29 มี.ค. 2020 เวลา 01:00 • ประวัติศาสตร์
ค้างคาวเดอะซีรีส์ ตอนที่ 2
ทำไมค้างคาวเข้าไปอยู่ในถ้ำ?
คำถามซึ่ง เป็นคำถามหลักของค้างคาวเดอะซีรีส์นี้ก็คือ
ทำไมค้างคาวถึงเป็นแหล่งเพาะโรคนานาชนิด?
ถ้าเราย้อนไป ก็จะได้ความว่า เพราะค้างคาวบินได้ เลยแพร่เชื้อได้
ซึ่งตอนที่แล้วเราไขเรื่องนี้กันไปแล้วอย่างละเอียด(ในตอนที่1ครับ)
แล้วถ้าย้อนไปอีก ก็จะรู้ว่า ที่ค้างคาวเป็นพาหะของโรคนานาชนิด
ก็เพราะค้างคาวเข้าไปอาศัยอยู่ในถ้ำ และในถ้ำมีเชื้อโรคมากมาย
ก่อนจะต่อกันในตอนที่ 2 ผมจะขอเท้าความสักเล็กน้อย
เผื่อใครไม่ได้อ่านตอนที่แล้ว และเป็นการสรุปเรื่องราวกันอีกสักรอบครับ
50 ล้านปีที่แล้วปู่ย่าตายายค้างคาว
เกิดมาเป็นลิงตัวเล็กๆที่หน้าตาดันคล้ายกระรอกบิน
แต่ผ่านไปหลายล้านปี บรรพบุรุษค้างคาวตอนนั้น
ก็สร้างพังผืดที่เชื่อมขาหน้ากับขาหลังขึ้นมา
เหตุผลที่พัฒนาพังผืดขึ้นมาก็เพราะ เจ้าพังผืดนี้ สามารถเอาไปใช้
ในการร่อนเพื่อหนีภัยอันตรายระหว่างต้นไม้ได้ เช่น กองทัพมด หรืองู
แต่ค้างคาวทุกวันนี้มีปีก พังผืดที่มีในตอนนั้น
ต้องกลายมาเป็นปีกแน่นอน จุดเปลี่ยนของเรื่องนี้ก็คือ
พวกนกทั้งหลายครับ...
เวลาที่ค้างคาวรุ่นไร้ปีกกำลังร่อน มักจะเป็นที่น่าสนใจสำหรับนกที่บินไปบินมา
และถ้าพระเอกเราเผลอเมื่อไหร่ส่วนใหญ่จะโดนโฉบไปกินทันที
เหตุเพราะมีปัญหากับเครื่องร่อน...
ปัญหาใหญ่ของการร่อนก็คือ "จะเพิ่มความสูงไม่ได้อีก"
ยิ่งร่อนไกลความสูงยิ่งลดลง มีทางเดียวเท่านั้น
ที่จะเพิ่มความสูงได้ก็คือ "การปีน"
แต่จะมาปีนขึ้นในเวลาที่มีตำรวจอากาศ(นก)ไล่จี้อยู่ด้านหลังก็กระไรอยู่
สุดท้าย ร่อนไปปีนไป ก็จะต้องเหนื่อยหอบและลงจอดบนพื้นโลกในที่สุด
อย่างที่ผมเคยบอกครับ
ถึงพื้นโลกเมื่อไหร่ หายนะบังเกิด...
หนังที่สร้างมาใช้ร่อนบนท้องฟ้า ดันกลายเป็นเป็น"ภาระ"เวลาอยู่ที่บนพื้น
ด้วยความเทอะทะที่มากขึ้นบวกกับความคล่องแคล่วที่ลดลง...
เดาไม่ยากว่าสุดท้ายเจ้านกทั้งหลาย
ต้องไล่จี้มาจับกุมอย่างแน่นอน...
และนั่นทำให้บรรพบุรุษค้างคาว
เลือกที่จะพัฒนาปีกขึ้นมา...
แต่ปีกค้างคาวไม่เหมือนนก ปีกค้างคาวเกิดจากการยืดนิ้วทั้งหมด
ออกไปให้ยาวที่สุดเพื่อเป็นโครงให้กับการสร้างชั้นหนังที่บางมากๆ
พอมาดูที่นก ปีกของนกคือการรวบนิ้วแล้วยืดแขนออกไปให้ยาว
และสร้างขนขึ้นมาปกคลุม แน่นอนว่าที่มาต่างกันขนาดนี้
ประสิทธิภาพที่ได้ก็ต้องต่างกัน...
การบินของนกเปรียบง่ายๆเหมือนผีกระหังครับ
คือออกแรงกระพือแขนอย่างเดียว กระพือท่าเดียว
การควบคุมเลยไม่ค่อยมีมิติ
แต่ถ้าไปดูค้างคาว...
ปีกของค้างคาวจะเหมือนมือขนาดยักษ์
สามารถใช้นิ้วช่วยในการคุมทิศทางได้
ทำให้การเคลื่อนที่ของค้างคาวดูมีมิติมากกว่า
เบรกได้เร็วกว่า เราจะเห็นได้จากการบินมาเร็วๆ
แล้วหมุนตัวเอาขาเกาะเพดานถ้ำนั่นล่ะครับ
ในที่สุด บรรพบุรุษของค้างคาวทั้งหลาย
ก็สามารถผ่านพายุลูกที่สอง จากเจ้าแห่งเวหาครั้งนี้ไปได้สำเร็จ..
แต่ตอนที่แล้วเราค้างกันไว้ที่ฟอสซิลของค้างคาวโบราณ...
ถ้าเราลองหยิบฟอสซิลของค้างคาวสมัยนู้นมาดู
สิ่งที่จะเตะตาเราอย่างแรงคือ...
ค้างคาวเมื่อ 50 ล้านปีที่แล้วยังขายาว
เหมือนยังเอาไว้ใช้เดินหรือปีนป่ายอยู่
แต่ทุกวันนี้ไม่เห็นค้างคาวจะเอาขา
ไปใช้ทำอะไรนอกจากใช้ห้อยหัว
คำถามก็คือ
ทำไมค้างคาวถึงไม่ใช้ขาเลยนอกจากเอาไว้โหนเพดานถ้ำ?
แล้วทุกวันนี้ค้างคาวไปอยู่ในถ้ำทำไมกันแน่?
มาหาคำตอบกันครับ...
หลังจากที่ค้างคาวรุ่นพ่อของเราได้ปีกมาเป็นที่เรียบร้อย
ปัญหาจากการหนีตำรวจอากาศที่น่าจะจบไป … กลับไม่จบ!
ปกติแล้วเจ้าค้างคาวรุ่นก่อนของเราเนี่ย จะใช้ชีวิตอยู่ทั้งกลางวันและกลางคืน
คือถ้าหาอาหารวันนี้ไม่ได้ ก็ไปหาเอาคืนนี้ก็แล้วกัน
แล้วอาหารที่เป็นมื้อดึกส่วนใหญ่ของมันมักจะเป็น…แมลง
ในยามที่แสงอาทิตย์ลับขอบฟ้าไป เราจะได้เห็นแมลงจำนวนมาก
ออกมาตีฆ้องร้องเพลงกันทั้งคืน ราวกับว่ามันจะได้สังสรรค์คืนนี้เป็นคืนสุดท้าย...
ซึ่งก็ไม่ผิดเท่าไหร่นัก เพราะอายุเฉลี่ยของแมลงนั้นสั้นมากๆ
สั้นจนต้องขมวดคิ้ว นิ่วหน้า แล้วหันมาถามว่า
นี่พวกนายจะตายกันแล้วเหรอ…
แมลงที่เป็นของโปรดที่สุดสำหรับค้างคาว
คือแมลงที่น่ารำคาญที่สุดสำหรับพวกเรา...
ตกกลางคืนเมื่อไหร่ เจ้าค้างคาวรุ่นพ่อๆก็จะออกมาล่าแมลงเหล่านี้เป็นอาหาร
ซึ่งก็คงหนีไม่พ้น ยุง แมงเม่า ปลวก และจิ้งหรีด(ร้องอะไรทั้งคืน)
ปัญหาใหญ่ๆของการจับแมลงก็คือ
ยิ่งมีแสงน้อยยิ่งมองไม่เห็นตัว
และขนาดตัวที่เล็กแถมบินไวมากๆ
ซึ่งถ้าไม่เจ๋งจริงมีโอกาสพลาดอาง่ายๆ
แน่นอนว่าพระเอกของเราก็ยังทำตรงนี้ได้ไม่ดีพอ
ยังจับได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ถ้ายังอิ่มท้องอยู่
จะจับไม่ได้สักร้อยตัวก็ยังไม่มีอะไรเสียหาย…
เมื่อพระอาทิตย์ดวงเดิมวนกลับมาอีกครั้งในเช้าวันใหม่
แมลงที่เคยออกมาสังสรรค์กันเมื่อคืนก็เริ่มล้มหายตายจาก...
ต่างคนต่างพากันกลับบ้านกลับช่องกันจนหมด...
อาหารในช่วงเช้าของพระเอกเราในตอนนี้
ก็คงจะมีแต่ผลไม้ที่พอจะหากินได้
แต่จะกินยังไงหล่ะ ถ้าต้องเจอสุดยอดนักล่าอย่างงู?
เจอสุดยอดตัวป่วนอย่างมด?
หรือเจอสุดยอดนกอย่างเจ้าอินทรี?
ทั้งหมดทั้งมวลนี้กำลังประกอบกันเป็นอุปสรรคลูกใหม่
พายุลูกที่สามกำลังจะมาครับ....
จำกันได้ใช่ไหมครับว่าปีกของค้างคาวไม่เหมือนปีกของนก...
ปีกของค้างคาวคือหนัง แล้วไม่ใช่หนังธรรมดา
แต่เป็นหนังที่บางและตึงมากๆ ขึ้นชื่อว่าตึง
โอกาสจะขาดก็ต้องตามๆกันมาอยู่แล้ว
ถึงปีกค้างคาวจะทำให้บินได้ไวกว่า คล่องแคล่วกว่า และมีมิติมากกว่า
แต่ความบอบบางก็ยังเป็นจุดอ่อนที่ยังแก้ไม่ตก…
ทุกครั้งที่มีการไล่ล่าระหว่างตำรวจอากาศ(นกอินทรี)กับค้างคาวในยุคนั้น
แม้เวอร์ชันในตอนนั้นจะเริ่มมีปีก สามารถหลบหลีกได้อย่างสบายๆ
แต่จะพูดได้ว่ารอดแบบ 100% ก็ต่อเมื่อ หนังที่ปีก
ไม่มีการฉีกขาดหรือรูโหว่แม้แต่นิดเดียว
1
ว่าแต่ทำไม?
ด้วยความที่หนังตรงนั้นบางมาก เหล่าวิศวกร(เซลล์ เกล็ดเลือด)
ที่คอยซ่อมบำรุงตรงนั้นจึงประจำการกันไม่เยอะ
ทีนี้ถ้าฉีกหรือขาดเมื่อไหร่ ต้องใช้เวลาซ่อมคร่าวๆคือ 2 เดือน!
2 เดือนสำหรับค้างคาวนั่นคือนานมากๆ...
การต้องคอยหลบๆซ่อนๆจากนกทั้งหลายที่ไม่รู้ว่าจะโผล่มาเมื่อไหร่
แล้วถ้าโผล่มา ก็ไม่รู้ว่าจะหนีรอดไหม
แล้วถ้าหนีรอด ก็ไม่รู้ว่าจะบาดเจ็บเพิ่มหรือเปล่า(บินชนอะไรแบบนี้)
กลายเป็นว่าชีวิตช่วงกลางวัน แทนที่จะสุขสบายเหมือนแต่ก่อน
กลับต้องมาระแวงสัตว์ที่จะมากิน จนสุดท้ายก็ไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน
ภาพรวมคร่าวๆตอนนี้คือ
กลางคืนยังพอมีอาหาร
แต่กลางวันนี่สิเป็นปัญหา
สมมติอาหารที่เคยหาได้สองช่วงรวมแล้วเท่ากับ 100
แต่พอช่วงกลางวันหาไม่ได้ ก็จะเหลือแค่ 40
ทำให้พายุลูกที่สามนี้ ค้างคาวรุ่นพ่อต้องรับศึกสองด้าน
คือกลางวันก็หาอาหารไม่ได้(หรือได้น้อย)
กลางคืนก็ดันจับแมลงไม่แม่นอีก(ยุ่งเลย)
ถ้าช่วงกลางวันไม่มีอาหารมาเพิ่มเหมือนเดิมแล้ว ภาระก็จะไปตกที่ช่วงกลางคืน
แล้วช่วงกลางคืนต้องหาอาหารให้ได้มากกว่าเดิมถึง 2 เท่า จึงจะเพียงพอในหนึ่งวัน ...
ทีนี้จะแก้กันยังไง?
ตรงนี้ผมขอแบ่งกลางวันกับกลางคืน
เรามาดูการแก้ปัญหาที่น่าทึ่งช่วงกลางคืนกันก่อน
ปัญหาในช่วงกลางคืนก็คือ จะจับยังไงให้ได้มากเป็น 2 เท่าของปกติ
โจทย์แรกก็คือต้องหาตำแหน่งเหยื่อให้ถูกเสียก่อน
และโจทย์ที่สองก็คือจะทำยังไงให้แม่นยำ...
สิ่งที่ค้างคาวรุ่นก่อนนู้นทำก็คือ
ใช้เสียงบอกตำแหน่ง(echolocation)
แต่เสียงที่ใช้นี่ไม่ธรรมดา ความถี่สูงมากๆ สูงเกินกว่าที่หูเราจะรับรู้ถึงมันได้
ถ้าถามว่าความถี่สูงเป็นยังไงอยากให้นึกถึงการกรี๊ดครับ
ยิ่งเสียงแหลมเท่าไหร่ ความถี่ก็จะยิ่งสูงมากเท่านั้น
หลักการของค้างคาวก็คือ กรี๊ดแล้วฟังเสียงตัวเอง...
ให้เห็นภาพชัดๆก็คือ กรี๊ดอัดภูเขาแล้วฟังเสียงสะท้อนนั่นล่ะครับ
ด้วยความที่ภูเขามันใหญ่มากๆ เป็นปราการเสียงชั้นดี
หูเราก็เลยได้ยินเสียงที่สะท้อนกลับมา
แต่หูค้างคาวเหนือไปอีกขั้น ... เอาจริงๆต้อง 5 ขั้น
ได้ยินแม้กระทั่งเสียงที่สะท้อนกลับมาจากแมลงตัวกระจิ๊ด
ก็เลยรู้ว่ามันอยู่ตรงไหน ทำให้ช่วงกลางคืนค้างคาวรุ่นก่อนนู้น
มีวิธีหาตำแหน่งเหยื่อที่แม่นยำสักที...
จากนั้นการจะกินให้มากกว่ากว่าเดิม 2 – 3 เท่าของช่วงวัน
ก็คงไม่ใช่เรื่องยากสักเท่าไหร่ เพราะทุกวันนี้ค้างคาวหนึ่งตัว
กินยุงได้เฉลี่ยเป็นพันตัวต่อคืน!
ตัดสลับกลับมาที่ช่วงกลางวัน...
ถ้าค้างคาวรุ่นพ่อสามารถใช้ชีวิตกลางคืนชดเชยอาหาร
ช่วงกลางวันที่ขาดไปได้แล้ว แสดงว่าชีวิตช่วงกลางวัน
ก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป
ทีนี้โจทย์ช่วงกลางวันก็คือ ต้องหาที่นอนเงียบๆ
รอให้ตำรวจอากาศหลับก่อน
แล้วช่วงกลางคืนก็ค่อยออกอาละวาด
แต่มันจะมีที่ไหนล่ะที่เงียบสงบและไม่โดนรบกวน...
ก็ในถ้ำไง!
ที่เป็นถ้ำก็เพราะ ดูจากสิ่งก่อสร้างที่ธรรมชาติทำไว้ให้
ในถ้ำดูเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เหตุผลก็คืออบอุ่น
อากาศไม่แปรปรวน
คล้ายๆบ้านเรา 26 องศาทั้งปี ไม่น่ามีใครบ่นว่าร้อน
เจ้าค้างคาวก็คงเหมือนกัน
ที่สำคัญก็คือ ตอบโจทย์เรื่องหลบนักล่ามากที่สุด
เพราะถ้าเป็นต้นไม้ ก็ต้องไปหาโพรง แต่จะทำโพรงยังไง
เมื่อตัวเองไม่ใช่นก (บางที่อาจจะอยู่ตามต้นไม้ได้ ขึ้นอยู่กับนักล่าแถวนั้น)
และเมื่อบรรพบุรุษค้างคาวเลือกเข้าไปอยู่ในถ้ำ
สิ่งที่จะค่อยๆโดนลดบทบาทก็คือ "ขา"
ถ้าจำกันได้ ค้างคาวมาจากสัตว์ที่คล้ายลิงตัวเล็กๆ ตอนนั้นยังมีขาปกติ
พอเริ่มมีปีก บทบาทของขาก็ค่อยๆโดนแทรกแซง จนเข้าไปอยู่ในถ้ำ
หน้าที่ที่เหลืออยู่ก็มีไม่กี่อย่าง คือใช้จับแมลงกับเกาะติดเพดาน(ถ้ำ)
1
จากเรื่องนี้ ทำให้ทุกวันนี้ค้างคาวทิ้งน้ำหนักทั้งหมดมาที่ขาไม่ได้อีกแล้ว
เพราะถ้าน้ำหนักทั้งหมดกดลงไปที่ขา ขามันจะหักทันที
แต่ก็ยังดีที่ตอนนี้มีขาหน้าช่วยพยุงเอาไว้...
และนั่นคือเหตุผลที่ขาใช้เดินเดี่ยวๆไม่ได้ครับ...
จากทั้งหมดทั้งมวลที่เราได้เดินทางผ่านกันมา...
หมายความว่าพายุลูกที่สามนี้ค้างคาวรุ่นพ่อสามารถรักษาชีวิต
เพื่อดำรงไว้ซึ่งเผ่าพันธุ์ต่อไปได้ ด้วยการเปลี่ยนแปลงสองอย่าง...
หนึ่งคือจับเหยื่อให้ได้เยอะขึ้นในตอนกลางคืน
โดยใช้ echolocation เพิ่มความแม่นยำ
และสองคือ ย้ายตารางเวลาชีวิตไปอยู่ช่วงกลางคืนให้หมด
ส่วนกลางวันก็ไปหาที่เงียบๆอยู่ ซึ่งก็คือ ในถ้ำ
ตอนนี้ปัญหาของเราค่อยๆถูกแก้ไปทีละเปาะๆ
ขยับเข้าใกล้เหตุผลที่ค้างคาวเป็นแหล่งเพาะเชื้อมากขึ้นทุกที
ก่อนจากกันผมก็ขอทิ้งคำถามเล็กๆน้อยๆเอาไว้
เพื่อไปถึงบทสรุปในตอนที่สาม...
ตอนนี้ค้างคาวเข้ามาอยู่ในถ้ำแล้ว
แล้วเชื้อโรคทั้งหลายล่ะ
เข้ามาเจอกับค้างคาวได้ยังไง?
บทสรุปของเรื่องนี้จะจบลงอย่งไร?
หาคำตอบได้...ในตอนสุดท้ายครับ
#WDYMean
ถ้าชอบหรือถูกใจก็ฝาก
#กดไลค์ 👍
#กดติดตาม✋
เป็นกำลังใจให้กันด้วยนะครับบ😆
ภาพประกอบจาก pixabay
Wikipedia
#อ้างอิงจาก
โฆษณา