29 เม.ย. 2020 เวลา 11:30
ปัญหาเงินๆทองๆ แบ่งกำไรกันอย่างไร ไม่ให้เป็นปัญหา
เพื่อนๆคง ประสบปัญหาเวลาทำงานกงสีไหมครับ เวลาเข้าไปทำงานให้กงสีแต่กลับรู้สึกถูกเอาเปรียบตลอดเวลา ถ้าเพื่อนๆประสบปัญหานี้อย่าเพิ่งใช้อารมณ์เข้าไปแก้ปัญหาเพราะมันจะยิ่งสร้างปัญหาเพิ่มขึ้นเข้าไปใหญ่ ปัญหานี้เป็นปัญหาคลาสสิคที่พบกันได้บ่อยเลยนะครับ
สืบเนื่องมาจากโพสก่อนหน้า ถ้าใครได้อ่านก็คงจะทราบแล้วนะครับว่าทำไมกงสีบางแห่งจึงต้องแบ่งกำไรให้เท่าๆกัน แม้ว่าจะทำงานหรือไม่ได้ทำ การจัดสรรแบบนี้ผมขอเรียกว่าวิธีคิดแบบครอบครัวนำธุรกิจ ซึ่งผมขอแยกหัวข้อ"วิธีคิดแบบครอบครัวนำธุรกิจ"ไปอีกโพสนะครับ เนื่องจากโพสนี้จะยาวเกิน
การแบ่งกำไรเท่าๆกันนั้น ก็ดูเป็นวิธีที่ดีนะครับ เพราะง่าย ไม่ต้องคิดมากว่าใครจะได้มากน้อยกว่ากันเท่าไรในสายตาพ่อแม่แบ่งให้ลูก และก็ดูยุติธรรมดีนะครับ แต่หารู้ไม่ว่ามันมีข้อเสียตามมาอย่างมากเลยครับเมื่อเวลาผ่านไปนานๆ โดยผมขอยกตัวอย่างออกมาเป็นข้อๆดังนี้เลยครับ
1. คนที่ทำงานหนักกว่าจะรู้สึกถูกเอาเปรียบครับ แม้ว่าอาจจะไม่เกิดขึ้นในช่วงแรกที่ทำงาน แต่เมื่อเวลาผ่านไปเมื่อธุรกิจประสบปัญหาหรือมีสมาชิกกงสีเพิ่มขึ้นจะเป็นตัวเร่งให้เกิดปัญหาครับ ปัญหานี้จะผุดขึ้นมาทันทีครับ คนที่ทำก็จะรู้สึกหมดไฟในการทำงาน คิดกับตัวเองว่า ทำไมเราต้องเป็นคนเดียวในการเผชิญปัญหา ทำไมเราต้องหาเลี้ยงคนที่ไม่ได้ช่วยเราเวลาเกิดปัญหา ทำไมเราต้องแบ่งเงินให้กับคนที่เราเคยทะเลาะด้วย ทำไมๆๆๆ สุดท้ายครับเมื่อคนที่ทำงานหมดไฟในการทำงานก็ย่อมส่งผลต่อกิจการกงสีไปด้วยครับ
2.สร้างนิสัยเฉื่อยชาให้กับสมาชิกกงสี เมื่อคนเราสามารถมีรายได้พอในการดำรงชีพแล้ว ย่อมขาดการดิ้นรนในการทำงานเป็นธรรมดา สมาชิกที่ได้รับแบ่งผลกำไรก็จะมารอคอยแต่การแบ่งสรรปันส่วนนั้นเองครับ เมื่อเวลาผ่านไปก็จะติดเป็นนิสัยนั่นเองครับ
3.ไม่ส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ เมื่อสมาชิกที่ได้รับการแบ่งผลกำไรรู้สึกมั่นคงในรายได้ของตัวเอง เวลามีสมาชิกคนนึงเสนอไอเดียธุรกิจใหม่ๆ ก็จะไม่อยากสนับสนุนครับเนื่องจากไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลง อยู่แบบนี้ก็ดีแล้ว จะเสี่ยงกันไปทำไม ธุรกิจใหม่ๆที่จะลงทุนก็ไม่ได้แปลว่าจะประสบความสำเร็จเสมอไป
4.ทำให้กิจการถดถอย คนขยันจะเลิกขยัน ข้อเสียข้อนี้ก็ได้รับการพิสูจน์แล้วจากระบบคอมมิวนิสต์ที่ล้มเหลวจากการไม่แบ่งทรัพยากรให้เป็นของใครสักคน ทรัพยากรทั้งหมดจะเป็นของส่วนรวม เมื่อคนขยันเลิกขยัน ผลประกอบการของกงสีก็คงไม่มีใครขับเคลื่อนไปข้างหน้า มีแต่ทรงกับทรุดนั้นเองครับ
จากสาเหตุก็กล่าวมา การแบ่งกำไรเท่าๆกันก็มีแต่จะทำให้กงสีค่อยๆล้มหายตายจากไป เว้นแต่จะเกิดการจัดสรรส่วนแบ่งใหม่ครับ
การจัดสรรส่วนแบ่งใหม่มีหลักการตามธรรมนูญ (ธรรมนูญถ้าแปลง่ายๆก็คือกติกาในการอยู่ร่วมกันภายในกงสีโดยสมาชิกกงสียอมรับร่วมกันเป็นเรื่องเฉพาะของแต่ละกงสี) หลักการที่ควรจะเป็นก็คือคนทำมากได้มากและมีสิทธิ์ในการนำบริหารกงสี ควรได้รับเงินเดือนเท่าๆกับโครงสร้างเงินเดือนตลาด ไม่ควรรับเงินเดือนน้อยเพื่อประหยัดรายจ่ายกงสี แต่ในเรื่องของตัวเลขว่าควรได้เท่าไรนั้นก็ควรตกลงกับสมาชิกให้ดีครับว่าควรจะได้เท่าไร
กำหนดกติกาใหม่ขึ้นมาคงไม่ได้ยากใช่ไหมครับ แต่ส่วนที่ยากคือการบังคับใช้นั่นเองครับ การกำหนดแบบนี้ย่อมมีการเปลี่ยนแปลง ทุกการเปลี่ยนแปลงมีคนเสียประโยชน์เสมอครับ จะมีคนที่ได้ส่วนแบ่งลดลง คงไม่พอใจแน่ๆ หลักการที่จะบังคับใช้ได้สำเร็จคือต้องให้ผู้มีอำนาจในกงสีเป็นคนบอกนั่นเองครับ ส่วนเรื่องผู้มีอำนาจจะเห็นด้วยไหม ผมก็ยากจะตอบจริงๆครับ
สรุปเลยนะครับ ผมขอแนะนำธุรกิจครอบครัวที่กำลังจะเกิดขึ้น ให้จัดทำธรรมนูญ หรือกติกาขึ้นมาใช้ตั้งแต่แรกเพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต ส่วนกงสีที่ดำเนินมานานแล้วจะเอากติกาใหม่ๆไปใช้ก็ได้ครับเพื่อความยั่งยืน แต่ต้องพยายามเจรจาให้ทุกฝ่ายยอมรับได้ครับ
โฆษณา