เราเสพตลอด โดยที่เราอาจไม่รู้ตัวว่าเราถูกยัดเนื้อหาเข้ามาให้เสพตามที่เว็บไซต์เหล่านี้ต้องการ
2) บทความที่เขียนเพื่อสปอนเซอร์ (Sponsored Content)
เนื้อหาที่เขียนโดยมีสปอนเซอร์เป็นการทำลายเส้นแบ่งระหว่างบทความและโฆษณา
ปัญหาคือมันทำให้ผู้คนสับสนในการประเมินว่าบทความนี้เป็นแบบใดกันแน่ ยิ่งถ้าเนื้อหาบทความเหล่านี้มีข้อผิดพลาดก็จะเป็นข่าวปลอมที่แนบเนียนขึ้นไปอีกขั้น
3) คลิกเบต (Clickbait)
เป้าหมายหลักของคลิกเบตคือการดึงดูดความสนใจของผู้คนให้มากพอที่จะคลิกเข้าไปดูเนื้อหา เนื้อหาในนั้นมักจะไม่ตอบโจทย์ความสนใจของผู้อ่าน แต่เน้นพาดหัวข่าวให้หวือหวา ใส่สีตีไข่จนเกินความเป็นจริง
บางเว็บไซต์ทำให้เราเสียเวลา แต่บางเว็บไซต์ก็มีไวรัส ที่ก่อให้เกิดปัญหายาวกับคอมพิวเตอร์ของเราได้
4) ข่าวเท็จ หรือ เรื่องหลอกลวง (Hoax)
คือข่าวที่ถูกสร้างขึ้นจากเรื่องราวที่เป็นเท็จ
เช่น เรื่องหลอกลวงครั้งใหญ่บนดวงจันทร์ (Great Moon Hoax)
ในปี ค.ศ. 1835 นสพ.หนึ่งมีการลงข่าวว่า มีการค้นพบครั้งใหญ่ทางดาราศาสตร์ โดย เซอร์ จอห์น เฮอร์เชล (Sir John Herschel) รายละเอียดข่าวคือ นักดาราศาสตร์ท่านนี้ใช้กล้องโทรทรรศน์ส่องไปยังดวงจันทร์ แล้วพบมนุษย์บนดวงจันทร์เต็มไปหมด มนุษย์เหล่านี้มีลักษณะคล้ายกับค้างคาว บินไปมา อีกทั้งม้าบนดวงจันทร์ยังมีเขาเหมือนยูนิคอร์นด้วย
เซอร์ จอห์น เฮอร์เชล เป็นนักดาราศาสตร์ที่มีตัวตนจริงในยุคนั้น เขาเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกการถ่ายภาพในยุคแรกๆ และเป็นลูกชายของวิลเลียม เฮอร์เชล นักดาราศาสตร์ผู้ค้นพบดาวยูเรนัส
เราฟังข่าวนี้แล้วอาจรู้สึกตลก ซึ่งเป็นอารมณ์เดียวกับตอนที่เซอร์ จอห์น เฮอร์เชล ได้ยินเข้า แต่เมื่อข่าวนี้แพร่ออกไปมากเข้า เขาได้รับคำถามจากผู้หลงเชื่อจำนวนมากจากหลายประเทศจนเหน็ดเหนื่อยและเริ่มไม่ตลก ซึ่งหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นก็ไม่มีการออกมาแก้ข่าวแต่อย่างใด
5) เสียดสี (Satire)
เว็บไซต์มากมายมีการเผยแพร่เนื้อหา เสียดสี ประชดประชัน หรือแม้แต่เอาฮา เช่น ในวันที่ 1 เมษายนที่เป็นวันโกหก แต่บางครั้ง ผู้อ่านก็ไม่ทราบว่าเป็นการเสียดสี และอาจเชื่อไปแบบนั้น
6) ข้อผิดพลาด (Error)
ข้อผิดพลาดนั้นเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ และมีตั้งแต่เรื่องเล็กๆไปจนถึงเรื่องใหญ่โตมากๆและมีอยู่ทุกวงการ
บ่อยครั้งเกิดจากการไม่แตกฉานในเนื้อหาที่ต้องการจะเล่าหรือทำการสื่อสารทำให้เกิดความผิดพลาดได้
7) เล่นพรรคเล่นพวก (Partisan)
หลายๆครั้ง การโจมตีฝ่ายตรงข้ามที่มีความคิดต่าง หรือ ขัดผลประโยชน์ อาจเต็มไปด้วยลูกไม้
เว็บไซต์สองแห่งอาจมีเจ้าของเดียวกัน แต่ดำเนินการเหมือนเป็นคนละสำนัก แต่เป็นไปเพื่อจุดประสงค์ทางการเมืองเดียวกันคือ โจมตีฝ่ายตรงข้าม
เรื่องนี้น่าสนใจมาก เพราะหลายๆครั้งประวัติศาสตร์หรือเรื่องๆเดียวเมื่อถูกเขียนขึ้นจากฝั่งที่แตกต่างกันย่อมมีเนื้อหาที่แตกต่างกันได้
8) ทฤษฎีสมคบคิด (Conspiracy theories)
ทฤษฎีสมคบคิดอาจถูกพัฒนาแตกแขนงเป็นทฤษฎีย่อยๆมากมาย ตัวอย่าง รัฐบาลบางประเทศปิดบังเรื่องมนุษย์ต่างดาว มนุษย์ยังไม่ได้เดินทางไปเยือนดวงจันทรร์ ฯลฯ
9) วิทยาศาสตร์เทียม (Pseudo Science)
วิทยาศาสตร์เทียมมักจะใช้ กลิ่นอายหรือเปลือก “วิทยาศาสตร์” มาสนับสนุนทฤษฎีที่ตนสร้างขึ้น
เช่น การปฏิเสธปรากฏการณ์โลกร้อน การต่อต้านวัคซีน ฯลฯ
บ่อยครั้งวิทยาศาสตร์เทียมขยายวงกว้างขึ้นจากการตีความงานศึกษาทางวิทยาศาสตร์ผิดๆ และการเปลี่ยนแปลงข้อมูลให้เกินจริงเพื่อการทำข่าว
หลักการป้องกันตัวจากข่าวปลอมกว้างๆ คือ
1. พิจารณาแหล่งข่าวและผู้เขียน แหล่งอ้างอิง
2. มีแหล่งอ้างอิงอื่นๆสนับสนุนหรือไม่
3.เป้าหมายของเรื่องคืออะไร
4. อย่าอ่านแค่พาดหัว (แต่ถ้าเป็น Clickbait อ่านแล้วก็ปิดไป)
5.ลองดูวันที่ลง หรือระบุในเรื่อง ว่าสอดคล้องกับความจริงไหม
6. ถามผู้เล่าว่าสิ่งที่เล่าคืออะไร ถามผู้เชี่ยวชาญ
7. วิเคราะห์ด้วยตนเอง ยังไม่รีบเชื่อและแชร์
เท่านี้เราก็สามารถรับข้อมูลข่าวสารได้อย่างปลอดภัยมากขึ้นแล้ว
โฆษณา