29 พ.ค. 2020 เวลา 04:13 • ข่าว
นี่คือประเด็นใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกาในเวลานี้ เมื่อชายผิวดำ ถูกตำรวจทำร้ายด้วยความรุนแรงเกินกว่าเหตุ จนเสียชีวิต นั่นทำให้ผู้คนต่างลุกฮือขึ้นมาประท้วง จนบานปลายกลายเป็นเหตุจลาจล
จุดเริ่มต้นคืออะไร และ สถานการณ์ล่าสุดไปถึงไหนแล้วเรา จะสรุปเหตุการณ์ทั้งหมดให้เข้าใจภายใน 18 ข้อ
1) วันจันทร์ที่ 25 พฤษภาคม ที่สหรัฐอเมริกาเกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้นสองครั้ง ภายในช่วงเวลาแค่ไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น
เริ่มจากช่วงเช้าที่เมืองนิวยอร์ก ผู้ชายผิวดำคนหนึ่งชื่อคริสเตียน คูเปอร์ กำลังดูนกอยู่ในสวนเซ็นทรัลพาร์ก ปรากฏว่ามีผู้หญิงคนหนึ่ง ชื่อเอมี่ คูเปอร์ (นามสกุลเดียวกันโดยบังเอิญแต่ไม่ได้เป็นญาติกัน) พาหมามาเดินเล่นโดยไม่ผูกสายจูง ซึ่งในโซนที่ทั้งคู่อยู่นั้น ในสวนเซ็นทรัลพาร์ก มีกฎว่าปล่อยหมาเป็นอิสระไม่ได้ เจ้าของต้องใช้สายจูงเท่านั้น ซึ่งคริสเตียนก็เข้าไปเตือนเอมี่ และอธิบายกฎ
ปรากฏว่าแทนที่ เอมี่จะทำตาม เธอโทรศัพท์ไปแจ้งตำรวจ บอกว่าโดนชายแอฟริกัน-อเมริกันข่มขู่ ทั้งๆที่คริสเตียนยังไม่ได้ทำอะไรเลย ซึ่งการที่เธอแจ้งตำรวจโดยระบุผิวสีของคริสเตียนอย่างชัดเจน มันแสดงให้เห็นว่า ในมุมของเอมี่ถ้าคู่กรณีเป็นผิวดำ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะรีบจัดการให้อย่างเร่งด่วนมากขึ้น
เรื่องนี้จบไป โชคดีที่คริสเตียนถ่ายคลิปเหตุการณ์เอาไว้เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ ทำให้ยังมีหลักฐานยืนยันว่า เขาไม่ได้ข่มขู่อะไรเธอเลย
2) จากเหตุการณ์ในช่วงเช้า ต่อเนื่องมาที่ช่วงค่ำ เวลา 20.00 น. ที่เมืองมินนิอาโปลิส ในรัฐมินเนโซต้า ตอนเหนือของสหรัฐอเมริกา มีร้านค้าแห่งหนึ่งโทรแจ้ง 911 บอกว่า เหมือนจะเจอลูกค้าใช้แบงค์ 20 ดอลลาร์ปลอมในการซื้อของ ทำให้ตำรวจ 4 นาย รีบขับรถมาที่ร้านค้าทันที
3) คนที่โดนกล่าวหาว่าใช้แบงค์ปลอม มีชื่อว่าจอร์จ ฟลอยด์ วัย 46 ปี เขาทำงานเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย เมื่อตำรวจมาถึงได้เรียกเขาลงจากรถ แล้วใส่กุญแจมือก่อนจะพาเดินไปอีกฝั่งของถนนซึ่งรถตำรวจจอดอยู่ จากภาพเห็นชัดเจนว่า ฟลอยด์ดูไม่พอใจแต่ก็ยอมใส่กุญแจมือแต่โดยดีไม่ได้ขัดขืน โดยวีดีโอจากกล้องวงจรปิดของร้านค้า ระบุเวลาว่า 20.38 น.
4) จากนั้น 7 นาที ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าเกิดอะไรขึ้น แต่เวลา 20.45 น. ชาวบ้านที่เห็นเหตุการณ์ ถ่ายคลิปวีดีโอจากโทรศัพท์มือถือ เป็นจังหวะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจชื่อ เดเร็ค เชาวิน กำลังกดฟลอยด์ให้หน้าแนบไปกับพื้น โดยตำรวจนั่งคุกเข่า แต่เอาหัวเข่าข้างซ้ายของตัวเองทิ้งน้ำหนักทั้งตัวลงบนคอของฟลอยด์ ไม่ให้ขยับตัวได้
5) ระหว่างที่ฟลอยด์โดนเอาเข่ากดคอ เขาพยายามร้องออกมาว่า "I can't breathe Officer" หรือ "ผมหายใจไม่ออก คุณตำรวจ" เป็นจำนวน 15 ครั้ง โดยบทสนทนาต่อจากนี้ คือคำต่อคำที่ชาวบ้านที่อยู่ในเหตุการณ์ถ่ายคลิปเอาไว้ได้
ฟลอยด์ : ผมหายใจไม่ออก ขอร้อง ผมกำลังจะตาย
ตำรวจ : แกใจเย็นน่า นี่แกต้องการอะไรเนี่ยะ
ฟลอยด์ : ผมหายใจไม่ออก ขอร้อง เข่าของคุณอยู่บนคอของผม ผมหายใจไม่ออก
1
ตำรวจ : แกเก่งนัก ก็ลุกขึ้น แล้วเข้าไปในรถสิ
ฟลอยด์ : ผมจะขึ้นรถตำรวจแน่ แต่ผมขยับไม่ได้
ฟลอยด์ : แม่!
ฟลอยด์ : ผมเจ็บท้อง ผมเจ็บคอ เจ็บทุกอย่าง ไม่ไหวแล้ว อย่าฆ่าผม
จากนั้นชาวบ้านพยายามตะโกนบอกให้ตำรวจหยุดได้แล้ว ปล่อยเขาไป ให้เขาหายใจหน่อย แต่ตำรวจไม่ฟัง แล้วตะโกนสวนกลับมาหาคนถ่ายคลิปว่า "พูดไปเถอะ แต่หมอนี่สบายดี"
6) รวมแล้วระยะเวลาที่ฟลอยด์โดนเข่าทิ้งน้ำหนักใส่คอ คือ 7 นาทีเต็ม สุดท้ายเขาหมดสติไป ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยังไม่เอาเข่าออก จนรถพยาบาลมาถึง ฟลอยด์ไม่ขยับตัวแล้ว เขาโดนพาตัวขึ้นรถพยาบาลไป เหตุการณ์ในคลิปจบลงตรงนี้
7) สุดท้ายผลลัพธ์คือฟลอยด์เสียชีวิตที่โรงพยาบาล ซึ่งตอนแรกตำรวจแถลงการณ์ว่า เหตุการณ์เกิดขึ้นเพราะเจ้าหน้าที่สั่งให้ฟลอยด์ลงจากรถ แต่ฟลอยด์ขัดขืนการจับกุม อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการปรากฏหลักฐานชัดเจนทั้งกล้องวงจรปิดจากร้านค้า และคลิปจากชาวบ้านก็เห็นภาพชัดเจนว่า ฟลอยด์ไม่ได้ขัดขืนอะไรเลยตามที่ตำรวจกล่าวอ้าง
8) เมื่อมีหลักฐานชัดเจน ตำรวจ 4 คนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ประกอบไปด้วย เดเร็ค เชาวิน ตำรวจวัย 44 ปี ที่ใช้เข่ากดคอ ส่วนอีกสามคนคือ นายตำรวจทู เถา, นายตำรวจโทมัส เลน และ นายตำรวจ อเล็กซานเดอร์ เค็ง โดนไล่ออกจากงานทั้งหมด โดยตำรวจทั้ง 4 กำลังจะโดนฟ้องร้องทางกฎหมายเพื่อเอาผิดฐานฆาตกรรมด้วย
9) อย่างไรก็ตามทนายของอเล็กซานเดอร์ เค็ง หนึ่งในตำรวจที่อยู่ในเหตุการณ์กล่าวว่า "ด้วยความเคารพต่อคุณฟลอยด์ แต่เราขอหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงเหตุการณ์นี้" นั่นเพราะแม้ฟลอยด์จะเสียชีวิตก็จริง แต่ผลการชันสูตรศพยังไม่ออกมา และตำรวจทั้ง 4 ที่โดนไล่ออก ก็ต้องการสู้คดีว่าการตายของฟลอยด์เกี่ยวข้องกับการกระทำของพวกเขาหรือไม่ หรือว่าจริงๆต่อให้ไม่เอาเข่ากดลงไป ฟลอยด์ก็ต้องเสียชีวิตจากเหตุผลอื่นอยู่แล้ว
10) ประเด็นนี้สร้างความเดือดดาลให้เกิดขึ้นในมินเนโซต้า เนื่องจากจอร์จ ฟลอยด์ ไม่ได้ทำความผิดอะไรเลย ประชาชนไม่เข้าใจว่าทำไมต้องรุนแรงกันขนาดนั้น ซึ่งเรื่องนี้ไปจุดชนวนความรู้สึกของคนผิวดำในเมือง ว่าที่ฟลอยด์โดนกระทำเป็นเพราะเรื่องสีผิวหรือเปล่า ถ้าเขาเป็นคนผิวขาว อาจจะไม่ได้โดนปฏิบัติตัวในลักษณะนี้
11) เหตุการณ์นี้ กลายเป็นกระแสที่ส่งผลต่อความรู้สึกของคนสหรัฐฯ ได้อย่างรวดเร็วมาก นั่นเพราะย้อนกลับไปในปี 2014 มีเหตุการณ์คล้ายกันเกิดขึ้นที่นิวยอร์ก โดยเอริค การ์เนอร์ ชายผิวดำ ถูกแจ้งความข้อหาขายบุหรี่ผิดกฎหมาย ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ NYPD ชื่อดาเนียล พานตาลีโอ ได้เข้าไปจับกุมด้วยการล็อกคอเอริค การ์เนอร์เอาไว้
การ์เนอร์พูดคำว่า "I can't breathe" หรือ ผมหายใจไม่ออกจำนวน 11 ครั้ง แต่ตำรวจก็ไม่ปล่อย สุดท้ายการ์เนอร์เสียชีวิต ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่โดนลงโทษทางวินัย ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย สามารถประกอบอาชีพตำรวจต่อไปได้ตามปกติ
คีย์เวิร์ดสำคัญคือคำว่า I can't breathe ซึ่งทั้งการ์เนอร์ และ จอร์จ ฟลอยด์ พูดประโยคเดียวกันก่อนเสียชีวิต มันทำให้คนผิวดำทั่วสหรัฐฯต่างลุกฮือ และใช้คำว่าว่า I can't breath เป็นประโยคในการประท้วงภาครัฐครั้งนี้
12) จากเรื่องนี้ทำให้เซเล็บผิวดำในสหรัฐอเมริกาออกมาแสดงความกราดเกรี้ยวกันเป็นจำนวนมาก ตัวอย่างเช่นเลอบรอน เจมส์ ลงภาพโคลิน เคเปอร์นิค ควอเตอร์แบ็กผิวดำ ที่ตัดสินใจไม่ยอมยืนเคารพเพลงชาติสหรัฐฯ และใช้การคุกเข่า เพื่อแสดงให้เห็นถึงความไม่พอใจ ที่รัฐบาลจัดการกับปัญหาความเหลื่อมล้ำของคนต่างสีผิวได้ไม่ดีพอ
ซึ่งหลังจากเคเปอร์นิคแสดงจุดยืนแบบนั้น ในปีต่อมาเขาโดนต้นสังกัดซาน ฟรานซิสโก โฟร์ตี้ไนเนอร์ปล่อยทิ้ง และไม่มีทีมไหนเซ็นสัญญากับเขาอีกเลย เคเปอร์นิคไม่มีทีมเล่นมาแล้ว 2 ฤดูกาล ทั้งๆที่ยังอายุไม่มาก และมีสภาพร่างกายแข็งแรงดี
เลอบรอน เจมส์ลงภาพเคเปอร์นิคคุกเข่า กับ ภาพจอร์จ ฟลอยด์ที่โดนตำรวจเอาเข่ากดไว้ โดยมีตัวอักษรเขียนบนภาพว่า This is Why หรือแปลว่า นี่ไงล่ะ เหตุผลที่เคเปอร์นิคต้องคุกเข่าในวันนั้น ส่วนแคปชั่นในไอจี เลอบรอนเขียนว่า "พวกคุณเข้าใจหรือยังล่ะตอนนี้ หรือว่านี่ยังไม่ชัดพออีก #ตื่นได้แล้ว"
13) ส่วน Snoop Dogg แรพเปอร์ผิวดำชื่อดังก็ลงรูปต่อจากเลอบรอน แล้วเขียนแคปชั่นว่า "ไม่มีความยุติธรรม แค่เฉพาะกับเรานี่แหละ"
14) สำหรับการเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์นั้น แฮชแท็กหลัก ที่คนผิวดำในอเมริกาจะใช้เพื่อแสดงจุดยืนคือ #BlackLivesMatter แปลว่า ชีวิตของคนผิวดำก็มีความหมาย ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับองค์กรอิสระ Black Live Matters ที่ก่อตั้งมาในปี 2013 เพื่อสร้างความยุติธรรมให้คนผิวดำ เวลาที่ต้องมีเหตุปะทะกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพราะคนผิวดำมองว่า เวลาเกิดปัญหาความขัดแย้งอะไรขึ้นคนดำมักจะถูกใช้ความรุนแรงหนักเป็นพิเศษ ซึ่งแตกต่างจากที่คนผิวขาวได้รับ
15) สถานการณ์ล่าสุด ชาวมินเนโซต้ากำลังรอฟังผลชันสูตรศพของจอร์จ ฟลอยด์ ว่าสาเหตุการตายที่แท้จริงคืออะไร และถ้าเกี่ยวข้องกับการที่เขาขาดอากาศหายใจ เจ้าหน้าที่ตำรวจที่กระทำความผิดจะโดนลงโทษหรือไม่ หรือจะรอดได้อีกเหมือนเคสของเอริค การ์เนอร์ แต่แน่นอนว่าทางฝั่งตำรวจที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ ก็พร้อมสู้คดีเต็มที่ และอาจมีคำอธิบายเหตุผลว่า ทำไมตำรวจต้องเอาเข่าไปกดคอของฟลอยด์นานขนาดนั้น
16) โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ก็ยืนยันว่าเขาเองไม่ได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด โดยทรัมป์ทวีตจุดยืนของเขาในเรื่องนี้ว่า "ตอนนี้ผมออกคำสั่งให้ FBI และกระทรวงยุติธรรม ลงพื้นที่ ที่มินเนโซต้าเพื่อสืบสวนเรื่องราวน่าเศร้า จากเหตุเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ ผมได้สั่งให้การสืบสวนลุล่วงโดยเร็วที่สุด และเป็นธรรมที่สุด ตอนนี้ความเป็นห่วงของผมขอส่งต่อให้ครอบครัวและเพื่อนของจอร์จ ยืนยันได้เลยว่าคุณจะได้รับความยุติธรรมแน่นอน"
17) อย่างไรก็ตามก่อนจะถึงการพิจารณาคดี ชาวเมืองมินนิอาโปลิสทนไม่ไหว คนจำนวนหลายร้อยออกมาเดินขบวนประท้วง ซึ่งในช่วงแรกก็ดูจะชุมนุมโดยสันติดี และผู้จัดชุมนุมพยายามประท้วงโดยยึดหลัก Social Distancing ไม่อยู่ใกล้กันมากนักกับคนอื่น แต่หลังจากเริ่มประท้วงได้ไม่นาน ปริมาณผู้ชุมนุมก็เพิ่มจากหลักร้อยเป็นหลักพัน และการประท้วงก็มีความรุนแรงขึ้นมาก
กลายเป็นว่ามีเหตุผสมโรงมั่วไปหมด คนที่มาประท้วงขว้างปาข้าวของใส่ตำรวจ และมีมิจฉาชีพบางส่วน บุกทำลายร้านค้าเพื่อปล้นทรัพย์ด้วย รายงานเผยว่า ร้านขายบุหรี่ ร้านขายเหล้า ร้านขายอาหารจำนวนมาก โดนปล้นทั้งหมด
ขณะที่ห้างสรรพสินค้า Target โดนประชาชนจำนวนหลายร้อย บุกพังห้าง ใช้จังหวะจลาจลบุกไปขโมยของออกจากห้างมาดื้อๆ
ด้วยเหตุนี้ ทำให้ตำรวจต้องป้องกันด้วยการใช้แก๊สน้ำตา และยิงกระสุนยาง แต่สถานการณ์ก็ยังบานปลายขึ้นเรื่อยๆ กลุ่มผู้ชุมนุมไปเผาอาคารร้าง ใกล้กับสถานีตำรวจจนไฟลุกไหม้ ได้รับผลกระทบกับชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียง สื่อรายงานว่ามีเสียงไซเรนดังขึ้นตลอดทั้งคืนที่มินนิอาโปลิส ทุกอย่างสับสนวุ่นวายไปหมดในตอนนี้
18) ซึ่งการที่เมืองเกิดการจลาจลอย่างหนัก ทำให้ภาครัฐต้องออกมาเบรกสถานการณ์ โดย จาค็อบ เฟรย์ นายกเทศมนตรีเมืองมินนิอาโปลิส ได้ทวีตว่า "ในตอนนี้พื้นที่บริเวณทะเลสาบไม่ปลอดภัยแล้ว และถ้าเป็นไปได้เราอยากขอร้องให้คุณอย่าออกไปไหนคืนนี้ และผมขอร้อง ชาวมินนิอาโปลิสทุกคน เราจะไม่ปล่อยให้โศกนาฏกรรมเรื่องหนึ่ง มาสร้างโศกนาฏกรรมเรื่องใหม่ให้เกิดขึ้น "
โฆษณา