29 มี.ค. 2020 เวลา 13:35 • การศึกษา
อย่าเคยชินกับความเคยชิน
2
ทฤษฎีกบต้ม คือ หลักอธิบายเรื่องโทษของความชะล่าใจให้เห็นภาพได้ชัดเจน
.
เรื่องมีอยู่ว่า
หากเราต้องการจะต้มกบ
เราก็ใส่น้ำลงในหม้อ จุดเตาไฟ
รอให้น้ำเดือดแล้วจึงค่อยหย่อนกบใส่ลงไป
ตอนที่กบเจอน้ำร้อน มันก็จะกระโดดหนีทันที
เพราะสัญชาตญาณมันเป็นเช่นนั้น
.
ถ้ายังใช้อุปกรณ์เหมือนเดิม
จะทำอย่างไร เพื่อให้กบไม่สามารถกระโดดหนีได้
.
วิธีการคือ
ต้องเอากบใส่หม้อพร้อมกับน้ำอุณหภูมิปกติ
จากนั้นก็เปิดไฟอ่อนๆ
.
.
และเพราะกบเป็นสัตว์เลือดเย็น
มันจึงสามารถปรับตัวตามอุณหภูมิน้ำที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นได้น้ำเย็นก็อยู่ได้สบายๆ น้ำอุ่นก็รู้สึกเฉยๆ
.
นานเข้าๆ น้ำก็เริ่มร้อนมากขึ้นๆ จนใกล้เดือด
กบเพิ่งรู้สึกตัวว่า ตอนนี้ตนเองกำลังตกอยู่ในอันตราย
.
มันจะกระโดดหนี
แต่! ก็ไม่ทันการณ์เสียแล้ว ขามันสุกไปเรียบร้อยแล้วฉากจบคงไม่ต้องบรรยาย
วันก่อนดูคลิปวิดีโอของผู้ติดไวรัสโคโรน่า ชาวไอร์แลนด์เขากำลังนอนซมอยู่ในห้องไอซียู
บอกเล่าถึงอาการเจ็บปวดที่ปอดอย่างแสนสาหัส
มีอยู่ประโยคหนึ่งที่เขากล่าวด้วยน้ำเสียงจริงจัง คือ
.
.
“อย่าคิดว่าคุณจะไม่ติดไวรัสนี้ แม้แต่วินาทีเดียว”
.
นี่เป็นการสื่อสารที่ตรงประเด็นมาก เรียกว่า “พูดออกมาจากหัวใจ” เลย
รับรู้ได้เลยว่าประโยคนี้ เขาได้เรียนรู้และกำลังประสบมันด้วยตัวเอง
คงเป็นสิ่งที่เขาอยากจะบอกกับพวกเราผู้ยังไม่ติดเชื้อมากที่สุด
.
.
วันนี้ ตอนนี้
ท่านคงกำลังปรับตัวกับสถานการณ์วิกฤตนี้ได้
เริ่มรู้จังหวะอยู่บ้านบ้าง อาจจะหาโอกาสออกไปข้างนอกบ้าง
พออยู่คนเดียวเหงาๆ เบื่อๆ ก็หาทางไปรวมกลุ่มกันบ้าง
ล้างมือบ้าง ล้างแล้ว ไม่ล้างก็ไม่เป็นไร
พวกนี้คนรู้จักกันทั้งนั้น ใกล้กันหน่อยก็คงได้มั้ง
.
.
“ไม่เป็นไร” “ก็ได้” บ่อยๆ เข้า
หารู้ไม่ว่านั่นคือ “ความเคยชิน”
ที่กำลัง “เปิดช่อง” ให้เกิดโอกาสติดเชื้อ
.
.
พระพุทธเจ้าหลังจากตรัสรู้แล้ว
มีธรรมะข้อหนึ่งที่พุทธองค์ทรงตรัสสอนทุกวันๆ ละ ๒ ครั้ง
.
.
ลองคำนวนดู ๔๕ ปีๆ ละ ๓๖๕ วันๆ ละ ๒ ครั้ง
รวมเป็น ๓๒,๘๕๐ ครั้ง ที่พระพุทธองค์ทรงเตือนว่า
“อย่าประมาท”
.
.
ครั้งหนึ่งพระพุทธองค์ทรงตรัสถามกะพระอานนท์ ว่า
“ดูก่อน อานนท์ เธอนึกถึงความตายวันละกี่ครั้ง”
พระอานนท์​ ผู้พุทธอุปฐาก กล่าวตอบ
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วันละ ๗ ครั้งพระเจ้าข้า”
“ยังห่างมาก อานนท์ ตถาคตนึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออก”
“นึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออก” และ
“อย่าคิดว่าคุณจะไม่ติดไวรัสนี้ แม้แต่วินาทีเดียว”
.
.
เป็น ๒ ประโยคนี้มีความหมายเดียวกัน
คือ “อย่าประมาท”
.
.
หากท่านอ่านมาถึงบรรทัดนี้
หมายความว่า ท่านกำลังมีชีวิตอยู่
ด้วยเพราะเหตุปัจจัยทั้งหมดทั้งมวล “ในอดีต”
ทำให้ท่านยังอยู่กลุ่มที่ยังมีชีวิต และยังไม่ติดไวรัส
.
.
แต่อะไรๆ ก็ไม่แน่ สำหรับวิกฤตการณ์นี้
จุดเปลี่ยนอยู่ที่ ท่าน “เคยชิน” หรือ “รู้สึกตัว”
และมันมีความสำคัญถึงชีวิต
.
.
การไม่ระมัดระวัง ทำสิ่งเดิมๆ ตามความเคยชิน
ก็ไม่ต่างจาก “กบ” ไม่ประสีประสา นอนแช่น้ำอุ่น
.
.
การไม่เชื่อฟังคำแนะนำของแพทย์และรัฐบาล
แล้วไม่สนใจอะไร ก็ไม่ต่างจากการปิดฝาหม้อเสีย
แล้วยอมโดนต้มแต่โดยดี
.
.
หากท่านหวงแหน และยังยินดีกับชีวิตที่มีอยู่
ขอจงสร้างเหตุปัจจัยใหม่ ในปัจจุบัน!
.
.
ยินดีปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และรัฐบาล
ยินดีที่จะระมัดระวังตัว
ยินดีกับการอยู่คนเดียว
.
.
ยินดีกับการรู้สึกตัว
ยินดีกับลมหายใจ
"ยิ้ม" และ "หายใจ" ให้กับชีวิตและทุกสิ่ง
.
.
ขอให้ท่านปลอดภัยทั้งกายและใจทุกคนค่ะ
แม้นม่านหมอกแห่งความกลัว ยังไม่หมดไป
แม้นแสงรำไรแห่งความหวัง ยังส่องมาไม่ถึง
ขอให้ยืนหยัดบนสองเท้า ด้วยจิตคิดคำนึง
ว่านี่เป็นอีกวันหนึ่ง เพื่อยินดีกับชีวิตและความจริง
อปฺปมาโท อมตํ ปทํ ปมาโท มจฺจุโน ปทํ
อปฺปมตฺตา น มียนฺติ เย ปมตฺตา ยถา มตา ฯ
.
.
ความไม่ประมาทเป็นทางแห่งความไม่ตาย
ความประมาท เป็นทางแห่งความตาย
คนไม่ประมาท ชื่อว่าย่อมยังไม่ตาย
คนประมาทเหมือนคนตายทั้งเป็น.
โฆษณา