30 พ.ค. 2020 เวลา 07:00 • ธุรกิจ
สถานการณ์ในฮ่องกงค่อนข้างวุ่นวาย และน่าจะคุกรุ่นขึ้นเรื่อยๆในทุกวันมาเป็นเวลาเกือบสัปดาห์นึงแล้ว ตั้งแต่ที่จีนนำเสนอแผนที่จะแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญน้อย (ขออนุญาตเรียกว่ารัฐธรรมนูญน้อย เพราะเห็นส่วนใหญ่ในภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า Mini constitution) แล้วจำกัดสิทธิประชาชนฮ่องกงไม่ให้ก่อประท้วงขึ้นมาอีก
ละไหนจะเรื่องเพลงชาติ March of the Volunteers ที่เป็นเพลงชาติจีนต้นตอของปัญหาของเรื่องอีก (กฎใหม่ที่จะมีการแก้นี้คือ ใครเอาเพลงชาติจีนมาล้อเลียน หรือดูหมิ่น จะต้องโดนจับเข้าคุก หรือโดนปรับเป็นเงินค่าปรับจำนวนกว่า 5,000 ปอนด์) คนฮ่องกงก็เลยพากันออกมาประท้วง
แต่เรื่องมันไม่ได้จบแค่ว่าฮ่องกงออกมาประท้วงจีน หรือจีนพยายามจะแก้กฎหมาย ตอนนี้ตัวละครลับโผล่เข้ามาในสนามกันเต็ม ทั้งสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย อังกฤษ ไต้หวัน ฝ่ายออสเตรเลียก็ผสมโรงด่าจีนเพราะมีปัญหากับจีนมาก่อนแต่แรกอยู่แล้ว
ฝ่ายไต้หวันกับอังกฤษก็ฉวยโอกาสแกล้งประกาศจะเปิดรับผู้ลี้ภัยชาวฮ่องกงให้ลี้ภัยไปยังประเทศตนเอง (อย่างอังกฤษนี้ถึงขั้นมีแผนจะให้สัญชาติอังกฤษกับพวกที่ถือพาสปอร์ต BNO ของฮ่องกงกันเลย) ฝ่ายสหรัฐอเมริกาและ Donald Trump ก็ขู่จะเปลี่ยนนโยบายทางการค้าที่มีต่อฮ่องกง
เรื่องนี้ในมุมของจีนเองผมเข้าใจว่าจีนทำไปเพื่อผลประโยชน์แห่งชาติ ตามหลักการด้านความมั่นคงของตนเอง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่มีเหตุผล ตาม Rationale ของรัฐบาลจีน ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะในสายตาของจีน เกาะฮ่องกงเป็นของจีน จีนจะทำอย่างไรก็น่าจะเป็นสิทธิของจีน จริงไหม? มันเป็นเรื่องของ Statism รัฐย่อมมองตัวเองเป็นศูนย์กลางอยู่แล้ว
แต่ถ้ามองกลับกันในมุมของการทูต การเมืองระหว่างประเทศ และประชาคมโลกนี้ ไม่ว่าจะมุมไหนจีนก็ผิดครับ และมันสร้างความชอบธรรมให้กับม็อบฮ่องกง กลุ่มผู้ประท้วงฮ่องกงเอามากๆด้วย เพราะพฤติกรรมของจีนนั้นแสดงให้เห็นว่าจีนไม่เคารพกฎกติกา
กฎกติกาที่ว่านี้คือหลักการ One Country, Two Systems หรือ 1 ประเทศ 2 ระบบที่รัฐบาลจีนของ Deng Xiaoping และรัฐบาลอังกฤษของ Margaret Thatcher เซ็นลงนามตกลงกันไว้ ในปี 1984 ที่กรุงปักกิ่ง (ฝั่งจีนนั้นดูเหมือนจะส่ง Zhao Ziyang เป็นคนเซ็นลงนาม)
โดยตามข้อตกลง Sino-British Joint Declaration นั้นจีนต้องให้สิทธิและเสรีภาพทางการเมือง สิทธิในการกำหนดนโยบายการค้า เศรษฐกิจ และกฎหมายอันเป็นเอกเทศแก่เกาะฮ่องกง (ย้ำว่าเป็นเอกเทศ แต่ไม่มีเอกราช) คือ ต้องมีอิสระในการกำหนดทิศทางของตนเอง โดยที่ไม่ต้องให้จีนมาสั่ง มาแทรกแซง
ซึ่งการณ์นี้จะมีกรอบระยะเวลาการปฏิบัติอยู่ 50 ปี คือตั้งแต่ปี 1997 ถึง 2047 แปลว่าในทางปฏิบัติแล้วจีนไม่ควรเข้ามายุ่มย่ามหรือเกาะแกะความเป็นเอกเทศของฮ่องกง แม้ว่าจีนจะค้าขายกับฮ่องกง หรือมีสถานะเป็นเจ้าของเกาะฮ่องกงแล้ว ก็ไม่ควรที่จะใช้อำนาจบาตรใหญ่เข้ามากดขี่ฮ่องกง
เพราะมันยังอยู่ในขอบเขตของนโยบาย 1 ประเทศ 2 ระบบอยู่ แต่จากพฤติกรรมของจีนนั้นแสดงให้เห็นชัดเจนว่า จีนไม่เคยคิดจะทำตามสัญญาเลย เอาแต่จะแทรกแซง แสดงอำนาจ กดขี่ ข่มเหงชาวฮ่องกง เดี๋ยวก็จะหาเรื่องแก้กฎหมายภายในฮ่องกง อย่างปี 2019 ก็หาเรื่องจะแก้กฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน
ปี 2020 ก็หาเรื่องจะส่งกองกำลังทหารของกองทัพ PLA ของตนเองไปประจำการในเกาะฮ่องกง หาเรื่องจะลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของฮ่องกง ห้ามฮ่องกงเอาเพลงชาติตัวเองไปล้อเลียน แล้วยังมีแนวโน้มที่จะบังคับให้ฮ่องกงเรียนประวัติศาสตร์ฉบับที่จีนเขียนขึ้นในโรงเรียนอีก
มองจากมิติไหน จีนก็ผิดนะในประเด็นนี้ (โพสต์นี้ขอพูดถึงแค่ประเด็นนี้เป็นหลักก่อน ยังไม่ขยายไปประเด็นอื่น เพื่อไม่ให้ยาวจนเกินไป) คือจีนไม่เล่นตามกติกาที่ตัวเองเซ็นไว้เอง ก็ไม่แปลกที่จะถูกรัฐบาลของโลกตะวันตกประณามและหาเรื่องกดดัน
ที่สำคัญคือ การเล่นไม่ซื่อของจีนนี้มันส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของฮ่องกง ในความเข้าใจของคนทั่วไปนั้น อาจจะมองว่าม็อบฮ่องกง หรือขบวนการประชาธิปไตยในฮ่องกงเป็นฝ่ายผิดที่ทำให้เศรษฐกิจเสียหายยับเยินจากการออกมาก่อม็อบ เผาเมืองกันเมื่อปี 2019
และจีนอาจไม่ต้องง้อเกาะฮ่องกงในการเป็นศูนย์กลางทางการทำธุรกิจ เพราะจีนมีเสิ่นเจิ้น เซี่ยงไฮ้ ฯลฯ ที่เจริญรุ่งเรืองไม่แพ้ฮ่องกงอยู่แล้ว แต่ในความเป็นจริงนั้น นักลงทุนและรัฐบาลเขาไม่ได้มองว่าเสิ่นเจิ้นดีเลิศอะไรขนาดนั้นนะครับ บริษัทต่างชาติจำนวนมากนิยมเข้าไปทำการปฏิบัติการในจีนก็จริง
แต่ข้อจำกัดของการเข้าไปปฏิบัติการ ไปทำมาค้าขายในจีนแผ่นดินใหญ่ของบริษัทต่างชาติคือ ต้องทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ภายในท้องถิ่นนั้นๆ บริษัทใหญ่ๆที่เข้าไปทำงานในจีนหลายบริษัทถูกบังคับให้ต้องรับเอาเจ้าหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์ในจีนเข้าไปนั่งในบอร์ดบริหารด้วย
(เกือบทุกเรื่องที่ Donald Trump ด่าจีนนั้นมีมูลทั้งหมดครับ ไม่ว่าจะเรื่องการแทรกแซงเศรษฐกิจ การขโมยเทคโนโลยี การใช้กฎหมายส่งต่อข้อมูลเพื่อเอาเปรียบบริษัทข้ามชาติ ปัญหานี้สร้างความหนักใจให้กับบริษัทภายในอเมริกาและยุโรปมานาน แต่แค่พรรค Democrat เขาไม่ได้ออกมาพูดตรงๆบน Twitter แบบ Trump เท่านั้น)
ในขณะที่การทำธุรกิจภายในฮ่องกงมันไม่ได้มีข้อจำกัดเหล่านั้น การเมืองและข้อจำกัดทางด้านกฎหมายมันน้อยกว่าในจีนมาก บริษัทหลายบริษัทจึงไม่เคยคิดจะทิ้งฮ่องกง ขนาดปี 2019 ที่ผ่านมาคนฮ่องกงประท้วงหนัก เผาบ้าน เผาเมือง ทำลายข้าวของไปตั้งเยอะ
ตอนจัดอันดับตลาดในการทำ IPO เมื่อปี 2019 ฮ่องกงยังติดอันดับท็อปโลก ไม่ว่าจะนิวยอร์คหรือลอนดอนยังเทียบฮ่องกงไม่ติดเลยครับ และถึงแม้จะมีกลุ่มทุนบางส่วนถอนตัวออกจากเกาะฮ่องกงไปบ้าง แต่สัดส่วนมันยังถือว่าน้อยมากๆ เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ยังเชื่อมั่นในฮ่องกงแล้วตัดสินใจไม่ยอมหนีฮ่องกงไปที่อื่น
ดังนั้น เรื่องม็อบฮ่องกงทำให้เศรษฐกิจหรือฮ่องกงเสียความเชื่อมั่นนั้นจึงค่อนข้างมีน้ำหนักน้อย เมื่อเทียบกับประเด็นที่ Donald Trump ออกมาด่าจีนเรื่องการแก้กฎหมายฮ่องกงว่าทำให้ฮ่องกงสูญเสียความเชื่อมั่น และความน่าลงทุนลงไป สิ่งที่ Trump พูดยังจะดูมีน้ำหนักมากกว่า ถ้าพิจารณาจากข้อมูลข้างต้นเหล่านี้
ก็ต้องยอมรับว่าในส่วนนี้จีนเองแทบไม่มีความชอบธรรมในการกระทำเลย แค่ความต้องการในการกดชาวฮ่องกงไว้ไม่ให้ลุกฮือขึ้นมาต่อต้านจีนเฉยๆ และอเมริกาไม่ได้เริ่มก่อนด้วย ที่สหรัฐอเมริกาและสภา Congress ดูเหมือนพยายามจะออกกฎหมายมาแทรกแซงฮ่องกงนั้นเป็นมาตรการตอบโต้ภายหลังรัฐบาลจีน Take action ทั้งนั้น
ไม่ว่าจะฮ่องกง ไต้หวัน ซินเจียง ทุกอย่างมันเริ่มมาจากจีนเป็นฝ่ายที่ใช้อำนาจบาตรใหญ่โดยไม่สนหลักการสิทธิมนุษยชนและประเด็น 1 ประเทศ 2 ระบบเป็นหลัก (ส่วนของไต้หวันคือ 1992 Consensus) ทั้งนั้น ถ้าประชาคมโลกจะมองจีนว่าเป็นผู้ร้ายในประเด็นนี้ก็คงจะไม่น่าแปลกใจนัก
References
1. บทความจาก CNN ชื่อ "Macao might be China's 'good kid.' But Hong Kong still has the financial clout"
2. บทความจาก CNN ชื่อ "Businesses fear the worst for Hong Kong's future"
3. บทความจาก Council on Foreign Relations ชื่อ "Democracy in Hong Kong"
4. บทความจาก BBC ชื่อ "Trump targets China over Hong Kong security law"
5. บทความจาก The Guardian ชื่อ "Three million Hong Kong residents 'eligible' for UK citizenship"
โฆษณา