1 เม.ย. 2020 เวลา 12:20 • สุขภาพ
ทำไมเยอรมนีจึงมี “ผู้เสียชีวิต” จากโควิด-19 ไม่มาก?
ในเวลานี้ ทั่วโลกต่างพบวิกฤติครั้งใหญ่ทางด้านสาธารณสุขในรอบหนึ่งร้อยปี
แต่โฮโมเซเปียนส์คงไม่ถึงขั้นอับจนหนทางจะดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไป
เพราะมีหลายประเทศที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หนึ่งในนั้นคือชาติมหาอำนาจอย่าง เยอรมนี
ตัวชี้วัดในการควบคุมก็คือ อัตราการเสียชีวิตที่ต่ำมากของผู้ติดเชื้อในเยอรมนี
ทำไมเยอรมนีถึงสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ทั้งๆ ที่ทั่วยุโรปกำลังระส่ำจากโควิด-19?
เราลองมาดูข้อมูลเกี่ยวกับเยอรมนีกันก่อน
เยอรมนีมีประชากร 82 ล้านคน
ตัวเลขผู้ติดเชื้อในเยอรมนีตอนนี้มี 66,885 ราย
แต่มียอดผู้เสียชีวิตเพียง 645 ราย
แปลว่าที่เยอรมนีมีอัตราการเสียชีวิตไม่ถึง 1%
ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศในยุโรปอย่างอิตาลีที่มีประชากร 60.5 ล้านคน
มีผู้ติดเชื้อ 101,739 ราย และเสียชีวิต 11,591 ราย
อัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อในอิตาลีเกิน 11%
อัตราการเสียชีวิตนั้นต่างกัน 12 เท่าเลยทีเดียว..
เราลองมาดูปัจจัยสำคัญที่ทำให้เยอรมนีควบคุมสถานการณ์ไว้ได้
1
ข้อแรก เยอรมนีมีความพร้อมอยู่แล้วด้านสาธารณสุขและการแพทย์
โดยเยอรมนีมีเตียงรองรับผู้ป่วยหนักกว่า 28,000 เตียง ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของยุโรปเสียอีก
รวมถึงมีบริษัทยา เครื่องมือแพทย์ งานวิจัยระดับโลกมากมาย
เรียกได้ว่าเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางการแพทย์สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
Cr. Der Spiegel
ดังนั้นคงไม่แปลกที่เราจะเห็นการรับมือกับปัญหาทางด้านสาธารณสุขได้อย่างทันท่วงทีของรัฐบาล
1
ข้อที่สอง เยอรมนีใช้กลยุทธ์เดียวกับเกาหลีใต้
กล่าวคือรัฐบาลยอมทุ่มงบประมาณและทรัพยากรในการตรวจผู้ต้องสงสัย ผู้มีอาการคล้ายจะติดเชื้อแม้มีอาการไม่มาก หรือแม้แต่ไม่มีอาการเลยก็ตาม..
โดยรัฐบาลเยอรมนีมีกำลังในการตรวจหาเชื้อประมาณสัปดาห์ละ 160,000 ราย
Cr. Euronews
นี่คือจุดที่สำคัญมากๆ เพราะทำให้เยอรมนีเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้นกับจำนวนผู้ติดเชื้อ
รวมถึงผู้ติดเชื้อก็จะถูกกักตัวทำให้แพร่เชื้อต่อไปไม่ได้
และแพทย์ก็สามารถรักษาผู้ป่วยตั้งแต่ตอนที่อาการยังไม่รุนแรง จึงทำให้อัตราการเสียชีวิตต่ำลง
อย่างไรก็ตามวิธีนี้ต้องแลกมากับงบประมาณและทรัพยากรมหาศาลในการตรวจหาเชื้อ
ซึ่งตรงข้ามกับหลายประเทศที่มีการจำกัดการตรวจเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงสูงว่าจะติดเชื้อเท่านั้น
เพราะประเทศเหล่านั้นมีทรัพยากรที่ค่อนข้างจำกัดในการตรวจหาเชื้อ
ข้อที่สาม ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นวัยหนุ่มสาว
ผู้ป่วยที่อายุไม่เยอะมีอัตราการเสียชีวิตต่ำกว่าผู้สูงอายุอยู่แล้ว
โดยเฉลี่ยแล้วอายุของผู้ติดเชื้อในเยอรมนีอยู่ที่ 47 ปี
ถือว่าอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงไม่สูงมากที่จะเสียชีวิต
1
ข้อมูลที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ
อายุเฉลี่ยของผู้ติดเชื้อในอิตาลีอยู่ที่ 63 ปี
และผู้ติดเชื้อที่อายุมากกว่า 50 ปีในอิตาลีมีมากถึง 74% ของยอดผู้ติดเชื้อรวม
Cr. NBC News
ที่จริงแล้วตัวเลขผู้เสียชีวิตในอิตาลีอาจจะสูงกว่าตัวเลขปัจจุบันด้วยซ้ำ
เพราะผู้ที่เสียชีวิตบางคนที่ยังระบุไม่ได้ว่าติดเชื้อหรือไม่
จะไม่ได้รับการตรวจหาเชื้อหลังเสียชีวิตแล้วอยู่ดี
นอกจากนี้วิถีชีวิตของผู้คนก็เป็นปัจจัยสำคัญเช่นกัน
เพราะในอิตาลีนั้น คนหนุ่มสาวจะอาศัยอยู่กับญาติผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ ประมาณ 82%
ส่วนในเยอรมนีคนหนุ่มสาวจะอาศัยอยู่กับญาติผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ ประมาณ 53%
1
แน่นอนว่าการอยู่ร่วมกันอย่างใกล้ชิดย่อมจะส่งผลให้มีโอกาสติดเชื้อมากขึ้น
หนุ่มสาวที่ติดเชื้อแล้วแต่ยังไม่มีอาการก็อาจแพร่เชื้อให้ผู้สูงอายุในบ้านก็เป็นได้
แต่สำหรับคนเยอรมันจะมีวิถีชีวิตที่โตแล้วแยกครอบครัวออกไป
ดังนั้นคงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เยอรมนีจะมีอัตราการเสียชีวิตต่ำกว่า 10 ประเทศแรกที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงสุด
ท้ายที่สุดแล้ว
สิ่งที่เกิดขึ้นในเยอรมนีเป็นบทเรียนให้เราได้ดีในการค้นหาสาเหตุและรีบดำเนินการแก้ปัญหา
เยอรมนีพบว่าการรีบตรวจหาผู้ติดเชื้อเป็นสิ่งที่จะสามารถควบคุมการระบาดได้ดีที่สุด
ดังนั้นตัวเลขผู้เสียชีวิตต่อผู้ติดเชื้อจึงน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น
1
ในบางครั้งดูแต่ตัวเลขแล้วไม่ได้วิเคราะห์ ก็อาจทำให้เรามองพลาดไป
ถ้าเรามัวแต่บอกว่าประเทศไหนพบผู้ติดเชื้อมากจะไม่ดี
แต่จริงๆ แล้ว มันอาจหมายถึงความสามารถในการตรวจเชื้อที่มีประสิทธิภาพกว่าประเทศอื่น ก็เป็นได้..
1
โฆษณา