20 พ.ค. 2020 เวลา 07:26 • ศิลปะ & ออกแบบ
ศิลปะแห่งการเขียน
ศิลปะเป็นสิ่งที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด มีมากมีน้อยก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญเพราะมันสามารถพัฒนาได้หากคุณสนใจมันจริง ๆ คำว่าศิลปะไม่ได้หมายเอาแค่การวาดภาพหรือการปั้นอะไรพวกนั้น เพราะหากมีแค่นี้คงไม่มีคำว่า “ศิลปะการต่อสู้” นั่นหมายความว่าศิลปะมีอยู่ในทุกศาสตร์ที่คุณสามารถคิดค้นอะไรออกมาด้วยความคิดสร้างสรรค์ ฉะนั้น การเขียนก็เป็นศิลปะเช่นเดียวกันครับ
นักเขียนผู้มีศิลปะจะมีอยู่ 5 ประเภท คือ
1) นักเขียนที่ใส่ใจรายละเอียดในงานของตน – คนพวกนี้มักจะตรวจสอบงานเขียนของตนเองเสมอว่ามันเยิ่นเย้อไปมั้ย มันจำเป็นมั้ยที่ต้องใส่คำนี้ ตรงนี้ตัดออกได้มั้ย กล่าวได้ว่าพิถีพิถันในงานเขียนมาก ซึ่งผมเองแทบจะไม่ได้สนใจเรื่องพวกนี้เลย เพราะแค่เขียนให้จบก็เหนื่อยมากแล้ว 555
2) นักเขียนที่ตระหนักถึงคุณค่าของกลุ่มเป้าหมาย – นักเขียนประเภทนี้จะศึกษากลุ่มเป้าหมายว่าพวกเขาต้องการอะไร และอะไรที่มีความหมายสำหรับพวกเขา นักเขียนจะคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ก่อนที่จะเขียนและแน่นอนว่าสิ่งที่เขียนนั้นเป็นการเขียนโดยเจาะจงให้กลุ่มเป้าหมายพึงพอใจ
3) นักเขียนที่จริงใจต่อผู้อ่าน - พวกเขาจะไม่โกหกเพราะความกลัว แต่จะนำเสนอหลักฐานด้วยความกล้าหาญ ฟังดูแล้วอาจจะรู้สึกแปลก แน่ล่ะ เพราะว่ามันไม่ได้หมายถึงนักเขียนนิยายนี่ครับ แต่หมายถึงนักเขียนทั่วไป
4) นักเขียนที่ไม่ได้คิดว่าสมบูรณ์พร้อม - นักเขียนพวกนี้จะสบาย ๆ ครับ ไม่ซีเรียสเพราะความสมบูรณ์แบบนั้นไม่มีในโลก พวกเขาเชื่อว่าความสมบูรณ์พร้อมนั้นเป็นเรื่องที่ไร้สาระและเป็นเป้าหมายที่ทำไม่ได้หรอก ก็เขียนเท่าที่ทำได้ ถ้าเขียนให้มันดีขึ้นก็ถือว่าดีแล้วล่ะ
5) นักเขียนที่รู้จักยืดหยุ่น – คนพวกนี้จะเลือกว่าจะเป็นนักเขียนแบบใดใน 4 ประเภทแรกที่กล่าวมาแล้วตามสิ่งที่พวกเขาจะเขียน พูดง่าย ๆ ก็คือเขาไม่ได้ตายตัวว่าจะเป็นแบบใดแบบหนึ่ง และสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม
เอาล่ะครับ ประเภทของนักเขียนผู้มีศิลปะมีแบบนี้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะเขียนออกมาคนละทิศละทางนะครับ พวกเขาแค่โฟกัส หรือชอบที่จะเป็นอย่างนั้นก็เลยเป็นแบบนั้น เหมือนคนวาดรูปสิ่งเดียวกันแต่ลายเส้นและการลงสีไม่เหมือนกัน นั่นแหละครับศิลปะ คราวนี้เรามาดูกันครับว่าศิลปะในการเขียนนั้นมีอะไรบ้าง
1) เขียนให้น้อยที่สุด - ดีเลย...ไปนอนดีกว่า (เฮ้ย!! ไม่ใช่แบบนั้น! 555) การเขียนให้น้อยหมายถึงเขียนให้กระชับ อะไรที่เยิ่นเย้อ อะไรที่ซ้ำซ้อน หรืออะไรที่ตัดออกได้แล้วไม่เสียความก็จัดการเขี่ยมันออกไปได้เลย เป้าหมายของคุณคือเขียนให้ผู้อ่านนึกภาพตามได้เท่านั้น การบรรยายแบบเว่อร์วังแต่ไม่ได้ช่วยให้ภาพในใจเขาดีขึ้นก็ตัดออกไปเถอะครับ
2) เขียนในด้านบวก - ไม่ใช่เขียนแต่เรื่องดีนะครับ ผมหมายถึงรูปประโยคบอกเล่าก็เล่าไปธรรมดา ไม่ต้องเล่นท่ายากโดยการใช้ “ปฏิเสธ” ซ้อน “ปฏิเสธ” เช่น “ฉันไม่เชื่อว่าเธอไม่ได้ทำ” อย่างนี้เขียนไปเลยว่า “ฉันเชื่อว่าเธอเป็นคนทำ!” เห็นไหมครับ ฟังดูแล้วมีพลังมากกว่าประโยคแรกเสียอีก
3) เขียนให้ชัดเจน – การเขียนที่ดีต้องมีความชัดเจน คุณต้องมีสติรู้ตัวว่าเขียนอะไรลงไปและเขียนด้วยวัตถุประสงค์อะไร หากคุณเขียนไปเรื่อย ๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ นั่นหมายความว่าคุณยังไม่ชัดเจนในตัวเองแล้วผู้อ่านจะชัดเจนกับสิ่งที่คุณเขียนได้อย่างไร ภาษาที่ใช้ก็ควรจะให้ความกระจ่าง ไม่ใช่ว่าก่อนอ่านภาพในใจเขามืด ๆ พอแล้วไปแล้วมันก็ยังมืด ๆ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ความกระจ่างหมายถึงว่าเมื่ออ่านที่เขียนไปแล้ว มันมีแสงวาบออกมา เห็นเลยว่าอะไรเป็นอะไร เพราะภาพมันปรากฎขึ้นมาให้เห็น นอกจากนี้ก็ควรใช้ภาษาที่ผู้อ่านสามารถเข้าใจได้ง่าย พยายามหลีกเลี่ยงศัพท์เทคนิคที่ไม่ได้ขยายความ หรือถ้าตัดศัพท์เหล่านั้นไปได้ แล้วหาอะไรที่เขาเข้าใจได้ง่ายกว่าก็ควรจะใช้อันนั้น อีกทั้งไม่ควรใช้ภาษาที่คลุมเครือซึ่งสามารถตีความได้หลายอย่าง
4) เขียนเป็นรูปธรรม - อ้าว...แล้วที่เขียนนี่ไม่ใช่เป็นรูปธรรมเหรอ? คำว่าเขียนเป็นรูปธรรมนี้หมายถึงภาพในใจที่จะเกิดขึ้น ในการบรรยายมักมีการเปรียบเปรยหรือกล่าวถึงอาการต่าง ๆ ของตัวละคร ลักษณะทางนามธรรมคือสิ่งที่จับต้องไม่ได้ เช่น การรู้สึกว่าเวลาผ่านไปเร็ว เวลาที่ผ่านไปนั้นเป็นนามธรรม คุณควรจะเขียนใหม่ให้ชัดเจนไปเลยว่าตอนแรกพระอาทิตย์ขึ้น ตอนนี้พระอาทิตย์ตกแล้ว หรือหันไปมองนาฬิกาเห็นเวลาผ่านไปแล้วหนึ่งชั่วโมง เป็นต้น รูปแบบการบรรยายที่ชัดเจนต้องกล่าวถึงสิ่งที่เป็นรูปธรรมที่ผู้อ่านสามารถเชื่อมโยงกับประสบการณ์ของตนได้ ซึ่งต่างจากนามธรรมที่ผู้เขียนได้ประสบในจินตนาการของตนเองจึงยากที่จะถ่ายทอดให้ผู้อ่านเข้าใจหรือเห็นภาพตรงกัน
5) เขียนสิ่งที่ดีที่สุดไว้ตอนท้าย – เพื่อนผมคนหนึ่งเวลาทานข้าวมักจะเก็บไข่ดาวไว้กินตอนสุดท้าย ตลกดีไหมครับ มันเป็นเป้าที่จะถูกแย่งชิงในระหว่างรับประทานแต่เขาก็ยังทำ (555) นั่นก็เป็นเพราะเขาให้ความสำคัญว่าไข่ดาวนั่นดีสุดแล้วในจาน มันจึงต้องเก็บไว้ลิ้มรสในช่วงท้าย นิยายก็เหมือนกันครับ สิ่งที่สนุกมักอยู่ท้ายเล่มที่เราเรียกว่า Climax นั่นแหละ ปัญหามันก็จะอยู่ในการพิจารณาของคุณแล้วว่าสิ่งที่คุณจะเขียนลงไปนั้น อันไหนดีกว่ากัน ซึ่งเกณฑ์ในการวัดนั้นมักจะอยู่ที่ความเสี่ยงที่ตัวละครจะต้องเดิมพันด้วยสิ่งสำคัญ หากแพ้ก็จบเห่ หากชนะก็จะสามารถบรรลุเป้าหมายที่ต้องการได้
6) เขียนให้หลากหลาย - การเขียนอย่างมีศิลปะมันต้องหลากหลายครับ การวาดภาพถ้าคุณวาดออกมาเหมือนเดิมทุกครั้งก็เอาไปถ่ายเอกสารเถอะ ไม่ต้องวาดให้เสียเวลา การวาดมันต้องหลากหลายไม่น่าเบื่อ การเขียนก็เหมือนกัน เพราะสิ่งที่เขาเห็นก็มีแต่ตัวอักษร หากมัวใช้แต่รูปประโยคเดิม ๆ ใช้คำเดิม ๆ มันน่าเบื่อ ไม่เป็นศิลปะ คุณจึงต้องสรรหาคำและการบรรยายใหม่ ๆ แม้จะพูดในเรื่องเดิมก็ตามเพื่อให้ผู้อ่านรู้ถึงความสดใหม่ เหมือนร้านอาหารที่ปรุงอาหารมาอย่างสด ๆ ร้อน ๆ คนที่เข้าไปทานเขาก็คาดหวังอย่างนั้น มิเช่นนั้นเขาก็ไปซื้ออาหารแช่งแข็งมาเวฟทานเองแล้ว นิยายก็เหมือนกันครับ เขาไม่นิยมนำประโยคเดิม ๆ และคำเดิม ๆ มาใช้กันบ่อย ๆ เพราะมันจะทำให้อรรถรสของนิยายเสียไป
7) เขียนให้กลมกลืน - ในช่วงแรกของการเขียนสำนวนคุณจะไม่นิ่ง ยิ่งถ้าคุณอ่านงานของใครมามากก็จะติดสำนวนของเขามาด้วย ปัญหาก็คือเวลาเขียนมันจะมีสำนวนของตัวเองปนกับสำนวนที่คุณรับมา คุณอาจจะไม่รู้สึกแปลกแต่ผู้อ่านจะรู้สึกได้เหมือนครูที่ตรวจการบ้านแล้วเห็นว่าเขียนมาด้วยลายมือที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ
ธีมของเรื่องซึ่งจะเป็นกรอบแนวคิดให้ไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ใช่ว่าธีมหรือภาพรวมเป็นนิยายแนวยุทธภพ แต่คุณเขียนให้มีสไลม์ซึ่งเป็นแนวแฟนตาซี อย่างนี้ไม่กลมกลืนแน่นอน ประเด็นคือมันไม่ใช่ความแตกต่างหรือจุดเด่นของเรื่องนะครับ ถ้าจะแตกต่างมันต้องแตกต่างจากโครงสร้างเนื้อเรื่องกันไปเลย แล้วลักษณะที่มันฉีกธีมแบบนี้ควรมีเฉพาะตัวเอกของเรื่องเท่านั้น หากเขียนพร่ำเพรื่อ นิยายมันก็จะดูแปลก ๆ และออกมาไม่ค่อยดีเท่าไหร่
ศิลปะในการเขียนก็มีหลักการเพียงเท่านี้ หากคุณพิจารณาหลักการนี้ก่อนเขียนจนเป็นปกติแล้ว นิยายของคุณก็จะเป็นเหมือนงานศิลปะที่มีลวดลายในแบบเฉพาะของคุณเอง แม้เนื้อหาจะเหมือนเดิมแต่เมื่อใช้ศิลปะของการเขียนเข้าไป นิยายของคุณจะน่าอ่านมากกว่าเดิมเยอะเลยล่ะครับ
โฆษณา