5 พ.ค. 2020 เวลา 18:09 • กีฬา
เทรนด์ของการบริหารสโมสรฟุตบอลยุคใหม่ ถือว่าตำแหน่งที่ทีมใหญ่หลายๆ ทีมจำเป็นต้องมีก็คือผู้อำนวยการฟุตบอล (Director of Football) หรือบางสโมสรอาจใช้ชื่อตำแหน่งว่าผู้อำนวยการกีฬา (Sporting Director) ไม่ก็ผู้อำนวยการเทคนิค (Technical Director)
ลิเวอร์พูล มี ไมเคิ่ล เอ็ดเวิร์ดส์ ที่ทำงานตำแหน่งนี้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2016 เขาคือคนที่ทำงานร่วมกับ เจอร์เก้น คล็อปป์ ได้อย่างราบรื่น และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน จนช่วยให้ทีมหงส์แดงคือสโมสรที่มาตรฐานสูงที่สุดทีมหนึ่งของพรีเมียร์ลีกในวันนี้
แมนเชสเตอร์ ซิตี้ มี ชิกิ เบกิริสไตน์ ที่ถูกยกให้เป็นผู้อำนวยการฟุตบอลมือวางอันดับหนึ่งของโลก จากผลงานที่เคยบริหาร บาร์เซโลน่า ให้กลายเป็นสุดยอดทีมแห่งจักรวาลในช่วงทศวรรษที่แล้ว และนี่คือบุคคลสำคัญที่นำพา เป๊ป กวาร์ดิโอล่า เข้ามาคุมทีมเรือใบสีฟ้าได้เมื่อ 4 ปีก่อน
อาร์เซน่อล แม้ผลงานช่วงหลังๆ จะไม่น่าประทับใจ แต่พวกเขาก็มีการปรับโครงสร้างให้เข้ากับยุคสมัย
นอกจากคู่หูดูโออย่าง ราอูล ซานเยอี (หัวหน้าฝ่ายฟุตบอล) และ วินัย เวนเกตซาม (หัวหน้าฝ่ายบริหาร) ทีมปืนใหญ่เพิ่งตัดสินใจดึงตัวอดีตนักเตะของตัวเองอย่าง เอดู ซึ่งเคยทำงานเป็นผู้จัดการทั่วไปของทีมชาติบราซิล เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการเทคนิคในปี 2019 และมีบทบาทสำคัญกับการเลือก มิเกล อาร์เตต้า เข้ามารับงานกุนซือ
อันที่จริง หน้าที่ของผู้อำนวยการกีฬา ไม่มีการระบุตายตัว แต่หลักๆ ก็คือการเป็นบุคคลสำคัญในการตัดสินใจเรื่องการซื้อขายนักเตะ การต่อสัญญาผู้เล่นในทีม การพิจารณาขายแข้งส่วนเกินทิ้ง ไปจนถึงการประเมินความสามารถในการทำทีมของเฮดโค้ช
แต่หน้าที่สำคัญที่สุดอย่างแท้จริง ก็คือการเป็นคนกำหนดทิศทางของสโมสร ตั้งแต่ในยันนอกสนามเลยทีเดียว
ซึ่งแน่นอนว่าคนที่จะมาทำงานตรงนี้ได้ ต้องมีวิสัยทัศน์ที่สามารถมองภาพรวมทั้งสโมสรออก ตั้งแต่ระดับเยาวชนจนถึงชุดใหญ่ มีมุมมองทางการตลาดที่กว้างไกล สามารถประเมินมูลค่านักเตะได้อย่างเหมาะสม
ยิ่งไปกว่านั้นต้องเข้าใจความคาดหวังของแฟนบอลให้ได้ ว่าพวกเขาต้องการให้สโมสรมีสไตล์การเล่นแบบใด เป้าหมายที่แท้จริงในระยะสั้น-กลาง-ยาว คืออะไรกันแน่
การมีผู้อำนวยการฟุตบอลที่เข้าใจ "ดีเอ็นเอ" ของทีม จะทำให้สโมสรมีเป้าหมายของทีมชัดเจน ไม่ว่าจะเลือกใครเข้ามาเป็นกุนซือ
คือหน้าที่ของคนเป็นกุนซือ จะเกี่ยวข้องกับผลงานในสนามโดยตรง เป็นคนรับผิดชอบการจัดทีม กำหนดรูปแบบการซ้อม ต้องมีความสามารถในการเค้นศักยภาพนักเตะ และถ่ายทอดแท็กติกให้ผู้เล่นลงไปเก็บผลการแข่งขันที่ต้องการให้ได้ รวมถึงการเป็นหน้าตาของสโมสร เพราะคือคนที่ต้องออกมาให้สัมภาษณ์ต่อหน้าสื่อทุกสัปดาห์
1
แค่เรื่องของผลงานในสนามเพียงอย่างเดียว มันก็เป็นงานที่หนักอึ้งมากๆ ของกุนซืออยู่แล้ว เพราะฉะนั้นหลายสโมสรจึงจำเป็นต้องหาใครที่มีความเข้าใจการทำทีมฟุตบอลเข้ามาช่วยเรื่องการบริหาร ซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้กัน
โครงสร้างการทำทีมฟุตบอลของอังกฤษ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมานานหลายสิบปี โดยกุนซือจะมีอำนาจการตัดสินใจสูงที่สุดในสโมสร รองจากคนเป็นเจ้าของหรือคนที่ดำรงตำแหน่งประธาน
ในอดีต คนที่ทำหน้าที่กุนซือในลีกแดนผู้ดี จะต้องทำงานควบทั้งคุมทีมและบริหาร และนั่นคือเหตุผลว่าทำไมตำแหน่งกุนซือของพรีเมียร์ลีกเมื่อก่อนถึงเรียกว่าผู้จัดการทีม (Manager) ไม่ใช่เฮดโค้ช (Head Coach)
ตัวอย่างชัดเจนที่สุดของ "ผู้จัดการทีม" ที่สมบูรณ์แบบก็คือ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ที่พา แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ครองความยิ่งใหญ่อย่างยาวนาน จนกระทั่งถึงวันที่เขาสละบัลลังก์ไปในปี 2013
แต่ทิศทางของวงการฟุตบอลยุคใหม่ มันมีปัจจัยด้านการตลาดเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น ราคาของนักฟุตบอลสูงกว่าเดิมหลายเท่า แท็กติกในเกมลูกหนังมีความซับซ้อนกว่าเมื่อก่อน
ยุคปัจจุบันยากนักที่จะหาใครทำหน้าที่สองอย่างนั้นคู่กันได้อย่างไม่มีที่ติ ขนาดกุนซือที่เก่งที่สุดแห่งยุคอย่าง เป๊ป กวาร์ดิโอล่า และ เจอร์เก้น คล็อปป์ ยังไม่สามารถบริหารทีมทั้งหมดได้ด้วยตัวคนเดียว
ด้วยเหตุนั้น หลายทีมในแดนผู้ดีจึงต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้าง นำคนเข้ามารับตำแหน่ง “ผู้อำนวยการ” เพื่อให้กุนซือมีสมาธิกับเรื่องในสนามเต็มๆ และนั่นคือเหตุผลว่าทำไมตำแหน่งกุนซือของหลายทีมในพรีเมียร์ลีกยุคปัจจุบัน ใช้คำว่า Head Coach แทน Manager
และการแยกหน้าที่บริหารภาพรวมไปให้คนอีกคนรับผิดชอบ จะทำให้สโมสรมีทิศทางในการหารายได้ และจัดการสะสางปัญหาต่างๆ ได้ดีขึ้น
จริงๆ แล้ว ความสำคัญมันไม่ได้อยู่ที่ว่าสโมสรฟุตบอลจะมีตำแหน่งผู้อำนวยการกีฬาหรือไม่ หรือใช้ชื่อตำแหน่งว่าอะไร
แต่คนที่จะมาทำงานตรงนี้ได้ ต้องมีความเข้าใจเกมลูกหนังในภาพรวมอย่างแท้จริงเท่านั้น
ตัวอย่างเช่นทีมอย่าง ท็อตแน่ม ฮ็อทสเปอร์ มีสุภาพสตรีชื่อ รีเบ็คก้า เคเปิลฮอร์น ดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการด้านฟุตบอล (Director of Football Operations)
แต่ความถนัดของ รีเบ็คก้า คืองานด้านบัญชี เธอเคยทำหน้าที่หัวหน้าฝ่ายบัญชีให้ทีมอย่าง ควีนส์ปาร์ค เรนเจอร์ส มาก่อน แต่มุมมองด้านฟุตบอลยังไม่เจนจัดมากนัก ทำให้สุดท้ายแล้ว คนที่ทำหน้าที่หลักเรื่องการซื้อขายหรือแต่งตั้งโค้ช ยังคงเป็นประธานสโมสรอย่าง แดเนียล เลวี่
สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือในตอนที่สโมสรโฟกัสไปกับการสร้างสนาม ท็อตแน่ม ฮ็อทสเปอร์ สเตเดี้ยม ขึ้นมาใหม่ พวกเขาละเลยความสำคัญด้านการเสริมทัพไป และพอขุมกำลังไก่เดือยทองชุดเดิมๆ เข้าสู่ช่วงขาลง ก็นำไปสู่การตกงานของ เมาริซิโอ โปเช็ตติโน่
เวสต์แฮม ยูไนเต็ด ก็เคยจ้าง มาริโอ อูซิลอส ซึ่งเคยเป็นผู้อำนวยการฟุตบอลของ มาลาก้า เข้ามาทำหน้าที่นี้ เพื่อทำงานร่วมกับกุนซืออย่าง มานูเอล เปเยกรินี่
แต่จากการที่สโมสรประเมินว่า อูซิลอส ใช้งบประมาณกว่า 100 ล้านปอนด์ แล้วไม่ทำให้ทีมขุนค้อนมีทิศทางดีขึ้น ทั้งที่ได้เวลาทำงานไปแล้วเกิน 2 ปี สุดท้ายก็ต้องโดนไล่ออกไปพร้อมกับโค้ชชาวชิลี ก่อนวันขึ้นปีใหม่ 2020 เพียงไม่กี่วัน
ขณะที่ทีมยักษ์ใหญ่อย่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ยังคงยึดโครงสร้างแบบเดิมเหมือนยุคของ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ที่ให้ผู้จัดการทีมประสานงานโดยตรงกับบอร์ดบริหาร และจากการที่ผลงานของทีมยังไม่เป็นตามเป้า ทำให้แฟนบอลพุ่งเป้าโจมตีไปที่ เอ็ด วู้ดเวิร์ด
ก่อนหน้านี้ ช่วงระหว่างปี 2014-2018 แมนฯ ยูไนเต็ด เสริมทัพดาวดังเข้าสู่ทีมต่อเนื่อง จน วู้ดเวิร์ด ได้รับสมญานามจากแฟนบอลว่า “ท่านลอร์ดเอ็ด”
นักเตะอย่าง อังเคล ดิ มาเรีย, ราดาเมล ฟัลเกา, ซลาตัน อิบราฮิโมวิช, เฮนริค มคิทาร์ยาน, ปอล ป็อกบา, โรเมลู ลูกากู, เนมานย่า มาติช และ อเล็กซิส ซานเชซ ต่างเปิดตัวเป็นนักเตะใหม่แห่งถิ่น โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด ในยุคที่เขาคือซีอีโอ จนทำให้แฟนบอลมีความสุขกันเป็นแถว
แต่ผลงานในสนามกลับไม่ได้เปรี้ยงปร้างตามชื่อเสียงของซูเปอร์สตาร์ไปด้วย ทำให้ โชเซ่ มูรินโญ่ ต้องกลายเป็นแพะรับบาป และไม่ได้รับการสนับสนุนเม็ดเงินเสริมทัพในช่วงซัมเมอร์ 2018 ซึ่งนำไปสู่ผลงานของทีมอันย่ำแย่ จนทำให้กุนซือชาวโปรตุกีสโดนไล่ออกในอีกไม่กี่เดือนต่อมา
2
สุดท้ายกว่าที่ วู้ดเวิร์ด จะอนุมัติเม็ดเงินให้ทีมได้ซื้อเซนเตอร์แบ็กคนใหม่อย่าง แฮร์รี่ แม็กไกวร์ เข้าไปแก้จุดอ่อนแนวรับ ก็ต้องรอให้เปลี่ยนกุนซือเป็น โอเล่ กุนนาร์ โซลชาร์ ซะก่อน
การตัดสินใจมอบสัญญาผู้จัดการทีมถาวรให้กับ โซลชาร์ ก็ตกเป็นเครื่องหมายคำถามว่านั่นคือการเลือกคนถูกจริงๆ หรือ เพราะถ้าไม่นับการเป็นอดีตนักเตะระดับตำนานของทีม เขาไม่มีอะไรที่ทำให้เชื่อได้เลยว่านี่คือโค้ชที่ดีพอกับสำหรับการพาทีมปีศาจแดงกลับมายิ่งใหญ่
มันยังคงเป็นประเด็นถกเถียงว่าการที่ แมนฯ ยูไนเต็ด ปล่อยให้นักเตะอย่าง โรเมลู ลูกากู และ อเล็กซิส ซานเชซ ย้ายไป อินเตอร์ มิลาน โดยไม่มีการเสริมกองหน้าเข้ามาแทน มันคือความผิดของใครกันแน่ ที่ทำให้ผลงานของทีมย่ำแย่สุดๆ ในช่วงครึ่งซีซั่นแรก
แม้ บรูโน่ แฟร์นันเดส จะเข้ามาพลิกสถานการณ์ให้ทุกอย่างเป็นไปในแง่บวก แต่ก็น่าคิดเหมือนกันว่าถ้าหากบอร์ดบริหารมองออกว่าแดนกลางที่มีอยู่มันยังดีไม่พอ แล้วดึงตัว บรูโน่ มาร่วมทีมตั้งแต่ซัมเมอร์ บางทีอันดับของผีแดงน่าจะดีกว่านี้
ไม่เพียงแต่เรื่องการตัดสินใจซื้อ-ขายนักเตะที่มักทำแบบผิดจังหวะ แต่ วู้ดเวิร์ด ยังโดนโจมตีหลายครั้งในเรื่องการต่อสัญญาให้นักเตะและโค้ชแบบผิดที่ผิดเวลา
นักเตะที่ไม่ดีพออย่าง ฟิล โจนส์ กับ อันเดรียส เปเรยร่า ได้สัญญาระยะยาว แต่กำลังสำคัญอย่าง อันเดร์ เอร์เรร่า กลับไม่ได้รับการดูแลให้ดี จนสโมสรต้องเสียไปแบบฟรีๆ ซะอย่างนั้น
ยังไม่รวมกับการรีบร้อนต่อสัญญา โชเซ่ มูรินโญ่ ในช่วงต้นปี 2018 ทั้งที่กุนซือแดนฝอยทองยังเหลือสัญญาคุมทีมจนถึงปี 2019
แล้วพอ มูรินโญ่ ทำทีมวืดทุกแชมป์ ก็กลับไม่ยอมสนับสนุนเขาต่อในภายหลัง และตัดสินใจปลดออกจากตำแหน่งช้าเกินไป ทั้งที่ วู้ดเวิร์ด ควรจะจำบทเรียนได้ดี ว่าการฝืนจ้างกุนซือที่ไม่ใช่อย่าง หลุยส์ ฟาน กัล มันทำให้ทีมต้องเสียเวลามาเริ่มนับหนึ่งใหม่กันหมด
สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดก็คือ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กลายเป็นทีมที่มีแนวทางเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตลอด จนหาความต่อเนื่องอะไรไม่ได้ เพราะสโมสรเปลี่ยนผู้จัดการทีมถึง 5 ครั้งในรอบ 7 ปีหลัง โดยไม่รู้ว่า “ตัวตน” ที่แท้จริงคือทีมแบบไหน และเป้าหมายที่ขอให้แฟนบอลเข้าใจ คืออะไรกันแน่
หลายคนบอกว่า เอ็ด วู้ดเวิร์ด ไม่มีความเข้าใจเรื่องฟุตบอลมากพอ แต่ดันอยากมีอำนาจบริหารทิศทางทั้งหมดของสโมสรใหญ่
ทีนี้เราต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่าโครงสร้างการบริหารของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด นั้นเป็นอย่างไร
แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด มีประธานสโมสรร่วมคือ โจเอล เกลเซอร์ และ อัฟราม เกลเซอร์ ซึ่งเป็นลูกชายแท้ๆ ของเจ้าของทีมอย่าง มัลคอล์ม เกลเซอร์
แต่คนทำหน้าที่บริหารสูงสุดตัวจริงคือ เอ็ด วู้ดเวิร์ด แม้ชื่อตำแหน่งจะเป็นรองประธานบริหาร (Executive Vice-Chairman) แต่เขาทำงานเสมือนเป็นซีอีโอ โดยมี ริชาร์ด อาร์โนลด์ ทำหน้าที่ผู้อำนวยการจัดการ ที่คอยเดินงานในเรื่องนอกสนาม และสร้างสภาพคล่องในการบริหารให้กับทีม
ในส่วนของเรื่องผลงานในสนาม ก็อย่างที่ทุกคนรู้กันว่านั่นคือหน้าที่ของผู้จัดการทีมอย่าง โอเล่ กุนนาร์ โซลชาร์ โดยมีมือขวาอย่าง ไมค์ ฟีแลน ซึ่งเคยเป็นผู้ช่วยของ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ทำงานเคียงข้าง
ส่วนสต๊าฟโค้ชคนอื่นอย่าง ไมเคิ่ล คาร์ริค หรือ คีแรน แม็คเคนน่า มีเลเวลน้อยกว่า คือสถานะเป็นแค่ผู้ช่วย ขณะที่ นิคกี้ บัตต์ รับบทบาทผู้จัดการทีมอะคาเดมี่ เขาจะเป็นคนที่รู้ดีที่สุดว่านักเตะคนไหนบ้างที่ควรถูกผลักดันขึ้นชุดใหญ่
เรื่องของการซื้อนักเตะ ทีมปีศาจแดงมีคนสำคัญคือ จิม ลอว์เลอร์ หัวหน้าแมวมองที่ดำรงตำแหน่งนี้มาตั้งแต่ยุคที่ เซอร์ อเล็กซ์ ยังคุมทีม พร้อมด้วยทีมงานสเก๊าท์ไม่น้อยกว่า 50 ราย
คนสำคัญของฝ่ายแมวมอง ประกอบด้วย มาร์เซล เบาท์ สเก๊าท์ชาวดัตช์ที่เป็นหัวหน้าแมวมองระดับสากล และเป็นหนึ่งในทีมงานสต๊าฟโค้ชที่ทำหน้าที่วิเคราะห์นักเตะคู่แข่ง ส่วน มิค คอร์ท คือหัวหน้าแมวมองฝ่ายเทคนิค
ในส่วนของการเดินเรื่องซื้อขายนักเตะและต่อสัญญาแข้งในทีม มี แม็ตต์ จัดจ์ เป็นหัวหน้าฝ่ายเจรจา เขานี่แหละที่ต้องติดต่อกับเอเยนต์นักฟุตบอลมากกว่าใครๆ และมีสถานะเปรียบเสมือนมือขวาตัวจริงของ เอ็ด วู้ดเวิร์ด
แต่สุดท้ายแล้ว คนที่ดูแลภาพรวมทั้งหมดก็คือ วู้ดเวิร์ด ซึ่งทำหน้าที่เป็นซีอีโอของทีม โดยเจ้าของตำแหน่งก่อนหน้านี้ก็คือ เดวิด กิลล์ ที่อำลาทีมไปพร้อมกับ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน
และการที่ แมนฯ ยูไนเต็ด ไม่มีผู้จัดการทีมที่มีบารมีมากพอควบคุมทุกอย่างในสโมสรได้เหมือน เซอร์ อเล็กซ์ อีกแล้วนั่นแหละ ที่ทำให้เราได้รู้ซึ้งว่าตอนป๋าเฟอร์กี้ยังอยู่ เขาคือคนที่บริหารทีมฟุตบอลได้สุดยอดขนาดไหน
หลังการจากไปของบรมกุนซือชาวสกอตติช ทีมปีศาจแดงไม่มีผู้จัดการทีมในระดับที่สามารถ “มีอำนาจตัดสินใจสูงสุด” อีก และนั่นทำให้แม้ยึดโครงสร้างเดิม แต่ตำแหน่งกุนซือไม่ได้มีบารมีเท่าคนเดิม
แม้เคยจ้างโค้ชไฮโปรไฟล์อย่าง หลุยส์ ฟาน กัล และ โชเซ่ มูรินโญ่ เข้ามาทำงาน แต่ทิศทางการทำทีมของ 2 คนดังกล่าว ก็ตรงกันข้ามกับสไตล์ของ เซอร์ อเล็กซ์
ฟาน กัล และ มูรินโญ่ ไม่ได้มีดีเอ็นเอของความเป็นยูไนเต็ด ที่ต้องเป็นทีมที่เอ็นเตอร์เทนแฟนบอล และให้ความสำคัญกับการผลักดันนักเตะจากอะคาเดมี่ขึ้นสู่ทีมไปพร้อมๆ กัน
นี่คือสิ่งสำคัญนะครับ เพราะก่อนหน้านี้ในช่วงที่สโมสรร้างแชมป์ไปเป็นเวลานาน ทำให้บอร์ดบริหารเคยมีช่วงหลงลืมตัวตนไป จนคิดแต่เรื่องการหากุนซือหรือนักเตะแบบ “สำเร็จรูป” แล้วยิ่งคาดหวังสูง พอผิดหวังขึ้นมา ก็เจ็บหนัก
นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไม โอเล่ กุนนาร์ โซลชาร์ ถึงได้เข้ามาทำงาน และกลายเป็นคนที่ร่วมงานกับ วู้ดเวิร์ด ได้อย่างราบรื่นที่สุด แม้ไม่ใช่คนที่ทำให้ทีมมีผลงานในสนามดีที่สุดก็ตาม
อย่างน้อยที่สุด การเซ็นสัญญานักเตะใหม่ในยุคของ โซลชาร์ คือการได้นักเตะที่ต้องการจริงๆ มาร่วมงานด้วย และส่วนใหญ่ก็กลายเป็นคนสำคัญของทีม ไม่ว่าจะเป็น อารอน วาน-บิสซาก้า, แฮร์รี่ แม็กไกวร์ มาจนถึง บรูโน่ แฟร์นันเดส
เขาคือกุนซือที่ให้โอกาสนักเตะจากอะคาเดมี่ของสโมสร ได้มีบทบาทสำคัญในทีมชุดใหญ่มากที่สุด นับตั้งแต่หมดยุคของ เซอร์ อเล็กซ์ แม้สไตล์การเล่นจะยังไม่ชัดเจน และยังไม่มีความคงเส้นคงวาที่แท้จริงให้เห็น แต่เขาไม่เคยมีปัญหาใดๆ กับบอร์ดบริหารเลย
ถึงแม้ช่วงที่ผ่านมา บรรดาสื่ออังกฤษ มักเขียนข่าวเพื่อสร้างกระแส ว่าทีมปีศาจแดงได้เล็งคนเก่งๆ มากมายเข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการฟุตบอล แต่สุดท้ายก็ไม่มีอะไรคืบหน้ามากไปกว่าแค่ข่าวลือ
คนเก่งๆ ที่เคยตกเป็นข่าว ก็อย่างเช่น สตีฟ วอลช์ อดีตผู้อำนวยการฟุตบอลของ เอฟเวอร์ตัน และเคยเป็นหัวหน้าทีมแมวมองของ เลสเตอร์ ซิตี้ ผู้อยู่เบื้องหลังการเซ็นสัญญาคว้าตัว เจมี่ วาร์ดี้, ริยาด มาห์เรซ และ เอ็นโกโล่ ก็องเต้ จนทำให้ทีมจิ้งจอกสยามคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกแบบช็อคโลก
ราล์ฟ รังนิค อดีตกุนซือมากประสบการณ์ของบุนเดสลีกา ซึ่งปัจจุบันเป็นหัวหน้าฝ่ายกีฬาและการพัฒนาของกลุ่ม เร้ด บูลล์ สปอร์ต คลับ ที่ประกอบด้วยทีมอย่าง ซัลซ์บวร์ก และ แอร์เบ ไลป์ซิก
หลุยส์ คัมโปส อดีตผู้อำนวยการกีฬาของ โมนาโก ระหว่างปี 2013-2016 ที่ขึ้นชื่อเรื่องการปั้นดินให้เป็นดาว เขาซื้อนักเตะอย่าง อ็องโตนี่ มาร์กซิยาล, แบร์นาร์โด้ ซิลวา, ฟาบินโญ่ และ โตมาส์ เลอมาร์ มาในราคาถูก ก่อนขายทำกำไรให้สโมสรได้หลายสิบเท่า ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผอ.กีฬา ให้ ลีลล์ ก็เป็นอีกคนที่แฟนผีแดงอยากได้
นอกจากนั้นแล้ว ชื่อของอดีตนักเตะ แมนฯ ยูไนเต็ด อย่าง เอ็ดวิน ฟาน เดอร์ ซาร์ (ปัจจุบันเป็นซีอีโอของ อาแจ็กซ์), ดาร์เรน เฟล็ทเชอร์, ริโอ เฟอร์ดินานด์ และ ปาทริซ เอวร่า ก็ถูกเชื่อมโยงกับตำแหน่งผู้อำนวยการฟุตบอลของสโมสรด้วยเช่นกัน
สาเหตุที่ทำให้บอร์ดบริหารทีมปีศาจแดงยังไม่คิดจริงจังกับการแต่งตั้ง Director of Football ก็คือการยึดมั่นในแนวทางแบบเดิม ที่ผู้จัดการทีมสามารถทำงานใกล้ชิดกับฝ่ายบริหารได้โดยตรง โดยมีทีมแมวมอง และอะคาเดมี่ที่แข็งแรงอยู่แล้ว
ยิ่งไปกว่านั้น การทำงานร่วมกันระหว่าง เอ็ด วู้ดเวิร์ด กับ โอเล่ กุนนาร์ โซลชาร์ ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน พวกเขาจึงยังไม่คิดหาใครเข้ามาแทรกแซง
1
ด้วยโครงสร้างของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่พอใจกับรูปแบบนี้มาอย่างยาวนาน ทำให้ไม่ว่าใครที่จะเข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการฟุตบอล จะไม่มีอิทธิพลมากเหมือนกับที่สโมสรอื่น
ย้อนไปสมัยอดีต ถ้าคุณรู้จัก เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน เป็นอย่างดี คุณคงทราบดีว่าจุดแข็งที่สุดของบรมกุนซือชาวสกอตติชไม่ใช่การเป็นจอมแท็กติก หรือมีแผนการเล่นแยบยลอะไร แต่เป็นเรื่องของการจัดการทีม วางรากฐานให้สโมสร และทำงานให้ทีมอย่างยาวนาน จนเป็นผู้มีบารมีต่างหาก
หาก เซอร์ อเล็กซ์ ยังคงทำงานอยู่ในปัจจุบัน ตำแหน่งที่เหมาะกับเขาที่สุดน่าจะเป็น Director of Football มากกว่า Head Coach
เพียงแต่ในตอนนี้ สโมสรไม่ได้มีกุนซือที่มีบารมีเทียบเท่าป๋า เราจึงเห็นว่า เอ็ด วู้ดเวิร์ด กำลังควบคุมทิศทางทุกอย่าง ส่วน โอเล่ กุนนาร์ โซลชาร์ ก็ทำงานไปตามปัจจัยที่มีเท่านั้น
แต่จากการที่การเซ็นสัญญานักเตะใหม่ของกุนซือชาวนอร์เวย์ถือว่าทำได้ดี ฟอร์มในสนามของทีมก็เริ่มมีพัฒนาการตั้งแต่พ้นเดือนมกราคม ส่วนเรื่องการผลักดันดาวรุ่งก็ยังคงทำต่อเนื่อง ทำให้โอกาสที่ โซลชาร์ จะได้คุมทีมต่อยาวๆ ก็ยิ่งมีสูง
ซึ่งด้วยวิธีการทำงานที่ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ยึดถือมาตลอด ตราบใดที่ โอเล่ กุนนาร์ โซลชาร์ กับ เอ็ด วู้ดเวิร์ด ยังคงทำงานร่วมกันอย่างไร้ปัญหา การที่ทีมปีศาจแดงจะมีผู้อำนวยการฟุตบอลหรือไม่ มันก็ยังไม่ใช่เรื่องที่พวกเขาสนใจแต่อย่างใด
#เสียบสามเหลี่ยม #ManUtd #MUFC #EdWoodward #Solskjaer #SirAlexFerguson #PremierLeague #DirectorofFootball #DOF
ชอบกดไลค์ ถูกใจกดแชร์ และเพื่อไม่พลาดบทความคุณภาพจากเรา อย่าลืมกดไลค์เพจ และติดตามเพจแบบ See First ไว้เลยนะครับ
..สนใจติดต่อลงโฆษณา, สนับสนุนเพจ ติดต่อจ้างงานเขียนบทความฟุตบอล งานแปลข่าว เขียนสคริปต์สำหรับ Content ฟุตบอล หรือแปลหนังสือฟุตบอล ทักอินบ็อกซ์ สอบถามได้ตลอดเวลาครับ
โฆษณา