13 พ.ค. 2020 เวลา 05:23 • ธุรกิจ
“ค่าธรรมเนียมกองทุนรวม” อีกปัจจัยหนึ่งที่เราไม่ควรมองข้าม
1
สิ่งที่คนส่วนใหญ่เลือกซื้อกองทุนรวมมักจะมองข้ามไป ก็คือ “ค่าธรรมเนียม”
เราจึงอยากมาแนะนำให้ทุกคนดูข้อมูลค่าธรรมเนียม และนำมาเป็นอีกปัจจัยที่ใช้ในการตัดสินใจเลือกซื้อกองทุน โดยสามารถหาดูได้ใน Fund Factsheet
เพราะค่าธรรมเนียมเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบกับผลตอบแทนที่เราจะได้รับ โดยค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายของกองทุนมักจะหักออกจาก NAV เลย
ดังนั้น ถ้ากองทุนมีค่าใช้จ่ายตรงนี้สูง จะส่งผลให้ NAV ของกองทุนลดลง และทำให้เราได้ผลตอบแทนน้อยลงเช่นกัน
ตัวอย่างเช่น
กองทุนนี้สามารถสร้างผลตอบแทนได้ 10%ต่อปี ถ้ามีค่าใช้จ่ายรวมทั้งหมด 2% เท่ากับผู้ลงทุนจะได้ผลตอบแทน 8%ต่อปี ซึ่งผลตอบแทนที่เราเห็นกันเป็นผลตอบแทนสุทธินั่นเอง
แล้วค่าธรรมเนียมกองทุนประกอบด้วยอะไรบ้าง
ค่าธรรมเนียมแบ่งได้ 2 ประเภทหลัก คือ
1. ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากนักลงทุนโดยตรง เช่น
-ค่าธรรมเนียมจากการขายหน่วยลงทุน (Front-end-fee)
-ค่าธรรมเนียมการรับซื้อคืนหน่วยลงทุน (Back-end-fee)
2. ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากตัวกองทุนรวม เช่น
-ค่าธรรมเนียมการจัดการ
-ค่าธรรมเนียมผู้ดูแลผลประโยชน์
-ค้าธรรมเนียมนายทะเบียน
ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากนักลงทุนโดยตรง
เป็นค่าธรรมเนียมที่เกิดจากการซื้อหรือขายกองทุน รวมถึงการสับเปลี่ยนกองทุนด้วย
1.Front-end-fee เป็นค่าธรรมเนียมการขายหน่วยลงทุน จะเก็บเมื่อนักลงทุนซื้อกองทุน โดยถูกบวกเข้าไปกับมูลค่าหน่วยลงทุนเมื่อตอนซื้อ
2.Back-end-fee เป็นค่าธรรมเนียมการรับซื้อคืนหน่วยลงทุน จะเก็บเมื่อนักลงทุนขายกองทุน โดยหักจากเงินที่เราจะได้รับจากการขายคืน
1
โดยส่วนใหญ่แล้วถ้ากองทุนเก็บค่าธรรมเนียมตอนเราซื้อ พอเราขายคืนก็จะไม่เก็บค่าธรรมเนียมอีก แต่ก็มีบางกองที่เก็บทั้งตอนซื้อและขาย
ที่มา: www.wealthmagik.com
จากรูปด้านบนจะเห็นว่า จะมีทั้งคอลัมน์ NAV, ราคาซื้อ, และราคาขาย ที่ราคาไม่เท่ากันเพราะมีการบวกค่าธรรมเนียมเข้าไปรวมกับ NAV นั่นเอง จึงเป็นที่ไปที่มาเมื่อเราซื้อกองทุนแล้วพบว่าทำไมวันรุ่งขึ้นถึงติดลบนิดนึง
ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากกองทุนรวม หรือเรียกอีกอย่างว่า ค่าใช้จ่ายทางอ้อม
เป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการของกองทุน คิดเป็นร้อยละต่อปีของ NAV แต่จะเฉลี่ยเก็บผู้ลงทุนทุกวัน ซึ่งทางกองทุนจะหักส่วนนี้ไปก่อนแล้วค่อยประกาศ NAV ของวันนั้นในหน้าเว็บไซต์
1.ค่าธรรมเนียมการจัดการ (Management Fee) เป็นค่าใช้จ่ายจากการบริหารเงินลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนให้ผู้ลงทุน
2.ค่าธรรมเนียมผู้ดูแลผลประโยชน์ (Trustee Fee) เป็นค่าใช้จ่ายในการดูแลสินทรัพย์ของกองทุนให้แก่ผู้ลงทุน
3.ค่าธรรมเนียมนายทะเบียน (Registrar Fee) เป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับระบบงานทะเบียนของผู้ถือหน่วย
1
4.ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าจัดทำเอกสาร ค่าโฆษณาหรือค่าส่งเสริมการขาย เป็นต้น
5.ค่าใช้จ่ายรวม (Total Expense Ratio) ก็คือการรวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เก็บจากกองทุน คิดเป็นร้อยละต่อปีของ NAV ดังนั้น เราสามารถนำเลขตรงนี้มาหารด้วย 365 วัน ก็จะรู้ถึงค่าใช้จ่ายรายวันที่โดนหักก่อนประกาศ NAV นั่นเอง
ในการพิจารณาเลือกกองทุนนั้น ไม่แนะนำให้เอาค่าใช้จ่ายของกองทุนเป็นประเด็นหลัก เพราะกองทุนที่ดีหรือไม่ดี ไม่ได้ขึ้นอยู่กับค่าใช้จ่ายที่สูงหรือต่ำ
ส่วนใหญ่กองทุนที่มีความยากและความซับซ้อนในการบริหารจัดการมักจะมีค่าธรรมเนียมการจัดการที่สูงกว่า เช่น กองทุนแบบ Active จะมีค่าธรรมเนียมแพงกว่ากองทุนแบบ Passive หรือ กองทุนหุ้นจะมีค่าธรรมเนียมแพงกว่ากองทุนตราสารหนี้
โดยส่วนตัวเราเอง จะใช้ประเด็นค่าธรรมเนียมเป็นสิ่งสุดท้ายที่ใช้ในการคัดเลือกกองทุน เพื่อเปรียบเทียบความคุ้มค่าของกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนที่เหมือนกัน
ยกตัวอย่างเช่น
ถ้าเราสนใจซื้อกองทุนที่ลงทุนใน SET50 ก็จะเปรียบเทียบดูที่ค่าธรรมเนียมพร้อมกับผลตอบแทนย้อนหลัง เรื่องจากกองทุนประเภทนี้เป็นแบบ Passive ดังนั้นผลตอบแทนมักจะแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย เราจึงใช้ค่าธรรมเนียมเป็นตัวตัดสินใจในการเลือก
แต่ถ้าเราจะเลือกซื้อกองทุนแบบ Active เมื่อตัดสินใจได้แล้วว่าจะซื้อกองทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์อะไร ก็จะดูผลตอบแทนย้อนหลังของกองทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์ที่เหมือนกัน แล้วดูว่ากองทุนไหนสามารถสร้างผลตอบแทนได้คุ้มกับค่าธรรมเนียมที่เราต้องจ่าย
ทั้งนี้ เราไม่ควรเลือกซื้อกองทุนโดยสนใจแต่ค่าธรรมเนียมอย่างเดียวนะคะ เพราะกองทุนที่ค่าธรรมเนียมต่ำสุดไม่ได้หมายความว่าจะให้ผลตอบแทนได้เยอะสุด
แต่การประหยัดค่าธรรมเนียมเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งที่จะช่วยทำให้เราได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นอีกนิดนึง
ฝากติดตาม กด Like 👍 กด Share ❤️ และเป็นกำลังใจให้ด้วยนะคะ จะคอยอัพเดตข้อมูลความรู้เกี่ยวกับกองทุนรวมและการลงทุน
#SecretFund
โฆษณา