7 พ.ค. 2020 เวลา 23:10 • ประวัติศาสตร์
ตำนาน 'พรานนก' (ก่อนจะถึงส้มหยุด) สมรภูมิสำคัญของพระเจ้าตากที่อยุธยา ถึงที่มาของชื่อถนนพรานนก ย่านวังหลังในกรุงเทพฯ
.
พรานนกเป็นที่รู้จักกันดีของชาวฝั่งธนบุรี เป็นชื่อถนนชื่อย่านหนึ่งในเขตบางกอกน้อย แต่ชื่อพรานนกพึ่งจะมาปรากฏเมื่อไม่ถึงร้อยปีนี้เอง ก่อนหน้านี้ไม่เคยเรียกว่าพรานนกมาก่อน แล้วพรานนกในกรุงเทพมาจากไหน?
.
ต้องย้อนกลับไปถึงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา (ยังไม่แตก) พระเจ้าตาก (พระยาวชิรปราการ) นำไพร่พลราว 500 คนออกจากกรุงศรีอยุธยา บ่ายหน้าสู่ทิศตะวันออกได้ปะทะฆ่าฟันพม่า (อังวะ) ในการศึกที่บ้านโพธิ์สังหารแล้วจากนั้นได้เดินทางต่อมาถึง 'บ้านพรานนก' (ปัจจุบันอยู่ในอำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) เพื่อพำนักหาเสบียงอาหาร
.
ที่บ้านพรานนกนี้ ตามตำนานท้องถิ่นกล่าวถึงชายผู้หนึ่งเรียกกันว่า 'เฒ่าคำ' บ้างเรียก 'พรานทองคำ' ผู้มีอาชีพเป็นนายพรานล่านก เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการให้ความช่วยเหลือกองทัพของพระเจ้าตาก
.
ในระหว่างพักทัพนั้น ทหารพม่าจากบางคาง ปราจีนบุรี ได้พบทหารของพระเจ้าตากที่ออกเที่ยวหาอาหาร จึงไล่ติดตามมาจนถึงบ้านพรานนก พระเจ้าตากขี่ม้านำทหารม้าอีก 4 ม้าเข้าสู้ และใช้กลศึกให้พลทหารเดินเท้าจัดขบวนรบปีกกาโอบทหารพม่า ปรากฏว่าทหารพม่าเสียทีถูกรุกไล่ฆ่าฟันจนแตกทัพหนีไป
.
รัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระราชนิพนธ์คำโคลงเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า
.
ฟันฝ่าข้าศึกห้อม แตกฉาน
รบรับรายทางราญ รอดได้
พักแรม ณ บ้านพราน นกนอก กรุงนา
ปล่อยพรรคพลหาญให้ ลาดค้นธัญญาฯ
.
มาปะปรปักษต้อน ตามติด
ตนหนึ่งกับทหารสนิท นับห้า
ขับแสะเสิดประชิด ชล่าไล่ ทะลวงแฮ
หมู่ม่านสามมิบม้า หมดห้าวเฮหนีฯ
.
ดังนั้น คำว่าพรานนกจึงสันนิษฐานว่ามาจากนายพรานล่านก เมื่อพระเจ้าตากมาพักทัพที่นี่ ก็ได้เกิดการศึกที่พรานนก อันเป็นการสู้รบครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งในการกู้ชาติบ้านเมืองของพระเจ้าตาก สถานที่แห่งนี้จึงมีความสำคัญต่อการนำมาตั้งชื่อถนนในกรุงเทพฯ
.
ในสมัยรัชกาลที่ 7 มีการสร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้าเพื่อเชื่อมการคมนาคมระหว่างฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนคร ในคราวการฉลองครบรอบ 150 ปี สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ และทรงมีพระราชดำริให้ตัดถนนในฝั่งธนบุรีขึ้นอีก 10 สาย เพื่อให้การคมนาคมสะดวกยิ่งขึ้น
.
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงคิดตั้งชื่อถนนทั้งหมด แล้วกราบบังคมทูลถวาย ซึ่งรัชกาลที่ 7 ทรงเห็นชอบ โดยทรงนำชื่อสถานที่อันเป็นมงคลชัยที่กองทัพไทยสามารถรบชนะพม่าในสงครามกู้อิสรภาพ และสงครามปกป้องราชอาณาจักรในสมัยธนบุรีและต้นรัตนโกสินทร์บ้าง หรือสถานที่ที่เปลี่ยนแปลงจากเดิม เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้รำลึกถึงประวัติความเป็นมาของสถานที่บ้าง ได้แก่ ถนนประชาธิปก ถนนสมเด็จเจ้าพระยา ถนนเจ้ากรุงธน ถนนลาดหญ้า ถนนวังเดิม ถนนโพธิ์สามต้น ถนนบางแก้ว ถนนท่าดินแดง ถนนเชียงใหม่ และถนนวังหลัง
.
โดยถนนวังหลังนี้ จุดเริ่มต้นอยู่ที่ท่าเรือวังหลัง (ศิริราช) ไปจรดถนนเจ้ากรุงธน ต่อมา ภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีการเปลี่ยนชื่อถนนเจ้ากรุงธนเป็นถนนอิสรภาพ และเปลี่ยนชื่อถนนวังหลังเป็นถนนพรานนก สันนิษฐานว่าได้เรียกบริเวณวังหลังส่วนนั้นว่า 'พรานนก' ตามชื่อถนนพรานนกเรื่อยมา
.
จวบจนถึง พ.ศ. 2555 กรุงเทพมหานครได้ตั้งคณะกรรมการฯ ขึ้นมาชุดหนึ่งได้สำรวจสถานที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ และได้มีมติให้เปลี่ยนชื่อถนนพรานนกกลับไปใช้ชื่อถนนวังหลังตามเดิม เพื่อให้สอดคล้องกับประวัติศาสตร์การสร้างถนนสายนี้ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 7
.
กล่าวคือ ถนนตั้งแต่ท่าเรือวังหลังไปจรดถนนอิสรภาพ (แยกพรานนก) เรียก 'ถนนวังหลัง' เพราะเป็นถนนที่ตัดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 7 แต่ในส่วนถนนที่เริ่มจากถนนอิสรภาพ (แยกพรานนก) ไปจรดถนนจรัญสนิทวงศ์ (แยกไฟฉาย) เรียก 'ถนนพรานนก' เช่นเดิม เพราะถนนส่วนนี้ไม่ได้ตัดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 7 อย่างไรก็ตาม บริเวณถนนทั้งสองสายนั้นก็ยังนิยมเรียกกันว่าพรานนกกันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
.
.
.
อ้างอิง
.
ราชกิจจานุเบกษา. (2473). พระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นเพื่อตัดและขยายถนนฝั่งจังหวัดธนบุรีและจังหวัดพระนคร, จากเว็บไซต์ ratchakitcha.soc.go.th
จรรยา ประชิตโรมรัน. (2537). สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช, สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
สมชาย พุ่มสอาด. (2531). สมเด็จพระเจ้าตากสิน จอมบดินทร์มหาราช, ม.ป.ท.
ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. (2551). ชื่อบ้านนามเมือง. พิมพ์ครั้งที่ 7, สำนักพิมพ์มติชน
วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. (2559). การสำรวจเส้นทางเดินทัพและรวบรวมไพร่พลเพื่อกู้ชาติของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จากพระนครศรีอยุธยาจนถึงเมืองตราด. จากเว็บไซต์ lek-prapai.org
ข่าวสด. (2555). คอลัมน์ที่13 ถนนวังหลัง. ฉบับวันที่ 27 กรกฎาคม 2555.
.
#พรานนก #ถนนพรานนก #ธนบุรี #ฝั่งธน #ส้มหยุด #พระเจ้าตาก #ศิลปวัฒนธรรม #SilpaMag
โฆษณา